เชษฐบุรุษ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 12:05, 14 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " เรียบเรียงโดย : นายวัฒนา กีรติชาญเดชา<br/> ผู้ทรงคุณวุฒิป...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : นายวัฒนา กีรติชาญเดชา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต


เชษฐบุรุษ

ความหมายของเชษฐบุรุษตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “พี่ผู้เป็นใหญ่” แต่ในดุสิตธานี เชษฐบุรุษเป็นคำเรียกตำแหน่งกรรมการหรือตัวแทนของทวยนาครในเขตอำเภอของตน โดยทวยนาครเป็นผู้เลือกโดยผ่านการเลือกตั้ง เชษฐบุรุษจะเป็นผู้แทนทวยนาครในท้องถิ่นในสภานคราภิบาล คล้ายกับตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปัจจุบัน[1] เชษฐบุรุษถูกนำมาใช้เรียกรัฐบุรุษผู้ใหญ่ โดยนำมาใช้กล่าวถึงพระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของประเทศไทย โดยกุหลาบ_สายประดิษฐ์เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ ฉบับวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2490 เนื่องในการถึงแก่อสัญกรรมของพระยาพหลพลพยุหเสนา โดยเขียนเรื่องเกี่ยวกับเชษฐบุรุษไว้อย่างน่าสนใจไว้ว่า “ท่านเจ้าคุณพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นบุคคลแรกของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย ที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงตราเกียรติคุณให้ปรากฏลือชาไว้ในแผ่นดิน และได้ทรงสถาปนายกย่องไว้ในฐานะเชษฐบุรุษ หรือนัยหนึ่งคือรัฐบุรุษหลักของประเทศ และได้ทรงพระราชทานวังปารุสกวันให้เป็นที่พำนักของท่านตลอดชั่วชีวิต”[2]

ดุสิตธานีกับการเกิดเชษฐบุรุษ

ดุสิตธานีเป็นเมืองจำลองที่สถาปนาขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในพ.ศ. 2461 โดยมีจุดประสงค์เพื่อจำลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีรูปแบบเช่นเดียวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอังกฤษ อันเป็นประเทศที่พระองค์ทรงมีประสบการณ์และความคุ้นเคยเป็นอย่างดีจากการที่พระองค์ทรงประทับและเล่าเรียนที่นั่น นรนิติ_เศรษฐบุตรสันนิษฐานว่าการปกครองของดุสิตธานีเป็นลักษณะของการปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งพิจารณาได้จาก “ธรรมนูญลักษณะการปกครองคณะนคราภิบาล_(ดุสิตธานี)_พระพุทธศักราช_2461” และคำบอกเล่าในการดำเนินการ[3]

พระราชดำริริเริ่มการสร้างดุสิตธานีสันนิษฐานว่าปรากฏขึ้นเมื่อพระองค์เสด็จประพาสหาดเจ้าสำราญ จังหวัดเพชรบุรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2461 โดยมีบันทึกรายวัน พ.ศ. 2461 ของหม่อมหลวงปิ่น มาลากุลระบุว่า “วันที่ 3 พฤษภาคม เสด็จลงที่หาดทรายเวลาบ่าย ทรงเริ่มสร้างเมืองทรายมีกำแพงและป้อม แล้วสรงน้ำทะเล ในวันหลังๆ ก็เช่นเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ แต่บางวันก็เพียงแต่สรงน้ำทะเล” และพอเสด็จพระราชดำเนินกลับจากเพชรบุรีแล้ว ก็โปรดเกล้าฯให้สร้างดุสิตธานีทันที[4]

กระบวนการเลือกตั้งตำแหน่งเชษฐบุรุษ

เชษฐบุรุษเข้ารับตำแหน่งผ่านการเลือกตั้งโดยทวยนาคร ให้เป็นตัวแทนของตนอำเภอละหนึ่งคน เพื่อเป็นกรรมการในสภานคราภิบาล ในกระบวนการคัดสรรเชษฐบุรุษนั้น ในก่อนวันเลือกเชษฐบุรุษคนใหม่จะมีการป่าวร้องเพื่อบอกถึงสถานที่ว่ามีการเลือกตั้งเชษฐบุรุษที่ใดวันใด โดยให้ที่ประชุมทวยนาครเสนอผู้มีคุณสมบัติเหมาะแก่การเป็นเชษฐบุรุษ ถ้าผู้ถูกเสนอมีเพียงคนเดียวจะได้รับเลือกให้เป็นเชษฐบุรุษทันที แต่ถ้ามีผู้มีคุณสมบัติที่ถูกเสนอมากกว่าหนึ่งคน จะอาศัยการลงคะแนนโดยผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดจะได้รับเลือกเป็นเชษฐบุรุษตามกฎหมาย โดยมีวาระ 1 ปีและเป็นเชษฐบุรุษได้เพียง 1 อำเภอเท่านั้น ตามมาตรากฎหมายแห่งพระราชบัญญัติในพระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครอง คณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช 2461 หมวดที่ 2 ว่าด้วยตำแหน่งเชษฐบุรุษ[5] โดยเชษฐบุรุษที่ได้รับคะแนนนิยมสูงที่สุดจากสภาดุสิตธานีจะได้รับเลือกเป็นนคราภิบาล ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขพระราชกำหนดเพิ่มเติมธรรมนูญลักษณะปกครอง คณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช 2461 โดยในเรื่องเชษฐบุรุษ มีการปรับให้มีเชษฐบุรุษระดับตำบลและเชษฐบุรุษระดับอำเภอ

นอกจากนี้ เชษฐบุรุษกิตติมศักดิ์ เป็นตำแหน่งที่ได้รับเลือกจากคณะนคราภิบาลและดำรงตำแหน่งตลอดชีวิต สำหรับผู้ที่ได้กระทำความชอบในราชการแผ่นดินหรือมีคุณวิเศษเป็นที่นับถือแห่งสาธารณชน

บทบาทและหน้าที่ของเชษฐบุรุษ

หน้าที่ของเชษฐบุรุษตามพระราชกำหนดเพิ่มเติมและแก้ไขธรรมนูญลักษณะปกครอง คณะนคราภิบาลดุสิตธานี พระพุทธศักราช 2461 หมวดที่ 2 ว่าด้วยตำแหน่งเชษฐบุรุษ มาตราที่ 17 โดยมีหน้าที่ดังต่อไปนี้[6]

ก. เป็นกรรมการที่ปรึกษาในสภาของนคราภิบาล และนคราภิบาลนัดให้ประชุมเมื่อใดต้องไป และต้องแสดงความเห็นโดยสุจริต

ข.เป็นหัวหน้าทวยนาครในเขตอำเภอของตน เพราะฉะนั้นต้องหมั่นสอดส่องดูทุกข์สุขของทวยนาคร และเป็นผู้ที่นำข้อความที่ทวยนาครปรารถนา ไปชี้แจงแถลงเหตุผลในสภานคราภิบาล และขอให้สภาปรึกษาและดำริการนั้นๆ

ค.เมื่อมีเหตุการณ์อันเห็นควรที่จะนำปรึกษาในสภานคราภิบาล ให้เชษฐบุรุษแจ้งไปยังนคราภิบาล ขอให้นัดประชุมสภานคราภิบาล

อย่างไรก็ตาม มาตราที่ 18 ระบุไว้ว่า ผู้ที่ได้รับตำแหน่งเป็นเชษฐบุรุษไม่ได้เบี้ยหวัดเงินเดือนอย่างใด สำหรับตำแหน่งนั้นโดยเฉพาะ แต่จะรับเบี้ยหวัดเงินเดือนในตำแหน่งอื่นได้โดยไม่ขัดข้องต่อพระราชกำหนดนี้

บรรณานุกรม

จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช).  ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2513.

นรนิติ เศรษฐบุตร. ดุสิตธานี: การทดลองและจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น.  กรุงเทพ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560. 

ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์.  111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา "เชษฐบุรุษ" 29 มีนาคม 2541.  กรุงเทพ: สุขภาพใจ, 2552. 

อ้างอิง

[1] จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช).  ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว,  2513. หน้า 68.

[2] ไพบูลย์ กาญจนพิบูลย์.  111 ปี ฯพณฯ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา,  "เชษฐบุรุษ" 29 มีนาคม 2541, 2552.  หน้า 808

[3] นรนิติ เศรษฐบุตร.  (2560).  ดุสิตธานี: การทดลองและจัดการปกครองส่วนท้องถิ่น.  หน้า 2

[4] จมื่นอมรดรุณารักษ์ (แจ่ม สุนทรเวช).  (2513)  ดุสิตธานีเมืองประชาธิปไตยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว.  หน้า ค.

[5] แหล่งเดิม. หน้า 66

[6] แหล่งเดิม. หน้า 67