นิรโทษกรรม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:25, 31 สิงหาคม 2558 โดย Suksan (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย '---- '''เรียบเรียง''' : ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์ '''ผู้ทรงคุณวุ...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียง : ยุทธพงศ์ ปิ่นอนงค์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง



ความเป็นมา

ที่มาของนิรโทษกรรมตามความเห็นของไชยวัตน์ ปาวะกะนันท์ [1] ได้อธิบายพอสังเขปว่า เมื่อมีการกระทำความผิดต่อกฎหมาย เมื่อผู้ใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ ได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิด เป็นกฎหมายที่มีผลเฉพาะบุคคลบางกลุ่ม มิได้มีผลกับบุคคลโดยทั่วไป ผลคือการนิรโทษกรรมนั้นมิได้ทำให้กฎหมายนั้นถูกยกเลิกไป แต่เป็นการยกเว้นความผิดและความรับผิดของผู้กระทำความผิดให้ไม่ต้องมีความผิดหรือรับโทษต่อไป ส่วนใหญ่มักเป็นการนิรโทษกรรมสำหรับการกระทำความผิดฐานก่อการปฏิวัติ รัฐประหารหรือเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองมากกว่าการนิรโทษกรรมในความผิดทางอาญาทั่วไป จึงกล่าวได้ว่าที่มาของการนิรโทษกรรมออกมาเพื่อบังคับเป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิด และมีผลย้อนหลังถึงการกระทำความผิดเพื่อให้ลืมการกระทำนั้น และผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับผลตามกฎหมายสำหรับความผิดที่ได้กระทำลงไป ดังนั้นจึงมีลักษณะเป็นกฎหมายยกเว้นความผิด หรือกฎหมายยกเว้นโทษก็ได้



ความหมาย

ความหมายของการนิรโทษกรรม (amnesty)ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ ใน ค.ศ. ๒๐๐๙ (พ.ศ. ๒๕๕๒)ได้ให้คำจำกัดความตามคำกรีกที่เรียกว่า amnestia เป็นรากศัพท์มาจากคำว่า amnesia โดยมีความหมายเพื่อการลืมหรือลืมจากความทรงจำ มากกว่าหมายความถึงการให้อภัยในโทษทางอาญาหรือการตัดสินว่ามีความผิด เป็นการกลับมาเริ่มต้นใหม่จากเหตุการณ์ความรุนแรงโดยให้ลืมเลือนเรื่องราวในอดีต การนิรโทษกรรมไม่ได้ป้องกันจากสิ่งที่กฎหมายได้มีผลบังคับใช้อยู่แล้วโดยอาศัยการชักจูงให้เกิดการละเมิดในทางกฎหมายเอง


แนวคิด ทฤษฎีของนิรโทษกรรม

ตามแนวคิด หรือทฤษฎีเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม (amnesty)โดยได้อาศัยข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ของ รศ. ดร. ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ[2] เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ได้อธิบายว่าเป็นการให้ความกรุณาแก่ผู้กระทำความผิดที่มีมาแต่โบราณและเกิดขึ้นในระบบกฎหมายในประเทศต่างๆ การให้ความกรุณาแก่ผู้กระทำความผิดดังกล่าวนั้นมีวิธีการบังคับที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบและความหมาย โดยมีส่วนประกอบสำคัญทั้งสามส่วน ดังนี้คือ การอภัยโทษ (pardon)การนิรโทษกรรม (amnesty)และการล้างมลทิน (rehabilitation)

การอภัยโทษ (pardon) คือ การดำเนินการโดยฝ่ายบริหารโดยประมุขของรัฐแสดงความกรุณา (act of grace) ให้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นการเฉพาะราย โดยการยกโทษหรือการลดโทษให้ ซึ่งมีผลทำให้ผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษตามกฎหมายสำหรับความผิดนั้น หรือได้รับโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดโทษขั้นสูงไว้

การนิรโทษกรรม คือ มาตรการทั่วไปทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติที่มุ่งให้ประชาชนลืมการกระทำความผิดที่ผ่านมาแล้ว ถือเสมือนว่าการกระทำนั้นมิได้เกิดขึ้นเลยเพื่อเป็นการให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดในบางสถานการณ์ มีลักษณะที่เป็นการหยิบยกขึ้นมาในภายหลังจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่มีความขัดแย้งกันทางความคิดที่เกิดความรุนแรงขึ้น เช่น ความวุ่นวายทางการเมือง ทางการทหาร ทางเศรษฐกิจ หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม เป็นต้นถือว่าเป็นการให้ความกรุณาแก่ผู้กระทำความผิดนอกจากจะกระทำโดยวิธีการอภัยโทษและการนิรโทษกรรมแล้ว ในกระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันยังมีวิธีอื่นๆ เช่น การให้ดุลยพินิจแก่ผู้พิพากษาในการลงโทษ (the discretion of the sentencing judge) การคุมประพฤติ (parole) และการออกกฎหมายเพื่อลดโทษสำหรับนักโทษที่ประพฤติดี (good time laws) การรื้อฟื้นคดีขึ้นพิจารณาใหม่ในกรณีที่มีความผิดพลาดในกระบวนการพิจารณา การขจัดรอยตราของความผิด (criminal stigma) โดยการเปิดเผยประวัติอาชญากรรมในกรณีจำกัด หรือโดยการคัดออกจากประวัติอาชญากรรม เรียกว่าการกลับคืนสู่สถานะเดิมหรือการล้างมลทิน (purging)

การล้างมลทิน (rehabilitation) เป็นวิธีการแก้ไขปรับปรุงผู้กระทำความผิดอีกวิธีหนึ่งโดยคำว่า rehabilitation หมายถึง การคืนสิทธิให้แก่ผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษ ไม่ว่าเป็นลักษณะไม่ยุติธรรม ทำให้ความผิดนั้นยังติดตัวผู้กระทำความผิดอยู่ตลอดไปในประวัติการลงโทษในทางคดี แม้จะพ้นโทษไปแล้ว ด้วยเหตุนี้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดกลับคืนสู่สังคมและใช้ชีวิตอย่างคนปกติไม่มีประวัติทางคดีในอดีตแต่อย่างใด โดยการล้างมลทินจะทำให้ผู้กระทำความผิดดังกล่าวกลายเป็นบุคคลที่ไม่เคยกระทำความผิดหรือไม่เคยต้องโทษมาก่อน บรรดาสิทธิและความสามารถของผู้กระทำความผิดที่สูญเสียไปทั้งหมดจากผลของการกระทำความผิดหรือการลงโทษ ได้รับกลับคืนมาเป็นปกติทุกประการ

ในบรรดาเรื่องการอภัยโทษ การนิรโทษกรรม และการล้างมลทิน เป็นสิ่งที่เกิดจากความกรุณาโดยอำนาจของรัฏฐาธิปัตย์อย่างแท้จริง โดยมีผลโดยตรงกับพลเมืองในการปกครองของตนเอง โดยทั้งสามสิ่งเกิดจากอำนาจเดียวกัน เพียงแตกต่างกันในวิธีการประกาศใช้ที่แตกต่างกันไปเท่านั้นเอง ในเรื่องการอภัยโทษ ถือเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่จะทรงใช้ผ่านฝ่ายบริหารคือรัฐบาลโดยประกาศพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคลหรือเป็นการทั่วไปสำหรับเรื่องการนิรโทษกรรม เป็นการตรากฎหมายโดยผ่านฝ่ายนิติบัญญัติในรูปแบบของพระราชบัญญัติ หรือจากฝ่ายบริหารในรูปของพระราชกำหนดส่วนในเรื่องการล้างมลทิน คือการลบประวัติความผิดที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิดที่ไม่ยุติธรรม เป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติที่จะตรากฎหมายล้างมลทิน


วัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรมในต่างประเทศ

วัตถุประสงค์ของการนิรโทษกรรม คือ การไม่เอาโทษการกระทำบางฐานที่เป็นความผิดตามกฎหมายเฉพาะในเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง เป็นการยกโทษให้ทั้งหมด ถือเสมือนหนึ่งว่ามิได้เคยต้องโทษกระทำความผิดนั้นเลย กล่าวคือให้ลืมการกระทำนั้นเสีย ผลของการนิรโทษกรรมนั้นมุ่งโดยตรงไปที่การกระทำผิดนั้นเอง ซึ่งถือว่าไม่เป็นการผิดกฎหมาย นิรโทษกรรมต้องเป็นการกระทำโดยฝ่ายนิติบัญญัติ คือ รัฐสภา ที่จะต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ ทั้งนี้ เพราะว่าเมื่อการนิรโทษกรรมเป็นการถือเสมือนหนึ่งว่า ผู้กระทำความผิดนั้นๆ มิได้กระทำความผิดเลยเท่ากับเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง (retroactive) เฉพาะกรณีที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด

การตรากฎหมายนิรโทษกรรมในวัตถุประสงฺค์ทางการเมือง ต้องการให้เกิดความสงบสุขในสังคม กล่าวคือ ภายหลังมีการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ต้องการลดจำนวนผู้ต้องโทษในเรือนจำ เป็นความต้องการของผู้มีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองในขณะนั้น จะเห็นได้ว่าการนิรโทษกรรมไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนหรือตายตัวว่าสิ่งใดหรือการกระทำใดจะมีลักษณะที่เป็นนิรโทษกรรมโดยขอยกตัวอย่างของเหตุการณ์นิรโทษกรรมของประเทศต่างๆ ดังต่อไปนี้

ในกรณีของประเทศฝรั่งเศส ได้มีการนิรโทษกรรมหลายครั้งเนื่องจากสงครามกลางเมือง (civil strife) เกิดขึ้นหลายครั้ง การนิรโทษกรรมครั้งแรกที่รู้จักในนามของ Lettres de remission generale และมีการนิรโทษกรรมเป็นระยะๆ กรณีเมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๕๘ (ค.ศ. ๑๘๑๕)จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ ได้ทรงนิรโทษกรรมให้แก่บุคคลสำคัญ ๑๓ คนรวมทั้งกลุ่ม Talleyrandเป็นต้น

ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ ได้มีการบันทึกในเหตุการณ์นิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดอาญาในหลายเหตุการณ์ ดังต่อไปนี้คือ การนิรโทษกรมภาคหลังสงครามกลางเมืองใน พ.ศ. ๒๑๙๔ และการนิรโทษกรรมแก่กลุ่มทรราชเอเธนส์ (Thrasybulus at Athens) เรียกว่าพระราชบัญญัติอภัยโทษ ค.ศ. ๑๖๖๐ (Indemnity and Oblivion Act 1660)ตราขึ้นโดยรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักรโดยเป็นพระราชบัญญัติอภัยโทษโดยการร้องขอจากกษัตริย์ Charles II ให้กับทุกๆคนที่มีส่วนในการปลงพระชนม์พระบิดา Charles I เป็นต้น

ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เคยมีการประกาศนิรโทษกรรมครั้งสำคัญภายหลังเหตุการณ์สงครามกลางเมืองโดยประธานาธิบดีลินคอร์น(Abraham Lincoln)เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๐๖ (ค.ศ. ๑๘๖๓) และในเหตุการณ์ภายหลังสงครามกลางเมืองในหลายๆเหตุการณ์ในสมัยประธานาธิบดี Andrew Johnson คือ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๐๘ ถึง ๒๔๑๑ (ค.ศ. ๑๘๖๕ ถึง ๑๘๖๘) เป็นต้น

ในแง่ผลในทางกฎหมายนิรโทษกรรมขึ้นอยู่กับบทบัญญัติของกฎหมายนิรโทษกรรมในแต่ละฉบับไปไม่เหมือนกัน บางกรณีก็จะยกโทษให้กับผู้กระทำความผิด ส่วนในบางกรณีก็อาจยกเว้นความผิดโดยถือว่าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดอีกต่อไป อาจจะยกเว้นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง ก็ได้

ในส่วนของกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษนั้น เมื่อผลของการนิรโทษกรรมบังคับใช้แล้ว ให้ถือว่า บุคคลนั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด กรณีรับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษสิ้นสุดลง ด้วยเหตุนี้ทำให้กระบวนการทางศาลทั้งหมด ตั้งแต่พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ไปถึงผู้พิพากษา จำเป็นต้องถือเสมือนว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษามาก่อนเลย ไม่มีผลผูกพันใดๆ ไม่ว่าการเพิ่มโทษ การรอการลงโทษหรือไม่รอลงอาญา เป็นต้น


มุมมองของประเทศไทยต่อการนิรโทษกรรม

การนิรโทษกรรมในประเทศไทยเป็นอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติมีการกระทำในหลายรูปแบบของพระราชบัญญัติ และพระราชกำหนด ด้วยเหตุนี้จำเป็นต้องทราบถึงที่มาของการนิรโทษกรรมไปจนถึงการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการนิรโทษกรรมโดยแบ่งเป็น ๓ ประการ ดังต่อไปนี้คือ

ประการแรกคือต้องการให้สังคมลืมการกระทำในอดีตที่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ในกรณีเป็นความผิดที่เกี่ยวกับการต่อสู้กันทางความคิดทางการเมือง เพราะส่วนใหญ่เมื่อมีข้อขัดแย้งทางการเมือง หรือในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น กรณีการทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร (coup d’ état) สำเร็จมักจะอ้างเหตุในการนิรโทษกรรมว่าผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารได้กระทำไปด้วยความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง มิได้แสวงหาประโยชน์ส่วนตน รวมไปถึงการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่พยายามกระทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารไม่สำเร็จ ก็จะอ้างเหตุเพื่อความสามัคคีของคนในชาติและให้โอกาสบุคคลผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้วถือเสมือนว่าการกระทำความผิดมิได้เกิดขึ้นเลย

ประการที่สองคือเพื่อให้เกิดความสามัคคีของคนในชาติ ที่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องการปฏิวัติหรือรัฐประหาร และการกระทำความผิดในทางการเมืองโดยกฎหมายนิรโทษกรรมได้มีส่วนช่วยบรรเทาให้ความบาดหมางระหว่างคนในชาติได้หันหน้าเข้ามาปรองดองกัน ร่วมมือทำงานเพื่อประเทศชาติต่อไป

ประการสุดท้ายคือเพื่อต้องการให้เกิดการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายในภายหน้า กล่าวคือการนิรโทษกรรมจะลบล้างการกระทำความผิดก่อนหน้านั้นและเป็นการให้ผู้กระทำความผิดเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่เพื่อให้การกระทำต่อไปนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการเยียวยากับบรรดาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงในช่วงเวลาดังกล่าวให้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องเรียนรู้จากลำดับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เคยผิดพลาดในอดีตจนถึงปัจจุบันโดยเน้นเฉพาะกฎหมายนิรโทษกรรมที่เกี่ยวกับความผิดทางการเมืองที่มีลักษณะ (coup d’ état) โดยข้อมูลทั้งหมดได้มาจากรวบรวมของคุณไปรยาทัศนสกุล[3] เจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ สถาบันรัฐธรรมนูญศึกษา สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒๑ ครั้ง ทั้งนี้ได้มีการปรับปรุงข้อมูลเพิ่มขึ้นอีกครั้ง เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ ดังที่จะกล่าวดังต่อไปนี้

๑. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. ๒๔๗๕

๒. พระราชบัญญัติล้างมลทินผู้กระทำผิดทางการเมือง ร.ศ. ๑๓๐ พุทธศักราช ๒๔๗๕

๓. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในการจัดการให้คณะรัฐมนตรีลาออกเพื่อให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๖]]

๔. พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดฐานกบฏและจลาจล พ.ศ. ๒๔๘๘

๕. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำรัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐

๖. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ได้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๔๗๕ กลับมาใช้ พ.ศ. ๒๔๙๔]]

๗. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙

๘. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินเมื่อ วันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๐ พ.ศ. ๒๕๐๐]]

๙. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๑ พ.ศ. ๒๕๐๒

๑๐. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๐๒

๑๑. พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการปฏิวัติ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ พ.ศ. ๒๕๑๕

๑๒. [[พระราชบัญญัติยกเลิกคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติที่ ๓๖/๒๕๑๕ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๕ พ.ศ. ๒๕๑๗]]

๑๓. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ พ.ศ. ๒๕๑๙]]

๑๔. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการอันเป็นความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ ๒๕ และวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ พ.ศ. ๒๕๒๐]]

๑๕. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ พ.ศ. ๒๕๒๐]]

๑๖. [[พระราชกำหนดนิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ ๓๑ มีนาคม ถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๔ พ.ศ. ๒๕๒๔]]

๑๗. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ก่อความไม่สงบเพื่อยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินระหว่างวันที่ ๘ และวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ พ.ศ. ๒๕๓๑]]

๑๘. [[พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดินเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๔ พ.ศ. ๒๕๓๔]]

๑๙. มาตรา ๒๒๒ ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔

๒๐ อาศัยความในมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๔๙

๒๑. อาศัยความในมาตรา ๓๐๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

๒๒. อาศัยความในมาตรา ๔๘ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗


อ้างอิง

  1. ไชยรัตน์ ปาวะกะนันท์. “ข้อพิจารณาทางกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม :ศึกษากรณีนิรโทษกรรมความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง”. วิทยานิพนธ์นิติศาสตร์มหาบัณฑิต, (บัณฑิตวิทยาลัย :มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๓) หน้า ๒๕ – ๒๗.
  2. บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ รศ. ดร. ทวีเกียรติ มีนะกษิษฐ, (จุลนิติ เดือนพฤษภาคม – ธันวาคม ๒๕๕๒), หน้า ๕ – ๑๕.
  3. ไปรยาทัศนสกุล. “การนิรโทษกรรม (Amnesty)”. (วารสารศาลรัฐธรรมนูญ ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๒๗ เดือนกันยายน – ธันวาคม ๒๕๕๐),๑๔๗ – ๑๕๙.


บรรณานุกรม

ไชยรัตน์ ปาวะกะนันท์. ข้อพิพาททางกฎหมายเกี่ยวกับนิรโทษกรรม ศึกษากรณีนิรโทษกรรม ความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง. วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๕๓.

ไปรยาทัศนสกุล. การนิรโทษกรรม (Amnesty). (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ). ๒๕๕๐.

สุรพล คงลาภ. นิรโทษกรรม : ศึกษาเกี่ยวกับเงื่อนไขและผลทางกฎหมาย. วิทยานิพนธ์หลักสูตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๓๔.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. หลักนิติรัฐกับการตรากฎหมายนิรโทษกรรม(กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา). ๒๕๕๒.


http://en.wikipedia.org/wiki/Indemnity_and_Oblivion_Act(เข้าข้อมูลเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗).


http://www.ohchr.org/Documents/Publications/Amnesties_en.pdf(เข้าข้อมูลเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๗).


หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

วรพจน์ วิศรุตพิชญ์. ข้อพิจารณาบางประการเกี่ยวกับพระราชนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด เนื่องใน

การประชุมกันระหว่างวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ ถึงวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕.

วารสารนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ปีที่ ๒๒. ฉบับที่ ๑. (มกราคม ๒๕๓๖) ศิรสา พูลสนอง. การล้างมลทินในประเทศไทย.วิทยานิพนธ์หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ๒๕๔๓. สุรพล คงลาภ. ลักษณะของกฎหมายนิรโทษกรรมในประเทศไทย. วารสารนิติศาสตร์

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ปีที่ ๒๑. ฉบับที่ ๓. (กันยายน ๒๕๓๕). ๔๑๙.- ๔๒๙.