31 สิงหาคม พ.ศ. 2488
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เป็นวันที่ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี คนที่ 5 ของประเทศ ที่เป็นพลเรือนเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2475 มา และท่านผู้นี้ยังเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ท่านคือ นายทวี บุณยเกตุ นักการเมืองที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนมากคนหนึ่งของประเทศ มีคนบอกว่าท่านเป็นนายกรัฐมนตรี “ขัดตาทัพ” เป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวที่เข้ารับตำแหน่งเพื่อรอตัว “นายกรัฐมนตรีที่สั่งจากนอก” คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ที่เดินทางจากสหรัฐอเมริกามาเป็นหัวหน้ารัฐบาลไทย ที่นายทวี บุณยเกตุ ต้องเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เพราะเมื่อทางไทยได้ประกาศสันติภาพและเป็นมิตรต่อฝ่ายพันธมิตรที่มีสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดก่อนที่ได้ทำหน้าที่ขณะที่ญี่ปุ่นมีกองกำลังปฏิบัติการอยู่ในประเทศไทยนั้นได้ขอลาออกจากตำแหน่งไป
เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแม้จะเป็นระยะเวลาที่สั้น นายกฯ ทวี บุณยเกตุ ก็ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามครรลองประชาธิปไตย
“การจัดตั้งรัฐบาลนี้ได้กระทำในระหว่างหัวเลี้ยวแห่งสงครามกับสันติภาพจึงมีภารกิจมากหลายซึ่งจะต้องรีบปฏิบัติโดยด่วน เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์และให้สอดคล้องเหมาะสมในอันที่จะดำเนินการเจรจากับฝ่ายสหประชาชาติต่อไปในระยะเวลาที่รัฐบาลนี้จะพึงปฏิบัติ ขอแถลงนโยบายเพียงสั้น ๆ ดังนี้”
นโยบายของรัฐบาลนั้นมีอยู่ 4 ประการ โดยประการแรกก็บอกว่าจะยึดหลักการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย ประการที่สองจะปฏิบัติการไปตามประกาศสันติภาพของไทย ส่วนประการที่สามเป็นเรื่องนโยบายต่างประเทศได้ระบุว่า
“รัฐบาลนี้จะร่วมมือกับสหประชาชาติในทุกวิถีทาง”
ประการสุดท้ายเป็นเรื่องนโยบายภายในประเทศก็จะรักษาความสงบภายในให้ดี
ที่แปลกก็คือรัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐบาลชั่วคราว อาสาเข้ามาทำแบบนี้ น่าจะได้ความไว้วางใจเป็นเอกฉันท์ ปรากฏว่าได้รับมติไว้วางใจด้วยเสียง 89 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุม 106 คน
แม้จะเป็นนายกรัฐมนตรีไม่กี่วัน นายกฯ ทวี บุณยเกตุ ก็ได้ทำงานบางอย่างที่เกี่ยวกับอดีตนายกฯ หลวงพิบูลสงคราม 2 เรื่อง
เรื่องแรกนั้นเกี่ยวกับชื่อของประเทศและคนไทย ที่ใช้เป็นภาษาอังกฤษ ที่ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2483 ให้เรียกชื่อประเทศไทยว่า “Thailand” และเรียกชื่อประชาชนกับสัญชาติว่า “Thai” นายกฯ ทวี บุณยเกตุ ได้ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2488 ที่มีความดังนี้
“บัดนี้รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่า โดยที่ชื่อของประเทศเป็นที่นิยมเรียกกันทางต่างประเทศว่า “Siam” จนแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันอย่างดีทั่วไปมาช้านานแล้ว ฉะนั้นจึงให้ชื่อประเทศในภาษาอังกฤษ “Siam” กับชื่อประชาชนและสัญชาติให้ใช้ว่า “Siamese” สำหรับในภาษาต่างประเทศอื่นให้ใช้โดยอนุโลม ส่วนชื่อในภาษาไทยให้ คงใช้ว่า “ไทย” ไปตามเดิม
ส่วนเรื่องที่สองเป็นเรื่องตำแหน่งทางการเมืองของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อดีตนายกรัฐมนตรี คือ ตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน นายกฯ ทวี บุณยเกตุ คงเห็นว่าเมื่อไม่ได้ปรึกษาราชการแผ่นดินแล้ว จึงได้ยกเลิกตำแหน่งที่ปรึกษาราชการแผ่นดินที่จอมพล . ป.พิบูลสงคราม เป็นอยู่เสีย ทั้งนี้ก็เท่ากับพยายามลดอำนาจของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปด้วย การประกาศยกเลิกตำแหน่งที่ปรึกษานี้ได้ทำในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2488 อีก 4 วันต่อมาในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 นายทวี บุณยเกตุ ก็นำคณะรัฐมนตรีของท่านลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างเหตุผลว่า รัฐบาลได้พิจารณาเห็นว่าภารกิจเร่งด่วนที่รัฐบาลของท่านพึงทำได้สำเร็จลุล่วงไปแล้ว
ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ ได้บันทึกเล่าเอาไว้ว่า
“ในวันนั้น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้เชิญประธานสภาไปที่ทำเนียบท่าช้างวังหน้าเพื่อหารือเรื่องตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ได้แจ้งให้ประธานสภาทราบว่า ขณะนี้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เอกอัครราชทูตประจำสหรัฐอเมริกาได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว และแจ้งต่อไปว่าในสถานการณ์ขณะนี้เห็นว่าถ้าได้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วจะเหมาะสม ประธานสภาก็ได้ชี้แจงให้ทราบว่าเมื่อครั้งที่ได้นัดประชุมสมาชิกหารือเป็นการภายในเพื่อพิจารณาตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายควง อภัยวงศ์นั้น ก็ได้ตกลงในที่ประชุมว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป ควรเป็น ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แต่เพราะเหตุที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ยังไม่กลับมาถึงประเทศไทย จึงเห็นควรให้นายทวี บุณยเกตุ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อเป็นดังนี้ก็จะได้ดำเนินการต่อไป
วันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 วันเดียวกับที่นายทวี บุณยเกตุ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช อีก 2 วันถัดมาก็ได้คณะรัฐมนตรี ซึ่งมีนายทวี บุณยเกตุ ร่วมรัฐบาลด้วย โดยเป็นรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมเวลาแล้วนายทวี บุณยเกตุ เป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 18 วัน