มองอนาคตอาเซียน
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
มองอนาคตอาเซียน
อาเซียน (the Association of South-East Asian Nations-ASEAN) ก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1967 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศ[1]
ประเทศที่มีส่วนก่อตั้งอาเซียนในขั้นเริ่มแรก มี 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ต่อมาประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ใน ค.ศ. 1984 เวียดนาม ใน ค.ศ. 1995 ลาวและเมียนมาร์ ใน ค.ศ. 1997 และ กัมพูชา ใน ค.ศ. 1999 รวมทั้งสิ้น 10 ประเทศ[2] ประเทศสมาชิกเหล่านี้มีความแตกต่างหลากหลายกันมากทั้งในทางอุดมการณ์และระบบการเมือง พัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคม เผ่าพันธุ์ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ ขนาดพื้นที่ของประเทศ จำนวนประชากร เอกภาพและความมั่นคงของประเทศ ดูรายละเอียดประกอบในตารางข้างล่าง
ประเทศ |
การเมือง |
รายได้ต่อหัว/$ |
ภาษา |
ศาสนา |
พื้นที่/ตร.กม. |
ประชากร/คน |
กัมพูชา |
กึ่งประชาธิปไตย |
4,422 |
เขมร |
พุทธเถรวาท |
176,520 |
16.719 ล้าน |
บรูไน |
ระบอบกษัตริย์ |
65,661 |
มาเลย์ |
อิสลาม |
5,270 |
437,479 |
อินโดนีเซีย |
ประชาธิปไตย |
12,073 |
อินโดนีเซีย |
อิสลาม |
1,811,570 |
273.523 ล้าน |
มาเลเซีย |
ประชาธิปไตย |
27,889 |
มาเลย์ |
อิสลาม |
328,550 |
32.366 ล้าน |
เมียนมาร์ |
ระบอบทหาร |
4,783 |
พม่า |
พุทธเถรวาท |
653,290 |
54.409 ล้าน |
ลาว |
กึ่งสังคมนิยม |
8,234 |
ลาว |
พุทธเถรวาท |
230,800 |
7.275 ล้าน |
ฟิลิปปินส์ |
ประชาธิปไตย |
8,390 |
ตากาล๊อก |
คาทอลิก |
298,170 |
109.581 ล้าน |
สิงคโปร์ |
กึ่งประชาธิปไตย |
98,526 |
อังกฤษ, จีน |
ขงจื้อ-เต๋า |
700 |
5.850 ล้าน |
ไทย |
กึ่งประชาธิปไตย |
18,236 |
ไทย |
พุทธเถรวาท |
510,890 |
69.799 ล้าน |
เวียดนาม |
กึ่งสังคมนิยม |
8,650 |
เวียดนาม |
พุทธมหายาน |
310,070 |
97.338 ล้าน |
แหล่งข้อมูล..รายได้ต่อหัวปี 2020 (GDP per capita, ppp) data worldbank.org (19/07/2564) พื้นที่และประขากร ปี 2021 (Countries in the world by population,2021) worldometers.info>po.. (19/07/2564)
โดยที่อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มของประเทศที่มีความแตกต่างกันมากทั้งในด้านสังคมเศรษฐกิจ การเมือง และปัจจัยแวดล้อมด้านต่าง ๆ การรวมกลุ่มกันให้เกิดความสนิทแนบแน่นจึงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย ๆ ในระยะเวลาอันสั้น หลักในการรวมตัวกันของอาเซียนกล่าวได้ว่าขึ้นกับหลักการหารือและการตัดสินใจโดยหลัก “ฉันทามติ” (consensus) มากกว่าการยกมือลงมติใช้เสียงข้างมากบังคับเสียงข้างน้อย หลักที่ว่านี้เรียกว่า “วิถีแห่งเอเชีย” (the Asian way) ซึ่งหมายถึงรูปแบบการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีลักษณะ 7 ประการ ดังนี้
1. ระดับการดำเนินการที่มีลักษณะไม่เป็นทางการสูง (informality)
2. ยึดการทูตในลักษณะที่ไม่เป็นข่าว แต่จำกัดอยู่ในวงสมาชิกเท่านั้น (quiet diplomacy) หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการหารือกันเป็นการภายใน
3. ยึดการพูดจาหารือ (dialogue) และหลักฉันทามติ (consensus) เป็นปัจจัยชี้ขาดในการตัดสินใจ
4. เน้นเรื่องความสำคัญของการรู้จักยับยั้งชั่งใจ (self-restraint)
5. เน้นความสำคัญของการมีเอกภาพ (solidarity)
6. เน้นเรื่องการหลีกเลี่ยงปัญหา มากกว่าการแก้ปัญหา และ
7. ยึดมั่นอย่างเคร่งครัดในหลักการของอธิปไตยของประเทศและการไม่แทรกแซงในกิจการภายในของกันและกัน[3]
ในการรวมกลุ่มของอาเซียนใน 10 ปีแรก ไม่มีกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญอะไรมากนัก จุดเปลี่ยนเริ่มต้นขึ้นใน ปี 1975 เมื่อประเทศพันธมิตรในซีกโลกทุนนิยม อันได้แก่ เวียดนามใต้ ลาว และเขมร พ่ายแพ้แก่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ ทำให้ประเทศอาเซียนตกอยู่ใต้ภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะประเทศไทยมีอาณาเขตติดกับประเทศลาว เขมร และอยู่ใกล้กับเวียดนาม ประเทศไทยจึงได้ชวนประเทศในอาเซียนอื่นให้ร่วมผนึกกำลังกันต่อต้านภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งก็ได้เสียงตอบรับจากประเทศสมาชิกอื่นเป็นอย่างดี มีการตกลงทำสนธิสัญญาระหว่างกันในหลายเรื่อง เกิดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 1976 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และ ครั้งที่ 2 ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในปี 1977 ต่อมาใน ปี 1978 เวียดนามส่งทหารเข้ายึดกัมพูชา อาเซียนได้ร่วมกันกดดันให้เวียดนามถอนทหารจากกัมพูชาและสนับสนุน เขมร 3 ฝ่าย ต่อต้านรัฐบาลเขมรที่เวียดนามให้การสนับสนุน[4] การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 3 มิได้จัดขึ้นจนกระทั่ง ปี 1987 ที่กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ หรือ 10 ปี หลังการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 2
การร่วมมือกันมีความคืบหน้ามากขึ้นหลังเวียดนามถอนทหารออกจากประเทศกัมพูชาใน ปี 1989 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สงครามเย็นเริ่มอ่อนแรงลง และสลายตัวไปในที่สุดเมื่อสหภาพโซเวียตขั้วการเมืองฝ่ายสังคมนิยมล่มสลายใน ปี 1991 ต่อมาใน ปี 1992 มีการประชุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นการประชุมที่มีมติให้เพิ่มร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคและระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันให้มากขึ้น คือได้มีการตกลงที่จะจัดตั้งกลไกสร้างความมั่นคง (ASEAN Regional Forum--- ARF) ซึ่งเป็นเวทีการประชุมหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในระดับสูงด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และการจัดตั้งเขตการค้าเสรี ลดอัตราภาษีระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกันให้เหลือ ร้อยละ 0-5 โดยครอบคลุมสินค้าทุกประเภท ยกเว้นสินค้าเกษตร[5]
ความคืบหน้าของอาเซียนในการร่วมมือกับประเทศภายนอกภูมิภาคมีมากขึ้น โดยในปี 1997 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน สหรัฐอเมริกาผู้นำโลกทุนนิยมไม่เหลียวแล ในขณะที่ประเทศจีนได้เข้ามาให้ความช่วยเหลืออย่างแข็งขัน และได้มีการเสนอให้มีการจัดตั้ง อาเซียนบวก 3
(ASEAN Plus Three-APT) คือ ร่วมมือกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ โดยเน้นความร่วมมือ 5 ด้าน ได้แก่
1. ด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการจัดตั้งเขตการค้าเสรีตะวันออก
2. ด้านการเงิน
3. ด้านการเมืองและความมั่นคง
4. ด้านสิ่งแวดล้อม และ
5. ด้านสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา
ซึ่งต่อมาได้เริ่มจัดตั้งกลไกขึ้นดำเนินการอย่างเป็นทางการใน ปี 1999 และจีนเป็นประเทศแรกที่ทำความตกลงจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับอาเซียนใน ปี 2003 ในเวลาต่อมา การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit-EAS) ที่ญี่ปุ่น ปี 2006 ได้มีการขยายความร่วมมือจากอาเซียนบวก 3 เป็น อาเซียนบวก 6 เพิ่มอินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ หลังจากนั้นขยายเป็นอาเซียนบวก 8 เพิ่ม สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย นอกจากนี้ยังมีคู่ความสัมพันธ์อื่น ๆ ที่อาเซียนทำกับกลุ่มประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ[6]
ในปี 2015 อาเซียนได้ยกระดับความร่วมมือในแนวดิ่งระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้นจากรูปแบบสมาคมเป็นประชาคม โดยมีผลตอนปลายปี โดยแยกประชาคมออกเป็น 3 เสาหลัก ได้แก่
1. ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community - APSC) มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศในภูมิภาคอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข แก้ไขปัญหาระหว่างกันโดยสันติวิธีและยึดมั่นในหลักความมั่นคงร่วมกัน
2. ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community - AEC) มีเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และมีขีดความสามารถในการแข่งขันในทางเศรษฐกิจและการค้ากับประเทศในภูมิภาคอื่นได้ โดยให้เกิดการไหลเวียนของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุนการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้อาเซียนรวมกันเป็นตลาดเดียว เป็นฐานการผลิต และให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่ำกว่า
3. ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community - ASCC) มีเป้าหมายเพื่อทำให้ประเทศสมาชิกอยู่ร่วมกันอย่างเอื้ออาทร ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี ได้รับการพัฒนาในทุกด้าน และมีความมั่นคงทางสังคม[7]
การยกระดับความร่วมมือกันของประเทศสมาชิกอาเซียนได้พัฒนามาถึงขั้นประกาศจัดตั้งเป็นประชาคม แต่ในทางปฏิบัติยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการขับเคลื่อนไปสู่จุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ข้างต้น ซึ่งจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใดยังบอกไม่ได้ ในระยะหลายปีที่ผ่านมาการดำเนินงานของอาเซียนมีอุปสรรคหลายเรื่อง เกิดความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน เช่น กรณีพิพาทเรื่องพรมแดน ความไม่ไว้วางใจกัน การกำหนดยุทธศาสตร์ทางทหารที่ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่าเพื่อนบ้านอาจเป็นศัตรู[8]
ในประเด็นคำถามว่า ปี 2017 ซึ่งเป็นปีที่อาเซียนมีอายุครบ 50 ปี มีเรื่องอะไรที่ท้าทายการก้าวไปข้างหน้าของอาเซียนมากที่สุด 3 เรื่อง อดีตนายกรัฐมนตรี โก๊ะจกตง (Goh Chok Tong) แห่งสิงคโปร์ ตอบว่า ได้แก่
1. ความแตกแยกที่ร้าวลึกในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมหาอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
2. แนวโน้มสูงขึ้นของ “ประเทศของฉันก่อน” และ “ประชานิยม” เพื่อสนองตอบต่อกระแสการเมืองภายในประเทศที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ และ
3. ความผิดหวังของประชาชนในประเทศสมาชิกที่โน้มไปในทางลงลึกมากขึ้นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นประโยชน์เฉพาะแก่คนรวย ในขณะที่คนชั้นล่างและคนชั้นกลางต้องแบกรับภาระ[9]
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของมาเลเซีย สยิด ฮามิด อัลบาร์ (Syed Hamid Albar) ให้ความเห็นในโอกาสการจัดตั้งอาเซียนครบรอบ 50 ปี นี้ว่าอาเซียนยังคงแตกแยกกันในประเด็นปัญหาบางเรื่องที่เกี่ยวกับภูมิภาคและระหว่างประเทศ ในด้านการทูตเพื่อการป้องกันหรือเพื่อทำความตกลงในปัญหาข้อพิพาท อาเซียนขาดความคิดสร้างสรรค์และความยืดหยุ่น อาเซียนดูเหมือนว่าพอใจที่จะเป็นเวทีการประชุมเพื่อถกหรืออภิปรายประเด็นปัญหาที่ไม่มีข้อขัดแย้งกัน และเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่อาเซียนจะต้องพิจารณาตรวจสอบโครงสร้างภายในและกระบวนการในการตัดสินใจ ถ้ายังต้องการให้อาเซียนดำรงอยู่อย่างสอดรับกับความเป็นจริงของโลก และสามารถแสดงบทบาทที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศได้[10]
ส่วนอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอินโดนีเซีย นูร์ ฮัสซัน วิราจูดา (Nur Hassan Wirajuda) ให้ความเห็นในโอกาสการจัดตั้งอาเซียนครบรอบ 50 ปี นี้เช่นเดียวกันว่าใน 5 ปี ที่ผ่านมา อาเซียนได้แสดงให้เห็นถึงความไร้เอกภาพและบทบาทการเป็นศูนย์กลางการนำ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจากอาเซียนขาดผู้นำที่มีความสามารถและผู้นำที่มีภูมิปัญญา[11]
ความเห็นข้างต้น แม้จะกล่าวเมื่อ 4 ปีก่อน แต่ในปัจจุบัน (ปี 2021) สถานการณ์ของอาเซียนยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตรงกันข้ามกับเผชิญกับปัญหากดดันทั้งจากภายในภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาอำนาจยังคงขัดแย้งกันอย่างรุนแรง สหรัฐอเมริกาดำเนินนโยบายปักหมุดเอเชีย (pivot to Asia ) ตั้งแต่ปี 2012 สมัยรัฐบาลโอบามา ปลุกประเทศพันธมิตร (ญี่ปุ่น) ให้ก่อประเด็นความขัดแย้งกับจีนในเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนตะวันออก สนับสนุนประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ให้ก่อประเด็นความขัดแย้งกับจีนในเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้
ในสมัยรัฐบาล โดนัล ทรัมพ์ (มกราคม ค.ศ.2017 - มกราคม 2021) สหรัฐอเมริการุกหนักในเรื่อง การปฏิวัติสี พยายามสนับสนุนขบวนการต่อต้านรัฐบาลจีน ในฮ่องกง ธิเบต ซินเจียง ให้ก่อเรื่องความวุ่นวาย รวมถึงการยั่วยุจีนในเรื่องการขายอาวุธให้ไต้หวัน และยกระดับการติดต่อกับไต้หวันที่เป็นทางการมากขึ้น ซึ่งละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้กับจีนในสมัยนิกสัน ในอีกด้านหนึ่ง ก่อสงครามการค้ากับจีน โดยเริ่มส่งสัญญาณตั้งแต่เริ่มเข้ารับตำแหน่งใน ปี 2017 และเริ่มลงมือใน ปี 2018 เป็นต้นมา ทำให้เศรษฐกิจโลกปั่นป่วนไม่แน่นอน สร้างความกังวลให้กับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในอาเซียนซึ่งเป็นสนามประลองยุทธ์ระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่สำคัญ ยิ่งกว่านี้ ยังพยายามกดดันให้ประเทศในอาเซียนต้องเลือกข้างมากขึ้น อันมีผลทำให้อาเซียนเกิดการแบ่งแยกเป็นฝักฝ่ายและมีผลถึงเอกภาพในบรรดาสมาชิกของอาเซียน
ในปี 2020 ยังเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่เริ่มระบาดขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 ในเมืองอู่ฮั้น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน และแพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกอย่างรวดเร็ว รวมทั้งประเทศสมาชิกอาเซียน ทำให้แต่ละประเทศต้องหันมาสนใจแก้ปัญหาภายในประเทศอย่างหนัก ทั้งปัญหาสาธารณสุขที่มีผู้คนติดเชื้อจำนวนมากมาย เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาลในการรักษาพยาบาล ผู้ติดเชื้อล้มตายจำนวนมาก และปัญหาเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ต้องปิดเมือง รัฐบาลประกาศสั่งการให้ประชาชนอยู่กับบ้าน รวมทั้งส่วนราชการและภาคเอกชนให้ปฏิวัติงานที่บ้าน โรงเรียนให้หยุดการเรียน ลดจำนวนนักเรียนที่เข้าเรียน หรือจัดการสอนผ่านสื่อ กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลายถูกกระทบ การติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างกันทำได้ลำบาก เพราะกลัวการติดเชื้อ เศรษฐกิจล้มละลายจำนวนมาก โดยประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวมากถูกกระทบมากเป็นพิเศษ
ส่วนกระแสในด้านบวกที่จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องร่วมมือกัน ได้แก่ ปัญหาสิ่งแวดล้อมโลกที่วิกฤตมากขึ้น เช่น ปัญหาภัยแล้ง ฝนไม่มาตามฤดูกาล ปัญหาน้ำท่วม ฝนตกมากเกินไป ปัญหาพายุ ปัญหาแผ่นดินไหว ปัญหาขยะทางทะเล ปัญหามลพิษทางอากาศ ปัญหาไฟป่า เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยลำพังประเทศใดประเทศหนึ่ง หลาย ๆ ประเทศต้องร่วมมือกัน ปัญหาโรงระบาด ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ประเทศทั้งหลายต้องร่วมกันแก้ไข ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร รวมถึงโครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคเชื่อมต่อกันข้ามประเทศ ข้ามทวีป อย่าง “โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ที่จีนนำเสนอและให้การสนับสนุน โครงการก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคเช่นกันของประเทศอุตสาหกรรมสำคัญ 7 ประเทศ (G7) คือ โครงการ “Build Back Better” การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ เช่น ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) ที่ลงนามโดย 15 ประเทศ ในช่วงต้นปี 2021 ก็จัดได้ว่าเป็นพลังบวกต่อการร่วมมือระหว่างประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
ภายใต้สถานการณ์ที่มีพลังบวกและพลังลบที่กระทบต่อความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน เงื่อนไขความจำเป็นในการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ และปัญหาความมั่นคงของประเทศที่ไม่เหมือนกันของแต่ละประเทศ ยากที่จะทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหลายมีจุดยืนร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว ในอนาคต 5-10 ปี ข้างหน้า ประเทศสมาชิกอาเซียนจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่มีความเป็นประชาคมมากขึ้นหรือมีการแยกตัวออกของสมาชิกอย่างกรณีประเทศอังกฤษที่แยกตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะอาเซียนดำรงอยู่อย่างคนเอเชียหรือที่เรียกว่า “วิถีแห่งเอเชีย” ไม่บังคับให้ต้องปฏิบัติอย่างเดียวกันถ้าไม่พร้อมจะปฏิบัติ และด้วยวิถีทางของคนเอเชียอาเซียนจะก้าวหน้าไปถึงขั้นการเป็นประชาคมที่สมบูรณ์ตามเป้าหมาย ที่จะให้เกิดการรวมตัวเป็น “ตลาดเดียว” “วิสัยทัศน์เดียว” หรือ “เอื้ออาทรต่อกันเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน” ยังคงต้องใช้เวลานานกว่า 5-10 ปี ยิ่งไม่ต้องพูดถึงความใฝ่ฝันอันสูงส่งที่จะรวมตัวกันเป็น “สหภาพ” อย่างสหภาพยุโรป
อ้างอิง
[1] ประภัสสร์ เทพชาตรี ประชาคมอาเซียน (กรุงเทพฯ เสมาธรรม 2555) หน้า คำนำ
[2] กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (นนทบุรี กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 2552) หน้า 9
[3] สุรพงษ์ ชัยนาม การทูต-การเมืองไม่ใช่เรื่องส่วนตัว (กรุงเทพฯ สำนักพิมพ์ศยาม 2550) หน้า 34-35
[4] 梁英明《东南亚史》(北京:人民出版社,2010)第296页。
[5] ประภัสสร์ เทพชาตรี อ้างแล้ว หน้า 2-5 และ จุลชีพ ชินวรรโณ ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองโลก..วิกฤตกับการท้าทายในศตวรรษที่ 21 (กรุงเทพฯ โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2558) หน้า 217
[6] จุลชีพ ชินวรรโณ หน้า 222-223, 238 และ 243
[7] เพิ่งอ้าง หน้า 224-228
[8] ประภัสสร์ เทพชาตรี อ้างแล้ว หน้า 32
[9] “The Story of the ASEAN Economic Community” in ISEAS, ASEAN Focus 1/2017 (Jan/Feb 2017),p. 24
[10] Hoang Thi Ha “Reconciling Consensus with New Realities” Ibid, p. 4
[11] เพิ่งอ้าง หน้า 3