พระที่นั่งอนันตสมาคม (เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475)
ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นอาคารหินอ่อนที่เป็นสถาปัตยกรรมฝรั่งแบบ “เรเนอซองส์ของอิตาลี” ตั้งอยู่หลังลานพระราชวังดุสิตหรือลานพระบรมรูปทรงม้า พระที่นั่งหลังนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2450 เพื่อจะเป็นที่รับรองแขกเมือง และเป็นที่ประชุมปรึกษาราชการ โดยมีช่างชาวอิตาเลียนเป็นส่วนใหญ่มาสร้าง วิศวกรสำคัญก็มี นายซี อาร์เลกรี และนายอี ยีโกโล ส่วนสถาปนิกได้แก่ นายเอริโกตี ได้สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2458 สมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ชั้นบนของพระที่นั่งอนันตสมาคมนี้เป็นห้องโถงยาว ที่มีการตกแต่งอย่างงดงามมาก
ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ใช้อาคารแห่งนี้เป็น กองบัญชาการของคณะผู้ก่อการ และอีก 4 วันต่อมาหลังที่พระราชทานพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พ.ศ. 2475 ออกมาใช้แล้ว ได้มีการเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกในครั้งแรกที่พระที่นั่งอนันตสมาคมแห่งนี้ ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยในวันเดียวกันนั่นเองก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการราษฎรหรือคณะรัฐบาลชุดแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองขึ้นมาบริหารประเทศ ดังที่มีการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
[[ วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2475]] ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยที่มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินชั่วคราว พ.ศ. 2475” ที่มีบทบัญญัติว่าด้วยที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 10 ของธรรมนูญว่า สมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นไปตามกาลสมัย ดังนี้
สมัยที่ 1
นับแต่วันใช้ธรรมนูญนี้เป็นต้นไปจนกว่าจะถึงเวลาที่สมาชิกในสมัยที่ 2 จะเข้ารับตำแหน่งให้คณะราษฎร ซึ่งมีคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารเป็นผู้ใช้อำนาจแทนจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็น จำนวน 70 นาย เป็นสมาชิกในสภา
ดังนั้นในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎร โดยคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารจึงได้ใช้อำนาจประกาศตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวขึ้นเป็นจำนวน 70 นาย ประกอบด้วยข้าราชการและบุคคลสำคัญในยุคนั้นที่เป็นสมัครพรรคพวกของคณะราษฎรและที่ไม่ได้เป็น
1. มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาวงษานุประพันธ์
2. มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี
3. มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาพิชัยญาติ
4. มหาอำมาตย์โท พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี
5. มหาอำมาตย์โท พระยามโนปกรณ์นิติธาดา
6. มหาอำมาตย์ตรี พระยามานวราชเสวี
7. มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา
8. มหาอำมาตย์ตรี พระยาไชยยศสมบัติ
9. มหาอำมาตย์ตรี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์
10. มหาอำมาตย์ตรี พระยามนธาตุราช
12. นายพลตรี พระยาประเสริฐสงคราม
13. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ
14. มหาอำมาตย์ตรี พระยาปรีชานุสาสน์
15. นายพลเรือตรี พระยาศรยุทธเสนี
16. มหาอำมาตย์ตรี พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์
17. มหาอำนาตย์ตรี พระยาวิชัยราชสุมนตร์
18. มหาเสวกศรี พระยาปรีดานฤเบศร์
21. นายพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์
22. นายพันตำรวจเอก พระยาบุเรศร์ผดุงกิจ
23. อำมาตย์เอก พระยาอนุมานราชธน
24. อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล
25. นายนาวาเอก พระประพิณพลยุทธ
26. นายนาวาเอก พระเรี่ยมวิรัชชพากย์
27. อำมาตย์เอก พระสุธรรมวินิจฉัย
28. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์
29. นายพันตำรวจโท หลวงแสงนิติศาสตร์
30. อำมาตย์โท พระวุฒิศาสตร์เนติญาณ
32. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
33. นายพันตรี หลวงสินาดโยธารักษ์
35. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
38. นายเรือเอก หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์
39. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์
40. รองอำมาตย์เอก หลวงดำริอิสรานุวรรต
41. รองอำมาตย์เอก หลวงสุนทรเทพหัสดิน
42. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชาติวงศ์วรารัตน์
43. รองอำมาตย์เอก หลวงบรรณกรโกวิท
44. รองอำมาตย์เอก หลวงอรรถสารประสิทธิ์
45. รองอำมาตย์เอก หลวงอรรถกิตติกำจร
46. รองอำมาตย์เอก หลวงชำนาญนิติเกษตร์
47. รองอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์
48. รองอำมาตย์เอก หลวงอภิรมย์โกษากร
49. รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม
50. รองอำมาตย์เอก ประจวบ บุนนาค
51. รองอำมาตย์เอก หม่อมหลวงอุดม สนิทวงศ์
52. รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี
53. รองอำมาตย์เอก ทวี บุณยเกตุ
55. รองอำมาตย์โท ชุณห์ ปิณฑานนท์
57. นายแนบ พหลโยธิน
58. นายดิเรก ชัยนาม
60. นายยล สมานนท์
62. นายซิม วีระไวทยะ
64. นายมานิต วสุวัต
67. นายมังกร สามเสน
70. นายบรรจง ศรีจรูญ
แต่พระยาวิชิตชลธี อ้างว่าป่วยไม่ได้มาประชุม ที่ประชุมจึงได้เสนอชื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา ให้เป็นแทน เพราะแต่แรกท่านไม่ได้มีชื่ออยู่ด้วย
ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดแรกผู้ทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทยในการ “ดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ได้” ได้มีขึ้นโดยการแต่งตั้งทั้งหมด
จากนั้น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารได้กล่าวมอบงานการปกครองแผ่นดินที่คณะผู้ก่อการฯ ได้ยึดมาให้แก่สภาผู้แทนราษฎร และในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ที่ประชุมสภาก็ได้เลือกมหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร นับว่าท่านเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกของประเทศ โดยมีพระยาอินทรวิชิต เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจนิติบัญญัติของประเทศแล้ว ที่ประชุมสภาก็ได้ดำเนินการเลือกคณะผู้บริหารหรือรัฐบาลของประเทศ คือ ประธานกรรมการราษฎร และกรรมการราษฎร ดังที่มาตรา 33 ของธรรมนูญการปกครองได้บัญญัติว่า
“ให้สภาเลือกตั้งสมาชิกในสภาผู้หนึ่งเป็นประธานกรรมการ และให้ผู้เป็นประธานนั้นเลือกสมาชิกในสภาอีก 14 นาย เพื่อเป็นกรรมการ การเลือกนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบของสภาแล้ว ให้ถือว่าผู้ได้รับเลือกเป็นกรรมการของสภา”
ในที่ประชุมได้มีผู้เสนอชื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ตุลาการอาวุโส ผู้เป็นนักเรียนเก่าทางด้านกฎหมายจากประเทศอังกฤษให้เป็นประธานกรรมการราษฎร พระยามโนฯ ได้ขอปรึกษาหารือกับพระยาพหลฯ และหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอยู่ชั่วครู่หนึ่ง ก็ยอมรับตำแหน่งประธานกรรมการราษฎร การที่พระยามโนฯ ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของเมืองไทย ก็เนื่องมาจากเหตุผลหลายประการ เช่น เป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเกียรติทางด้านศาลยุติธรรมมาก่อน ได้รับความเชื่อถือและไว้วางใจจากบุคคลสำคัญในวงการเมืองสมัยนั้นมาก นัยว่าได้รับความเชื่อถือทั้งทางเจ้าและฝ่ายผู้ก่อการ หลังจากนั้นพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จึงได้เลือกคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเท่ากับคณะรัฐมนตรีในปัจจุบัน ตามความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 14 นาย เป็นกรรมการราษฎร ดังมีรายนามต่อไปนี้
1. นายพลเรือตรี พระยาปรีชาชลยุทธ
2. มหาอำมาตย์ตรี พระยาศรีวิสารวาจา
3. นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา
4. นายพันเอก พระยาทรงสุรเดช
5. นายพันเอก พระยาฤทธิอัคเนย์
6. อำมาตย์เอก พระยาประมวญวิชาพูล
7. นายพันโท พระประศาสน์พิทยายุทธ์
8. นายพันตรี หลวงพิบูลสงคราม
9. นายนาวาตรี หลวงสินธุสงครามชัย
10. อำมาตย์ตรี หลวงประดิษฐ์มนูธรรม
11. รองอำมาตย์เอก หลวงเดชสหกรณ์
12. รองอำมาตย์เอก ตั้ว ลพานุกรม
13. รองอำมาตย์เอก ประยูร ภมรมนตรี
14. นายแนบ พหลโยธิน
ดังนั้น วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงเป็นวันที่ประเทศไทยได้มีทั้งสภาผู้แทนราษฎร และมีรัฐบาลให้เข้ามาบริหารประเทศ การใช้พระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นที่ประชุมสภาตามปกติจากวันนั้นและได้ดำเนินการสืบมาจนถึงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2517 จึงยุติลง