การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2518)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 (2518)

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในวันที่ 10 สิงหาคม 2518 นับได้ว่าเป็นการให้สิทธิประชาชนในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย สืบเนื่องมาจากพระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 กำหนดให้กรุงเทพมหานครมีผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกตั้ง และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี โดยหลักการเบื้องต้นของการให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้ง ก็คือการ “แยกฝ่ายบริหารกับสภาออกจากกัน โดยให้มีการเลือกตั้งจากประชาชนทั้งสองฝ่าย และฝ่ายบริหารจะเป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ คนเดียว เพื่อให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเข้มแข็งตัดสินใจได้ ถ้ามีความขัดแย้งระหว่างอำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติ ก็ต้องยุบทั้งคู่ให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจใหม่” [1]

การเลือกตั้งครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิร้อยละ 13.86 และมีผู้ลงสมัครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดที่น่าสนใจ 2 คน คือ นายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตข้าราชการจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ลงสมัครในนามพรรคพลังใหม่ ผลปรากฏว่า นายธรรมนูญ ชนะการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียง 99,247 คะแนน นายอาทิตย์ได้ 91,678 คะแนน และนายชมพู อรรถจินดา ผู้สมัครอิสระได้ 39,440 คะแนน[2] ส่งผลให้ นายธรรมนูญ เทียนเงิน เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ก่อนหน้าที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายธรรมนูญเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรณรงค์หาเสียงให้กับพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 26 มกราคม 2518 โดยในขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค และผลของการเลือกตั้งก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 72 คน จากสมาชิกสภาทั้งหมด 269 ซึ่งเป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดในขณะนั้น แต่ผลปรากฏว่า พรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคอื่นในสภาให้ได้เกินครึ่งหนึ่งของทั้งหมด แต่พรรคกิจสังคมที่นำโดย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กลับสามารถรวบรวมคะแนนเสียงและจัดตั้งรัฐบาลด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคกิจสังคมที่มีเพียง 18 คนเท่านั้น นอกจากนี้ การเสียหน้าจากการที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ที่แม้จะชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 แต่เขตที่สำคัญ คือ เขตดุสิต พรรคกิจสังคม ซึ่งส่ง ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าพรรคลงสมัครกลับได้รับชัยชนะเพียงเขตเดียวในกรุงเทพมหานคร ชัยชนะของพรรคกิจสังคมในเขตดุสิตสร้างความอับอายให้แก่พรรคประชาธิปัตย์ที่นำทีมโดยนายธรรมนูญเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ นายธรรมนูญตัดสินใจเบนเข็มมาลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตาม การบริหารงานในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของนายธรรมนูญ เป็นอันต้องสะดุดหยุดลงอย่างกะทันหันหลังจากที่บริหารงานมาได้เพียงปีเศษ อันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่าง ฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานครกับฝ่ายบริหาร คือ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งด้วยกันทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้รัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งมี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายธานินทร์เป็นนายกรัฐมนตรีจากการแต่งตั้งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ซึ่งยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 6 ตุลาคม 2519)[3] มีคำสั่งให้ยุบเลิกพระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 พร้อมกับให้ยุบตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของนายธรรมนูญด้วยในวันที่ 29 เมษายน 2520 และนี่คือจุดจบของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่มาจากการเลือกตั้งคนแรกของประเทศไทย นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ประชาชนในกรุงเทพมหานครต้องรออีก 8 ปี ถึงได้มีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง

อ้างอิง

  1. คำพูดของ ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา ใน http://www.gotomanager.com/news/printnews.aspx?id=72806
  2. http://forum.sanook.com/forum/index.php?topic=2507677.0;wap2
  3. ดูประวัติของการรัฐประหารในประเทศไทย ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “ภาคผนวก: ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในประเทศไทย,” ใน รัฐประหาร 19 กันยา, ธนาพล อิ๋วสกุล, บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550), หน้า 221-8.