สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
ผู้เรียบเรียง : นางวิลาสินี สิทธิโสภณ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง
พระประวัติสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นพระราชโอรส ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ประสูติเมื่อวันพุธ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 29 มิถุนายน พุทธศักราช 2424 [1] ในพระบรมมหาราชวัง มีพระพี่นางพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสุทธาทิพยรัตน์ สุขุมขัตติยกัลยาวดี กรมหลวง ศรีรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารแห่งเยอรมนี สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นพระหัตถ์ขวาของพระมหากษัตริย์ไทยมากถึงสามรัชสมัยคือ รัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7 พระองค์ทรงประทับที่วังบางขุนพรหม ซึ่งเป็นวังที่มีความสง่างาม เป็นอาคารที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมแบบบาโรคเยอรมัน ตั้งขนานอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงได้รับการกล่าวขานอีกฉายาหนึ่งจากคนทั่วไปว่า "จอมพลบางขุนพรหม" หรือ "เจ้าฟ้าวังบางขุนพรหม" ทรงเป็นต้นราชสกุลบริพัตร[2] ภายหลังเกิดการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยในปี พุทธศักราช 2475 (ค.ศ. 1932) ได้เดินทางออกจากสยาม สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงลี้ภัยทางการเมือง ได้เสด็จประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย พระองค์ได้ทรงสร้างพระตำหนักอย่างเรียบง่ายและประทานชื่อว่า พระตำหนักประเสบัน (Preseban) พระองค์ทรงประทับอยู่ที่นั่นจนวาระสุดท้ายของชีวิต[3]
พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต มีพระชายา 1พระองค์ คือ หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร (พระธิดาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าไชยันตมงคล กรมหมื่นมหิศราชหฤทัย) และหลังจากที่หม่อมเจ้าประสงค์สม ทรงประชวรจึงทรงรับ คุณสมพันธ์ (ปาลกะวงศ์) บริพัตร ณ อยุธยา เป็นหม่อมอีก 1 ท่าน ส่วนพระโอรสและพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ประสูติแต่หม่อมเจ้าประสงค์สม บริพัตร ได้รับการยกขึ้นเป็น "พระเจ้า วรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ทุกพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีพระโอรสพระธิดาดังนี้ [4]
1. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุมภฏพงษ์บริพัตร กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต (ประสูติ พุทธศักราช 2447 สิ้นพระชนม์ พุทธศักราช 2502) เสกสมรสกับ หม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร (เทวกุล) มีพระธิดา 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าหญิงมารศีสุขุมพันธุ์ บริพัตร
2. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงศิริรัตนบุษบง (ประสูติ พุทธศักราช 2449 สิ้นพระชนม์ พุทธศักราช 2533) เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าอาชวดิศ ดิศกุล (พระโอรสสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) มีพระโอรส คือ หม่อมราชวงศ์ฤทธิ์ดำรง ดิศกุล
3. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงสุทธวงษ์วิจิตร (ประสูติ พุทธศักราช 2450 สิ้นพระชนม์ 20 กุมภาพันธ์ 2546 )
4. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย (ประสูติ พุทธศักราช 2451 สิ้นพระชนม์ 23 กุมภาพันธ์ 2517) เสกสมรสกับ หม่อมเจ้าโกลิต กิติยากร (พระโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ) มีพระธิดา คือ หม่อมราชวงศ์หญิงพิลาศลักษณ์ (กิติยากร) บุณยะปานะ
5. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจุไรรัตนศิริมาน (ประสูติ พุทธศักราช 2452 สิ้นพระชนม์ 24 พฤศจิกายน 2543) เสกสมรสกับ พลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล โสณกุล (พระโอรสพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา) มีพระโอรสพระธิดา ดังนี้ หม่อมราชวงศ์อายุมงคล โสณกุลหม่อมราชวงศ์ถวัลย์มงคล โสณกุล หม่อมราชวงศ์หญิงสุมาลยมงคล (โสณกุล) โชติกเสถียร และหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล
6. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงจันทรกานตมณี (ประสูติ พุทธศักราช 2455 สิ้นพระชนม์ 30 ธันวาคม 2520) เสกสมรสกับหม่อมเจ้าอรชุนชิษณุ สวัสดิวัตน์ มีบุตรธิดา คือ หม่อมราชวงศ์ศศิพันธ์ สวัสดิวัตน์ หม่อมราชวงศ์เดือนเด่น (สวัสดิวัตน์) กิติยากร และหม่อมราชวงศ์ชิษณุสรร สวัสดิวัตน์
7. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงน้อง (12 กุมภาพันธ์ 2461 - 4 ธันวาคม 2462 )
8. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายปรียชาติสุขุมพันธุ์ (4 มิถุนายน 2463 - 29 พฤษภาคม 2465 )
พระโอรสและพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต ที่ประสูติแต่หม่อมสมพันธ์ บริพัตร ณ อยุธยา ได้รับการยกขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ทุกพระองค์ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คือ[5]
1) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงอินทุรัตนา (ประสูติ พุทธศักราช 2465 - ปัจจุบัน) เสกสมรสกับสมหวัง สารสาส มีพระโอรสธิดา คือ ธรณินทร์ สารสาส สินนภา ตาราไต สมรสกับ นายอนันต์ ตาราไต พญาณินทร์ สารสาส
2) พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (ประสูติ พุทธศักราช 2466 สิ้นพระชนม์ 10 เมษายน 2546) เสกสมรสกับ หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (ณ ถลาง) มีพระโอรสธิดา คือ หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร และ พันตรี หม่อมราชวงศ์วโรรส บริพัตร [6]
พระราชกรณียกิจในด้านการเมืองการปกครอง
สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้ทรงมีพระราชกรณียกิจในด้านการเมืองการปกครอง ที่สำคัญพระองค์หนึ่ง ในรัชสมัยแห่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนที่การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากต่อประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย ต่อพระญาติพระองค์นี้เป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภาองค์สำคัญของคณะในปี พ.ศ. 2468 ต่อมาในปี พ.ศ. 2471 ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์ท่าน ก็คือการวางรากฐานการปกครองท้องถิ่นแบบสุขาภิบาลมาเป็นแบบเทศบาล เพื่อให้ประชาชนเกิดความตื่นตัวในทางการเมืองระดับท้องถิ่น ก่อนเข้ามาใช้สิทธิการปกครองในระดับชาติซึ่งก็นับว่า เทศบาลเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยพื้นฐานนั่นเอง[7]
ในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พุทธศักราช 2475 สมเด็จพระเจ้าบรม วงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นเจ้านายพระองค์สำคัญที่ทางคณะราษฎร ผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองต้องควบคุมองค์ไว้เป็นองค์ประกันสำคัญสูงสุด เนื่องด้วยทรงเป็นผู้รักษาพระนคร อีกทั้งยังทรงควบคุมหน่วยงานความมั่นคงต่าง ๆ ไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งทหาร และตำรวจ ซึ่งในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน นั้น พระประศาสน์พิทยายุทธ เป็นผู้นำในการบุกวังบางขุนพรหม เพื่อควบคุมพระองค์ ซึ่งทรงกำลังจะหนีทางท่าน้ำหลังวัง พร้อมกับครอบครัวและข้าราชบริพาร แต่ทว่ามีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทางทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุมโดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยดักอยู่ จึงยังทรงลังเล จนในที่สุดพระองค์จึงทรงยินยอมให้ทางคณะราษฎรควบคุมองค์ และเสด็จไปประทับยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พร้อมกับเจ้านายพระองค์อื่น ๆ และบุคคลสำคัญต่าง ๆ หลังจากนั้นในวันต่อมา ต้องเสด็จออกจากประเทศไทยอย่างกะทันหัน โดยเสด็จไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง เกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย[8]
พระองค์ทรงดำรงตำแหน่งหน้าที่ราชการสำคัญทั้งฝ่ายกลาโหมและมหาดไทยหลายรัชกาล ด้วยทรงเปี่ยมไปด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้แก่กิจการที่ทรงรับภาระเป็นอย่างดียิ่งทั้งทางด้านการทหาร การปกครอง การสาธารณสุข การศึกษา ทรงวางรากฐานความเจริญของกองทัพเรือไทย กองทัพบก กระทรวงกลาโหม และกระทรวงมหาดไทย ตำแหน่งสำคัญ ได้แก่ ตำแหน่งเสนาธิการทหารบก ผู้บัญชาการกรมทหารเรือ องคมนตรี เสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เสนาธิการทหารบกและผู้บัญชาการ กรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ อุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม อภิรัฐมนตรีสภา เสนาบดีกระทรวงกลาโหม เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย อุปนายกสภาป้องกันพระราชอาณาจักร ประธานอภิรัฐมนตรีสภาและเสนาบดีสภา ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร นอกจากนี้ สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ยังได้โปรดเกล้า แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการเศรษฐกิจการคลัง กรรมการแปลกฎหมายและกรรมการบัญญัติศัพท์อีกด้วย
ผลงานด้านดนตรี
สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ในวงสังคีตศิลปะของไทย ในปลายสมัยราชาธิปไตยต่อเนื่องกัน พระองค์เป็นราชาแห่งดนตรีไทยและเพลงไทย ทรงได้รับการขนานพระนามเป็น"พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม" ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่งและเพลงไทยเดิมไว้มากมาย ทรงสีซอได้ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ต่อมาทรงต่อเพลงกับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ จนมีฝีพระหัตถ์ดีเยี่ยม และทรงต่อเพลงกับเจ้าเทพกัญญา บูรณพิมพ์ เป็นครั้งคราวพระองค์ทรงเครื่อง ดนตรีไทย ได้หลายชนิด เช่น ฆ้องวงใหญ่ ระนาด ซอ ทั้งยังทรงเปียโนได้ดีอีกด้วย เมื่อพระองค์เสด็จมาประทับที่วังบางขุนพรหม ทรงมีทั้งวงปี่พาทย์และวงเครื่องสายประจำวัง วงปี่พาทย์นั้นเริ่มแรกทรงใช้วงดนตรีมหาดเล็กเรือนนอก ซึ่งเป็นของตระกูลนิลวงศ์จากอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ต่อมาทรงได้วงดนตรีของหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศลและจางวางทั่ว พาทยโกศล )
เพลงที่ทรงนิพนธ์และมีชื่อเสียงยิ่งในยุคที่การสังคีตกำลังเจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ในปลาย สมัยราชาธิปไตย ก็คือ เพลงแขกมอญ บางขุนพรหม อันเป็นเพลงที่นิพนธ์ขึ้น สำหรับประจำพระองค์โดยเฉพาะ และทุกคราวที่ทรงนิพนธ์เพลงใหม่ๆขึ้น ก็จะเป็นที่นิยมแก่วงเครื่องสายไทยอื่นๆทั่วไป วงเครื่องสายของเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ นั้น เป็นวงที่ทรงบรรเลงร่วมกับพระราชธิดา พระประยุรญาติ และผู้ใกล้ชิด มีนายสังวาล กุลวัลกี เป็นผู้ฝึกสอน นักดนตรีและนักร้อง เช่น สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรง ซอสามสาย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง ทรงซอด้วง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจันทรกานต์มณี ทรงซอด้วง พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธวงศ์วิจิตร ทรงซออู้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุไรรัตนศิริมาน ทรงซออู้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย ทรงจะเข้ คุณร่ำ บุนนาค ทรงจะเข้ หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ทรงซออู้คุณบุญวิจิตร อมาตยกุล ทรงซออู้ คุณสุดา จาตุรงคกุล ทรงขลุ่ย คุณหญิงแฉล้ม เดชประดิยุทธ์ ทรงโทน,รำมะนา คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ เป็นนักร้อง นางหอม สุนทรวาทิน เป็นนักร้อง นางเทียม กรานต์เลิศ เป็นนักร้อง และนางสว่าง คงลายทอง เป็นนักร้อง [9]
ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระบาทสมเด็จปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นั้น วังบางขุนพรหมเป็นศูนย์กลางการประชันวงปี่พาทย์ การแสดงดนตรี และการ ละเล่นต่างๆ และเป็นที่เกิดของเพลงที่มีชื่อเสียงเป็นจำนวนมาก ส่วนวงปี่พาทย์วังบางขุนพรหมนั้น ก็เป็นวงที่มีชื่อเสียงมาก และได้เข้าร่วมในการประชันวงที่วังบางขุนพรหมเมื่อปี พุทธศักราช 2466 ซึ่งได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศ เป็นต้นตำรับการขับร้องที่สืบทอดมาแต่โบราณ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ โปรดใช้เวลาว่างส่วนพระองค์ในการศึกษาวิชาดนตรี ทั้งด้านประสานเสียง และการประพันธ์เพลง จนทรงสามารถประพันธ์เพลง และทำหน้าที่เป็นวาทยากรได้อย่างคล่องแคล่ว เคยทรงเล่าประทานพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดา ฟังว่า “…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ 5) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…” [10]
พระองค์ทรงเริ่มแต่งเพลงสากลก่อนเพลงไทย เพลงชุดแรกๆ มีเพลงวอลทซ์โนรี และเพลงจังหวะโปลก้า ชื่อเพลงมณฑาทอง เป็นต้น ทรงนิพนธ์เพลงไทยประสานเสียงแบบเพลงสากล เช่น เพลงมหาฤกษ์ เพลงมหาชัย เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสาครลั่น และทรงแยกเสียงประสานเพลงไทยสำหรับบรรเลงด้วยวงโยธวาฑิต ทำให้แตรวงบรรเลงเพลงไทยได้ไพเราะ มีหลักการประสานเสียงดียิ่งขึ้น ได้ทรงประดิษฐ์เพลงแตรวงไว้หลายเพลง เช่น โหมโรงสะบัดสะบิ้ง เพลงเขมรใหญ่ เถา เพลงแขกมัสหรี เถา เพลงแขกสี่เกลอ เถา เพลงที่ทรงนิพนธ์ไว้ทั้งสำหรับวงโยธวาฑิตและปี่พาทย์ เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา เพลงพม่าห้าท่อน เถา เพลงแขกสาย เถา เพลงพ่าห้าท่อน เถา เพลงพวงร้อย เถา ทรงนิพนธ์เพลงเถาสำหรับปี่พาทย์ไว้เป็นจำนวนมาก เช่น เพลงเทวาประสิทธิ์ เถา เพลงอาถรรพ์ เถา เพลงสมิงทองเทศ เถา และภายหลังเมื่อเสด็จไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซียแล้ว ยังได้ทรงนิพนธ์เพลงสำหรับวงปี่พาทย์ไม้แข็งขึ้นอีกหลายเพลง เช่น เพลงน้ำลอดใต้ทราย เถา เพลงนารายณ์แปลงรูป เถา และเพลงสุดถวิล เถา ในขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ทรงปรับปรุงวงดนตรีสากลของกองดุริยางค์ทหารเรือ จนสามารถบรรเลงเพลงประเภทซิมโฟนีได้ดีเป็นที่ยอมรับมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนพระนิพนธ์เพลงฝรั่ง สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิต พระองค์ทรงพระนิพนธ์เพลงฝรั่ง ได้แก่ เพลงวอลทซ์ปลื้มจิตต์ เพลงวอลทซ์ประชุมพล เพลงสุดเสนาะ เพลงมณฑาทองเพลงวอลทซ์เมฆลา เพลงมหาฤกษ์ เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงวอลทซ์โนรี เพลงสาครลั่น เพลงโศรก เพลงนางครวญ 3 ชั้น ส่วนพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงไทยแท้ ได้แก่ เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เพลงสุดสงวน 2 ชั้น เพลงเขมรพวง 3 ชั้น เพลงเขมรชมจันทร์ เพลงสารถี 3 ชั้น เพลงสะบัดสบิ้ง เพลงทยอยนอก เพลงทยอยเขมร เพลงทยอยใน เถา เพลงแขกเห่ เพลงถอนสมอ เพลงแขกมัทรี เพลงครอบจักรวาล เถา เพลงบุหลันชกมวย 3 ชั้น เพลงเขมรใหญ่ เถาเพลงพม่า เถา เพลงแขกสี่เกลอ เถา เพลงแขกสาย เถา เพลงบาทสกุณี เพลงขับไม้ เพลงเขมรโพธิสัตว์ เถา เพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นทางและทำนองสำหรับใช้บรรเลงพิณพาทย์โดยตรง เพลงแขกสาย เถา เพลงอาถรรพ์ เถา เพลงแขกสาหร่าย 3 ชั้น เพลงสมิงทองมอญ เถา เพลงอาเฮีย เพลงสารถี 3 ชั้น เพลงไทยเดิม ทรงพระนิพนธ์เมื่อเสด็จจากกรุงเทพฯ แล้วไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เพลงต้นแขกไทร 2 ชั้น เพลงครวญหา เถา เพลงกำสรวญสุรางค์ เพลงอักษรสำอางค์ และ เพลงสุรางค์จำเรียง เพลงจีนลั่นถัน เพลงจีนเข้าห้อง เพลงน้ำลอดใต้ทราย เถาเพลงขยะแขยง 3 ชั้น เพลงจีนเก็บบุปผา เถา เพลงดอกไม้ร่วง เพลงเทวาประสิทธิ์ เถา เพลงวิลันดาโอด เพลงจิ้งจกทองเถา เพลงตะนาว เถา เพลงพวงร้อย เถา เพลงถอนสมอ เถา เพลงพระจันทรครึ่งซีก
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
พระองค์ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของตระกูลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ม.จ.ก.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ (น.ร.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ร.ว.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ เสนาคะบดี (ส.ร.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช). เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นมหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์วัลลภาภรณ์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์วชิรมาลา (ว.ม.ล.) เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 4 ชั้นที่ 2 (ม.ป.ร.2) เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 1 (จ.ป.ร.1) เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1 (ว.ป.ร.1) เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1 (ป.ป.ร.1) เหรียญดุษฎีมาลา เข็มราชการแผ่นดิน (ร.ด.ม. (ผ)) เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา (ร.ด.ม. (ศ) เหรียญประพาสมาลา เหรียญราชินี เหรียญทวีธาภิเศก (ทอง) เหรียญรัชมงคล (ทอง) เหรียญรัชมังคลาภิเศก (ทอง) เหรียญบรมราชาภิเษก (ทอง) เข็มพระชนมายุสมมงคล ชั้น 1 ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ ได้แก่ เครื่องราชอิสริยาภรณ์อาทิตย์อุทัย ชั้นที่ 1 Order of Saints Maurice and Lazarus ชั้นที่ 1 [11]
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไตและพระหทัย เมื่อวันที่ 18 มกราคม พุทธศักราช 2487 ที่ตำหนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ทรงพระชนพรรษา 63 พรรษา และได้มีการพระราชทานเพลิงพระศพ ที่พระเมรุท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 10 เมษายน พุทธศักราช 2493
หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ
กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ชีวิตในวังบางขุนพรหม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2545.
อ้างอิง
- ↑ โอฬาร นาวานุรักษ์, นาวาเอก. จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต. กองทัพเรือ, 2538. หน้า 1
- ↑ พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ. [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http:/www.bloggany.com/viewdiry.php?id=vinitsiri@month=09-2009@date=14@group =19@yblog=12 , สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557.
- ↑ เสลา เรขะรุจิ. 30 คนไทยที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บำรุงบัณฑิต, 2528. หน้า 48
- ↑ กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551. หน้า 141 – 145
- ↑ เรื่องเดียวกัน, 2551. หน้า 142
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา. พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า [ออนไลน์], เล่ม 44, ตอน 0ก, 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470. หน้า253. แหล่งข้อมูล : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2470/A/253.PDF, สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐสภาสาร. ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2524. หน้า 11.
- ↑ บัว ศจิเสวี. วังบางขุนพรหม. กรุงเทพฯ : หจก.สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2524. หน้า 85.
- ↑ กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ชีวิตในวังบางขุนพรหม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2545.หน้า 268.
- ↑ อินทุรัตนา,พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2532 หน้า 2.
- ↑ จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอฯ [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_boripat_thai.htm , สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557.
บรรณานุกรม
กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ชีวิตในวังบางขุนพรหม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2545.
กิติวัฒนา (ไชยันต์) ปกมนตรี, หม่อมราชวงศ์. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มดี, พ.ศ. 2551.
บัว ศจิเสวี. วังบางขุนพรหม. กรุงเทพฯ : หจก.สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2524.
เสลา เรขะรุจิ. 30 คนไทยที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์บำรุงบัณฑิต 2528.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รัฐสภาสาร. ปีที่ 29 ฉบับที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์ 2524.
อินทุรัตนา,พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า. สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตร.กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, 2532
โอฬาร นาวานุรักษ์, นาวาเอก. จอมพลเรือ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต. กองทัพเรือ, 2538.
พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ. [ออนไลน์] แหล่งข้อมูล :
http:/www.bloggany.com/viewdiry.php?id=vinitsiri@month=09-2009@date=14@group =19@yblog=12, สืบค้นเมื่อ 23 กรกฎาคม 2557.
จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าพระบรมวงศ์เธอฯ.[ออนไลน์] แหล่งข้อมูล :
http://www.navy.mi.th/navalmuseum/002_history/html/his_b12_boripat_thai.htm , สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557.
ราชกิจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ ตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า, เล่ม 44, ตอน 0ก, 8 พฤศจิกายน 2470.[ออนไลน์] แหล่งข้อมูล : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2470/A/253.PDF, สืบค้นเมื่อ 25 กรกฎาคม 2557.