การตรวจสอบและความรับผิดชอบจากการดำเนินนโยบายประชานิยม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร[1]


บทคัดย่อ

             นโยบายประชานิยมเป็นสิ่งที่ฝ่ายการเมืองในประเทศต่าง ๆ นิยมใช้เป็นนโยบายสำคัญในการหาเสียงเพราะสามารถสร้างคะแนนนิยมจากประชาชนนำไปสู่การประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง การตรวจสอบและความรับผิดชอบจากการดำเนินนโยบายประชานิยมในประเทศไทยนั้นเกิดขึ้นอย่างจริงจังจากรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารซึ่งเห็นปัญหาจากการดำเนินการจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การใช้กฎหมายเพื่อจำกัดขอบเขตการใช้นโยบายประชานิยมจึงเริ่มจากกำหนดในรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีต้องเคร่งครัดต่อการดำเนินการตามวินัยการเงินการคลังของรัฐ การมีพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับนโยบายประชานิยมให้อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม การใช้กลไกการตรวจเงินแผ่นดินและให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เสนอเรื่องที่เห็นว่าไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและให้ที่ประชุมร่วมระหว่างองค์กรอิสระ 3 แห่ง คือ คตง. ป.ป.ช. และ กกต. สามารถทำหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี หากเห็นว่ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสม สำหรับรัฐสภาที่ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงข้างมาก  กลไกการตรวจสอบนโยบายประชานิยมย่อมทำได้ยาก และสำหรับภาคประชาชนนั้น มีช่องทางในการตรวจสอบคือ การยื่นเรื่องไปยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วแต่กรณี สุดท้ายหากกระบวนการตรวจสอบและความรับผิดชอบยังไม่มีการเอาจริงเอาจัง นโยบายประชานิยมยังคงอยู่กับประเทศไทยต่อไป

Abstract

             Political parties in various countries frequently utilize the populism policy as a crucial strategy to garner votes, as it can lead to electoral success by gaining popularity among the electorate. In Thailand, scrutiny and accountability regarding the implementation of popularity policies have become serious issues. This stems from governments arising from coups d'état, which have seen challenges in governance following electoral mandates.

             Legal measures to limit the scope of populism policy usage began with provisions in the constitution requiring ministers to be strict in managing state finances. Acts of discipline regarding state financial management have been used as tools to regulate populism policy within appropriate boundaries. Mechanisms such as the National Anti-Corruption Commission and joint meetings among independent organizations—namely, the Election Commission, the National Anti - Corruption Commission, and the State Audit Commission can submit reports to the Parliament, Senate, and Cabinet if they find inappropriate actions.

             For a Parliament where the government holds a significant majority, monitoring populism policies becomes challenging. For the public, avenues for oversight include filing complaints with the Auditor General, the Anti-Corruption Commission, or relevant committees, depending on the case. Ultimately, if the audit process and accountability measures are not implemented effectively, populism policies will continue to shape Thailand's future.

บทนำ

             การให้คำนิยามเกี่ยวกับนโยบายประชานิยม (Populism) อาจมีความหลากหลายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ จุดยืน แนวคิดทางการเมือง  เช่นเดียวกับการประเมินคุณค่าของนโยบายประชานิยมที่อาจแตกต่างกันไปเช่นกัน บางคนที่สนับสนุนนโยบายดังกล่าวอาจมีความเห็นว่านโยบายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีเหมาะสม ตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ เป็นการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ในขณะที่ฝ่ายที่เห็นต่างอาจมองว่า นโยบายประชานิยมมีเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะมีขึ้นต่อประเทศชาติในอนาคต

             คำนิยามของ “นโยบายประชานิยม” จึงมีหลากหลายแตกต่างกันแล้วแต่ผู้ให้คำนิยามจะมีจุดยืน อุดมการณ์ไปในทางใด 

             ยาน-แวร์เนอร์ มุลเลอร์ (Jan-Werner Müller) ผู้เขียนหนังสือชื่อ What is Populism? กล่าวถึง แก่นกลางของประชานิยม คือ “การปฏิเสธวิธีคิดแบบพหุนิยม (pluralism) โดยจะอ้างเสมอว่า มีแต่ประชานิยมเท่านั้นที่เป็นตัวแทนของประชาชนและเข้าใจความต้องการของประชาชนที่แท้จริง” (Müller, 2016)  และนักการเมืองแนวประชานิยม ก็จะมักอ้างแนวความคิดดังกล่าวในการดำเนินนโยบายทางการเมืองโดยกล่าวอ้างความต้องการของประชาชน ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อประโยชน์ในด้านการสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองอย่างเต็มที่

             แคส มุดเดอ (Cas Mudde) นักรัฐศาสตร์ชาวดัชท์ที่ให้ความสนใจศึกษาในเรื่องความสุดโต่งทางการเมืองและนโยบายประชานิยมในยุโรปและอเมริกา กล่าวถึงประชานิยมว่าเป็น “อุดมการณ์ทางการเมืองซึ่งแยกสังคมออกเป็นสองขั้วที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันระหว่างประชาชนผู้บริสุทธิ์ (pure people) กับชนชั้นนำที่คดโกง (corrupt elite) ซึ่งนำไปสู่แนวความคิดให้สิทธิพิเศษแก่ประชาชนทั่วไปเหนือสิ่งอื่นใด” (Mudde and Kaltwasser, 2017)

             สำหรับคำนิยามโดยทั่วไปที่ปรากฏ เช่น ใน Cambridge Dictionary กล่าวถึงประชานิยมแบบเข้าใจได้ง่ายว่าเป็น “แนวคิดและกิจกรรมทางการเมืองที่มุ่งให้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนด้วยวิธีการให้ในสิ่งที่ประชาชนต้องการ”[2]

             ในขณะที่นักวิชาการไทย เช่น นณริฏ พิศลยบุตร จากทีดีอาร์ไอกล่าวถึงประชานิยมในเชิงนโยบายของฝ่ายการเมืองว่า “นโยบายประชานิยม จะมุ่งเน้นที่ความนิยมชมชอบของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งเมื่ออยู่ภายใต้ระบบการเลือกตั้ง นโยบายประชานิยมจะเลือกพุ่งเป้าไปที่ความนิยมชมชอบของกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ก่อน เพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง” (นณริฏ พิศลยบุตร, 2559)

             มุมมองในเรื่องประชานิยมจึงดูเหมือนจะแตกออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน โดยฝ่ายหนึ่งมีความเชื่อว่า นโยบายประชานิยมเป็นเรื่องที่ชอบธรรมเพราะตอบสนองความต้องการของประชาชนที่เสียเปรียบ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า นโยบายดังกล่าวถูกฝ่ายการเมืองใช้เป็นข้ออ้างในการจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรของรัฐที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ได้คะแนนนิยมในการเลือกตั้ง

             อย่างไรก็ตามในข้อเท็จจริงคือ ทุกนโยบายประชานิยมที่ถูกดำเนินการโดยรัฐย่อมต้องแลกด้วยงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากที่มาจากภาษีอากรของประชาชนที่ถูกใช้จ่ายไปและแม้จะสร้างความพอใจให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลประโยชน์แต่ก็กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ถึงประโยชน์และความคุ้มค่าที่เกิดขึ้นตลอดจนปัญหาการเงินการคลังของประเทศที่อาจเกิดตามมาในอนาคต

รูปแบบของนโยบายประชานิยมในประเทศต่าง ๆ

             การใช้นโยบายประชานิยมในประเทศต่าง ๆ โดยพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายดังกล่าวเพื่อให้ได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการเลือกตั้ง  ตัวอย่างที่กล่าวถึงกันมาก อาทิ

             นโยบายประชานิยมของประธานาธิบดี ฮวน เปรอน (Juan Peron) ของอาร์เจนตินา ในสมัยที่เขาขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 35 ระหว่างปี พ.ศ. 2489 ถึง 2498 (ค.ศ. 1946 – 1955)[3] สตรีหมายเลขหนึ่ง เอวา เปรอน (Eva Peron) ได้มีส่วนสำคัญในการริเริ่มนโยบายสวัสดิการสังคมจำนวนมาก  โดยมีการก่อตั้งมูลนิธิเอวา เปรอน ขึ้นในปี พ.ศ. 2491 (ค.ศ. 1948) ให้ทุนการศึกษาแก่เด็กยากจน สร้างบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็กกำพร้าในพื้นที่ด้อยโอกาส

             โครงการประชานิยมจำนวนมากเกิดขึ้นโดยใช้งบประมาณแผ่นดินประจำปีสนับสนุนถึงราว 50 ล้านเหรียญต่อปี หรือ ราว ร้อยละ 1 ของมูลค่ามวลรวมเศรษฐกิจภายในประเทศ[4] มีการจ้างพนักงานถึง 14,000 คน ก่อตั้งโรงเรียน คลินิก บ้านพักคนชรา และสิ่งอำนวยความสะดวกในวันหยุดแห่งใหม่หลายร้อยแห่ง นอกจากนี้ยังแจกจ่ายสิ่งของจำเป็นในครัวเรือน การเยี่ยมเยียนของแพทย์ และทุนการศึกษานับแสนรายการ ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย  

             แนวความคิดประชานิยมของเปรอน แม้จะได้รับความนิยมจากประชาชน แต่ก็ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลมีรายจ่ายสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้นในรายการสวัสดิการต่าง ๆ ที่ให้แก่ประชาชนแล้วไม่สามารถยกเลิกได้และกลายเป็นวิธีการที่ผู้บริหารประเทศคนต่อ ๆ มา ยังคงใช้นโยบายดังกล่าว ตามด้วยการกู้หนี้ต่างประเทศเพื่อมาใช้จ่ายในโครงการดังกล่าว 

             ปัจจุบัน อาร์เจนตินา กลายเป็นประเทศหนี้สาธารณะประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ  มีอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงถึง ร้อยละ 249.79 ในปี พ.ศ. 2567 (ค.ศ. 2024) [5] อัตราการว่างงานในปี พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) แม้จะเพียง ร้อยละ 6.84[6]  แต่ก็ปรากฏข่าวล่าสุด เมื่อต้นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยประธานาธิบดีฆาบิเอร์ มิเลย์ ผู้นำอาร์เจนตินาเปิดเผยว่า รัฐบาลอาร์เจนตินามีแผนเลิกจ้างข้าราชการ 50,000 ตำแหน่ง อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการรัดเข็มขัดที่เริ่มดำเนินการในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 นี้[7]

                                                                                             ภาพ 1 : หนี้สาธารณะของประเทศอาเจนตินา จาก ปี พ.ศ. 2550 – 2572

                                                                                             ที่มา : https://www.statista.com/statistics/1391782/national-debt-argentina/


             นโยบาย Bolivarian Missions ของประธานาธิบดี อูโก ชาเบซ (Hugo Chavez) ในประเทศเวเนซูเอลา หลังจากที่เขาชนะเลือกตั้งและดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างยาวนานถึง 14 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึง 2556 (ค.ศ.1999 – 2013) โดยในปี พ.ศ. 2546 (ค.ศ. 2003) ในขณะที่เป็นรัฐบาลเขาได้ออกนโยบายและโครงการสำคัญที่เรียกว่า พันธกิจแห่งชาวโบวิเลีย (Bolivarian Missions)[8] เป็นชุดของนโยบายทางสังคมที่หลากหลายดำเนินการโดยหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เช่น โครงการการให้ประชาชนได้รู้หนังสือ การดูแลด้านสุขภาพฟรีแก่ชุมชนที่ยากจน การอุดหนุนอาหาร สินค้าอุปโภค บริโภคฟรีให้แก่ประชาชน มีคลินิกตรวจและรักษาสุขภาพที่มีแพทย์ประจำดูแลรักษา

             หลังจากอสัญกรรมของ ชาเบส มีการสืบทอดอำนาจต่อโดยรองประธานาธิบดี นิโคลัส มาดูโร (Nicholas Maduro) โดยเขาชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2556 และยังคงดำรงตำแหน่งถึงปัจจุบัน การดำเนินนโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้มาซึ่งเสียงสนับสนุนของประชาชนยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ไม่ว่าจะเป็นการแจกจ่ายทรัพยากรน้ำมันซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ โดยบางครั้งเป็นการจำหน่ายในราคาถูก หรือบางครั้งก็เป็นการแจกฟรี การเข้าควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าพื้นฐานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงในราคาที่ถูกกว่าต้นทุนที่แท้จริง  การมีโครงการสวัสดิการสังคมต่าง ๆ เช่น บ้านราคาถูก การให้ทุนการศึกษา การรักษาพยาบาลฟรี การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ และเมื่อเงินไม่พอก็มีการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มอย่างไม่มีวินัยการเงินการคลัง ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นถึง 63,374.08 % ในปี 2562 (ค.ศ. 2019)

                                                                                             ภาพ 2 : อัตราเงินเฟ้อของประเทศเวเนซูเอลา ระหว่างปี พ.ศ. 2528 – 2568 คิดเป็นร้อยละเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้า

                                                                                             ที่มา : https://www.statista.com/statistics/371895/inflation-rate-in-venezuela/


             นโยบายประชานิยมของกรีซ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) เป็นต้นมา ประเทศกรีซอยู่ภายใต้การผลัดกันปกครองประเทศของพรรคการเมืองหลัก 2 พรรค คือพรรค PASOK (Panhellenic Socialist Movement) และพรรคประชาธิปไตยใหม่ (New Democracy)

             พรรคการเมืองทั้งสองพรรคแม้จะมีอุดมการณ์ทางการเมืองที่แตกต่างกันแต่ก็ดำเนินนโยบายประชานิยมอย่างต่อเนื่องแข่งขันกันมาโดยตลอดโดยพรรค PASOK นำนโยบายประชานิยมมาหาเสียงเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2524 ทำให้พรรคชนะการเลือกตั้งและได้จัดตั้งรัฐบาล (ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์, 2556) โดยสิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ เช่น การสร้างภาระรายจ่ายผูกพันในรายการสวัสดิการสังคมต่าง ๆ อาทิ สวัสดิการแรงงาน บำนาญผู้สูงอายุ ค่ารักษาพยาบาล การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ การให้เงินช่วยเหลือแก่เกษตรกร การจ้างงานภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงประสิทธิภาพและความคุ้มค่า

             การดำเนินโยบายประชานิยมอย่างต่อเนื่องของกรีซ ทำให้ภาวะหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยมีตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 367,950 ล้านเหรียญ ในปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) เป็นเกือบ 400,000 ล้านเหรียญในปัจจุบัน  มีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสูงถึงร้อยละ 169.8[9] เป็นภาระของประเทศในการใช้คืนและเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

                                                                                             ภาพ 3 : แสดงหนี้สาธารณะของประเทศกรีซ ระหว่างปี พ.ศ. 2562 – 2572

                                                                                             (ค.ศ. 2019 – 2029) (หน่วย : พันล้านเหรียญสหรัฐฯ)

                                                                                             ที่มา : https://www.statista.com/statistics/270409/national-debt-of-greece/

รูปแบบของการใช้นโยบายประชานิยมในประเทศไทย

             การเกิดขึ้นของนโยบายประชานิยมในประเทศไทยนั้นเริ่มเป็นที่รู้จักและใช้อย่างแพร่หลายในรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร (พ.ศ. 2544-2549)  โดยพรรคไทยรักไทยที่ชนะการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ได้ที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 248 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง ทั้ง ๆ ที่เป็นพรรคการเมืองตั้งใหม่ก็ด้วยการเสนอนโยบายในการหาเสียงที่เสนอประโยชน์โดยตรงให้แก่ประชาชนต่าง ๆ ทำให้เป็นที่ยอมรับของประชาชน นโยบายต่าง ๆ ดังกล่าวในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีดังต่อไปนี้[10]

             1. นโยบายประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรค สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อลดรายจ่ายโดยรวมของประเทศและประชาชนในการดูแลรักษาสุขภาพ โดยเสียค่าใช้จ่าย 30 บาทต่อครั้ง และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

             2. นโยบายกองทุนหมู่บ้าน โดยจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชุนเมือง แห่งละ 1 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการลงทุน สร้างอาชีพเสริม และสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในชุมชน และวิสาหกิจขนาดเล็กในครัวเรือน

             3. นโยบายพักหนี้เกษตรกร โดยพักชำระหนี้ให้เกษตรกรรายย่อยเป็นเวลา 3 ปี เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยวางระบบฟื้นฟูและให้ความช่วยเหลือปรับโครงสร้างการผลิตอย่างครบวงจร

             4. โครงการบ้านเอื้ออาทร เป็นโครงการของรัฐบาล เมื่อปี พ.ศ. 2547 สมัยนายทักษิณ  ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติ มีเป้าหมายสร้างบ้าน 1 ล้านหลัง ทั้งลักษณะบ้านเดี่ยว 2 ชั้น บ้านแฝด 2 ชั้น และอาคารชุดสูงไม่เกิน 5 ชั้น รองรับให้ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกิน 10,000 – 15,000 ต่อเดือน ได้เข้าถึงที่อยู่อาศัยราคาถูก ราคาระหว่าง 400,000 – 700,000 บาท เป็นของตนเอง  โดยสามารถผ่อนชำระกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารออมสิน โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน มีเป้าหมายการสร้าง 1,000,000 หลัง[11]

             5. นโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรในรูปแบบของการรับจำนำสินค้าเกษตร เช่น ข้าวเปลือก โดยในกลางปี พ.ศ. 2547 รัฐบาลพรรคไทยรักไทยประกาศรับจำนำข้าวนาปรังปี 2547 โดยปรับราคาจาก รับจำนำข้าวจาก 5,235 บาทต่อตันในฤดูกาลก่อนเป็น 6,500 บาทต่อตันในฤดูกาลผลิต 2547/48 และเป็น 7,000 บาทต่อตันในปี 2548/49 ทำให้ชาวนานำข้าวเปลือกมาจำนำเป็นจำนวนมากเนื่องจากได้ราคาสูงกว่าปกติและส่วนใหญ่ไม่มาไถ่คืน ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระขาดทุนและต้องนำเงินงบประมาณจำนวนมากมาชดเชย โดยในระหว่างปี พ.ศ. 2540 – 2550 รัฐต้องนำเงินกว่า 74,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อใช้ในการแทรกแซงพืช 4 ชนิด (นิพนธ์ พัวพงศกร, 2556) 

             การดำเนินนโยบายประชานิยมของพรรคไทยรักไทยเป็นผลให้พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งครั้งต่อมา ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 โดยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถึง 377 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่ง เป็นผลให้พรรคการเมืองต่าง ๆ มีการเสนอนโยบายหาเสียงและดำเนินนโยบายแบบประชานิยมอย่างต่อเนื่องมากมายไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจของทหารก็ตาม  อาทิ

             1. นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในระหว่างปี พ.ศ. 2554 – 2557 โดยมีการระบุในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ว่า “นำระบบรับจำนำสินค้าเกษตรมาใช้ในการสร้างความมั่นคงด้านรายได้ให้แก่เกษตรกร เริ่มต้นจากการรับจำนำข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกหอมมะลิ ความชื้นไม่เกิน ร้อยละ 15 ที่ราคาเกวียนละ 15,000 บาท และ 20,000 บาท ตามลำดับ” [12] ราคาดังกล่าวเป็นราคาที่สูงกว่าความเป็นจริงในตลาดโลก ชาวนานั้นยินดีที่สามารถขายข้าวให้กับรัฐในราคาสูงที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ในขณะที่เกิดความเสียหายต่อรัฐอยู่ที่ประมาณ 6.21 แสนล้านบาท โดยรัฐใช้จ่ายเงินไป 9.68 แสนล้านบาทในฤดูการผลิต 2556/57 แต่มีรายได้จากการขายข้าว 2.98 แสนล้านบาทและมีข้าวเหลือค้างสต็อกที่ยังไม่ได้ขายอีกจำนวนมาก (อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, ไม่ปรากฏปี)  

             2. นโยบายประชารัฐ ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในระหว่างปี พ.ศ. 2557 – 2562 ซึ่งแม้ว่าจะไม่พยายามสื่อความถึงนโยบายในเชิงประชานิยมที่พรรคเพื่อไทยใช้และประสบความสำเร็จโดยมาใช้คำว่า “ประชารัฐ” แทน แต่เนื้อหาและการดำเนินการของโครงการจำนวนมากก็มีลักษณะเข้าข่ายนโยบายประชานิยม คือ การใช้เงินงบประมาณจำนวนมากของรัฐ เพื่อจัดทำโครงการให้ประชาชนเพื่อหวังผลในคะแนนเสียงการเลือกตั้ง  อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่เติมเงินบัญชีให้แก่คนจนและกลุ่มเปราะบางที่ลงทะเบียนจำนวนประมาณ 13 ล้านคน เป็นรายการจับจ่ายใช้สอย 300 บาทต่อเดือน และใช้ในรายการสาธารณูปโภคค่าก๊าซหุงต้ม 80 บาทต่อเดือน และค่าขนส่งสาธารณะต่าง ๆ  750 บาทต่อเดือน เป็นต้น

             3. นโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่คนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจำนวน 50 ล้านคน เป็นเงิน 500,000 ล้านบาท ตามเงื่อนไขคุณสมบัติและการใช้จ่ายเงินที่กำหนด ซึ่งมีแผนการจะแจกจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวในไตรมาสที่ 4 ของปี พ.ศ. 2567 (ตุลาคม - ธันวาคม พ.ศ. 2567) โดยระบุเหตุผลการดำเนินการคือ “จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะปลุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง....นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็ได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปภาษี” [13]

             4. นอกเหนือจากนโยบายของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลแล้ว เมื่อสำรวจนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ก็ปรากฏการนำเสนอนโยบายของพรรคการเมืองแทบทุกพรรคที่เสนอต่อประชาชนในแนวทางประชานิยมทั้งสิ้น อาทิ[14] นโยบายเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือนของพรรคก้าวไกล การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 700 บาทต่อเดือนของพรรคพลังประชารัฐ การพักชำระหนี้เกษตรกรปลอดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาทเป็นเวลา 3 ปีของพรรคภูมิใจไทย 

             นโยบายประชานิยมเหล่านี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายที่แม้สร้างความพึงพอใจให้แก่ประชาชนผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายแต่ก็สร้างภาระทางงบประมาณให้แก่แผ่นดินทั้งที่ผ่านมาและหลายรายการยังผูกพันต่อไปในอนาคต อีกทั้งบางโครงการมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้น เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายการเมืองที่เป็นเจ้าของนโยบายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ

แนวคิดในการออกแบบระบบในการตรวจสอบและสร้างความรับผิดชอบจากการดำเนินนโยบายของฝ่ายการเมืองได้เกิดขึ้นในยุคสมัยรัฐประหารที่มีรัฐบาลซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งนี้โดยมีพื้นฐานความคิดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะสนใจการสร้างคะแนนนิยมเพื่อให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้งโดยไม่สนใจผลกระทบที่มีต่อฐานะการเงินการคลังของประเทศในระยะยาว การสร้างกรอบวินัยการเงินการคลังในรูปแบบที่กำหนดเป็นกฎหมายจึงเกิดขึ้น

การตรวจสอบและความรับผิดชอบจากการดำเนินนโยบายประชานิยมในประเทศไทย

             การออกแบบกลไกทางการเมืองต่าง ๆ นับแต่การกำหนดในรัฐธรรมนูญไปจนถึงการออกกฎหมายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลังปี พ.ศ. 2560 จึงมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการตรวจสอบและสร้างความรับผิดชอบจากการดำเนินนโยบายประชาชนนิยมของฝ่ายการเมืองแบบไม่รับผิดชอบ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

รัฐธรรมนูญ 2560 กับความระแวงภัยจากนโยบายประชานิยม

             รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

             รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นผลพวงของการรัฐประหารที่โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของฝ่ายการเมืองและคณะผู้ร่างมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายประชานิยมของฝ่ายการเมือง

             มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญ จึงกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า

             “รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและความมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม

             กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกรอบการดำเนินการทางการคลังและงบประมาณของรัฐ การกำหนดวินัยทางการคลังด้านรายได้และรายจ่ายทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ การบริหารทรัพย์สินของรัฐและเงินคงคลัง และการบริหารหนี้สาธารณะ” [15]

             มาตรา 164 (2) ระบุถึงหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีต้องปฏิบัติในการบริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญว่าต้อง

             “รักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด” [16]

             การออกแบบกลไกป้องกันการใช้นโยบายประชานิยมที่อาจนำไปสู่การสร้างความเสียแก่การเงินการคลังของประเทศยังเชื่อมโยงไปยังกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกอย่างน้อย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 มาประกอบเพื่อกำหนดรายละเอียดในการกำกับการดำเนินนโยบายของฝ่ายบริหารที่เป็นรูปธรรม

พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ เครื่องมือกำกับประชานิยมล้นเกิน

             กฎหมายฉบับนี้เป็นผลสืบเนื่องจากมาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยมีกระบวนการออกแบบและมีมาตรการบังคับให้รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องดำเนินการ เช่น ในมาตรา 6 ได้ระบุไว้ว่า

             “รัฐต้องดำเนินนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ตามหลักการรักษาเสถียรภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และหลักความเป็นธรรมในสังคมและต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัตินี้และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด” [17]

             นอกจากนี้ ในมาตรา 9 ยังมีการกำหนดให้คณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารที่ควบคุมดูแลการใช้งบประมาณแผ่นดินต้องดำเนินการดังนี้

             “คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยในกิจการที่เกี่ยวกับเงินแผ่นดินตามพระราชบัญญัตินี้อย่างเคร่งครัด

             ในการพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ

             คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนระยะยาว” [18]                          ข้อความในวรรคท้ายของ มาตรา 9 เป็นข้อห้ามที่ชัดเจนถึงการนำงบประมาณแผ่นดินไปใช้กับนโยบายประชานิยมที่มุ่งหวังประโยชน์ต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองโดยไม่คำนึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว เช่น การเป็นภาระในเรื่องหนี้สาธารณะของประเทศ หรือการเป็นภาระทางงบประมาณแผ่นดินที่สืบเนื่องต่อไปจนทำให้งบประมาณประเทศไม่สามารถนำไปใช้ในการลงทุนเพื่อให้เกิดการพัฒนาและความเจริญเติบโตของบ้านเมืองอย่างแท้จริง

             ในอดีตที่ผ่านมา นอกเหนือจากการที่ฝ่ายการเมืองจะใช้อำนาจของตนในการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองแล้ว ยังมีช่องทางในการใช้เงินนอกงบประมาณโดยใช้เงินของรัฐวิสาหกิจที่กำกับดูแล เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในการดำเนินกิจกรรมที่เรียกว่า นโยบายหรือมาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal Policy)

             ตัวอย่างการใช้นโยบายหรือมาตรการกึ่งการคลังในอดีต เช่น การที่รัฐบาลหลายรัฐบาลมีนโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรเป็นเวลา 3 ปี โดยให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ดำเนินการกับลูกหนี้ที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณประจำปีชดเชยค่าดอกเบี้ยที่เสียไปให้ภายหลัง หรือโครงการรับจำนำข้าวในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้ออกเงินจ่ายให้แก่ชาวนาไปก่อนเกือบล้านล้านบาทและรัฐบาลต่อ ๆ มาต้องตั้งงบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้คืนในแต่ละปีงบประมาณเป็นจำนวนมาก

             ในกรณีของโครงการจำนำข้าว เมื่อดูรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 พบว่า “ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามาแก้ปัญหาหนี้ที่เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าว จำนวน 9.85 แสนล้านบาท ด้วยการนำเงินจากการระบายข้าวมาจ่ายคืนหนี้ให้ ธ.ก.ส. จำนวน 371,280.05 ล้านบาท และตั้งงบประมาณใช้หนี้อีก 289,304.73 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 660,584.78 ล้านบาท ส่วนภาระหนี้ที่ค้างชำระที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณจ่ายคืนหนี้ให้กับ ธ.ก.ส. ทั้งสิ้น 246,675.61 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินที่ ธ.ก.ส. สำรองจ่าย 66,403.55 ล้านบาท และเงินที่ ธ.ก.ส.ไปกู้ยืมมาจากสถาบันการเงินอื่นอีก 184,474.62 ล้านบาท”[19]

             ดังนั้น ในมาตรา 28 ของ พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ จึงมีการระบุข้อความที่ผูกมัดไปถึงการใช้นโยบายหรือมาตรการกึ่งการคลังอีกโดยมีเนื้อหาคือ

             “การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดำเนินกิจกรรม มาตรการ โครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดำเนินการนั้น ให้กระทำได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม

             ในการมอบหมายตามวรรคหนึ่ง คณะรัฐมนตรีต้องพิจารณาภาระทางการคลังของรัฐที่อาจเกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ผลกระทบต่อการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายนั้น และแนวทางการบริหารจัดการภาระทางการคลังของรัฐและผลกระทบจากการดำเนินการดังกล่าว

             ภาระที่รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ต้องมียอดค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกำหนด

             ให้หน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับมอบหมายตามมาตรานี้ ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมายนั้นจะเกิดขึ้นก่อนพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับหรือไม่ จัดทำงบประมาณต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการที่รัฐจะต้องรับภาระทั้งหมดสำหรับกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการนั้น ๆ และแจ้งให้คณะกรรมการและกระทรวงการคลังทราบ” [20]          

             กระบวนการออกแบบในกฎหมายดังกล่าวจึงมีเจตนาที่จะจำกัดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ ทั้งในส่วนที่เป็นเงินซึ่งปรากฏในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปีและเงินนอกงบประมาณ เช่น เงินของรัฐวิสาหกิจ ไม่ถูกใช้จ่ายไปในกิจกรรมประชานิยมอย่างไร้เหตุผลสมควรโดยเพียงแต่เพื่อมุ่งสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองเท่านั้น

             อย่างไรก็ตาม การสั่งลงโทษทางปกครองต่าง ๆ ยังไม่มีในตัวพระราชบัญญัติฉบับนี้ ต้องไปดูต่อในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน[21]

การตรวจเงินแผ่นดิน กลไกระงับยับยั้งประชานิยมล้นเกิน

             รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในหมวด 12 องค์กรอิสระ ส่วนที่ 5 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ในช่วงท้ายของส่วนดักล่าว มาตรา 245 ได้กล่าวถึงบทบาทของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการขององค์กรอิสระอีก 2 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  โดยมีสาระของมาตราดังกล่าวคือ

             “เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง ต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเพื่อพิจารณา

             ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบดังกล่าว ให้ปรึกษาหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากที่ประชุมเห็นพ้องกับผลการตรวจสอบนั้น ให้ร่วมกันมีหนังสือแจ้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี เพื่อทราบโดยไม่ชักช้า และให้เปิดเผยผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อประชาชนเพื่อทราบด้วย” [22]

             รายละเอียดของการดำเนินการตามมาตรานี้ ปรากฏใน มาตรา 8 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 โดยมีสาระในส่วนขยายคือ หากมีกรณีดังกล่าวให้คณะกรรมการขององค์กรอิสระทั้งสามองค์กรมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุม ผู้ใดไม่มาประชุมโดยไม่มีเหตุผลสมควรหรือมาประชุมแล้วไม่ลงคะแนนเสียงหรืองดออกเสียง ให้ถือเป็นการจงใจฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะลาออกจากตำแหน่งก่อนวันประชุมหรือก่อนลงมติ [23]

             ส่วนในประเด็นโทษทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับวินัยการเงินการคลังของรัฐนั้น  มีระบุไว้ใน หมวด 7 วินัยการเงินการคลัง ใน มาตรา 98 ซึ่งระบุโทษทางปกครองเพียง 3 สถาน คือ (1) ภาคทัณฑ์ (2) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และ (3) ปรับทางปกครอง ซึ่งจะปรับเป็นเงินเกินเงินเดือนสิบสองเดือนของผู้ถูกลงโทษมิได้

             เมื่อพิจารณาจากขนาดการลงโทษทางปกครองที่สูงสุดเพียงการปรับเป็นเงินไม่เกินเงินเดือน 12 เดือนของผู้ถูกลงโทษ น่าจะเป็นกรณีของการกระทำผิดในระดับเจ้าพนักงานของรัฐเท่านั้น มิได้มีบทบัญญัติ การลงโทษในกรณีที่กระทำความผิดเป็นคณะรัฐมนตรีที่อาจใช้อำนาจในการอนุมัติโครงการ มาตรการที่มีลักษณะเป็นนโยบายประชานิยมที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างร้ายแรง

ป.ป.ช. ปลายทางของการกำกับการตรวจสอบ

             นอกเหนือจากหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ปปช. ตาม มาตรา 32 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้สามารถเสนอมาตรการ ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรี รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระ หรือองค์กรอัยการ ในเรื่องการป้องกันหรือปรามปรามการทุจริต การจัดให้มีมาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตประพฤติมิชอบและการเสนอแนะให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับหรือมาตรการใดที่เป็นช่องทางให้มีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ โดยอาจจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ได้ด้วยแล้ว[24]

             ในกรณีที่มีการดำเนินนโยบายประชานิยมล้นเกินจนก่อให้เกิดความเสียต่อการเงินการคลังของประเทศอย่างร้ายแรง กลไกการตรวจสอบและความรับผิดชอบจากการดำเนินนโยบายประชานิยมยังสามารถจบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ได้อีกด้วย

             โดยหากคณะกรรมการจาก 3 องค์กรอิสระ คือ คตง. กกต. และ ป.ป.ช. มีความเห็นว่านโยบาย โครงการ ที่รัฐบาลที่เป็นฝ่ายการเมืองดำเนินการมีลักษณะเป็นโครงการ มาตรการ หรือกิจกรรมนั้น ขัดต่อพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐและก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หลังจากแจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบโดยไม่ชักช้าแล้ว หากคณะรัฐมนตรีไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อระงับยับยั้งโครงการ มาตรการหรือกิจกรรมดังกล่าว สิ่งที่สามารถดำเนินการต่อไปได้ คือการใช้ มาตรา 234 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ ปปช. ที่จะไต่สวนและมีความเห็นในกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

             หากคณะกรรมการ ปปช. มีมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งเห็นว่าพฤติการณ์หรือกระทำความผิดตามที่ไต่สวน ก็ให้ส่งศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยหากเป็นกรณีจริยธรรม หรือส่งให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในกรณีที่นอกเหนือจากเรื่องจริยธรรม หากศาลประทับรับฟ้องก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ หากมีคำวินิจฉัยว่าผิดก็ต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดเวลาไม่เกินสิบปีด้วยหรือไม่ก็ได้[25]

             ส่วนความรับผิดทางแพ่งที่ก่อให้เกิดความเสียต่อทรัพย์สินของรัฐนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังจะตั้งกรรมการสอบหาผู้รับผิดทางละเมิดและมีคำสั่งของกระทรวงการคลังในการให้ผู้กระทำความผิดต้องชดใช้หากเกิดความเสียหายแก่รัฐ ดังเช่นกรณีคดีการจำนำข้าวที่เกิดขึ้นในรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดและมีมติให้เรียกค่าเสียหายจาก น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นเงิน 35,717 ล้านบาท [26]      

รัฐสภากับบทบาทในการตรวจสอบนโยบายประชานิยม

             นโยบายประชานิยมนั้นมาจากการหาเสียงของพรรคการเมืองเพื่อหวังคะแนนนิยมในรูปคะแนนเสียงที่ประชาชนมอบให้ในการเลือกตั้ง แต่การดำเนินการตามนโยบายประชานิยมเกิดขึ้นได้เฉพาะจากพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลเท่านั้น

             ความรุนแรงและขอบเขตของการใช้งบประมาณแผ่นดินสำหรับโครงการประชานิยมต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับพรรคการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลภายใต้การไตร่ตรองว่าจะไม่ผิดรัฐธรรมนูญ ไม่ผิดกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และไม่เสี่ยงต่อการถูกตรวจสอบจากองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

             สำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรที่เข้มแข็ง การผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาไม่ใช่เรื่องยากอะไร ดังนั้น การจะเห็นโครงการการใช้เงินงบประมาณที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาในพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี  ซึ่งเป็นหลักประกันส่วนหนึ่งได้ว่า ผ่านการกลั่นกรองและอนุมัติโดยผู้แทนปวงชนชาวไทยออกมาเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ได้

             สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในซีกฝั่งที่เป็นฝ่ายค้าน อาจมีการตั้งข้อสังเกต พยายามแปรญัตติในวาระสองและสามของการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี  แต่ไม่มีทางหรือมีโอกาสน้อยมากที่จะสามารถลงมติเอาชนะรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาได้

             การทำหน้าที่ของฝ่ายค้านจึงทำได้มากที่สุดเพียงแค่การตั้งข้อสังเกตในการอภิปรายในวาระที่หนึ่ง การซักถามและมีข้อสังเกตในขั้นกรรมาธิการในวาระที่สองและสามเท่านั้น ส่วนถึงขนาดจะสามารถระงับยับยั้งโครงการประชานิยมที่เห็นว่ามีปัญหานั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

             ในด้านการกำกับการทำงานของรัฐบาล รัฐสภาทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาล้วนมีกลไกคณะกรรมาธิการสามัญชุดต่าง ๆ ที่สามารถเรียกส่วนราชการเข้ามาชี้แจง ซักถาม และส่งรายงานข้อสังเกตต่าง ๆ ไปยังรัฐบาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ ได้ แต่ก็ไม่สามารถไปกำหนดให้ส่วนราชการทำหรือไม่ทำอะไรรวมถึงไม่สามารถไปกำหนดให้องค์กรอิสระต่าง ๆ ต้องมีมติใด ๆ เพื่อระงับยับยั้งโครงการใด ๆ ได้ แต่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการพิจารณาขององค์กรอิสระในเรื่องราวดังกล่าวได้

             สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภายังมีสิทธิในการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรีในเรื่องใดที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่โดยจะถามเป็นหนังสือหรือวาจาก็ได้[27]

             สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเข้าชื่อกันเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้[28]

             สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอญัตติของเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติก็ได้[29]

             นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา มีสิทธิเข้าชื่อกันขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติได้[30]

             เมื่อพิจารณาบทบาทของรัฐสภาในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำกับมิให้รัฐบาลใช้อำนาจในการจัดทำโครงการของรัฐในลักษณะของนโยบายประชานิยม จึงเป็นเรื่องยากที่จะใช้กลไกของฝ่ายค้านที่มีเสียงน้อยกว่าในสภาในการระงับยับยั้งโครงการ โดยสิ่งที่จะทำได้คือการให้ข้อคิดเห็น ข้องสังเกตและการนำเสนอข้อเท็จจริงต่อประชาชนเท่านั้น

ภาคประชาชนกับการตรวจสอบนโยบายประชานิยม

             สำหรับประชาชนทั่วไป การที่ฝ่ายการเมืองเสนอนโยบายประชานิยมย่อมเป็นที่พึงพอใจ ดูได้จากการเสนอนโยบายในการหาเสียงของพรรคการเมืองแทบทุกพรรคในประเทศมักจะเป็นการแข่งขันกันเสนอนโยบายประชานิยมแบบดีกว่าให้มากกว่า เช่น เมื่อพรรคหนึ่งเสนอตัวเลขเบี้ยผู้สูงอายุ 800 บาทต่อเดือน อีกพรรคหนึ่งอาจเสนอตัวเลข 1,000 บาท อีกพรรคอาจเสนอตัวเลขสูงไปถึง 3,000 บาทต่อเดือน เมื่อพรรคหนึ่งเสนอนโยบายให้เงินสวัสดิการแห่งรัฐ 800 บาทต่อเดือน อีกพรรคหนึ่งอาจเสนอตัวเลขเป็นเงินให้ครั้งเดียว 10,000 บาท เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่าย่อมสร้างความพึงพอใจแก่ประชาชนมากกว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ซึ่งจะมีก็แต่คนชั้นกลางในเมืองที่อาจมีความคิดเห็นว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างสิ้นเปลือง เกิดผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่บังเกิดผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว และเป็นการสร้างภาระในด้านงบประมาณเพิ่มหนี้สาธารณะของประเทศ  

             ในด้านนักวิชาการและสื่อมวลชน จะมีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยม แต่ทั้งสองฝ่ายมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันคือ นักวิชาการสามารถมองปัญหาได้ลึกซึ้ง ลงลึกถึงผลกระทบในทางเศรษฐศาสตร์ แต่มีข้อจำกัดในการสื่อสารให้ประชาชนเกิดความเข้าใจ  และการแสดงความคิดเห็นอาจไม่มีผลกระทบ (impact) มากเพียงพอ

             ในขณะที่สื่อมวลชน แม้จะมีความสามารถในการสื่อสาร ทำสิ่งที่เข้าใจได้ยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่มักจะให้ความสำคัญต่อข่าวที่อยู่ในกระแส หากเรื่องดังกล่าวอยู่ในความสนใจของประชาชนจะมีการเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง แต่หากมีข่าวใหม่ที่เป็นที่สนใจของประชาชนมากกว่าก็จะปล่อยให้ข่าวที่เป็นประโยชน์ให้หลุดออกจากวงจรการนำเสนอไป 

             ส่วนภาคประชาชนที่ตื่นรู้ เช่น องค์กรประชาสังคมต่าง ๆ จะมีความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง เป็นระบบ สามารถย่อยในสิ่งเข้าใจยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่ก็มีปัญหาการเป็นที่ยอมรับและการหวาดระแวงถึงความเคลือบแฝงทางการเมืองในการทำหน้าที่ 

             การตรวจสอบนโยบายประชาชนในซีกฟากประชาชน จึงจำเป็นต้องประสานระหว่างฝ่ายนักวิชาการ สื่อมวลชนและองค์กรประชาสังคม นำจุดแข็งแต่ละฝ่ายมาใช้ร่วมกันเพื่อกำจัดจุดอ่อนที่มีของแต่ละฝ่าย ทั้งกดดันทั้งเรียกร้องให้มีการใช้นโยบายประชาสังคมในขอบเขตที่เหมาะสม 

             นอกเหนือจากการดำเนินการในด้านกว้างที่จะสื่อสารถึงประชาชนทั่วไปให้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้นโยบายประชาสังคมที่เกินพอดีแล้ว กลไกในการตรวจสอบของภาคประชาชนยังอาจใช้ช่องทางทางกฎหมายได้อีก ดังนี้

             1. การยื่นคำร้องไปยังผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินใช้อำนาจตามมาตรา 245 ของรัฐธรรมนูญฯ เพื่อตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเงินการคลังของรัฐอย่างร้ายแรง เพื่อเสนอผลการตรวจสอบไปยังคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และหากคณะกรรมการตรวจเงินเห็นชอบ ก็จะมีการเชิญกรรมการองค์กรอิสระอีก 2 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ร่วมประชุม เพื่อส่งความเห็นถึงคณะรัฐมนตรีให้ยับยั้งการกระทำดังกล่าว

             2. ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 230 (2) ของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดให้ผู้ตรวจราชการแผ่นดิน มีหน้าที่และอำนาจในการ “แสวงหาข้อเท็จจริงเมื่อเห็นว่ามีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้จัดหรือระงับความไม่เดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น[31]

             หรือในหน้าที่และอำนาจ ตาม (3) คือ

             “เสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ทราบถึงการที่หน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ”[32]

             โดยในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ นั้นมีประเด็น มาตรา 62 ของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐไว้ว่า

             “รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัดเพื่อให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืนตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐและจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม” [33]

             ซึ่งในมาตรา 231 (2) ของรัฐธรรมนูญฯ นั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลปกครองได้ในกรณีที่กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐ มีปัญหาว่าด้วยความชอบของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือในกรณีที่เห็นว่า พระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดินที่ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาแล้วก็ตาม มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็สามารถใช้ มาตรา 231 (1) ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้[34]

             3. ประชาชนสามารถใช้สิทธิยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามมาตรา 234 (1) ของรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้ไต่สวนในกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งหากคณะกรรมการ ปปช. ไต่สวนแล้วเห็นด้วยด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งก็ให้มีการดำเนินการส่งศาลฎีกา หรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา 235 แล้วแต่กรณีต่อไป

บทสรุป

             การตรวจสอบและความรับผิดชอบจากการดำเนินนโยบายประชานิยมนั้น เป็นเรื่องที่ฝ่ายการเมืองควรตระหนักและมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อการดำเนินนโยบายในลักษณะดังกล่าวว่าจะมีผลเสียต่อการเงินการคลังและเศรษฐกิจของประเทศ เป็นภาระต่องบประมาณแผ่นดินและไม่ก่อให้เกิดผลในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน แต่ฝ่ายการเมืองส่วนใหญ่มักจะคำนึงถึงผลเพียงในระยะสั้นที่มีต่อคะแนนเสียงของตนในการเลือกตั้ง การเรียกร้องให้ฝ่ายการเมืองตระหนักและมีความรับผิดชอบในการดำเนินนโยบายประชานิยมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก

             การออกแบบกฎหมายเพื่อควบคุมจำกัดมิให้มีการใช้นโยบายประชานิยมเกินความพอดีจึงปรากฏทั้งที่อยู่ในรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระต่าง ๆ  แต่กฎหมายดังกล่าวจะสามารถบังคับใช้อย่างได้ผล ก็ต่อเมื่อผู้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องมีจิตสำนึกและความเอาจริงเอาจังกับการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย

             ในด้านรัฐสภา  กลไกการกำกับตรวจสอบนโยบายประชานิยมสามารถดำเนินการได้โดยฝ่ายค้าน ทั้งในรูปแบบของการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ การตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายทั่วไป ทั้งในลักษณะอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะหรือเป็นรายบุคคลและการอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ อย่างไรก็ตามกลไกดังกล่าวอาจไม่ใช่กลไกที่ก่อให้เกิดผลในทางสกัดกั้นการดำเนินการนโยบายประชานิยมอย่างได้ผลเนื่องจากรัฐบาลเป็นฝ่ายครอบครองเสียงข้างมากในสภาแต่ก็สามารถตีแผ่สิ่งที่ไม่ชอบมาพากลของฝ่ายรัฐบาลให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสรับรู้ได้

             ในด้านประชาชนนั้น ด้านหนึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ในระยะสั้น  แต่หากประชาชนตระหนักว่านโยบายดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อการเงินการคลังของประเทศ หรือกังวลเกี่ยวกับภาวะหนี้สินของประเทศที่คนรุ่นหลังต้องมามีส่วนในการรับผิดชอบโดยไม่ได้เป็นผู้สร้างหนี้ ประชาชนก็สามารถมีบทบาทในการกำกับตรวจสอบนโยบายประชานิยมโดยร่วมกับนักวิชาการและสื่อมวลชน เสนอความคิดเห็นผ่านกลไกรัฐสภาซึ่งมีฝ่ายค้านและกรรมาธิการชุดต่าง ๆ หรือการใช้สิทธิในการยื่นเรื่องผ่านกลไกองค์กรอิสระต่าง ๆ เพื่อให้มีการตรวจสอบการใช้นโยบายประชานิยมที่เกินความพอดีเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้เป็นผลเสียหายต่อประเทศได้

             นโยบายประชานิยม ยังคงเป็นสิ่งพรรคการเมืองต่าง ๆ เสนอต่อประชาชนเมื่อมีการเลือกตั้ง เพราะเขาคิดว่าการได้มาซึ่งคะแนนเสียงคือการเสนอผลประโยชน์ในสิ่งที่ประชาชนพึงพอใจและมีความต้องการได้รับ สำหรับประชาชนหากคิดเพียงประโยชน์เฉพาะหน้าที่ได้รับก็จะเต็มใจยื่นมือรับโครงการจากนโยบายประชานิยมโดยไม่คิดอะไรและไม่มีการตั้งคำถามใด ๆ ถึงความเหมาะสม สำหรับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐและองค์กรอิสระหากทำงานแบบราชการไปวัน ๆ ไม่มีการทำงานเชิงรุก รอเพียงคำร้องจากประชาชน การกำกับตรวจสอบนโยบายดังกล่าวก็จะอ่อนแอยิ่ง นโยบายประชานิยมที่เพิ่มทวีมากขึ้นไปเรื่อย ๆ อาจพบได้ในประเทศไทยต่อเนื่องไปอีกนาน จนกว่าจะถึงจุดที่สะสมแล้วเป็นปัญหาที่เกินเวลาเยียวยาแก้ไขดังเช่นตัวอย่างในหลายประเทศที่ดำเนินนโยบายประเภทนี้ไปก่อนหน้าแล้ว

เอกสารอ้างอิง

ภาษาไทย

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร. (2555). สืบค้นจาก https://dl.parliament.go.th/backoffice/viewer2300/web/viewer.php

คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน. (2566). สืบค้นจาก https://www.soc.go.th/wp-content/uploads/2023/09/history_66.pdf

ณัฐิกานต์ วรสง่าศิลป์. (2013). บทเรียนประชานิยมบนเส้นทางกรีซและละตินอเมริกา. FOCUSED AND QUICK (FAQ), 80, 2.

นณริฏ พิศลยบุตร. (2559). นโยบายประชารัฐ แตกต่างจากนโยบายประชานิยมอย่างไร ? และประชาชนจะได้อะไร ?.  สืบค้นจาก https://tdri.or.th/2016/01/nonarit20160107/

นิพนธ์ พัวพงศกร. (2556). การแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรกับการกระจุกตัวของผลตอบแทนส่วนเกิน. สืบค้นจาก https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2013/05/A151_Chapter3.pdf

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561. สืบค้นจาก https://www.audit.go.th/sites/default/files/files/about-us/พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน%20พ.ศ.%202561.pdf

พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561. สืบค้นจาก https://www.mof.go.th/th/view/attachment/file/3134393632/3พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง2561.pdf

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. สืบค้นจาก https://www.senate.go.th/assets/portals/13/files รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.pdf

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. (ไม่ปรากฏปี). คดีจำนำข้าว. สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=คดีจำนำข้าว

ภาษาอังกฤษ

Cambridge Dictionary. Populism. Retrieved from https://dictionary.cambridge.org/

dictionary/english/populism

Mudde, Cas and Kaltwasser, C.R. (2017). Populism: A Very Short Introduction. Oxford: Oxford University Press.

Müller, Jan-Werner. (2016). What is Populism. Philadelphia: Pennsylvania Press.


[1] อดีตกรรมการการเลือกตั้ง, นักวิชาการอิสระ

[2] Cambridge Dictionary. Retrieved from  http: www. https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/populism

[3] https://en.wikipedia.org/wiki/Juan_Peron

[4]  "Eva Perón Foundation". Evitaperon.org. Retrieved 27 January 2011.

[5] https://www.statista.com/statistics/316750/inflation-rate-in-argentina/

[6] https://www.statista.com/statistics/316703/unemployment-rate-in-argentina/

[7] https://www.infoquest.co.th/2024/404188

[8] https://www.cfr.org/timeline/venezuelas-chavez-era

[9] https://www.worldeconomics.com/GrossDomesticProduct/Debt-to-GDP-Ratio/Greece.aspx

[10] https://ptp.or.th/archives/18206

[11] https://thevisual.thaipbs.or.th/urban/home-and-hope/government-housing-complex/

[12] คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันอังคารที่ 23 สิงหาคม 2555, น. 9.

[13] คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน วันจันทร์ที่ 11 กันยายน 2566, น. 4

[14] รวบรวมจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-65307789

[15] มาตรา 62 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[16] มาตรา 164 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[17] มาตรา 6 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561.

[18] มาตรา 9 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561.

[19] https://www.thansettakij.com/business/574844

[20] มาตรา 28 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561.

[21] มาตรา 80 วรรคสอง พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561.  

[22] มาตรา 245 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[23] สรุปเนื้อหาจากมาตรา 8 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561.

[24] สรุปจากมาตรา 32 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2561

[25] สรุปจากมาตรา 235 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[26] https://thaipublica.org/2016/09/plegd-rice-102/

[27] มาตรา 150 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[28] มาตรา 151 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[29] มาตรา 152 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[30] มาตรา 153 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[31] มาตรา 230 (2) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[32] มาตรา 230 (3) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[33] มาตรา 62 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

[34] มาตรา 231 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

index.php?title=หมวดหมู่:ความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ index.php?title=หมวดหมู่:สถาบันการเมืองและองค์กรอิสระ index.php?title=หมวดหมู่:องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ index.php?title=หมวดหมู่:สารานุกรม คำศัพท์ต่าง ๆ