มณฑลเทศาภิบาล
ผู้เรียบเรียง : ดร.โดม ไกรปกรณ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
มณฑลเทศาภิบาล
1. ความหมายและความเป็นมา
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปฏิรูปการปกครองประเทศโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะคือ การปฏิรูประยะแรก (พ.ศ. 2416-2417) ซึ่งเป็นช่วงแรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และการปฏิรูประยะที่สอง (พ.ศ. 2435-2453) ซึ่งเป็นช่วงที่พระองค์ทรงจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ภายหลังจากคนรุ่นเก่าที่มีอำนาจทางการเมืองและคัดค้านการปฏิรูปการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจที่พระมหากษัตริย์ตามแนวพระราชดำริ ได้แก่ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ถึงแก่พิราลัยเมื่อพ.ศ. 2425 และสมเด็จกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ สิ้นพระชนม์เมื่อพ.ศ. 2428[1]
ในการปฏิรูประยะที่สอง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จัดระบบการปกครองประเทศโดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่ๆได้แก่ 1) การปกครองส่วนกลาง (จัดตั้งกระทรวงต่างๆขึ้น 12 กระทรวง) 2) การปกครองส่วนหัวเมือง (จัดตั้งการปกครองแบบเทศาภิบาลแทนระบบกินเมือง) 3) การปกครองส่วนท้องถิ่น (จัดตั้งระบบการปกครองระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ เมือง)[2]
การปกครองส่วนหัวเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำโดยการยกเลิกธรรมเนียมการจัดเมืองเป็นเมืองชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ตามความสำคัญของเมืองและระบบ “กินเมือง” ที่ให้เจ้าเมืองซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นนั้นหรือสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองคนก่อน ทำหน้าที่บริหารปกครองและเก็บภาษีอากรจากราษฎรในท้องถิ่นโดยส่งเงินภาษีที่เก็บได้ส่วนหนึ่งให้แก่รัฐบาลกลาง (ราชสำนัก) เปลี่ยนเป็นการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” ที่รวมหัวเมืองหลายเมืองเข้าด้วยกันเป็น “มณฑล” โดยมีข้าราชการที่รัฐบาลกลาง (กรุงเทพฯ) แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลทำหน้าที่บริหารราชการภายในมณฑลนั้นๆ[3]
การวางรากฐานการปกครองแบบ “มณฑล” เริ่มขึ้นในปี 2417 เนื่องจากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างสยามกับชาติตะวันตกในบริเวณหัวเมืองตามชายแดนของสยามที่อยู่ติดกับอาณานิคมของตะวันตก เห็นได้จากข้อพิพาทระหว่างเจ้าเมืองเชียงใหม่กับคนพม่าในบังคับอังกฤษที่เข้ามาทำป่าไม้ในล้านนา (ภาคเหนือของสยาม) หรือข้อพิพาทระหว่างคนในบังคับของอังกฤษที่เข้ามาทำเหมืองแร่ในเมืองระนองและภูเก็ตกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองของสยาม ส่งผลให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งข้าหลวงไปประจำที่เมืองเชียงใหม่เพื่อทำหน้าที่ชำระคดีความที่เกี่ยวข้องกับคนในบังคับอังกฤษ ต่อมาในปี 2427 ทรงแต่งตั้งให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร ไปเป็นข้าหลวงประจำเมืองเชียงใหม่ นับเป็นการเริ่มต้นของการปกครองแบบเทศาภิบาล[4]
อย่างไรก็ตามการปกครองแบบ “มณฑล” ที่ริเริ่มขึ้นนี้ตั้งขึ้นอย่างรีบด่วนยังไม่มีการวางแผนการปกครองอย่างเป็นระบบ ดังเช่นระบบมณฑลเทศาภิบาลที่จะตั้งขึ้นหลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิรูปการปกครองเมื่อพ.ศ. 2435 โดยการปกครองแบบ “เทศาภิบาล” หรือ “มณฑลเทศาภิบาล” จัดตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อมีการประกาศจัดปันหน้าที่ระหว่างกระทรวงกลาโหมและกระทรวงมหาดไทย ร.ศ. 113 (พ.ศ. 2437) โดยเนื้อหาสำคัญของประกาศฉบับนี้คือให้รวมหัวเมืองทั้งหมดมาไว้ใต้การบังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทย หลังจากนั้นอีก 3 ปีใน ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) ได้มีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่_ร.ศ._116” และในเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) ได้มีการประกาศใช้ “ข้อบังคับลักษณะปกครองหัวเมือง_ร.ศ._117” ส่งผลให้รัฐบาลมีอำนาจจัดการปกครองหัวเมืองได้อย่างเต็มรูปแบบ[5]
2. วัตถุประสงค์ของการตั้งมณฑลเทศาภิบาล
พระยาราชเสนา ข้าราชการซึ่งทำงานในกระทรวงมหาดไทยเป็นเวลานานได้กล่าวว่า การปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล คือระบบการปกครองในลักษณะที่จัดให้ข้าราชการที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้วางพระทัยไปทำหน้าที่แบ่งเบาภาระของรัฐบาลกลางในการปกครองราษฎรในส่วนภูมิภาคให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข และบ้านเมืองมีความเจริญทั่วถึงกัน โดยข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาล (สมุหเทศาภิบาล) มีฐานะรองจากเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยแต่อยู่เหนือผู้ว่าราชการจังหวัดและข้าราชการทั้งหมดในพื้นที่ 2 จังหวัดหรือมากกว่านั้นที่รวมกันเข้าด้วยกันเป็น “มณฑล” สำหรับอำนาจหน้าที่นั้น ข้าหลวงเทศาภิบาล (สมุหเทศาภิบาล) เป็นผู้บัญชาการและตรวจตราสถานการณ์บริหารราชการในเขตมณฑล รับข้อเสนอและความคิดเห็นของผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วถ่ายทอดมายังรัฐบาลที่กรุงเทพฯ รวมทั้งรับคำสั่งจากกรุงเทพฯไปถ่ายทอดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในมณฑลนั้นๆ'[6]'
หรือกล่าวได้ว่าหน่วยราชการบริหารมณฑลเทศาภิบาล (ประกอบด้วยข้าหลวงเทศาภิบาลและข้าราชการชั้นรองอีกจำนวนหนึ่งที่รวมกันเรียกว่า “กองมณฑล”) ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงรัฐบาลกลางกับหน่วยราชการบริหารส่วนภูมิภาคส่วนอื่นๆเข้าด้วยกัน[7]
3. มณฑลเทศาภิบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
จากข้อเท็จจริงที่ได้กล่าวข้างต้น เราอาจจำแนกมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็น 2 ช่วงใหญ่ๆได้แก่
- มณฑลที่ตั้งขึ้นในช่วงพ.ศ. 2417-2434
ในช่วงพ.ศ. 2417-2434 มีการตั้งมณฑลขึ้น 6 มณฑลได้แก่[8]
ชื่อมณฑล |
เมืองในมณฑล |
ข้าหลวงใหญ่ประจำมณฑลคนแรก |
ที่ตั้งศูนย์บัญชาการมณฑล |
---|---|---|---|
ลาวเฉียง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลพายัพ”) |
|
เจ้าพระยาพลเทพ (พุ่ม ศรีไชยันต์) ว่าที่สมุหกลาโหม |
นครเชียงใหม่ |
ลาวพวน (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลอุดร”) |
|
พระบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม |
เมืองหนองคาย |
ลาวกาว (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลอีสาน”) |
|
พระวงวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร |
นครจำปาศักดิ์ |
เขมร (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลบูรพา”) |
|
พระยามหาอำมาตยาธิบดี (หรุ่น ศรีเพ็ญ) |
ศรีโสภณ |
ลาวกลาง (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “มณฑลนครราชสีมา”) |
|
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์ |
นครราชสีมา |
ภูเก็ต |
|
พระยาทิพโกษา (โต โชติกเสถียร) |
ภูเก็ต |
2.มณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นภายหลังการปฏิรูปการปกครอง พ.ศ. 2435
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงดำเนินการปฏิรูปการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2435 และตั้งสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพได้เสด็จออกตรวจหัวเมืองโดยทรงเห็นถึงปัญหาของการบริหารราชการในหัวเมืองต่างๆซึ่งอยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ ทำให้เสนาบดีไม่สามารถเดินทางไปตรวจงานด้วยตัวเองได้และการสั่งงานต่างๆไปยังหัวเมืองทำได้ช้า ติดขัดปัญหาหลายอย่าง สอดคล้องกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริให้รวมหัวเมืองเข้าเป็นมณฑลโดยให้มีเจ้านายหรือข้าราชการผู้ใหญ่ดำรงตำแหน่งเป็นข้าหลวงใหญ่ในมณฑลนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการ[9]
ในพ.ศ. 2437 ได้มีการดำเนินการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลโดยปรับปรุงมณฑลที่มีอยู่เดิมและตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่รวม 4 มณฑลได้แก่[10]
ชื่อมณฑลเทศาภิบาล |
เมืองในมณฑล |
ข้าหลวงเทศาภิบาล คนแรก |
ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑล |
พิษณุโลก |
|
พระยาศรีสุริยวรานุวัตร (เชย กัลยาณมิตร) |
พิษณุโลก |
ปราจีน |
|
พลตรี พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (สุข ชูโต) |
ปราจีนบุรี |
ราชบุรี |
|
พระยาสุรินทรฦาชัย (เทศ บุนนาค) |
ราชบุรี |
นครราชสีมา (แก้ไขการปกครองจาก มณฑล มาเป็น “มณฑลเทศาภิบาล”) |
|
พระยาประสิทธิศัลการ (สะอาด สิงหเสนี) |
นครราชสีมา |
ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2438-2439 ได้มีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ 5 มณฑลได้แก่[11]
ชื่อมณฑลเทศาภิบาล |
เมืองในมณฑล |
ข้าหลวงเทศาภิบาล คนแรก |
ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑล |
---|---|---|---|
นครชัยศรี |
|
พระยามหาเทพ (บุตร บุณยรัตพันธ์) |
นครชัยศรี |
นครสวรรค์ |
|
พระยาดัสกรปลาส (ทองอยู่ โรหิตเสถียร) |
นครสวรรค์ |
กรุงเก่า |
|
พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนมรุพงศ์ศิริพัฒน์ |
กรุงเก่า |
นครศรีธรรมราช |
|
พระยาสุขุมนัยวินิต (ปั้น สุขุม) |
สงขลา |
ชุมพร |
|
พระยาดำรงสุจริตมหิศวรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง) |
ชุมพร |
นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขระเบียบและลักษณะการปกครองมณฑลที่ตั้งขึ้นแล้วอีก 2 มณฑลให้เป็นมณฑลเทศาภิบาลคือ มณฑลภูเก็ต และมณฑลบูรพา (ชื่อเดิมคือมณฑลเขมร) โดยกรณีของมณฑลบูรพาเมื่อเปลี่ยนเป็นมณฑลเทศาภิบาลแล้ว ผู้ดำรงตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรกคือ พันเอกพระยาศักดาภิเดชวรฤทธิ (ดั่น อมรานนท์)[12]
ถัดมาในช่วง พ.ศ. 2440-2449 ได้มีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นใหม่ 4 มณฑลได้แก่[13]
ชื่อมณฑลเทศาภิบาล |
เมืองในมณฑล |
ข้าหลวงเทศาภิบาล คนแรก |
ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑล |
---|---|---|---|
ไทรบุรี (หมายเหตุ- ในพ.ศ. 2451 สยามต้องยอมยกส่วนหนึ่งของมณฑลนี้คือ เมืองเคดะห์ และปะลิส ให้แก่อังกฤษเพื่อแลกกับการแก้ไขสนธิสัญญาการค้ากับอังกฤษและเพื่อกู้ยืมเงินจากอังกฤษมาสร้างทางรถไฟสายใต้) |
|
เจ้าพระยาฤทธิสงครามภักดี (อับดุล ฮามิด) |
ไทรบุรี |
เพชรบูรณ์ (หมายเหตุ- เมื่อพ.ศ. 2447 มณฑลนี้ถูกยุบเนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าการตั้งมณฑลนี้มีแต่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย ต่อมาในปี 2450 ได้มีการตั้งมณฑลเพชรบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง เนื่องจากรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต่อการปกครอง) |
|
พระยาเพชรรัตนราชสงคราม (เฟื่อง เฟื่องเพชร) |
เพชรบูรณ์ |
จันทบุรี |
|
พระยาวิชยาธิบดี (แบน บุนนาค) |
จันทบุรี |
ปัตตานี (หมายเหตุ- มณฑลนี้เกิดจากการแบ่งหัวเมืองออกมาจากมณฑลนครศรีธรรมราช) |
|
พระยาเดชานุชิต |
ปัตตานี |
นอกจากมณฑลเทศาภิบาลที่ตั้งขึ้นใหม่ทั้ง 4 มณฑลนี้แล้ว ในช่วงพ.ศ. 2440-2449 ได้มีการแก้ไขระเบียบการปกครองมณฑลที่ตั้งขึ้นก่อนหน้าแล้วให้เป็นมณฑลเทศาภิบาล อีก 3 มณฑล คือ มณฑลพายัพ (ชื่อเดิมคือมณฑลลาวเฉียง), มณฑลอีสาน (ชื่อเดิมคือมณฑลลาวกาว), มณฑลอุดร (ชื่อเดิมคือมณฑลลาวพวน)
4. มณฑลเทศาภิบาลในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยภาพรวมแล้วกล่าวได้ว่าพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสานต่อแนวทางการบริหารราชการแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างเคร่งครัด[14] หรือที่ เดวิด วัยอาจ นักวิชาการชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ไทยได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำให้ราชอาณาจักรสยามเป็น “สยามใหม่” และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รวมทั้งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งครองราชย์ต่อจากพระองค์) เป็นผู้สถาปนาราชอาณาจักรสยามขึ้นเป็น “ชาติ”[15]
ในส่วนของการปกครองระบบมณฑลเทศาภิบาลนั้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการจัดแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบการปกครองส่วนท้องที่ในมณฑลต่างๆให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังปรากฏว่า เมื่อพ.ศ. 2456 ทรงแก้ไขปรับปรุงการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบในระบบมณฑลเทศาภิบาล ซึ่งปลัดมณฑลต้องแบกภาระหน้าที่ด้านการปกครองท้องที่ การดูแลค่าใช้จ่ายภายในมณฑลและดูแลรักษากองบัญชาการมณฑล โดยให้ปลัดมณฑลรับผิดชอบเฉพาะการปกครองท้องที่ ส่วนงานด้านดูแลค่าใช้จ่ายของปลัดมณฑลและดูแลรักษากองบัญชาการมณฑลให้เสมียนตรามณฑลซึ่งเป็นตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทั่วไปของปลัดมณฑลและดูแลงานทั้ง 2 ด้านนี้ พร้อมกันนั้นยังทรงโปรดฯให้ลดความซ้ำซ้อนของข้าราชการที่บริหารมณฑลเทศาภิบาล โดยยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงมหาดไทยและตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่สมุหเทศาภิบาลพำนักอยู่[16]
นอกจากนี้ในรัชสมัยนี้ได้มีการตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก 3 มณฑลได้แก่[17]
ชื่อมณฑลเทศาภิบาล |
เมืองในมณฑล |
ข้าหลวงเทศาภิบาล คนแรก |
ที่ตั้งกองบัญชาการมณฑล |
---|---|---|---|
1. มณฑลร้อยเอ็ด (แยกออกมาจากมณฑลอีสานเมื่อ พ.ศ. 2455) |
|
หม่อมเจ้าธำรงศิริ ศรีธวัช |
ร้อยเอ็ด |
2. มณฑลอุบล (แยกออกมาจากมณฑลอีสานเมื่อ พ.ศ. 2455) |
|
พระยาชลบุรานุรักษ์ (เจริญ จารุจินดา) |
อุบลราชธานี |
3. มหาราษฎร์ (แยกออกมาจากมณฑลพายัพเมื่อ พ.ศ. 2458) |
|
|
ลำปาง |
อย่างไรก็ตามในรัชสมัยนี้ได้มีการยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลไปจำนวนหนึ่งได้แก่มณฑลบูรพา ซึ่งยกเลิกไปเมื่อสยามเสียอำนาจปกครองเมืองพระตะบอง,เสียมราฐ,ศรีโสภณ ให้แก่ฝรั่งเศสเมื่อพ.ศ. 2449 และมณฑลไทรบุรี ซึ่งยกเลิกไปเมื่อสยามเสียอำนาจการปกครองเมืองไทรบุรี (เคดะห์), ตรังกานู ให้แก่อังกฤษเมื่อพ.ศ. 2450[18]
ทั้งยังปรากฏว่าในพ.ศ. 2458 สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ผู้มีบทบาทสำคัญในการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีเนื่องจากทรงประชวรหนักและได้รับคำแนะนำจากแพทย์ประจำพระองค์ให้ทรงหยุดพักรักษาพระองค์[19] จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิรูปกระทรวงมหาดไทยและระบบเทศาภิบาลโดยแบ่งประเทศออกเป็นภาคและแต่งตั้งอุปราชประจำภาคขึ้นโดยให้สมุหเทศาภิบาลทำหน้าที่ของตนต่อไป แต่ในการบริหารราชการต้องปรึกษาหารือกับอุปราชประจำภาคก่อน รวมถึงทรงจัดหน่วยงานการปกครองท้องถิ่นใหม่โดยโอนหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทยบางส่วนไปสังกัดกระทรวงอื่นๆ เช่น กระทรวงยุติธรรม ส่งผลให้การปกครองท้องถิ่นอยู่ในสภาวะยุ่งเหยิง ประกอบกับในช่วงพ.ศ. 2457-2461 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 เศรษฐกิจโลกตกต่ำ ส่งผลให้เศรษฐกิจสยามตกต่ำอย่างมาก ในปี 2458 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเหตุให้มีการยกเลิกตำแหน่งอุปราชประจำภาค พร้อมทั้งยุบมณฑลร้อยเอ็ด มหาราษฎร์ สุราษฎร์[20]
ต่อมาในพ.ศ. 2475 ได้มีการยุบเลิกมณฑลจันทบุรี นครชัยศรี นครสวรรค์ ปัตตานี เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ โดยภายหลังการปฏิวัติของคณะราษฎร (เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475) ผ่านไปราว 1 ปี ในพ.ศ. 2476 ได้มีการยุบเลิกมณฑลเทศาภิบาลที่เหลืออีก 9 แห่ง คือ มณฑลนครราชสีมา นครศรีธรรมราช ปราจีน พายัพ พิษณุโลก ภูเก็ต ราชบุรี กรุงเก่า (อยุธยา) อุดร แล้วประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารแห่งราชอาณาจักรไทยแทนระบบมณฑลเทศาภิบาล[21]
บรรณานุกรม
กัณฐิกา ศรีอุดม. “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: พระผู้ทรงสร้าง “จิตวิญญาณ” แห่งสยามรัฐ.” ใน ปิยนาถ บุนนาค และคณะ. 9 แผ่นดินของการปฏิรูประบบราชการ, หน้า 145-168. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556.
โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลยเกษตรศาสตร์, 2548.
จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2527.
เตช บุนนาค. “การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบปฏิวัติหรือวิวัฒนาการ.” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และสมโชติ อ๋องสกุล (บรรณาธิการ), มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ, หน้า 20-27. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2524.
เตช บุนนาค. การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458. ภรณี กาญจนัษฐิติ (แปล). พิมพ์ครั้งที่ 2 , กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
เทศาภิบาล พระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2545.
ธิดา สาระยา. สยามินทร์ปิ่นธเรศเจ้า จุลจอม จักรเอย. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2540.
ปิยนาถ บุนนาค. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (ตั้งแต่การทำสนธิสัญญาบาวริงถึง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม” พ.ศ. 2516). กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550.
พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา). “การปกครองระบอบเทศาภิบาล.” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และสมโชติ อ๋องสกุล (บรรณาธิการ). มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ, หน้า 6-19. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2524.
วัยอาจ, เดวิด เค. ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ (แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2556.
อรวรรณ ใจกล้า. “การปรับปรุงการปกครองมณฑลอุดร.” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และสมโชติ อ๋องสกุล (บรรณาธิการ). มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ, หน้า 150-202. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2524.
หนังสือแนะนำ
วุฒิชัย มูลศิลป์ และสมโชติ อ๋องสกุล (บรรณาธิการ). มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2524.
อ้างอิง
[1] ปิยนาถ บุนนาค, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (ตั้งแต่การทำสนธิสัญญาบาวริงถึง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม” พ.ศ. 2516), กรุงเทพฯ: โครงการเผยแพร่ผลงานวิชาการ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2550, หน้า 59-61; ดูรายละเอียดเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับเชื้อพระวงศ์และขุนนาง “รุ่นเก่า” ได้ใน เดวิด เค. วัยอาจ, ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ (แปล), กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2556, หน้า 325-333; ธิดา สาระยา, สยามมินทร์ปิ่นธเรศเจ้า จุลจอม จักรเอย, กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2540, หน้า 64-87.
[2] ปิยนาถ บุนนาค, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (ตั้งแต่การทำสนธิสัญญาบาวริงถึง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม” พ.ศ. 2516), หน้า 69-73.
[3] สรุปจาก ปิยนาถ บุนนาค, ประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ (ตั้งแต่การทำสนธิสัญญาบาวริงถึง “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม” พ.ศ. 2516), หน้า 72-73; เตช บุนนาค, “การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบปฏิวัติหรือวิวัฒนาการ,” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และสมโชติ อ๋องสกุล (บรรณาธิการ), มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ, กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2524, หน้า 20-23.
[4] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์, การเมืองการปกครองไทย: หลายมิติ, พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : ภาคีสมาชิกราชบัณฑิตยสถานสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลยเกษตรศาสตร์, 2548, หน้า 40-41.
[5] สรุปจาก เตช บุนนาค, “การปกครองแบบเทศาภิบาลเป็นระบบปฏิวัติหรือวิวัฒนาการ,” หน้า 22; เตช บุนนาค, การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458, ภรณี กาญจนัษฐิติ (แปล), พิมพ์ครั้งที่ 2 , กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548, หน้า 146-148; จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, พิมพ์ครั้งที่ 2 , กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2527, หน้า 170-171.
[6] พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “การปกครองระบอบเทศาภิบาล,” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และสมโชติ อ๋องสกุล (บรรณาธิการ), มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ, หน้า 6-7.
[7] จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 167-168.
[8] เรียบเรียงจาก พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “การปกครองระบอบเทศาภิบาล,” หน้า 12-13; จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 169-170; อรวรรณ ใจกล้า, “การปรับปรุงการปกครองมณฑลอุดร,” ใน วุฒิชัย มูลศิลป์ และสมโชติ อ๋องสกุล (บรรณาธิการ), มณฑลเทศาภิบาล: วิเคราะห์เปรียบเทียบ, หน้า 150.
[9] เทศาภิบาล พระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, กรุงเทพฯ: มติชน, 2545, หน้า 67-69.
[10] เรียบเรียงจาก พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “การปกครองระบอบเทศาภิบาล,” หน้า 13-14; จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 172,549.
[11] เรียบเรียงจาก พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “การปกครองระบอบเทศาภิบาล,” หน้า 14-15; จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 172, 549-551.
[12] พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “การปกครองระบอบเทศาภิบาล,” หน้า 14-15; จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 172, 550-551.
[13] เรียบเรียงจาก เตช บุนนาค, การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458, หน้า 168-200; พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “การปกครองระบอบเทศาภิบาล,” หน้า 15-17; จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 172-173
[14] กัณฐิกา ศรีอุดม, “พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว: พระผู้ทรงสร้าง “จิตวิญญาณ” แห่งสยามรัฐ,” ใน ปิยนาถ บุนนาค และคณะ, 9 แผ่นดินของการปฏิรูประบบราชการ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556, หน้า 145.
[15] เดวิด เค. วัยอาจ, ประวัติศาสตร์ไทยฉบับสังเขป, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และคณะ (แปล), กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2556, หน้า 392.
[16] เตช บุนนาค, การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458, หน้า 217.
[17] เรียบเรียงจาก พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา), “การปกครองระบอบเทศาภิบาล,” หน้า 18-19; จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 173, 553.
[18] เทศาภิบาล พระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 224. (ข้อความส่วนที่อ้างเป็นข้อเขียนที่ พระยาราชเสนา (ศิริ เทพหัสดิน ณ อยุธยา) แต่งต่อจากที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์ค้างไว้)
[19] จักรกฤษณ์ นรนิติผดุงการ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ กับกระทรวงมหาดไทย, หน้า 497.
[20] เรียบเรียงจาก เตช บุนนาค, การปกครองระบบเทศาภิบาลของประเทศสยาม พ.ศ. 2435-2458, หน้า 293-302; เทศาภิบาล พระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 224-225.
[21] เทศาภิบาล พระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, หน้า 224-225.