สุชน ชาลีเครือ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง วัชราพร ยอดมิ่ง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


นายสุชน ชาลีเครือ เป็นนักการเมืองที่เริ่มต้นชีวิตจากครูประชาบาลคนหนึ่ง แล้วก้าวเข้าสู่ถนนทางการเมืองด้วยการเป็นแกนนำของครูในภาคอีสาน แต่ด้วยบุคลิกภาพที่นุ่มนวล ประนีประนอม ใจเย็น ทำให้เป็นที่รักใคร่ของบุคคลหลายฝ่าย และเป็นที่ยอมรับจนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา

ประวัติ

นายสุชน ชาลีเครือ[1] เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2495 เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี การศึกษาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตบางเขน ปริญญาโท สาขาการบริหาร จาก The City University of New York สหรัฐอเมริกา และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร เริ่มรับราชการเป็นครูประชาบาล โรงเรียนบ้านหนองโดน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ โดยมีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำครูอีสานในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิต่างๆ จนได้ชื่อว่าเป็น คุณครูนักเคลื่อนไหว ซึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2521-2522 ได้เป็นแกนนำเรียกร้องค่าครองชีพของครูทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2523-2525 จึงได้เข้ามาช่วยงานด้านการศึกษาที่ทำเนียบรัฐบาลและเคยเป็นคณะกรรมการการประชุมแห่งชาติ และที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีก่อนที่จะได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าสู่แวดวงทางการเมือง

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้รับ[2]

- มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก

- มหาวชิรมงกุฎ

บทบาททางการเมือง

นายสุชน ชาลีเครือ ได้เข้าสู่แวดวงทางการเมือง โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา 2 ครั้ง เริ่มจากปี พ.ศ. 2535-2539 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาในฐานะตัวแทนสาขาอาชีพครู ในยุคของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) มีบทบาทในตำแหน่งคณะกรรมการประสานงานวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) ในฐานะมือประสานระหว่างวุฒิสภากับฝ่ายบริหาร และครั้งที่ 2 ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2543 ในสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภาด้วย

เมื่อปี พ.ศ. 2543[3] ได้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาและได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชัยภูมิ โดยมีบทบาทในวุฒิสภาหลายบทบาท คือ ประธานกรรมาธิการการคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาและแก้ไขกฎหมายเศรษฐกิจ และคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2546 ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 แทนนายเฉลิม พรหมเลิศ อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีแรงสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากสมาชิกวุฒิสภาทุกฝ่าย เพราะความที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถประสานประโยชน์ให้กับสมาชิกวุฒิสภาทุกฝ่ายได้

ต่อมาเมื่อพลตรี มนูญกฤต รูปขจรได้ลาออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา จึงได้มีการเลือกตั้งประธานวุฒิสภาขึ้นในการประชุมวุฒิสภา[4] ครั้งที่ 5 สมัยสามัญทั่วไป วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อจำนวน 4 ท่าน คือ หมายเลข 1 นายสุชน ชาลีเครือ หมายเลข 2 นายพนัส ทัศนียานนท์ หมายเลข 3 พลเอกวิชา ศิริธรรม หมายเลข 4 พลตรีมนูญกฤต รูปขจร ซึ่งผลการลงคะแนนปรากฏว่า นายสุชน ชาลีเครือ 99 คะแนน นายพนัส ทัศนียานนท์ 22 คะแนน พลเอกวิชา ศิริธรรม 15 คะแนน และพลตรีมนูญกฤต รูปขจร 59 คะแนน งดออกเสียง 2 เสียง บัตรเสีย 1 บัตร รวมทั้งสิ้น 198 คะแนน นายสุชน ชาลีเครือ เป็นบุคคลที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดและมีคะแนนเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกฯ ที่มาประชุม จึงถือได้ว่านายสุชน ชาลีเครือ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา และได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2547 และดำรงตำแหน่งจนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2549 รวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 2 ปี กับ 16 วัน

ในการนี้ นายสุชน ชาลีเครือ ได้แสดงวิสัยทัศน์ เนื่องในโอกาสที่ได้รับการเสนอชื่อจากสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกประธานวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2544 ข้อ 8 ในการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญทั่วไป) วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 สรุปได้ดังนี้[5]

“... อยากจะพัฒนาประสิทธิภาพในการทำงานของวุฒิสภา เพื่อเสริมสร้างคุณภาพในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อที่จะให้งานของวุฒิสภามีประสิทธิภาพและก็มีความเดินไปข้างหน้า อย่างมีระบบตามกฎหมายที่ได้บัญญัติเอาไว้แต่อย่างไรก็ตาม กระผมมีความมุ่งมั่นที่จะทำในพันธกิจที่จำเป็นอยู่เพียง 5 ประการสั้นๆ เท่านั้น

ประการที่หนึ่ง ต้องการสร้างความสัมพันธ์ ความรัก ความสามัคคี ระหว่างมวลสมาชิกวุฒิสภาของเรา ให้เป็นวุฒิสมาชิกที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายเป็นพวกให้เป็นมวลสมาชิกวุฒิสภา 200 คน

ประการที่สอง อยากจะส่งเสริมและพัฒนากระบวนการทำงานของวุฒิสภา โดยเฉพาะระบบกรรมาธิการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจะได้ตรวจสอบอำนาจตรวจสอบหรือการที่จะทำงานวิจัยก็ดีหรืองานกรรมาธิการนั้นเป็นงานที่สำคัญ ในด้านนิติบัญญัตินะครับ อยากเน้นการทำงานตรงนี้

ประการที่สาม ผมยึดหลักแห่งคุณธรรมในการทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอยู่บนหลักการของความถูกต้อง และมีความเป็นธรรมทางการเมือง

ประการที่สี่ จะส่งเสริมการทำงานเป็นทีม โดยเฉพาะจะต้องนำประสบการณ์ของท่านสมาชิกทุกท่านที่มาจากหลากหลายวิชาชีพจากอดีตก่อนมาเป็นสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งผสมผสานกับที่ปรึกษา ผู้ชำนาญการ นักวิชาการทำงานร่วมกับ ข้าราชการในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อที่จะให้งานนั้นประสบความสำเร็จเป็นผลงานที่ออกมาว่าเป็นความภูมิใจร่วมกัน

ประการสุดท้าย จะต้องมีรับผิดชอบโดยให้ความสำคัญในภาระหน้าที่หลัก คือ การประชุมวุฒิสภา การทำงานในฐานะสมาชิกวุฒิสภาเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวมต่อพี่น้อง ประชาชนและจะต้องทำงานในระบอบบูรณาการให้มีความโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ ”

ผลงานที่สำคัญ

ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาของนายสุชน ชาลีเครือ อยู่ในช่วงของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งได้กำหนดให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำให้อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภามีมากกว่าวุฒิสภาเดิม โดยเพิ่มบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้แก่วุฒิสภา ได้แก่ อำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง ถอดถอนและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ วุฒิสภาจึงมีหน้าที่ที่สำคัญหลายด้าน ได้แก่ ด้านการกลั่นกรองกฎหมาย ด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ด้านการแต่งตั้ง ถอดถอนและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ด้านกรรมาธิการ และด้านพิธีการ ประชาสัมพันธ์ ต่างประเทศและวิชาการ ซึ่งประธานวุฒิสภาจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้บริหารจัดการให้การปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ

การปฏิบัติหน้าที่ของนายสุชน ชาลีเครือ ในด้านการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของวุฒิสภา ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดขึ้นใหม่ ได้แก่ การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่ง และการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด ดังนี้

การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายกำหนด[6] ซึ่งประธานวุฒิสภาจะเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น

- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา คือ นายปราโมทย์ โชติมงคล

- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ นายอภัย จันทนจุลกะ และนายนภดล เฮงเจริญ

- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง คือ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายสมชัย จึงประเสริฐ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายสุเมธ อุปนิสากร และนางสดศรี สัตยธรรม

- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คือ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่วนกรรมการ ประกอบด้วย นายชิดชัย พานิชพัฒน์ นายเชาว์ อรรถมานะ นายประดิษฐ์ ทรงฤกษ์ นายพินิต อารยะศิริ นายยงยุทธ กปิลกาญจน์ นายวิเชียร วิริยะประสิทธิ์ พล.ต.ท.ดร.วิเชียร สุกโชติรัตน์ และนายวิสุทธิ์ โพธิแท่น

- การเลือกและการให้คำแนะนำตามรัฐธรรมนูญในตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คือ นายบุญรอด โบว์เสรีวงศ์ พลโทสมชาย วิรุฬหผล นายสำราญ ภูอนันตานนท์ และนายสิทธิพันธ ศรีเพ็ญ

- การให้ความเห็นชอบผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแทนคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา แต่เนื่องจากมีปัญหาโต้แย้งเกี่ยวกับสถานภาพในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จึงต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ซึ่งปรากฏว่าการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินยังมีผลอยู่ จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไป

- การให้ความเห็นชอบตุลาการศาลปกครองสูงสุด คือ นายเกษม คมสัตย์ธรรม นายวิชัย วิวิตเสวี นายชาญชัย แสวงศักดิ์ นายปรีชา ชวลิตธำรง นายวิชัย ชื่นชมพูนุท นายจรูญ อินทจาร นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ นายไพบูลย์ เสียงก้อง และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี

นอกจากนี้ยังพิจารณาเลือกตั้ง แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ ให้ความเห็นชอบอีกหลายตำแหน่ง เช่นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการอัยการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการ กิจการการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นต้น

ในส่วนของเรื่องการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาของนายสุชน ชาลีเครือ นั้น ได้เกิดขึ้นหลายกรณี ยกตัวอย่างเช่น กรณีการดำเนินคดีแก่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกรณีขึ้นค่าตอบแทนให้กับตนเอง กรณีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คนเข้าชื่อต่อประธานวุฒิสภา ตามมาตรา 304 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อถอดถอนบุคคลตามมาตรา 303 ออกจากตำแหน่ง เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง จำนวน 5 คน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 13 คน ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา จำนวน 2 คนและ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นต้น

ปัจจุบัน

หลังจากพ้นจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ ได้ห่างหายไปจากแวดวงทางการเมือง แม้จะมีการคาดหมายว่านายสุชน ชาลีเครือ จะเข้าสังกัดพรรคการเมืองของกลุ่มชินวัตร แต่สุดท้ายก็มีเพียง นางปาริชาติ ชาลีเครือ น้องสาวที่ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามของพรรคไทยรักไทยเท่านั้น จนกระทั่งในยุคของรัฐบาลที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ปรากฏชื่อของนายสุชน ชาลีเครือ ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งถือเป็นข้าราชการทางการเมือง หลังจากพ้นจากตำแหน่งแล้ว นายสุชน ชาลีเครือ ก็มีบทบาททางการเมืองบ้าง เช่น การให้สัมภาษณ์ในเรื่องที่เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทย และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายเหตุการณ์ อาทิ การถวายฎีกาขอพระบารมีแก้วิกฤตเนื่องจากเหตุการณ์ 13 เมษายน 2552[7] การจัดสัมมนาจัดโดย ชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 ซึ่งนายสุชน ชาลีเครือ เป็นประธานชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 เรื่อง “แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 50 เพื่อใคร ? ประชาชนได้อะไร ?”[8] เรื่อง “ต้านรัฐประหาร เชิดชูประชาธิปไตย แก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็นต้น

นายสุชน ชาลีเครือ ได้รับฉายาจากสื่อมวลชนเมื่อ ปี 2547 ว่า “ประธานสุชิน” เนื่องจากบทบาทประธานวุฒิสภาที่ประนีประนอมกับรัฐบาล และประสานงานกับ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นอย่างดี แต่อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา 2 ปี การปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธานวุฒิสภา นายสุชน ชาลีเครือ ได้ปฏิบัติงานอย่างเต็มความสามารถทั้งงานด้านพระราชพิธี งานด้านวิชาการ งานด้านต่างประเทศ งานด้านการประชุมสภา งานด้านกฎหมายและงานด้านอื่นๆ

อ้างอิง

  1. สุชน ชาลีเครือ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/สุชน_ชาลีเครือ (3 กันยายน 2552).
  2. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานประธานวุฒิสภา, สรุปผลงานประจำปี 2547 ของ ฯพณฯ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2548. หน้า 10.
  3. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักประชาสัมพันธ์, หนังสือที่ระลึกเนื่องในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของวุฒิสภา ประจำปี 2547 ณ วัดมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2547 เวลา 10.00 นาฬิกา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2547. หน้า 36-37.
  4. รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญทั่วไป) วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2547. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร 2551, หน้า 75.
  5. เรื่องเดียวกัน, หน้า 45-47.
  6. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการแต่งตั้ง ถอดถอนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549. หน้า 11-56.
  7. “สุชน-สล้างถวายฎีกา คมช.ข้องใจ”. มติชน 14 เมษายน 2552. หน้า1,13.
  8. “ภาพข่าว : วิจารณ์การเมือง”. แนวหน้า 14 เมษายน 2551. หน้า 15.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านกรรมาธิการ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการกลั่นกรอง กฎหมาย. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการควบคุมการ บริหารราชการแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการแต่งตั้ง ถอดถอนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.

บรรณานุกรม

สุชน ชาลีเครือ. [ออนไลน์]. แหล่งที่มา http://th.wikipedia.org/wiki/สุชน_ชาลีเครือ (3 กันยายน 2552).

“สุชน-สล้างถวายฎีกา คมช.ข้องใจ”. มติชน 14 เมษายน 2552. หน้า1,13.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, สรุปผลงาน 6 ปี ของวุฒิสภา (พ.ศ. 2543-2549) ด้านการแต่งตั้ง ถอดถอนและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ. กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2549.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานประธานวุฒิสภา, สรุปผลงานประจำปี 2547 ของ ฯพณฯ นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2548.

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักประชาสัมพันธ์, หนังสือที่ระลึกเนื่องในการถวายผ้าพระกฐินพระราชทานของวุฒิสภา ประจำปี 2547 ณ วัดมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม วันอาทิตย์ที่ 21 พฤศจิกายน 2547 เวลา 10.00 นาฬิกา. กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, 2547.

ดูเพิ่มเติม

  • รายงานการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ 5 (สมัยสามัญทั่วไป) วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2547