การกีฬาเพื่อพระพลานามัยและไมตรี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:45, 19 พฤษภาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์

 

 

กอล์ฟไม่ใช่กีฬาประเภทเดียวที่ทรง

กีฬาซึ่งเป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางที่สุดว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงในรัชกาลก็คือกอล์ฟ แต่กอล์ฟไม่ได้เป็นกีฬาประเภทเดียวที่ทรง หรือแม้แต่ประเภทแรกๆ พระองค์ได้ทรงกีฬาอีกหลายประเภททีเดียว เช่น เทนนิส และสควอชแร็กเก็ต (squash racket) และอื่นๆ อีกมากหลาย ดังจะได้ร้อยเรียงให้ทราบกันในทีนี้ เพื่อให้เห็นว่าหากพิจารณาให้ดีแล้ว ทรงกีฬาเพื่อทรงบำรุงรักษาพระพลานามัยและเพื่อทรงสานไมตรีกับผู้คนทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ที่สำคัญพระองค์ยังได้พระราชทาน “ข้อคิด” เกี่ยวกับประโยชน์ของการกีฬาไว้หลายประการด้วยกัน

 

วิทยาลัยอีตัน ประเทศอังกฤษ: ที่มาของพระราชนิยมการทรงกีฬา

หากศึกษาพระราชประวัติตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นนักเรียนประจำที่วิทยาลัยอีตัน (Eton College) ประเทศอังกฤษ ประกอบกับพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสซึ่งพระราชทาน ณ วชิราวุธวิทยาลัยในรัชกาล จะเห็นได้ว่าพระประสบการณ์เกี่ยวกับการกีฬาที่ทรงได้จากวิทยาลัยแห่งนั้นได้หล่อหลอมให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดการทรงกีฬาและมีน้ำพระทัยเป็นนักกีฬา (sportsmanship)

ในพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ทรงเล่าถึงเกมกีฬาที่เรียกว่า “วอลล์เกม” (wall game) ซึ่งเป็นเกมประเพณีของวิทยาลัยอีตันว่า “คือฟุตบอลล์นั่นเอง แต่เล่นกับกำแพง เกมนี้เล่นกันมาตั้งร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังเล่นกันมา” และทรงอธิบายว่าเหตุที่เขายังรักษาไว้ก็ “เพื่อรักษาขนบธรรมเนียมไว้...มีประโยชน์ที่จะให้นักเรียนรักโรงเรียนของตน” เช่นเดียวกับที่ประเทศอังกฤษยังรักษาขนบธรรมเนียมในกิจการของ “ปาลีเมนต์” หรือรัฐสภาไว้ ซึ่ง “ไม่ทำให้อังกฤษถอยหลัง กลับปรากฏแก่ใครๆ ว่ารุ่งเรืองและก้าวหน้าที่สุดและนำทางในสิ่งใหม่ๆ และคิดการใหม่ๆ ได้ถมเถไป เพราะฉะนั้นการรักษาประเพณีที่ถูกต้องไม่ทำให้งมงายเลย”[1] เห็นได้ว่าทรงผูกโยงการกีฬาเข้ากับพระราชปณิธานเกี่ยวกับวิธีการในการทรงปฏิรูปสังคมสยาม

กีฬาอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งพระองค์ต้องได้ทรงที่อีตันในฤดูหนาวคือ เกมฟิลด์ (field game) ที่เป็นลูกผสมระหว่างฟุตบอลล์กับรักบี้ ซึ่งอาจารย์ปัจจุบันของวิทยาลัยเขียนไว้ว่า “เป็นเกมที่ต้องใช้ความสมบุกสมบัน และความอดทน....ซึ่งยากยิ่งที่สมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปก พระวรกายย่อมจะทรงแสดงพระปรีชา”[2]

ส่วนในฤดูร้อน ย่อมต้องได้ทรงกีฬาคริกเก็ต (cricket) ซึ่งเป็นกีฬาประจำชาติของอังกฤษ ทั้งยังปรากฏว่าทรงเป็นนายท้าย (cox) ในการแข่งขันเรือกรรเชียงของนักเรียนรุ่นมือใหม่ (Novice Eights) เหตุคงเป็นเพราะพระวรกายย่อม พระน้ำหนักเบา ทำให้เรือมีน้ำหนักน้อยและน่าจะแล่นได้เร็ว อีกทั้งเป็นโอกาสที่ได้ทรงฝึกการ “ถือหางเสือ” ด้วย แต่ในความเป็นจริงสำหรับเรือกรรเชียงประเภทนั้น หน้าที่คือเป็น “นายธง” นั่งอยู่ท้ายเรือ ให้สัญญาณซ้ายขวาและช้าเร็วแก่ผู้ทำการกรรเชียง ซึ่งหันหลังให้ทิศทางที่เรือกำลังแล่นไป[3]

รวมความว่าที่วิทยาลัยอีตันนี้ พระองค์ได้ทรงกีฬา ๔ ประเภทเป็นอย่างน้อยในช่วงเวลาเพียง ๒ ปี ซึ่งประทับเป็นนักเรียนอยู่ที่นั่น แต่ได้ทรงใช้พระประสบการณ์ที่อีตันเป็นฐานในการทรงขยายความถึงประโยชน์ของการกีฬาแทบทุกครั้งที่รับสั่ง ณ วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนประจำประเภทเดียวกัน ดังอีกตัวอย่างหนึ่ง คือ พระราชดำรัสเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๑ ว่าด้วยความเป็นนักกีฬา ที่ว่า “การกีฬานั้นมีประโยชน์ทางขัดนิสัย...การเล่นเกมนั้นทำให้กำลังบริบูรณ์และกล้าหาญ...เกมที่ต้องเล่นหลายคนเช่นฟุตบอลล์ คริกเก็ต เป็นต้น เพื่อจะฝึกให้เด็กรู้จักการรักเหล่าคณะ ให้รู้จักช่วยเพื่อน การเล่นเกมไม่ใช่เล่นแต่ตัวคนเดียว ให้นึกถึงส่วนใหญ่ไม่ใช่นึกถึงแต่ตัวคนเดียว...ต้องเล่นเกมให้ถูกข้อบังคับจริงๆ และจะโกงไม่ได้เลย...คนไหนที่มีน้ำใจซื่อสัตย์สุจริตทำอะไรตรงไปตรงมาเขาเรียกว่าเป็นผู้รู้จักเล่นเกม He plays the game...เป็นของสำคัญมาก เป็นการอบรมนิสัยอย่างดี”[4] เป็นต้น การเล่นกีฬาจึงเป็นทั้งการช่วยให้ร่างกายแข็งแรงและการฝึกนิสัยให้มีความกล้าอีกทั้งมีมิตรจิตไมตรี สัมพันธ์กับคนโดยยึดกติกามารยาท จึงสำคัญมากสำหรับการได้รับความไว้วางใจและความนับถือจากผู้อื่นในสังคม

 

กีฬาที่ทรงฝึกในระหว่างที่ทรงศึกษาวิชาการทหาร

เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยอีตันแล้ว พระองค์ได้ทรงเข้าศึกษา ณ ราชวิทยาลัยทหารที่เมืองวูลลิช ประเทศอังกฤษ ทรงเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบก แผนกปืนใหญ่ม้า จึงต้องทรงเรียนวิชา “ฝึกหัดกายกรรม” และ “ขี่ม้า” ปรากฏว่าทรงสอบไล่ได้คะแนนกว่าร้อยละ ๗๐ ในทั้งสองวิชา

ต่อมา ได้เสด็จไปจากสยามอีกครั้งเพื่อทรงรักษาพระโรคที่ประเทศอิตาลีและประเทศฝรั่งเศส เมื่อพระอาการทุเลาแล้ว ได้ทรงพระดำริจะทรงศึกษาต่อในวิชาเสนาธิการทหารที่ Ecole de Guerre ของฝรั่งเศส ในพ.ศ. ๒๔๖๔ ในการทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ ทรงกราบบังคมทูลว่า “ส่วนกำลังกายนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ถามหมอแล้วว่าจะทนทำการทหารได้หรือไม่ หมอตอบว่าได้แน่นอนและจะเป็นการดีสำหรับโรคด้วยซ้ำ เพราะต้องการ exercise มาก”[5] เอกสารชิ้นนี้เป็นเครื่องยืนยันว่าการทรงกีฬานั้นประการหนึ่งเป็นเพื่อทรงออกกำลังพระวรกายซึ่งเป็นผลดีแก่พระโรคในพระนาภี จึงต้องพระราชประสงค์ที่จะทรงมีโอกาสทรงกีฬาต่างๆ ต่อเนื่องมา

ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกฝรั่งเศสดังกล่าวด้วยคะแนนที่จัดอยู่ในระดับดีถึงดีมาก แต่วิชาที่ทรงได้คะแนนน้อยที่สุดคือ ขี่ม้า ซึ่งพระอาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่าทรงมีข้อจำกัดตรงที่พระวรกายย่อมซึ่งทำให้ทรงฝึกได้เฉพาะกับม้าที่มีขนาดเล็กและขี่ได้ง่ายเท่านั้น แต่ก็ทรงมีหลักการขี่ม้าที่ถูกต้อง ทรงนิ่งและทรงวางพระองค์ได้อย่างมั่นคงไม่ทรงแสดงความกลัว[6] พระทักษะในการนี้เป็นประโยชน์แด่พระองค์เมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์และทรงม้าตรวจแถวสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ที่ลานพระราชวังดุสิต ซึ่งทรงได้อย่างสง่าผ่าเผยยิ่ง

 

กีฬาที่ทรงในวังและทอดพระเนตร

สำหรับกีฬาซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงในวังเป็นการส่วนพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นที่วังศุโขทัยทั้งเมื่อแรกทรงอภิเษกสมรสและบางโอกาสในรัชกาล และที่สวนไกลกังวล หัวหิน หรือที่พระที่นั่งอัมพรสถาน ที่ประทับที่เป็นทางการ นั้น มีเทนนิส สควอชแรกเก็ต (squash racket) แบตมินตัน และว่ายน้ำ

กีฬาซึ่งโปรดที่จะทรงร่วมกับหม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี พระชายา คือเทนนิส ซึ่งทรงมีสนามอยู่ด้านหลังของพระตำหนักใหญ่ วังศุโขทัย[7] และในรัชกาล มีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันบ่อยครั้งว่าเสด็จฯจากพระที่นั่งอัมพรสถานไปทรงเทนนิสที่วังศุโขทัย นอกจากนั้น ทั้งที่วังศุโขทัยและที่อาคารต่อเนื่องกับศาลาเริง สวนไกลกังวล ทรงมีคอร์ตสควอชแรกเก็ต เกมกีฬาในห้องเพดานสูงซึ่งมีผนัง ๔ ด้าน ใช้ไม้แร็กเก็ตคล้ายไม้แบตมินตันแต่มีรูปร่างพรียวและยาวกว่า ตีลูกยางลูกเล็กๆ ยืดหยุ่นได้ไปยังผนังให้สะท้อนกลับมาสู่คู่แข่งซึ่งอยู่ข้างๆ สควอชเป็นกีฬาซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยรับสั่งว่า “เล่นเดี๋ยวเดียวก็ได้เหงื่อ”[8] กีฬาประเภทนี้อันที่จริงเป็นกีฬาในร่มซึ่งฝรั่งนิยมเล่นในฤดูหนาวซึ่งอากาศไม่เอื้ออำนวยแก่การเล่นกีฬาในสนามหญ้าเพราะแฉะเป็นโคลนหรือมีหิมะปกคลุม ชะรอยจะทรงเริ่มเล่นตั้งแต่ประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ

ส่วนแบตมินตันนั้น เป็นกีฬาซึ่งเด็กๆ ในพระราชอุปการะเล่าว่าได้เล่นกัน และบางครั้งทรงร่วมกับเขา ศาลาเริง ศาลาเอนกประสงค์ที่สวนไกลกังวล ก็ใช้เป็นที่เล่นแบตมินตันได้ด้วย

อีกอย่างหนึ่งซึ่งเด็กๆ ในพระราชอุปการะเล่า ก็คือ ที่พระที่นั่งอัมพรสถานมีสระว่ายน้ำซึ่งยังไม่มีเครื่องกรองน้ำหรือสารฆ่าเชื้อโรค พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “โปรดทรงลงเล่นน้ำกับพวกเด็กๆ เสมอแม้ว่าน้ำจะสกปรก มีกบเขียดลงไปไข่เต็ม ท่านก็ทรงสนุกสนามกับพวกเราได้เสมอ”[9]

เทนนิส สควอช แบตมินตัน และว่ายน้ำ จึงเป็นกีฬาซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นการส่วนพระองค์ ลับตาสาธารณชน จึงไม่ค่อยเป็นที่ทราบกัน

หากแต่ว่า สควอชแร็กเก็ตเป็นกีฬาประเภทหนึ่งซึ่งราชกรีฑาสโมสร (The Royal Bangkok Sports Club) บันทึกไว้เป็นสำคัญว่าเป็นหนึ่งในบรรดากีฬาซึ่งเล่นกันอยู่ที่สโมสรนั้นที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสนพระราชหฤทัยเป็นพิเศษ โดยในพ.ศ. ๒๔๖๙ ปีถัดจากปีที่ขึ้นทรงราชสมบัติ โดยทรงริเริ่มให้มีการแข่งขันสควอช The Open Singles Champianship of Siam และพระราชทานถ้วยรางวัล เรียกว่า “Sukhothai Cup” ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีตลอดรัชกาลเพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันรอบสุดท้าย และการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ โอกาสสุดท้ายคือเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๖ (พ.ศ. ๒๔๗๗ นับตามปฏิทินปัจจุบัน) ไม่กี่วันก่อนเสด็จพระราชดำเนินยังยุโรปและมิได้เสด็จฯ กลับมาอีกเลย ในโอกาสนั้น มีการสาธิตการเล่นสควอชโดย ร้อยตรีวิกเตอร์ คาซาเล็ต(Captain Victor Cazalet) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษผู้หนึ่ง และอดีตแชมเปี้ยนมือสมัครเล่นของอังกฤษ ผู้ซึ่งเคยเป็นพระสหายที่วิทยาลัยอีตัน[10] ท่านผู้นี้ได้เข้าเฝ้าฯ ถวายงานเป็นประจำ รวมทั้งน่าจะเป็นผู้ซึ่งประสานงานให้ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการประชุมของทั้งสภาผู้แทนราษฎรและสภาขุนนางรวมทั้งเสวยพระกระยาหารกลางวันที่อาคารรัฐสภากรุงลอนดอนด้วย อีกทั้ง เมื่อเสด็จฯ เยี่ยมวิทยาลัยอีตัน ท่านผู้นี้ก็ได้เล่นสควอชแร็กเก็ตถวายทอดพระเนตรอีกครั้งหนึ่ง ในโอกาสเดียวกันนั้น ได้ทอดพระเนตรการแข่งขันคริกเก็ตระหว่างนักเรียนอีตันกับนายทหารกองพลรักษาพระองค์ของอังกฤษด้วย[11] อนึ่ง ระหว่างที่เสด็จฯ เยือนยุโรปในครั้งนั้น มีมากกว่าหนึ่งครั้งที่เสด็จฯ ลงทรงเทนนิสเป็นการส่วนพระองค์ และทอดพระเนตรการแข่งขันเทนนิสที่สนามวิมเบิลเดิ่น (Wimbledon) อันเลื่องชื่อ และเมื่อทรงสละราชสมบัติแล้ว ทรงมีสนามเทนนิสไว้ทรงและทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้คณะคนไทยในอังกฤษที่ไปเฝ้าฯ ได้เล่นกันที่สนามนั้นๆ ด้วย[12]

อนึ่ง ในพ.ศ. ๒๔๖๙ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระมหากรุณาธิคุณสนับสนุนโครงการจัดตั้งลอนเทนนิสสมาคมของพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ นายอาร์. ดี. เครก (R.D. Craig) และพระยาสุพรรณสมบัติมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๓ สมาคมฯ นี้ไดจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๐ ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์จึงถือว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเป็นผู้พระราชทานกำเนิดแก่สมาคมและได้นำเลข ๗ มาประดิษฐานไว้ภายใต้พระมหามงกุฎประกอบตราของสมาคมฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ (www. Ltat.org)

ส่วนกีฬารักบี้นั้น ไม่ปรากฏว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรง ทั้งนี้คงเป็นเพราะวิทยาลัยอีตันนั้นแปลกกว่าโรงเรียนราษฎร์ประเภทประจำอื่นๆ ตรงที่เล่นฟุตบอลล์ และเพิ่งมีทีมรักบี้แข่งขันกับโรงเรียนอื่นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่พระองค์ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการแข่งขันรักบี้ทั้งที่วชิราวุธวิทยาลัยและที่ราชกรีฑาสโมสร ดังที่นายเอฟ.เค.เอกเซ็ลล (F.K. Excell) ชาวอังกฤษผู้เคยพำนักอยู่ในสยามในสมัยนั้นเขียนเล่าว่า เสด็จฯ ไปยังสโมสรนั้นเพื่อทอดพระเนตรการแข่งขันรักบี้ระหว่างสโมสรกับทีมจากปีนัง ในขณะที่เขาเป็นเลขานุการกีฬารักบี้ของสโมสร และโดยที่เขายังไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งราชาศัพท์ จึงวิ่งไปรับเสด็จฯ ไม่ทัน[13] ข้อมูลเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานของการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้การกีฬาเป็นวิธีการทรงเชื่อมสัมพันธ์กับชาวต่างประเทศในสยามและที่เข้ามาเยือนสยามจากดินแดนบ้านใกล้เรือนเคียงและต่างประเทศไกลออกไป

กอล์ฟ: กีฬาซึ่งทรงในที่สาธารณะและทรงอุปถัมภ์

เห็นจะเป็นเพราะกอล์ฟเป็นกีฬาซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงในที่สาธารณะในรัชกาล และทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ทรงกีฬาประเภทนี้ กอล์ฟจึงได้กลายเป็นกีฬาที่กล่าวขานกันมากว่าพระองค์โปรด เอกสารของราชกรีฑาสโมสรบันทึกไว้เป็นสำคัญว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสโมสรดังกล่าวทรงกอล์ฟรอบหนึ่ง ซึ่งลูกกอล์ฟที่ทรงใช้ สโมสรได้เคลือบและประดิษฐานบนแท่นเก็บไว้ด้วย ทั้งยังมีเรื่องเล่าจากบุตรผู้ถวายงานในครั้งนั้นว่าเมื่อเขาเลื่อนลูกกอล์ฟที่ทรงให้ไกลจากคลอง พระองค์ทรงพระสรวลพร้อมกับรับสั่งว่ากฎของเกมกอล์ฟมีว่าให้ตีลูกจากตรงที่มันอยู่[14] แสดงว่าที่ทรงสอนผู้อื่นเกี่ยวกับการเล่นเกมในกติกานั้น ทรงปฏิบัติเองด้วย

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงเริ่มทรงกอล์ฟตั้งแต่พ.ศ. ๒๔๖๗ หลังจากที่เสด็จกลับมาจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว โดยทรงทั้งสองพระองค์ทั้งที่สนามกอล์ฟหลวงซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่ราชกรีฑาสโมสรในกรุงเทพฯ และที่สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ซึ่งกรมรถไฟหลวงจัดสร้างและดูแลอยู่ที่หัวหิน ซึ่งน่าจะเป็นแห่งแรกนอกพระนคร โดยนัยนี้วงการนักกีฬากอล์ฟจึงถือว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นผู้อำนวยให้กีฬากอล์ฟเป็นที่นิยมกันกว้างขวางขึ้น และทรงเป็นองค์อุปถัมภ์กีฬาประเภทนี้ในประเทศไทยมาตั้งแต่แรกๆ[15]

เกี่ยวกับความนิยมในกีฬากอล์ฟนี้ มีเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาในหมู่ข้าราชบริพารว่า เมื่อปรากฏว่ามีการคุยกันเรื่องกอล์ฟผิดกาลเทศะมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกล่องค่าปรับขึ้นสำหรับผู้ทำเช่นนั้น และนำเงินจากกล่องไปโดยเสด็จพระราชกุศล แสดงให้เห็นว่าทรงเน้นเรื่องความพอดีในทุกสิ่ง แม้ในเรื่องที่เป็นพระราชนิยม

การทรงอุปถัมภ์กีฬากอล์ฟมีปรากฏในรัชกาลเป็นการที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สมาคมกอล์ฟแห่งสามใช้สนามกอล์ฟหลวงสวนจิตรลดาเป็นสถานที่จัดการแข่งขันกอล์ฟชิงถ้วยชนะเลิศแห่งสยาม โดยในวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานถ้วยนั้นแก่นายทิม กันภัย ผู้ชนะเลิศ ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรการแข่งขันกอล์ฟรอบชนะเลิศแห่งคณะกอล์ฟสมัครเล่นกับการแข่งขันชนะเลิศฝ่ายสตรีและพระราชทานรางวัลด้วย[16]

สำหรับที่หัวหินนั้น โดยที่สวนไกลกังวล ที่ประทับส่วนพระองค์ ไม่มีสนามกอล์ฟ จึงเสด็จฯ ทั้งสองพระองค์ไปทรงกอล์ฟที่สนามกอล์ฟหลวงหัวหิน ใกล้เขาหินเหล็กไฟบ่อยครั้ง และเนื่องจากเป็นการบังเอิญที่ในเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้ทรงทราบถึงเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงเทพฯ ขณะที่กำลังทรงกอล์ฟอยู่ที่สนามนั้น[17] ปัจจุบัน เทศบาลเมืองหัวหินจึงได้จัดสร้างพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นที่ยอดเขาหินเหล็กไฟเป็นพระบรมรูปหล่อประทับยืนผินพระพักตร์ทอดพระเนตรผ่านสนามกอล์ฟไปทางทิศของสวนไกลกังวล เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๔[18]

ส่วนที่วังศุโขทัย กรุงเทพฯ นั้น ในรัชกาลไม่มีสนามกอล์ฟเช่นกัน แต่ก็ได้มามีในภายหลังเมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้ทรงกอล์ฟอีกครั้งหลังจากที่ไม่ได้ทรงมาเลยในช่วงประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๘ กับ พ.ศ. ๒๔๙๒ โดยทหารเรือจากบางนาทำขึ้นถวายเป็นสนาม ๓ หลุมเท่านั้น และต่อมาทหารอากาศได้ปรับปรุงถวาย เพื่อที่จะได้ทรงออกกำลังพระวรกายได้สะดวก ณ ที่ประทับ ทั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑ สมเด็จฯ ได้เสด็จฯ ทรงเปิดและทรงรับสนามกอล์ฟการสวัสดิการสัตหีบของกองทัพเรือ ณ บริเวณอ่างเก็บน้ำเขาพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ และได้ทรงกอล์ฟเป็นประจำตามสนามของหน่วยงานในจังหวัดต่างๆ เรื่อยมา ในพ.ศ. ๒๕๑๔ นักกอล์ฟทั้งหลายจึงได้ร่วมกันสนองพระมหากรุณาธิคุณโดยจัด “การแข่งขันกอล์ฟโดยเสด็จสมทบทุนประชาธิปก” (ซึ่งทรงตั้งขึ้นเป็นการส่วนพระองค์เพื่อสนับสนุนการแพทย์การพยาบาลที่โรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี จังหวัดที่ประทับระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๓-๒๕๑๒) เป็นของขวัญทูลเกล้าฯ ถวายในวันเฉลิมพระชนมพรรษา การจัดการแข่งขันเช่นนี้ได้มีสืบต่อมานานหลายปีแม้เมื่อสมเด็จฯ ได้เสด็จสวรรคตแล้ว “ทุนประชาธิปก” นี้สมเด็จฯ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อการกุศลขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นการสืบสานพระราชกรณียกิจและพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปัจจุบันมูลนิธินี้คือมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี[19]

ส่วนสนามกอล์ฟที่สวนบ้านแก้ว ที่ประทับของสมเด็จฯ ที่จังหวัดจันทบุรีนั้น ข้าราชบริพารในพระองค์จัดสร้างขึ้นเองน้อมเกล้าฯ ถวาย มี ๙ หลุม[20] ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีได้ปรับปรุงและใช้งานมาจนปัจจุบัน

การกีฬาเพื่อพระราชไมตรี

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มิได้ทรงกีฬาเพียงเพื่อบำรุงพระพลานามัยและทรงพระสำราญเท่านั้น แต่ทรงใช้การกีฬาเป็นสื่อในการที่จะทรงมีพระราชปฏิสันถารอย่างมีมิตรจิตไมตรีกับบุคคลต่างๆ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ ดังปรากฏว่าเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา และบาหลีในพ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเทนนิสคู่กับเซอร์ชิลล์ เลขานุการของเซอร์ฮิวห์ คลิฟฟอร์ด ผู้สำเร็จราชการของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินอังกฤษที่สิงคโปร์โดยมีข้าราชการอังกฤษ ๒ คนเป็นคู่แข่งขัน ฝ่ายพระองค์ชนะ ๒ เซ็ต ทรงไว้ว่า “นับว่าพอไม่เสียพระเกียรติยศ” และทรงแอบได้ยินฝรั่งพูดว่า “ไม่ได้นึกว่าคิงจะเล่นได้ดีถึงเพียงนี้” ส่วนสมเด็จฯ ทรงกอล์ฟกับเซอร์ฮิวห์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงไว้เกี่ยวกับการนี้ว่า “หญิงเล่นได้พอใช้ แต่แพ้เซอร์ฮิวห์ ๒ หลุม”[21][22] ทั้งสองพระองค์ยังได้เสด็จไปทอดพระเนตรการแข่งขันเทนนิสในงานสโมสรสันนิบาตด้วย[23] เท่ากับว่าทรงใช้กีฬาเป็นวิธีการหนึ่งในการทรงเจริญพระราชไมตรี

ในพระราชหัตถเลขาซึ่งพระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตระหว่างที่เสด็จประพาสในครั้งนั้น มีปรากฏพระราชทัศนะเกี่ยวกับกอล์ฟและเทนนิสไว้ว่า “ยินดีที่ทราบว่าทูนหม่อมชาย (สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์ฯ) ทรงเล่นกอล์ฟ...จะขอบอกกล่าวเสียสักหน่อยว่า กอล์ฟกับเทนนิสนั้นไม่สู้จะถูกกันนัก เทนนิสมักทำให้กอล์ฟเสีย ที่จะได้ดีทั้งสองอย่างนั้นหายากมาก แต่ถ้าตั้งใจเสียว่าจะเล่นเทนนิสให้ดี กอล์ฟเอาแต่พอตีถูกก็พอไปได้ ถ้าคลั่งกอล์ฟคงต้องเลิกเทนนิสแน่”[24]

 

สรุป

กอล์ฟจึงเป็นเพียงกีฬาประเภทหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดที่จะทรง แต่มิได้ทรงมุ่งมั่นจะทรงแสดงพระปรีชาสามารถเป็นพิเศษแต่อย่างใด อันที่จริง พระองค์ทรงกีฬาหลายประเภทมากในช่วงต่างๆ ของพระชนมชีพเพื่อบำรุงพระพลานามัยตามที่มีความจำเป็น แต่ได้ทรงใช้กีฬาเป็นสื่อในอันที่จะทรงเชื่อมความสัมพันธ์อย่างมีมิตรจิตไมตรีกับบุคคลต่างๆ ตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอและพระประยูรญาติ ไปจนถึงบุคคลต่างๆ ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ อีกทั้งทรงมีพระราชทัศนะที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับประโยชน์ของการเล่นกีฬาต่อการบ่มเพาะลักษณะนิสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อที่จะเข้ากับผู้คนได้ ดังที่ได้ทรงไว้ในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์พระราชทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจิรศักดิ์สุประภาต พระราชโอรสบุญธรรมซึ่งประทับศึกษาอยู่ในต่างประเทศว่า

“ขอให้พยายามเล่มเกม ถ้าเล่นเกมดีแล้วฝรั่งนิยมยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด จะหาเพื่อนได้ง่ายและฝรั่งเกรงใจและนับถือ...ฉันเคยโดนมาแล้วจนเกือบร้องไห้ เพราะเล่นเกมไม่เก่ง ฉันยังเสียใจอยู่จนทุกวันนี้ว่าไม่ได้พยายามเล่นให้ดี เราต้องเป็น sportsman จะเล่นเกมอะไรก็ได้แต่ต้องพยายามให้ดีสักอย่างหนึ่ง ขอให้ทำตามคำแนะนำของฉัน ฉันเคยรู้รสมาแล้ว...”[25]

 

อ้างอิง

  1. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์), หน้า ๑๘๔.
  2. Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton in The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing and Publishing และคำแปลโดย ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน ในรายงานประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิฯ. ๒๕๕๓) , หน้า ๒๒ , ๑๔.
  3. พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. ๒๕๔๔. “บ้าน” ไกลบ้าน: ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ ในรายงานประจำปี ๒๕๔๓ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: มูลนิธิฯ)
  4. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์), หน้า ๑๒๔-๑๒๕.
  5. รัฐสภา. ๒๕๓๖. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด) , หน้า ๓๖.
  6. ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ๑๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช), หน้า ๒๓.
  7. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. (กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด) , หน้า ๓๓.
  8. ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ๑๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. (กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช), หน้า ๑๕.
  9. สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดำดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔)) , หน้า ๔๓.
  10. RBSC-The Royal Bangkok Sports Club. 2001. Celebrating 100 Years. (Bangkok: Mark Standen Publishing Company Ltd.) , p. 64.
  11. วิชิตวงศ์วุฒิไกร, พระยา. ๒๕๒๖. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. (อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลตรีปชา สิริวรสาร ในเมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖. มปท.) , หน้า ๑๓๘-๑๖๗.
  12. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. (กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด) , หน้า ๙๙.
  13. Excell, F.K. 1963. Siamese Tapestry. (London: Robert Hale Limited) , p. 51.
  14. RBSC-The Royal Bangkok Sports Club. 2001. Celebrating 100 Years. (Bangkok: Mark Standen Publishing Company Ltd.) , p. 64.
  15. ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. (กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด) , หน้า ๓๓.
  16. บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๗. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคปลาย. (กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์), หน้า ๗๕๙ ,๘๓๓.
  17. กรรณิการ์ ตันประเสริฐ. ๒๕๔๖. จดหมายเหตุวังไกลกังวล. (กรุงเทพ: สำนักพิมพ์มติชน), หน้า ๑๖๔.
  18. พฤทธิ์ อุปถัมภานนท์. ๒๕๔๕. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หัวหิน. ในรายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประจำปี ๒๕๔๔. (กรุงเทพ: มูลนิธิฯ) , หน้า ๑-๒.
  19. มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. ๒๕๕๖. กิจกรรมมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๑- ๒๕๕๕. (กรุงเทพ: มูลนิธิฯ) , หน้า ๕-๖.
  20. ราชภัฏรำไพพรรณี, มหาวิทยาลัย. ๒๕๔๗. สมเด็จฯ ทรงเกื้อก่อเกิด...มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี. (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง) , หน้า ๘๕.
  21. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. ๒๔๙๒. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาศเกาะชวาเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงพิมพ์แจกเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. (มปท.), หน้า ๘-๙.
  22. ดำรัสดำรง เทวกุล, หม่อมเจ้า. ๒๕๐๔. จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา บาหลี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระยาไพชายนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๒๒ เมษายน ๒๕๐๔. , หน้า ๑๐.
  23. ดำรัสดำรง เทวกุล, หม่อมเจ้า. ๒๕๐๔. จดหมายเหตุระยะทางพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์ ชวา บาหลี. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงพระยาไพชายนต์เทพ (ทองเจือ ทองเจือ) ณ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส ๒๒ เมษายน ๒๕๐๔. , หน้า ๑๒.
  24. ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. ๒๔๙๒. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาศเกาะชวาเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงพิมพ์แจกเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. (มปท.), หน้า ๑๑๘.
  25. เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา และคณะ (ผู้จัดทำ). มปป. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงมณี สิริวรสาร ณ เมรุด้านใต้วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒. (มปท.) , หน้า ๖๔ (ตัวสะกดตามต้นฉบับ)

 

บรรณานุกรม

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บรรณาธิการ). ๒๕๓๗. จดหมายเหตุพระราชกิจรายวันพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ภาคปลาย. กรุงเทพฯ: วัชรินทร์การพิมพ์.

ปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จ. ๒๔๙๒. พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตในคราวเสด็จประพาศเกาะชวาเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๗๒. พระธิดาสมเด็จเจ้าฟ้าฯ ทรงพิมพ์แจกเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณในงานอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับคืนสู่

กรุงเทพมหานคร เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๙๒. มปท.

พฤทธิสาณ ชุมพล, ม.ร.ว.. ๒๕๔๔. “บ้าน” ไกลบ้าน: ประชาธิปกราชนิเวศน์ในอังกฤษ ในรายงานประจำปี ๒๕๔๓ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฯ.

พฤทธิ์ อุปถัมภานนท์. ๒๕๔๕. พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หัวหิน. ในรายงานกิจการของมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ประจำปี ๒๕๔๔. กรุงเทพ: มูลนิธิฯ.

มูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี. ๒๕๕๖. กิจกรรมมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๕๑-๒๕๕๕. กรุงเทพ: มูลนิธิฯ.

รัฐสภา. ๒๕๓๖. พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: บริษัทรุ่งศิลป์การพิมพ์ (๑๙๗๗) จำกัด

ราชเลขาธิการ, สำนัก. ๒๕๓๑. พระราชประวัติสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗. กรุงเทพฯ: บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊พ จำกัด.

ราชภัฏรำไพพรรณี, มหาวิทยาลัย. ๒๕๔๗. สมเด็จฯ ทรงเกื้อก่อเกิด...มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง.

วิชิตวงศ์วุฒิไกร, พระยา. ๒๕๒๖. จดหมายเหตุเสด็จพระราชดำเนินประพาสยุโรป พ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๗๗ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพพลตรีปชา สิริวรสาร ในเมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๖. มปท.

ศิริน โรจนสโรช. ๒๕๕๖. พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวใน ๑๒๐ ปี ผ่านฟ้าประชาธิปก. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิราช.

สีดาดำรวง ชุมพล, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๓๓. อัตชีวประวัติของหม่อมเจ้าหญิงสีดำดำรวง ชุมพล. ใน ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมเจ้าหญิงสีดาดำรวง ชุมพล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์กรุงเทพ (๑๙๘๔).

เอื้อเอ็นดู ดิศกุล ณ อยุธยา และคณะ (ผู้จัดทำ). มปป. อนุสรณ์ในการพระราชทานเพลิงศพคุณหญิงมณี สิริวรสาร ณ เมรุด้านใต้วัดเทพศิรินทราวาส วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒. มปท.

Excell, F.K. 1963. Siamese Tapestry. London: Robert Hale Limited.

Gailey, Andrew. 2009. A Thai Prince at Eton in The King and His Garden. Bangkok: Amarin Printing and Publishing และคำแปลโดย ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล เป็น สมเด็จเจ้าฟ้าชาวไทยพระองค์หนึ่งที่วิทยาลัยอีตัน ในรายงานประจำปี ๒๕๕๒ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จ

พระนางเจ้ารำไพพรรณี. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฯ. ๒๕๕๓.

RBSC-The Royal Bangkok Sports Club. 2001. Celebrating 100 Years. Bangkok: Mark Standen Publishing Company Ltd.

En. Wikipedia. Org/wiki/ Eton_wall_game (accessed on 26.12.14)

En. Wikipedia. Org/wiki/Eton_field_game (accessed on 26.12.14)

www.ltat.org. (accessed on 06.01.15) Lawn Tennis Association of Thailand under Royal Patronage (L.T.A.T)