กบฎนายสิบ
บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ
ผู้เรียบเรียง จุฑามาศ และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
กบฏนายสิบ เป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่หลายฝ่าย อันนำมาสู่การต่อต้านคณะผู้ดำเนินการและการต่อต้านต่อระบอบการเมืองการปกครองแบบใหม่
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้เพียงปีเศษ ในวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ได้เกิดกบฏขึ้นเป็นครั้งแรก โดยมี นายพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นผู้นำ ผลของการก่อการในครั้งนี้ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดชกฤดากรเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ และกลุ่มผู้ดำเนินการถูกปราบปรามอย่างรุนแรง จนในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าวได้กระทบกระเทือนจิตใจของผู้ที่จงรักภักดีเป็นอย่างมาก[1]
ในที่สุดได้มีนายทหารชั้นประทวนกลุ่มหนึ่งได้คิดทำการปฏิวัติยึดอำนาจขึ้นมาอีกครั้งหวังคืนระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถวายสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การปฏิวัติครั้งนี้แตกต่างจากการปฏิวัติครั้งอื่นๆคือ เป็นการดำเนินงานนายทหารชั้นประทวน ซึ่งการปฏิวัติรัฐประหารในประเทศไทยนั้น ผู้ที่เป็นแกนนำมักจะเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ มียศตั้งแต่นายพันจนถึงนายพล แต่ในการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการดำเนินงานของนายทหารระดับจ่ายนายสิบ นายสิบ และ พลทหาร
ในระบบทหารของสังคมไทยนั้น นายทหารชั้นประทวนนับว่าเป็นคนกลุ่มใหญ่ของกองทัพ เป็นพลังเงียบที่มีความสำคัญแต่คนทั่วไปมักมองไม่เห็น หรือถึงจะมองเห็นก็มักถูกมองว่าไม่มีความรู้ถึงจะมีกำลังก็ไม่มีความหมาย[2] นายทหารชั้นประทวนระดับสิบตรีถึงจ่านายสิบกระจายกันอยู่ทุกกองพันทหาร เป็นกลไกสำคัญของกองทัพรองจากนายทหารและมีจำนวนมากกว่านายทหาร
นายสิบในกองทัพทุกกองทัพมาจากคนสองประเภทคือ นายสิบกองประจำการ ได้แก่ผู้ที่ถูกเกณฑ์มารับราชการทหาร เป็นผู้มีพื้นฐานการศึกษาพอสมควร ขยันขันแข็งรักอาชีพทหาร พอรับราชการครบกำหนดปลดประจำการเป็นกองหนุนก็ยื่นความจำนงสมัครอยู่ในกองทัพต่อ อีกประเภทหนึ่งคือนายสิบหลัก ทางกองทัพบกประกาศรับบุคคลธรรมดาเข้าเป็นนักเรียนนายสิบโดยกำหนดคุณวุฒิ นายสิบที่มาจากระดับนี้สามารถเลื่อนขั้นตัวเองโดยผ่านการเรียนในโรงเรียนนายดาบ โรงเรียนนายร้อยจนเป็นจอมพลก็มี (อาทิ จอมพลผิน ชุณหะวัณ) ภาระกิจและหน้าที่ของนายสิบหรือนายทหารชั้นประทวนเหล่านี้คือ ร่วมฝึกทหารใหม่ทำหน้าที่ผู้บังคับหมู่ เข้าเวรทำหน้าที่นายสิบเวร เป็นผู้ถือกุญแจคลังอาวุธและกระสุนของแต่ละกองร้อย ดูแลทุกเรื่องราวในกองร้อย ดังนั้นกลุ่มนายสิบจึงเป็นผู้บังคับบัญชาชั้นต่ำแต่อยู่ใกล้ชิดกำลังพลที่สุด[3] และเป็นตัวแทนที่มาจากคนกลุ่มใหญ่ของสังคมคือประชาชนที่ได้มามีบทบาททางการเมืองในระดับกองทัพ
ในปี พ.ศ.2478 นายทหารชั้นประทวนกลุ่มหนึ่งได้คบคิดกันจะยึดอำนาจด้วยวิธีการรุนแรง มีแผนที่จะสังหารบุคคลสำคัญในฝ่ายรัฐบาลหลายคน เช่น นายพันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นบุคคลที่คุมกำลังทหารและเป็นแม่ทัพที่ปราบกบฏบวรเดชจนย่อยยับ นอกจากนั้นก็มี พ.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับ พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร เป็นบุคคลที่ทุกฝ่ายให้ความเคารพ กลุ่มนายทหารชั้นประทวนไม่ได้คิดจะสังหาร แต่จะจับไว้เป็นตัวประกัน แต่ถ้าหากมีการขัดขืนก็จะจัดการอย่างเด็ดขาดรุนแรงที่สุด และจะยึดเอาตึกกระทรวงกลาโหมเป็นกองบัญชาการ จากนั้นเมื่อยึดอำนาจได้แล้วจะถวายราชบัลลังก์คืนแด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[4]
ความคิดที่จะดำเนินการอย่างรุนแรงด้วยการสังหารบุคคลสำคัญฝ่ายรัฐบาลของนายทหารชั้นประทวนกลุ่มนี้ ทำให้ผู้ร่วมทำการบางคนไม่เห็นด้วยและได้นำความไปเปิดเผยต่อผู้บังคับบัญชา จากนั้นเรื่องจึงถูกรายงานไปถึง พ.อ.จอมพล ป.หลวงพิบูลสงคราม จึงได้มีการสั่งการให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละคนคอยติดตามการเคลื่อนไหวของทหารชั้นประทวนกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิดจนรู้พฤติการณ์แน่ชัดแล้ว จึงมีคำสั่งให้ผู้บังคับบัญชาของแต่ละกรมกองเข้าจู่โจมจับทหารในสังกัดของตนที่คิดกบฏ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 12.30 น. ของวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2478 จนถึงวันที่ 7 สิงหาคม ซึ่งการจู่โจมเข้าจับกุมในครั้งนี้ ทุกคนไม่ทันรู้ตัวจึงไม่มีการต่อสู้ ทุกคนยอมจำนนแต่โดยดี มีผู้ถูกจับเป็นนายทหารชั้นประทวน 22 นาย และ พลเรือน 1 คน คือ [5]
1.สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง | 13.(สามเณร)สิบเอกกวย สินธุวงศ์ |
2.สิบเอกถม เกตุอำไพ | 14.สิบโทเลียบ คหินทพงษ์ |
3.สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม | 15.นายนุ่ม ณ พัทลุง |
4.สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ | 16.สิบโทชื้น ชะเอมพัน |
5.สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์ | 17.สิบโทปลอด พุ่มวัน |
6.จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต | 18.จ่านายสิบแฉ่ง ฉลาดรบ |
7.สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด | 19.จ่านายสิบริ้ว รัตนกุล |
8.จ่ายนายสิบสวัสดิ์ ภักดี | 20.สิบโทเหมือน พงษ์เผือก |
9.สิบเอกสวัสดิ์ ดิษยบุตร | 21.พลทหารจินดา พันธ์เอี่ยม |
10.สิบโทสาสน์ คชกุล | 22.สิบเอกเกิด สีเขียว |
11.สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ | 23.พลทหารฮก เซ่ง |
12.สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม |
ในการพิจารณาคดีนี้ ได้มีการจัดตั้งศาลพิเศษ โดยมีคณะกรรมการ 7 คน คือ พันเอกพระยาอภัยสงคราม พันโทพระยาวิชัยยุทธเดชาคนี พันโทหลวงเกรียงศักดิ์พิชิต พันโหลวงรณสิทธพิชัย พันโทหลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร้อยเอกหิรัญ ปัทมานนท์ นายเสงี่ยม กาญจนเสถียร คำพิพากษาตัดสินคดีในวันที่ 3 กันยายน พ.ศ.2478 ให้จำคุกตลอดชีวิตจำเลย 8 คนคือ
1.สิบโทหม่อมหลวงทวีวงศ์ วัชรีวงศ์
2.สิบเอกเข็ม เฉลยทิศ
3.สิบเอกถม เกตุอำไพ
4.สิบเอกเท้ง แซ่ซิ้ม
5.สิบเอกกวย สินธุวงศ์
6.สิบโทแผ้ว แสงส่งสูง
7.สิบโทสาสน์ คชกุล
8.จ่านายสิบสาคร ภูมิทัต
จำคุก 20 ปี 3 คน คือ
1.สิบเอกแช่ม บัวปลื้ม
2.สิบเอกตะเข็บ สายสุวรรณ
3.สิบโทเลียบ คหินทพงษ์
จำคุก 16 ปี คนเดียว คือ นายนุ่ม ณ พัทลุง ส่วนคนอื่นๆ นั้นยกฟ้องพ้นข้อหา ยกเว้นสิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ที่ปฏิเสธตลอดข้อหา ศาลจึงตัดสินให้ประหารชีวิต สิบเอกสวัสดิ์ มะหะหมัด ถูกคุมตัวไปประหารชีวิตที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า สมุทรปราการ ในตอนเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2478 เป็นนักโทษคนแรกที่ได้รับการลงโทษประหารชีวิตด้วยวิธียิงเป้า
อ้างอิง