30 มิถุนายน พ.ศ. 2535

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


          วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2535 เป็นวันที่นายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ดำเนินการให้ยุบสภา เพื่อเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ ทั้ง ๆ ที่ใน พ.ศ. 2535 นี้ได้มีการเลือกตั้งทั่วไปมาครั้งหนึ่งแล้วในตอนต้นปี ดังนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ถูกยุบนี้จึงเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งมาทำงานยังไม่ทันถึงปี และได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13_กันยายน_พ.ศ._2535

          แต่ก็คงจะโทษอะไรนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน ไม่ได้มากนัก เพราะการเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 ของนายอานันท์ ปันยารชุน ในคืนวันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2535 ท่ามกลางความดีใจและแปลกใจของประชาชนไทยจำนวนมากนั้น นายอานันท์ ปันยารชุน มีภารกิจที่จะต้องยุบสภาเพื่อดำเนินการเลือกตั้งใหม่โดยไม่ชักช้านัก

          การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ นายอานันท์ ปันยารชุน ก็ไม่ได้ลงเลือกตั้ง เพราะนายอานันท์ ปันยารชุน ไม่เคยตั้งพรรคการเมือง การเข้ามาสู่วงการเมืองครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี หลังการยึดอำนาจของคณะ ร.ส.ช. เมื่อวันที่ 23_กุมภาพันธ์_พ.ศ._2534 นั้น ก็เป็นการเข้ามาชั่วคราวเช่นกันเพื่อมาจัดการเลือกตั้ง เพียงแต่คราวก่อนนั้น นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่เป็นเวลาประมาณ 1 ปี การไม่ลงเลือกตั้งนั้นทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ รัฐบาลจะวางตัวเป็นกลางให้นักการเมืองและพรรคการเมืองไปแข่งขันกันเอง

          หลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2535 ทางพรรคประชาธิปัตย์ชนะได้ที่นั่งมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ไม่เกินกึ่งหนึ่งจึงได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น นายอานันท์ ปันยารชุน จึงพ้นจากตำแหน่งในวันเดียวกันนี้