การเรียกเอกสารจากบุคคลหรือการเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:29, 23 พฤศจิกายน 2558 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง :''' วนิดา อินทรอำนวย '''ผู้ทรงคุณว...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : วนิดา อินทรอำนวย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


การเรียกเอกสารจากบุคคลหรือการเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ ภายใต้กฎหมายเฉพาะคือ พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 และระเบียบที่ออกตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 เพื่อการใช้อำนาจของคณะกรรมาธิการตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารของฝ่ายนิติบัญญัติโดยชอบด้วยกฎหมายที่สอดรับกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและข้อบังคับการประชุมสภา

แต่ในอดีตที่ผ่านมา ปัญหาของคณะกรรมาธิการ คือ การไม่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของรัฐ ในกรณีที่คณะกรรมาธิการขอเอกสารเป็นพยานหลักฐานหรือวัตถุพยาน รวมทั้งการเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแสดงความคิดเห็น เป็นผลให้การทำงานของคณะกรรมาธิการขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากคำสั่งของคณะกรรมาธิการนั้นไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย[1] ดังนั้น รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมายใช้บังคับเฉพาะเพื่อเป็นเครื่องมือรองรับการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ

พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มีเหตุผลในการประกาศใช้ คือ “เนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญบัญญัติให้คณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภามีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลใด หรือเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในกิจการที่กระทำหรือเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่นั้นได้ และให้คำสั่งเรียกดังกล่าวมีผลบังคับซึ่งจะส่งผลดีต่อการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ทำให้มีประสิทธิภาพและได้รับข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”[2]


ความหมาย

ตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 มาตรา 3 ได้ให้นิยามความหมายที่เกี่ยวข้องกับการเรียกเอกสารจากบุคคลหรือการเรียกบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ ไว้ดังนี้

“คณะกรรมาธิการ” หมายความว่า คณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

ประธานคณะกรรมาธิการ” หมายความว่า ประธานคณะกรรมาธิการสามัญและคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

หน่วยราชการ” หมายความว่า กระทรวง ทบวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น แต่มีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวง กรม

หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า หน่วยงานอื่นของรัฐนอกจากหน่วยราชการหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น

รัฐวิสาหกิจ” หมายความว่า รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ

ราชการส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า ราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

คณะกรรมาธิการสามัญ ตามมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ (STANDING COMMITTEE) คือ กรรมาธิการที่สภาเลือกและตั้งจากบุคคลผู้เป็นสมาชิกสภาเท่านั้นประกอบเป็นคณะกรรมาธิการและตั้งไว้เป็นการถาวรตลอดอายุของสภา โดยมีจำนวนและคณะตามความจำเป็นในกิจการของสภานั้น ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551 ข้อ 82 บัญญัติไว้ว่า “คณะกรรมาธิการสามัญสภาผู้แทนราษฎร ให้สภาตั้งคณะกรรมาธิการสามัญขึ้นสามสิบห้าคณะ แต่ละคณะประกอบด้วยกรรมาธิการมีจำนวนสิบห้าคน” และตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ข้อ 77 วรรคสองบัญญัติไว้ว่า “คณะกรรมาธิการสามัญประจำวุฒิสภาแต่ละคณะ ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน ไม่น้อยกว่าเก้าคนแต่ไม่เกินสิบห้าคน และให้มีจำนวนยี่สิบสองคณะ”

คณะกรรมาธิการวิสามัญ ตามมาตรา 135 ของรัฐธรรมนูญ (AD HOC COMMITTEE) คือ กรรมาธิการที่สภาเลือกและตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นหรือมิได้เป็นสมาชิกแห่งสภานั้น มีจำนวนตามที่ที่ประชุมสภากำหนดประกอบเป็นคณะกรรมาธิการ สภาจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นในกรณีที่สภาพิจารณาเห็นว่าเรื่องที่สภาได้พิจารณาอยู่นั้นควรจะได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีความรู้และผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะหรือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย เมื่อคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ปฏิบัติหน้าที่เสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมาธิการวิสามัญก็จะสิ้นสภาพไป

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า “เอกสาร” “เอกสารราชการ” “บุคคล” และ “ข้อเท็จจริง”ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 มีดังนี้

เอกสาร [เอกกะ] น. หนังสือที่เป็นหลักฐาน; (กฎ) กระดาษหรือวัตถุ อื่นใด ซึ่งได้ทำให้ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่น จะเป็นโดยวิธีพิมพ์ ถ่ายภาพ หรือวิธีอื่น อันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น

เอกสารราชการ [เอกกะ] (กฎ) น. เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และหมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้าพนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย

บุคคล น. คน (เฉพาะตัว); (กฎ) คน หรือคนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคลหรือ องค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล

ข้อเท็จจริง น. ข้อความหรือเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่ตามจริง; (กฎ) ข้อความหรือเหตุการณ์ที่วินิจฉัยแล้วว่าเป็นจริง (แตกต่างกับข้อกฎหมาย).


กระบวนการออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา

ส่วนที่ 1 การออกหนังสือเชิญ

เมื่อคณะกรรมาธิการสามัญหรือคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาได้กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใด และต้องการเอกสารหรือเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง โดยทั่วไปประธานคณะกรรมาธิการมีอำนาจหน้าที่ลงลายมือชื่อในหนังสือเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ การออกหนังสือเชิญมีข้อพิจารณา ดังนี้

1. การออกหนังสือเชิญของคณะกรรมาธิการ ต้องระบุเหตุและประเด็นตามสมควร พร้อมทั้ง กำหนด วัน เดือน ปี สถานที่ ให้บุคคลที่ได้รับเชิญปฏิบัติตามในการแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ ทั้งนี้ ต้องให้บุคคลผู้ที่ได้รับเชิญให้แถลงข้อเท็จจริงนั้น ได้มีเวลาในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 วัน กล่าวคือ

“มาตรา 6 [3] ในการดำเนินกิจการที่กระทำหรือในเรื่องที่พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาอยู่ของคณะกรรมาธิการเรื่องใด หากคณะกรรมาธิการมีมติให้เรียกเอกสารจากบุคคลใดหรือเรียกบุคคลใดมาแถลง ข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือขอให้บุคคลนั้นส่งเอกสารหรือเชิญบุคคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการภายในเวลาที่คณะกรรมาธิการกำหนด

หนังสือขอให้ส่งเอกสารหรือหนังสือเชิญตามวรรคหนึ่งต้องระบุเหตุแห่งการขอให้ส่งเอกสารหรือเชิญ รวมทั้งประเด็นข้อซักถามที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยตามสมควร ในกรณีที่คณะกรรมาธิการมีหนังสือขอให้ส่งเอกสารหรือเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น อาจขอให้บุคคลนั้นนำเอกสารหรือวัตถุที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้”

2. การจัดส่งหนังสือเชิญ ให้คณะกรรมาธิการดำเนินการจัดส่งหนังสือตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด[4] ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่ง หรือหลายวิธีการตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

3. บุคคลที่ได้รับหนังสือเชิญหากไม่ดำเนินการตามหนังสือ ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุที่ไม่ดำเนินการภายใน 3 วันนับแต่วันรับหนังสือ

ประการแรก ถ้าเหลือเวลาที่จะปฏิบัติตามไม่ถึง 3 วันนับแต่วันรับหนังสือ คณะกรรมาธิการก็จะมีหนังสือเรียกเอกสารจากบุคคลนั้นหรือเรียกบุคคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นอีกครั้งหนึ่ง กล่าวคือ ตามาตรา 6 วรรคสามบัญญัติไว้ว่า “บุคคลที่ได้รับหนังสือตามวรรคหนึ่งต้องจัดส่งเอกสารหรือมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการภายในเวลาที่กำหนด เว้นแต่บุคคลนั้นมีเวลาเหลือที่จะปฏิบัติตามหนังสือไม่ถึงสามวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือตามวรรคหนึ่ง บุคคลนั้นอาจไม่ปฏิบัติตามก็ได้ แต่ต้องมีหนังสือแจ้งเหตุดังกล่าวต่อคณะกรรมาธิการภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ เมื่อคณะกรรมาธิการได้รับหนังสือแจ้งเหตุจากบุคคลนั้นแล้วให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง”

ประการที่สอง ถ้าบุคคลผู้รับหนังสือไม่มาชี้แจงเพราะมีเหตุจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยอาจมีหนังสือขอเลื่อนหรือหนังสือมอบหมายผู้แทนพร้อมชี้แจงเหตุจำเป็นภายใน 3 วันนับแต่วันได้รับหนังสือเชิญ ซึ่งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้[5] เช่น น้ำท่วม เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้มีข้อพิจารณา ดังนี้

(1) ในกรณีที่มอบหมายผู้แทนและคณะกรรมาธิการยินยอมให้ผู้แทนชี้แจง ให้ถือว่าคำแถลงหรือความเห็นของบุคคลนั้นเป็นคำแถลงหรือความเห็นของผู้ที่คณะกรรมาธิการมีหนังสือเชิญ ตามมาตรา 7 วรรคสอง

(2) ในกรณีที่มอบหมายผู้แทน แต่หากคณะกรรมาธิการไม่ให้ผู้แทนชี้แจง และถ้าคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเห็นควรให้บุคคลที่ได้รับหนังสือเชิญต้องมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อคณะกรรมาธิการด้วยตนเอง ให้มีหนังสือเชิญบุคคลดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ตามมาตรา 7 วรรคสาม

(3) ในกรณีขอเลื่อนนัดแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ และคณะกรรมาธิการให้เลื่อนนัดได้ โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วยอมให้เลื่อนตามหนังสือขอเลื่อนให้คณะกรรมาธิการมีหนังสือเชิญบุคคลดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง (ตามมาตรา 7 วรรคท้าย)

(4) ในกรณีขอเลื่อนนัดแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการ แต่คณะกรรมาธิการไม่ให้เลื่อน โดยที่ประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วมีมติไม่ยอมให้เลื่อนนัดวันดังกล่าว คณะกรรมาธิการมีอำนาจออกคำสั่งเรียกเอกสารจากบุคคลนั้น หรือเรียกบุคคลนั้นมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นด้วยตนเองต่อคณะกรรมาธิการ ตามมาตรา 8

อย่างไรก็ตาม ถ้าบุคคลที่ได้รับหนังสือเคยส่งเอกสารหรือได้มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นในเรื่องเดียวกันต่อคณะกรรมาธิการคณะอื่นแล้ว บุคคลดังกล่าวอาจอ้างเอกสาร คำแถลงหรือความเห็นของตนดังกล่าวแทนการส่งเอกสาร หรือมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น โดยต้องมีหนังสือแจ้งต่อคณะกรรมาธิการภายใน 3 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือขอให้ส่งเอกสารหรือหนังสือเชิญตามมาตรา 6 วรรคสี่นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการอาจเห็นควรให้บุคคลผู้ได้รับหนังสือขอให้จัดส่งเอกสารหรือหนังสือเชิญขอให้มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นเพิ่มเติมต่อคณะกรรมาธิการก็ได้


ส่วนที่ 2 การออกคำสั่งเรียก

การออกคำสั่งเรียกเอกสารของคณะกรรมาธิการ หรือคำสั่งเรียกบุคคลเพื่อให้มาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการ ต้องมีการระบุเหตุและประเด็นตามสมควร โดยขอให้ส่งเอกสาร หรือเชิญมาแถลงข้อเท็จจริง พร้อมระบุเหตุแห่งการขอให้ส่งเอกสารหรือเหตุแห่งการเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น รวมทั้งประเด็นข้อซักถามที่เกี่ยวข้องไว้ด้วยตามสมควร อาจขอให้ส่งเอกสารหรือเชิญมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็น และขอให้บุคคลนั้นนำเอกสารหรือวัตถุที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้ โดยต้องให้เวลาบุคคลผู้ได้รับคำสั่งเรียกได้มีเวลาในการดำเนินการไม่น้อยกว่า 3 วัน

ข้อพิจารณาในการออกคำสั่งเรียก

1. ต้องมีมติของคณะกรรมาธิการ ให้ออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือเชิญบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการด้วยเสียงข้างมากของคณะกรรมาธิการที่มีอยู่ กล่าวคือ เป็นมติของคณะกรรมาธิการที่มีองค์ประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะกรรมาธิการที่มีอยู่

2. ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ลงลายมือชื่อในคำสั่งเรียกเอกสารหรือเชิญบุคคลมาแถลงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมาธิการโดยชอบด้วยกฎหมาย

3. การจัดส่งคำสั่งเรียก ให้คณะกรรมาธิการดำเนินการจัดส่งหนังสือตามหลักเกณฑ์ที่ประธานรัฐสภากำหนด[6] ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีการตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร ดังต่อไปนี้

(1) ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ

(2) มอบให้บุคคลอื่นนำส่ง

(3) ส่งทางโทรสาร

(4) วิธีการอื่นใดที่คณะกรรมาธิการเห็นสมควรเฉพาะกรณี

อย่างไรก็ดี การออกคำสั่งเรียก เป็นการใช้อำนาจของคณะกรรมาธิการโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้บุคคลที่ได้รับคำสั่งเรียกต้องปฏิบัติตามคำสั่งและหากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งการออกคำสั่งเรียกเป็นเครื่องมือสนับสนุนให้การกระทำกิจการ พิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ ตามที่สภามอบหมายให้ได้มาซึ่งข้อมูล ข้อเท็จจริงและรายละเอียดอื่น ๆ ที่จะใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในเหตุและผลที่จะนำเสนอในรายงานเพื่อสภาพิจารณาต่อไป


ส่วนที่ 3 การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียก

1. บุคคลใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียก มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ถือเป็นความผิดทางวินัย ตามมาตรา 13

2. เมื่อมีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 ให้ประธานคณะกรรมาธิการมีหนังสือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 16


ข้อสังเกต[7]

1. คำสั่งเรียกมิให้ใช้บังคับกับผู้พิพากษาหรือตุลาการที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในกระบวนวิธีพิจารณาพิพากษาอรรถคดีหรือการบริหารงานบุคคลของแต่ละศาล และมิให้ใช้บังคับกับผู้ตรวจการแผ่นดินหรือกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่โดยตรงในแต่ละองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 5 วรรคสอง อย่างไรก็ตาม แม้ไม่สามารถถูกเรียกให้มาชี้แจงในส่วนของการดำเนินคดีได้ แต่ถ้าถูกเรียกให้มาชี้แจงเพื่อให้คำปรึกษา หรือถามสาเหตุของการสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องของอัยการสามารถถูกเชิญมาได้ หรือสำนักงานศาลยุติธรรมใช้งบประมาณอย่างไรในการบริหารงานบุคคลก็สามารถถูกเชิญให้มาชี้แจงได้

2. ในกรณีบุคคลที่ได้รับหนังสือหรือคำสั่งเรียกเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้ประธานคณะกรรมาธิการแจ้งให้รัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้นสังกัดทราบและมีคำสั่งให้บุคคลนั้นดำเนินการตามคำสั่งเรียก เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน ให้ถือว่าเป็นเหตุยกเว้นการปฏิบัติตามคำสั่งเรียก ตามมาตรา 5 วรรคท้าย

แต่ในขั้นตอนการออกหนังสือเชิญเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นยังมิต้องแจ้งให้รัฐมนตรีซึ่งบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานที่บุคคลนั้นสังกัดทราบ

ถ้ารัฐมนตรีไม่อนุญาตโดยไม่มีเหตุผล รัฐมนตรีอาจถูกดำเนินคดีตามมาตรา 15 ฐานขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมาธิการและเป็นความผิดสำเร็จทันที เว้นแต่เป็นกรณีที่เกี่ยวกับความปลอดภัยหรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดิน

3. เมื่อมีเหตุให้ออกคำสั่งเรียกตามมาตรา 8 แล้ว คณะกรรมาธิการไม่ดำเนินการออกคำสั่งเรียก คณะกรรมาธิการอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ กล่าวคือ มาตรา 12 กรรมาธิการผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกฯ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. ผู้ที่มาให้ถ้อยคำหรือส่งมอบวัตถุ เอกสารหรือพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องต่อคณะกรรมาธิการ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากได้กระทำโดยสุจริต ตามมาตรา 11

5. ในกรณีที่จะมีการลงมติเพื่อออกคำสั่งเรียก กรรมาธิการท่านใดไม่ลงมติและลุกออกจากห้องประชุมไป กรรมาธิการอาจมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามมาตรา 12


อ้างอิง

  1. สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.2556. การสัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กระบวนการ ในการดำเนินงานตามพรราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556. หน้า 1.
  2. สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2554.รวมกฎหมายประจำปี พ.ศ. 2554 :พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554. หน้า 89.
  3. พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554. มาตรา 6
  4. ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดส่งหนังสือและคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2554
  5. พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554.,มาตรา 7
  6. ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดส่งหนังสือและคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2554
  7. สำนักกรรมาธิการ 1, 2 และ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2555. รายงานผลการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554”. http://www.parliament.go.th/cmtorder (สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2557)

บรรณานุกรม

ข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 76 ง วันที่ 25 เมษายน 2551,41.

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2551.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 79 ง วันที่ 2 พฤษภาคม 2551,9.

คณะอนุกรรมการด้านวิชาการและข้อมูลในคณะกรรมการเตรียมการและดำเนินการจัดสัมมนาเพื่อ เผยแพร่ ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจร่วมกันในการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียก ของคณะกรรมการ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๔. ม.ป.ป. ความรู้เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของ

คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนและวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๔ : กระบวนการออกคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา. http://www.parliament.go.th/cmtorder (สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2557).

ดิสทัต โหตระกิตย์.2553. บทความทางวิชาการ: อำนาจในการออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลและระบบ คณะกรรมาธิการรัฐสภาสาธารณรัฐฝรั่งเศส.จุลนิติ มี.ค.- เม.ย. 53,37-43.

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.http://www.royin.go.th (สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2557)

พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 34 ก วันที่ 11 พฤษภาคม 2554,74-79. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/034/74.PDF

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก.24 สิงหาคม 2550,1.

ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อ คณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2554. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 121 ง ,วันที่ 12 ตุลาคม 2554,5-6. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/121/5.PDF

ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดส่งหนังสือและคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2554.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 121 ง.วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ,2-4. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/121/2.PDF

สำนักกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2553. เจตนารมณ์พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของ คณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554.

สำนักกรรมาธิการ 1, 2 และ 3 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2555. รายงานผลการสัมมนาเชิง ปฏิบัติการ เรื่อง “การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคำสั่งเรียก ของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554”. http://www.parliament.go.th/cmtorder (สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2557)

สำนักกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภา ผู้แทนราษฎร ม.ป.ป. ความรู้เรื่องคณะกรรมาธิการ : ประเภท กรรมาธิการ. http://www.parliament.go.th/.../committee_knowledge.pdf (สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2557).

สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.2554. เอกสารประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคำสั่ง เรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. .... (สภาผู้แทนราษฎรลงมติ เห็นชอบแล้ว) บรรจุระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญทั่วไป) วันจันทร์ที่ 24 มกราคม 2554 อ.พ. 1/2554. http://www.senate.go.th/document/approve/200.pdf (สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557).

สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2554.รวมกฎหมายประจำปี พ.ศ. 2554 : พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554.

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2554. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550.

สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา.2556. การสัมมนาวิชาการเชิงปฏิบัติการเรื่อง “กระบวนการ ในการดำเนินงานตามพรราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภา ผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2556.

สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2552. เอกสารประกอบการพิจารณาเบื้องต้นร่าง พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. .... อ.พ. 10/2552 สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ. www.parliament.go.th/library (สืบค้นเมื่อ 28 กรกฎาคม 2557).

สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.2552. เอกสารประกอบการพิจารณาเบื้องต้นร่าง พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. .... (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้เสนอ).อ.พ.(ร) 25/2552.www.parliament.go.th/library (สืบค้น เมื่อ 28 กรกฎาคม 2557).


หนังสือ / เอกสารอ่านเพิ่มเติม

ดิสทัต โหตระกิตย์.2553. บทความทางวิชาการ: อำนาจในการออกคำสั่งเรียกเอกสารหรือบุคคลและระบบ คณะกรรมาธิการรัฐสภาสาธารณรัฐฝรั่งเศส.จุลนิติ มี.ค.- เม.ย. 53,37.

พระราชบัญญัติคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนที่ 34 ก วันที่ 11 พฤษภาคม 2554,74. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/A/034/74.PDF

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550. ราชกิจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก. 24 สิงหาคม 2550,1.

ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้มาแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความเห็นต่อ คณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2554. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 121 ง วันที่ 12 ตุลาคม 2554,5. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/121/5.PDF

ระเบียบรัฐสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดส่งหนังสือและคำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการ พ.ศ. 2554. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 128 ตอนพิเศษ 121 ง วันที่ 12 ตุลาคม 2554,2. http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2554/E/121/2.PDF