ควง อภัยวงศ์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:42, 6 ธันวาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' อาริยา สุขโต '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทคว...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง อาริยา สุขโต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


RTENOTITLE

พันตรี ควง อภัยวงศ์ หรือ นายควง อภัยวงศ์ อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย 4 สมัย ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์คนแรก เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือน ที่ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นผู้ประกาศสันติภาพกับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตร ทำให้ประเทศไทย พ้นจากภาวะสงครามที่ประกาศในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม[1] จึงถือได้ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่รับสนองพระบรมราชโองการรับใช้บ้านเมืองด้วยดีตลอดมาโดยเฉพาะความซื่อสัตย์นั้นเป็นที่ยกย่องกันทั่วไปตั้งแต่ยังมีชีวิตจนบัดนี้[2]

ประวัติ

นายควง อภัยวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2445 ณ เมืองพระตะบอง ประเทศเขมร (ขณะนั้นยังเป็นจังหวัดหนึ่งในมณฑลบูรพาของไทย) เป็นบุตรเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (ชุ่ม อภัยวงศ์) ผู้สำเร็จราชการจังหวัดพระตะบอง (หรือบางตำราว่าเป็นผู้สำเร็จราชการมณฑลบูรพา) กับคุณหญิงรอด (หม่อมรอด อภัยวงศ์) และได้สมรสกับคุณหญิงเลขา อภัยวงศ์หลังจากไทยต้องเสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสในช่วง ร.ศ. 112 (พ.ศ.2436) และในปี พ.ศ. 2449 ต้องเสียมณฑลบูรพาอันประกอบด้วยดินแดนเขมรส่วนหนึ่ง คือ เมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์จึงพาครอบครัวอพยพมาตั้งหลักแหล่งใหม่ที่จังหวัดปราจีนบุรี

ด้านการศึกษา นายควง อภัยวงศ์ เริ่มการศึกษาจากขุนอุทัยราชภักดี ผู้เป็นลุงข้างมารดา ในโรงเรียนอภัยพิทยาคาร จากนั้นเข้ารับการศึกษาในกรุงเทพมหานครฯ ณ โรงเรียนเทพศิรินทร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญ ตามลำดับ จากนั้นไปศึกษาวิชาวิศวกรรมโยธาที่เอกอล ซังตรัล เดอ ลียอง (มหาวิทยาลัยซังตรอล ลียองส์เนส) ประเทศฝรั่งเศส สำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2470 และได้ฝึกงานที่นั่นหลายปี

ณ ประเทศฝรั่งเศส นายควง อภัยวงศ์ ได้มีโอกาสรู้จักกับนักศึกษาจากเมืองไทยที่อยู่ในกลุ่มคณะราษฎร และต่อมาท่านเข้าร่วมการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 โดยเป็นกำลังสำคัญฝ่ายพลเรือนในการตระเวนตัดสายโทรศัพท์ เพื่อตัดการติดต่อระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับกองกำลังของหน่วยทหารต่าง ๆ ไม่ให้ส่งกองกำลังเข้ามาปราบพวกก่อการได้ ณ ร้าน คาเฟชูเฟ หรือร้าน อ้ายซุง อันเป็นแหล่งนัดพบของนักเรียนไทยในประเทศฝรั่งเศส นายควง อภัยวงศ์ ยังได้มีโอกาสและสนิทสนมกับนางสาว เลขา คุณะดิลก จนต่อมาทั้งสองได้แต่งงานอยู่ร่วมกัน

ประวัติการทำงาน

หลังจากกลับจากฝรั่งเศส ได้รับราชการเป็นนายช่างผู้ช่วยโท แผนกกองช่างโทรเลข และสามารถทำหน้าที่ได้ดีจนต่อมาได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลข นอกจากนี้นายควง อภัยวงศ์ ได้รับพระราชทานยศ พันตรี ปฏิบัติหน้าที่องครักษ์พิเศษ เมื่อคราวเข้าร่วมสงครามอินโดจีน และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ เป็น รองมหาอำมาตย์เอก หลวงโกวิทอภัยวงศ์ แต่ได้ลาออกจากบรรดาศักดิ์เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2484[3]

บทบาททางการเมืองในยุคต่างๆ

RTENOTITLE

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย, 1 สิงหาคม 2487 - 31 สิงหาคม 2488)

นายควง อภัยวงศ์ ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 11 ของไทย ภายหลัง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่ง การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ เป็นไปโดยสถานการณ์บังคับ จากการได้รับเลือกโดยสภาฯ ในขณะที่ไม่มีผู้อื่นยินดีรับตำแหน่ง เนื่องจากเกรงจะถูกรัฐประหารโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ในครั้งนั้น นายควง ได้ปรึกษากับอธิบดีกรมตำรวจ และตัดสินใจเดินทาง ไปอธิบายกับ จอมพล ป. ถึงค่ายทหารที่ จังหวัดลพบุรี จนเป็นที่เข้าใจ และยอมรับของจอมพล ป. ที่จะสนับสนุนให้ นายควง ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ พร้อมกับการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ นายควง ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ กระทรวงคมนาคม อีกด้วย

รัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ได้ประกาศสันติภาพกับฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488 หลังจาก ประเทศญี่ปุ่น ประกาศยอมแพ้สงครามแล้ว 2 วัน โดยมี นายปรีดี พนมยงค์ ลงนามในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระบุให้ การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ของจอมพล ป. เป็นโมฆะ นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี ในวันรุ่งขึ้น ด้วยเหตุผล เพื่อให้เป็นไปตามประเพณีนิยมแห่งวิถีการเมือง และเปิดโอกาสให้ผู้มีความเหมาะสม ในอันที่จะยังมิตรภาพ และดำเนินการเจรจา ทำความเข้าใจอันดีกับฝ่ายพันธมิตร ได้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อความวัฒนาถาวรของชาติสืบไป

หลังการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ของ นายควง อภัยวงศ์ มี นายทวี บุณยเกตุ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประมาณ 17 วัน และผู้มารับช่วงต่อคือ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช อัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน หัวหน้าเสรีไทย สายสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เดินทางกลับมารับช่วงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2488 และดำเนินการเจรจา กับประเทศอังกฤษ ในขณะที่ นายปรีดี พนมยงค์ ประสานขอความสนับสนุนจากประเทศจีนให้ช่วยรับรอง จนประเทศไทย สามารถพ้นจากสถานะประเทศผู้แพ้สงครามในที่สุด

ในระหว่างที่ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายควง อภัยวงศ์ ได้รับมอบหมายจาก หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ให้เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งข้าวให้อังกฤษ ซึ่งท่านทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ไม่มีการคอร์รัปชั่น จนทางอังกฤษกล่าวชมเชย

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย, 31 มกราคม พ.ศ. 2489 – 24 มีนาคม 2489)

หลังจากเจรจากับอังกฤษจนสำเร็จและประเทศไทยพ้นสถานะประเทศผู้แพ้สงครามแล้ว หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้ยุบสภาเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะสมาชิกสภาชุดที่ถูกยุบนั้นได้รับเลือกตั้งมา ตั้งแต่ วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 แต่เมื่อหมดวาระ 4 ปียังไม่ได้เลือกตั้งใหม่ เพราะติดช่วงสงครามโลก

การเลือกตั้งมีขึ้นวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 นายควงได้รับความเห็นชอบจากสภาฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมกับการจัดตั้ง คณะรัฐมนตรีคณะที่ 14 ของไทย มี หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แต่หลังจากตั้งรัฐบาลได้เพียง 2 เดือน สภาฯ ได้ผ่านร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองค่าใช้จ่ายของประชาชนในภาวะคับขัน (พ.ร.บ.ปักป้ายราคาสินค้าอุปโภคบริโภค หรือ "พ.ร.บ.ปักป้ายข้าวเหนียว") ที่เสนอโดย นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี (ผู้ใกล้ชิด นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าขบวนการเสรีไทย เขตอุบลราชธานี) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐบาลนายควง ไม่เห็นด้วยในหลักการ เนื่องจากไม่มีมาตรการในการควบคุมราคา คณะรัฐมนตรีได้แถลงให้สภาทราบแล้วว่าคณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัตินั้นได้และเกรงจะเป็นการเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป แต่สภาฯได้ลงมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 65 ต่อ 63 เสียง รัฐมนตรีทั้งคณะจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2489โดยมีนายปรีดี พนมยงค์ ได้รับการสนับสนุนจากสภา ให้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี และต่อมาได้ควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย

การก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ ( 6 เมษายน พ.ศ. 2489)

หลังจากพ้นวาระในสมัยนี้แล้ว นายควง อภัยวงศ์ ได้ร่วมกับ หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช และ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช รวมทั้งนักการเมืองกลุ่มหนึ่ง อาทิเช่น นายใหญ่ ศวิตชาต, นายเลียง ไชยกาล, ดร.โชติ คุ้มพันธ์, พระยาศราภัยพิพัฒ, นายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ และ นายฟอง สิทธิธรรม ก่อตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2489 โดย นายควง อภัยวงศ์ ดำรงตำแหน่ง หัวหน้าพรรคคนแรก มี หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ เป็นรองหัวหน้าพรรค หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ เป็นเลขาธิการพรรค และมี นายชวลิต อภัยวงศ์ น้องชายของท่านเป็น รองเลขาธิการพรรค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นพรรคฝ่ายค้าน คานอำนาจรัฐบาลนายปรีดี ที่ขณะนั้นมีอำนาจอย่างสูง เข้าแทนที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 ของไทย, 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 - 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491)

นายควง อภัยวงศ์ รับดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 3 พร้อมทั้งรับตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตราธิการ หลังการรัฐประหาร เพื่อจัดการเลือกตั้ง วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2491 นับเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 19 มี หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรี หลังจัดการเลือกตั้งแล้วจึงพ้นวาระไป

การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 4 (คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 ของไทย, 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 - 8 เมษายน พ.ศ. 2491)

นายควง อภัยวงศ์ กลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเป็นสมัยที่ 4 เนื่องจากผลการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสียงข้างมาก นายควง ในฐานะหัวหน้าพรรค จึงได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องอีกสมัย พร้อมทั้งดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นับเป็น คณะรัฐมนตรีคณะที่ 20 มี หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช เป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มี หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช และ นายชวลิต อภัยวงศ์ เป็น รัฐมนตรี แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 กลุ่มนายทหารชุดเดียวกับคณะรัฐประหาร พ.ศ. 2490 ก็บีบบังคับให้ท่านลาออก และ สภาฯ มีมติให้ท่าน พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 เรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "ปฏิวัติเงียบ" หลังการรัฐประหาร จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้กลับเข้า ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อีกครั้งหนึ่ง

ชีวิตหลังพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (8 เมษายน พ.ศ. 2491 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2511) นายควง อภัยวงศ์ ยังคงอยู่ในแวดวงการเมือง ด้วยการนำพรรคประชาธิปัตย์ ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภาฯ อย่างแข็งขัน ในรัฐบาลหลายชุด ทั้ง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม สมัยสุดท้าย, รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และ รัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

พันตรี ควง อภัยวงศ์ ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคระบบทางเดินหายใจขัดข้อง เมื่อวันที่ 15มีนาคม พ.ศ. 2511 ขณะอายุได้ 66 ปี โดยดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

หลังการถึงแก่อสัญกรรมของท่าน พรรคประชาธิปัตย์ได้ก่อตั้ง มูลนิธิควง อภัยวงศ์ ขึ้น ตามเจตนารมณ์ของท่าน และให้ชื่ออาคารที่ทำการของพรรคหลังแรกว่า "อาคารควง อภัยวงศ์" เพื่อรำลึกถึงท่านด้วย

ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรี คณะที่ 11 1 สิงหาคม 2487 - 31 สิงหาคม 2488
คณะรัฐมนตรี คณะที่ 14 31 มกราคม 2489 - 24 มีนาคม 2489
คณะรัฐมนตรี คณะที่ 19 10 พฤศจิกายน 2490 - 9 กุมภาพันธ์ 2491
คณะรัฐมนตรี คณะที่ 20 21 กุมภาพันธ์ 2491 - 8 เมษายน 2491

ผลงานที่สำคัญ

การประกาศสันติภาพ เมื่อคราวรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ก่อนหน้านั้นมีความจำเป็นต้องประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ครั้นดำรงตำแหน่งได้ประกาศให้ การประกาศสงครามดังกล่าวเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ทำให้สัมพันธภาพของประเทศไทยกับกลุ่มประเทศสัมพันธมิตรดีขึ้นและในที่สุดส่งผลให้ประเทศไทย พ้นจากสภาพประเทศผู้แพ้สงคราม

วาทะเด็ดและฉายา

นายควง อภัยวงศ์ ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่มีไหวพริบปฏิภาณในการพูด มีการปราศรัยที่ดีเยี่ยม อีกทั้งมีมุกสนุกสนานเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี จนได้รับฉายามากมาย เช่น “นายกฯผู้ร่ำรวยอารมณ์ขัน” หรือ “จอมตลก” หรือ “ตลกหลวง” ซึ่งบางโอกาสไหวพริบปฏิภาณและมุกตลกเหล่านี้ได้ช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ของชาติมาแล้ว จึงเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน ตัวอย่างของวาทะของนายควง อภัยวงศ์ เช่น “ข้าพเจ้า นายควง อภัยวงศ์ เชื่อในพุทธภาษิตที่ว่า อฺปปาปิ สนฺตา พหเก ชินนฺติ คนดีถึงแม้มีน้อยก็เอาชนะคนชั่วหมู่มากได้” หรือ “วาจาสัตย์เท่านั้น ที่จะไม่ทำให้เราตกต่ำ”

นอกจากนี้ยังได้รับฉายา “นายกฯเสื้อเชิ้ต” เนื่องจากความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ไม่มีพิธีรีตอง และในสมัยเป็นฝ่ายค้านในรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยได้รับฉายา “โหรหน้าสนามกีฬา” เนื่องจากบ้านพักของท่านอยู่ในซอยเกษมสันต์หน้าสนามกีฬาแห่งชาติ และมักออกมาทำนายเหตุการณ์ต่างๆล่วงหน้าเสมอ

จากบทบาทของนายกรัฐมนตรี กลายมาเป็นหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านคนสำคัญในรัฐสภา พันตรี ควง อภัยวงศ์ ได้แสดงให้เห็นถึงวิถีทางการเมืองที่ต้องเล่นการเมืองด้วยความสุจริตใจ และรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ จึงนับว่าเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่มีส่วนสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติและเป็นรัฐบุรุษคนสำคัญคนหนึ่งของไทย

อ้างอิง

  1. “ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย”. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 2549.[ระบบออนไลน์]. http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main21.htm
  2. จุลดา ภักดีภูมินทร์. เรื่องของ นายควง อภัยวงศ์ . สกุลไทย ฉบับที่ 2713 ปีที่ 52 ประจำวันอังคารที่ 17 ตุลาคม 2549.
  3. นายควง อภัยวงศ์. http://thaipolitic.exteen.com/20070911/entry-6

บรรณานุกรม

จุลลดา ภักดีภูมินทร์. (2549, 17 ตุลาคม). เรื่องของ นายควง อภัยวงศ์. สกุลไทย.

ณัฐวุฒิ สุทธิสงคราม. (2522). นายควง อภัยวงศ์ กับพรรคประชาธิปัตย์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพ : เรืองศิลป์

ประวัตินายกรัฐมนตรีไทย. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. (2545). [ระบบออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.cabinet.thaigov.go.th/bb2_main21.htm (วันที่ค้นข้อมูล : 13 สิงหาคม 2552).

รายชื่อนายกรัฐมนตรีของไทย . วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2549). [ระบบออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org (วันที่ค้นข้อมูล : 13 สิงหาคม 2552).

ทำเนียบนายกรัฐมนตรี. รัฐบาลไทย. (2549). [ระบบออนไลน์] . เข้าถึงได้จาก http://www.thaigov.go.th (วันที่ค้นข้อมูล : 14 สิงหาคม 2552).

ข่าวอสัญกรรมนายควง อภัยวงศ์. [ระบบออนไลน์] . เข้าถึงได้จาก http://th.wikisource.org/wiki/ (วันที่ค้นข้อมูล : 14 สิงหาคม 2552).

ดูเพิ่มเติม

  • สงครามโลกครั้งที่สองในประเทศไทย เข้าถึงได้จาก http://th.wikipedia.org/wiki/
  • รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490
  • รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2491