นโยบายประชารัฐ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


นโยบายประชารัฐ

          นโยบายประชารัฐ มีที่มาจากท่อนแรกของเพลงชาติไทย ซึ่งมีใจความว่า“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี...” ซึ่งหมายถึง นโยบายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนและรัฐร่วมมือกันในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะยุทธศาสตร์ที่ใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ โดยที่ไม่แยกฝักแยกฝ่ายและไม่กันใครออกไป อันเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายของพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ที่ได้กล่าวไว้ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2558 ที่ศูนย์ประชุมอิมแพค เมืองทองธานีว่า จะเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศชาติตามยุทธศาสตร์ประชารัฐแทนประชานิยม ทั้งยังเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ ที่จัดตั้งขึ้นมาภายหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุน ภาคเอกชนมีบทบาทในการขับเคลื่อน ภาควิชาการดำเนินการให้ความรู้ ภาคประชาสังคมมุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็ง และภาคประชาชนรวมทั้งธุรกิจชุมชนเป็นผู้ลงมือทำ เพื่อผลักดันให้เกิดพลังไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้แนวคิดของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อันนำไปสู่เป้าหมายของการพัฒนายั่งยืน 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ
          ทั้งยังให้เป็นไปตามวิสัยทัศน์ 20 ปี ของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอดจนเป้าหมายแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12ด้วย

ลักษณะสำคัญของนโยบายประชารัฐ ประกอบด้วย

          (1) ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และชุมชน มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาท้องถิ่น สังคม และประเทศ

          (2) การบริหารจัดการและพัฒนาประเทศโดยภาครัฐ ใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง จริงจัง และต่อเนื่องในทุกระดับ

          (3) การดำเนินงานของภาครัฐ มีความสุจริต โปร่งใส ถูกต้อง มีประสิทธิผล คุณภาพ และประสิทธิภาพ รวมถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเพียงพอ

          (4) ทุกส่วนของสังคม ทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ร่วมเป็น “ภาคีการพัฒนา” โดยร่วมวางแผนร่วมดำเนินการ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

          ตัวอย่างโครงการภายใต้นโยบายประชารัฐ ได้แก่ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สินเชื่อ SMEs ประชารัฐโรงเรียนประชารัฐ และโครงการเน็ตประชารัฐ เป็นต้น

          ทั้งนี้ การออกแบบกลไกการดำเนินงานภายใต้นโยบายประชารัฐในระดับพื้นที่ ประกอบด้วยศูนย์ปฏิบัติการจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.จังหวัด) (คสช.) ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ นายอำเภอ การปกครองท้องถิ่น องค์กรส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการระดับอำเภอ ผู้แทนพลเรือน ตำรวจ ทหาร (พตท.) องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชน และประชาชน โดยเน้นบทบาทนำของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำเภอในการตัดสินใจเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนด้วยความรวดเร็วและบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่

          อย่างไรก็ดี แม้ว่านโยบายประชารัฐของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์กับนโยบายประชานิยมที่เคยดำเนินการโดยรัฐบาลพรรคไทยรักไทยหรือรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น จะมุ่งเน้นการกระตุ้นกำลังซื้อมากขึ้นและให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับต่างๆ แต่มาตรการตามนโยบายประชารัฐเน้นการดำเนินนโยบายตามความจำเป็นเร่งด่วน ภายใต้บทบาทนำของภาครัฐในการสนับสนุนภาคประชาชน โดยเน้นที่กระบวนการหรือกระบวนวิธีในการทำงานที่ภาครัฐดึงทุกภาคส่วนให้เข้ามามีบทบาทร่วมกัน ในขณะที่นโยบายประชานิยมจุดเน้นคือเนื้อหาและคิดริเริ่มนโยบายต่างๆ ดำเนินการตามที่หาเสียงไว้ เป็นต้น นอกจากนี้ข้อวิจารณ์สำคัญต่อนโยบายประชารัฐนั้น นอกเหนือจากการเอื้อประโยชน์ต่อนายทุนผ่านนโยบายประชารัฐแล้วยังสร้างความกังวลต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ถือเป็นปัญหาสั่งสมของประเทศมายาวนาน

 

รายการอ้างอิง

“TDRI ชี้ประชารัฐเอื้อนายทุน”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/economy/news/479684 (22 สิงหาคม 2563).

กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย.“คู่มือประชารัฐรักสามัคคี เล่ม 1-5”. สืบค้นจาก  https://www.cdd.go.th/คู่มือประชารัฐ (22 สิงหาคม 2563).

ประวิช สุขุม. “ประชารัฐ VS ประชานิยม” . สืบค้นจาก  http://www.dsdw2016.dsdw.go.th/ /doc _pr/ndc_2560- 2561/PDF/8450e/8450นายประวิช%20สุขุม.pdf (22 สิงหาคม 2563).

รติมา คชนันทน์. “วิเคราะห์ จุดต่าง ประชารัฐ-ประชานิยม”. สืบค้นจาก https://library2.parliament. go.th/ebook/content-issue/2558/hi2558-098.pdf (22 สิงหาคม 2563).