เปรม ติณสูลานนท์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


พลเอกเปรม ติณสูลานนท์

          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกลำดับที่ 22  นายกรัฐมนตรีลำดับที่ 16 ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

 

ประวัติส่วนบุคคล

          พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2462 เป็นบุตรชายคนที่ 6 จากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์)[1]
          ศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จากนั้นเข้าศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2480 โดยมีเพื่อนร่วมรุ่นเช่น พลอากาศเอกสิทธิ_เศวตศิลา เรืออากาศโทศุลี_มหาสันทนะ ร้อยตำรวจโทชาญ_มนูธรรม[2] ฯลฯ จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 มีเพื่อนร่วมรุ่น 55 คน เช่น พลเอกประจวบ_สุนทรางกูร พลเอกยศ_เทพหัสดินทร_ณ_อยุธยา[3]

          พลเอกเปรมได้รับทุนของกองทัพบกไปศึกษาที่โรงเรียนยานเกราะ ศึกษาหลักสูตรผู้บังคับกองร้อย หลักสูตรผู้บังคับกองพัน วิทยาลัยการทัพบก หลักสูตรพิเศษ ชุดที่ 2 และวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 9 สหรัฐอเมริกาที่ฟอร์ตนอกซ์  มลรัฐเคนตักกี้  [4]

 

เหตุการณ์สำคัญ

          พ.ศ.2484 เมื่อเกิดสงครามอินโดจีน พลเอกเปรมขณะเป็นนักเรียนนายร้อยชั้นปีที่ 3 ถูกเร่งรัดให้เป็นนายทหาร พลเอกเปรมถูกส่งไปสังกัดกรมรถรบจากเดิมที่ต้องการจะเป็นทหารปืนใหญ่ แบบจอมพล ป.พิบูลสงคราม[5] โดยถูกส่งเข้าสู่สมรภูมิที่จังหวัดปอยเปต[6]

          เมื่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามประกาศร่วมรบกับญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา พลเอกเปรมได้รับคำสั่งให้ไปสังกัดกองทัพพายัพถูกส่งไปรบที่เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ[7] จนถึง พ.ศ.2489 ได้ย้ายมาเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 1 กรมรถรบ แล้วขึ้นเป็นรองผู้บังคับกองพันที่ 4 ก่อนที่จะสอบชิงทุนของกองทัพบกไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะ สหรัฐอเมริกา เมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์แผนกยุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะก่อนจะเลื่อนเป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 2 และรักษาราชการอาจารย์แผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะอีกตำแหน่งหนึ่ง โดยพลเอกเปรมได้เจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ในโรงเรียนยานเกราะ ศูนย์การทหารม้าโดยลำดับจนขึ้นเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรีใน พ.ศ.2511[8]

          พ.ศ.2516 เลื่อนขึ้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 ในขณะที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่ที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยกำลังทำสงครามกับรัฐบาล พลเอกเปรมได้รับคำสั่งจากแม่ทัพให้ไปอยู่กองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้าที่จังหวัดสกลนครและเป็นที่ตั้งของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 ทำให้พลเอกเปรมได้เรียนรู้ปัญหาสงครามประชาชนที่ทำให้ประชาชนเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยทำสงครามกับรัฐบาล เมื่อพลเอกเปรมได้เลื่อนตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ใน พ.ศ. 2517 พลเอกเปรมได้เริ่มนำแผนยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” มาใช้  1 ตุลาคม พ.ศ.2520 พลเอกเปรมได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 พลเอกเปรมได้รับโปรดเกล้าเป็นผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 22[9]

          ในทางการเมืองพลเอกเปรมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2502 เป็นสมาชิกวุฒิสภาในพ.ศ.2511และเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติในเดือนตุลาคม พ.ศ.2516[10]

          วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 2 พลเอกเปรมได้มีชื่อเป็น 1 ใน 24 คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลหม่อมราชวงศ์เสนีย์_ปราโมช[11] ตุลาคม พ.ศ.2520 พลเอกเปรมได้เลื่อนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและเริ่มมีบทบาททางการเมือง ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 กลุ่มทหารหนุ่มซึ่งมีบทบาทตั้งแต่การยึดอำนาจในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 ได้ตกลงว่าจะทำการยึดอำนาจรัฐบาลนายธานินทร์ในเวลา 20.00 น. แต่แผนการยึดอำนาจรั่วไหลทำให้พลเรือเอกสงัด_ชลออยู่และคณะได้ทำการยึดอำนาจก่อน โดยประกาศยึดอำนาจผ่านกรมประชาสัมพันธ์ในเวลา 18.00 น. มีพลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าและพลเอกเกรียงศักดิ์_ชมะนันทน์ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะปฏิวัติ แต่กลุ่มทหารหนุ่มไม่ยอมโดยทำการยึดอำนาจซ้อนและมีการเจรจาระหว่างคณะปฏิวัติทั้งสองฝ่าย ในการเจรจาพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกได้เป็นผู้เสนอให้พลเรือเอกสงัดเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติและพลเอกเกรียงศักดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่กลุ่มทหารหนุ่มต้องการ[12]  พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 โดยพลเอกเปรมได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2520

          วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2521 พลเอกเปรมได้รับโปรดเกล้าเป็นผู้บัญชาการทหารบกและในปีถัดมาได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและดำรงตำแหน่งนี้อย่างต่อเนื่องระหว่างปี 2522-2529

          เมื่อพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2523 ที่ประชุมรัฐสภาได้มีการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 โดยวิธีการเลือกสรรนายกรัฐมนตรีได้ใช้วิธีให้สมาชิกรัฐสภาเขียนชื่อผู้ที่ตนเห็นสมควรว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีใส่ซอง แล้วมอบให้แก่กรรมการนับคะแนน ซึ่งปรากฏผลว่าจำนวนสมาชิกรัฐสภาที่เข้าประชุมและร่วมลงคะแนนจำนวน 496 คน มีผู้เลือกพลเอกเปรมถึง 395 คน แบ่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา 200 คน และสมาชิกผู้แทนราษฎรจำนวน 195 คน[13] พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2523 นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของประเทศไทย โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยพรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติประชาชน พรรคสยามประชาธิปไตย พลเอก เปรมได้กล่าวย้ำกับคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดแรกว่า “รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลเหนือพรรค เหนือพวก เหนือผลประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”[14]

          รัฐบาลพลเอกเปรมสมัยที่หนึ่ง (พ.ศ.2523-พ.ศ.2526) มีเหตุการณ์ที่สำคัญเช่นการออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ในวันที่ 23 เมษายน 2523 ซึ่งเป็นการกำหนดนโยบายสำคัญในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยใช้การเมืองนำการทหาร

          เดือน ตุลาคม พ.ศ.2523 พลเอกเปรมได้รับการต่ออายุในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และเดือนมีนาคม พ.ศ.2524 พรรคกิจสังคมถอนตัวออกจากการร่วมรัฐบาล เพราะความขัดแย้งในกรณีการซื้อน้ำมันจากประเทศซาอุดิอาระเบียระหว่างพรรคกิจสังคมและพรรคชาติไทยที่เรียกว่า “เทเล็กซ์อัปยศ” ทำให้พลเอกเปรมค้องปรับคณะรัฐมนตรี[15]

          วันที่ 1 - 3 เมษายน พ.ศ.2524 กลุ่มทหารหนุ่มที่มีบทบาททางการเมืองตั้งแต่หลังการรัฐประหาร วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2520 เป็นกลุ่มที่กดดันให้พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ลาออก ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2523และสนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี [16]ได้พยายามก่อการรัฐประหาร โดยในชั้นแรกจะให้พลเอกเปรมเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติต่อพลเอก เปรมปฏิเสธ กลุ่มทหารหนุ่มจึงให้พลเอกสัณห์_จิตรปฏิมา รองผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแต่การยึดอำนาจไม่ประสบความสำเร็จ ในระหว่างก่อการของกลุ่ม ทหารหนุ่ม พลเอกเปรมได้เชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถและพระราชวงศ์ไปประทับที่กองทัพภาคที่ 2 จังหวัดนครราชสีมา[17] การยึดอำนาจที่ไม่ประสบความสำเร็จทำให้กลุ่มทหารหนุ่มต้องหมดบทบาททางการเมืองและพลเอกเปรมมีอำนาจในการคุมกองทัพที่เข้มแข็งมากขึ้น[18]

          เดือนกันยายน พ.ศ.2524 พลเอกเปรมได้จัดตั้งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เพื่อจัดระบบรองรับการดำเนินงานตามพระราชดำริให้เกิดเป็นระบบ รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ[19] วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2524 พลเอกเปรมได้ปรับคณะรัฐมนตรีอีกครั้งโดยนำพรรคกิจสังคมกลับเข้าร่วมรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพมากขึ้น[20]

          ก่อนที่อายุสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงในวันที่ 22 เมายน พ.ศ.2526 ได้เกิดปัญหาทางการเมืองขึ้นเพราะ วุฒิสมาชิกโดยเฉพาะที่เป็นสายทหารต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อยืดอายุบทเฉพาะกาลออกไปให้วุฒิสภาคงอำนาจทัดเทียมกับสภาผู้แทนราษฎรต่อไป แต่ได้รับการขัดขวางจากพรรคการเมืองโดยเฉพาะ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์_ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ผลการลงมติฝ่ายวุฒิสมาชิกสายทหารเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ทำให้พลเอกเปรมประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2526 [21]โดยให้เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรว่า “ เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรถึง 4 ครั้ง ตามวิธีใหม่ในขณะนี้อาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองได้” โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 18 เมษายน พ.ศ.2526[22] อันเป็นการสิ้นสุดรัฐบาลพลเอกเปรมสมัยที่หนึ่ง

          รัฐบาลพลเอกเปรมสมัยที่สอง (พ.ศ.2526-พ.ศ.2529) เริ่มขึ้นโดยพลเอกเปรมได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง 4 พรรค คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม พรรคประชากรไทย และพรรคชาติประชาธิปไตยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ.2526 โดยมีพรรคชาติไทยเป็นฝ่ายค้าน[23]

          ปัญหาที่สำคัญของรัฐบาลพลเอกเปรมในห้วงเวลานั้นคือปัญหาทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิกฤติการณ์ที่เกิดกับสถาบันการเงินหลายแห่งตั้งแต่ปลายปี 2526 ถึงต้นปี 2527 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยพยายามใช้มาตรการต่างๆมาแก้ปัญหาแต่สถาการณ์โดยทั่วไปยังไม่ดีขึ้น ความไม่เชื่อมั่นของประชาชนทำให้เกิดการไถ่ถอนตั๋วสัญญาใช้เงินอย่างต่อเนื่องและมีทีท่าจะขยายต่อไปถึงธนาคารพาณิชย์ รัฐบาลจึงได้จัดตั้งโครงการ 4 เมษายน 2527 และจัดตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาสถาบันการเงินเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ.2527 แต่ในระหว่างที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาบริษัทเงินทุนอยู่นั้น ได้เกิดปัญหาการเงินนอกระบบขึ้นมาอีก รัฐบาลพลเอกเปรมจึงได้ออกพระราชกำหนดการกู้ยืมที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527[24] แต่วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่นำมาสู่วิกฤติการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นในวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2527 เมื่อมีประกาศกระทรวงการคลังเรื่องปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งมาตราการดังกล่าวทำให้ค่าเงินบาทลดลงร้อยละ 15 วันที่ 6 พฤศจิกายน นายทหารชั้นผู้ใหญ่ 5 นายได้มีหนังสือด่วนมากถึงพลเอกเปรมเรียกร้องให้มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรี วันที่ 7 พฤศจิกายน พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารบกได้ออกอากาศแสดงความไม่เห็นด้วยกับมาตราการดังกล่าวทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และช่อง 7 [25] พลเอกเปรมชี้แจงกับบรรดานายทหารชั้นผู้ใหญ่ว่าถ้าภายในระยะเวลา 6 เดือน เหตุการณ์เลวร้ายลงอย่างที่ผู้บัญชาการทหารบกว่าไว้หรือนโยบายไม่ประสบความสำเร็จ พลเอกเปรมจะขอลาออกจากตำแหน่ง[26] วิกฤติการณ์ในครั้งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพลเอกเปรมกับพลเอกอาทิตย์

          วันที่ 9 กันยายน พ.ศ.2528 ได้มีความพยายามยึดอำนาจจากพลเอกเปรมอีกครั้งในระหว่างที่พลเอกเปรมเดินทางเยือนอินโดนีเซีย นำโดยพันเอกมนูญ รูปขจรและนายทหารนอกราชการเช่นพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกยศ เทพหัสดินทร์ ณ อยุธยา และพลอากาศเอกกระแส อินทรัตน์ โดยจับพลอากาศเอกประพันธ์ ธูปะเตมีย์ ผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นตัวประกันและได้ออกแถลงการณ์ทางวิทยุโทรทัศน์ แต่การยึดอำนาจไม่ประสบความสำเร็จ [27] อีกไม่กี่เดือนจากเหตุการณ์ครั้งนี้พลเอกอาทิตย์ก็ถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ.2529 เหลือเพียงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดเพียงตำแหน่งเดียว[28]

          รัฐบาลพลเอกเปรมสมัยที่สองมาสิ้นสุดลงเมื่อรัฐบาลได้เสนอพระราชกำหนดรวม 9 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ปรากฏว่าพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบกพ.ศ.2522(2529) ไม่ผ่านการอนุมัติจากสภาฯ พลเอกเปรมจึงยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยให้เหตุผลว่า “จากการวิเคราะห์สาเหตุแห่งการไม่อนุมัติพระราชกำหนดดังกล่าวเห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรมิได้คำนึงถึงเหตุผลในการตราพระราชกำหนด หากสืบเนื่องมาจากความแตกแยกในพรรคการเมืองบางพรรค” และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ.2529[29]

          รัฐบาลพลเอกเปรมสมัยที่สาม (พ.ศ.2529-พ.ศ.2531) เริ่มขึ้นโดยพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้จำนวนสมาชิกจากการเลือกตั้งมากที่สุดและประกาศป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคชาติไทยและพรรคกิจสังคมจับมือเป็นพันธมิตรทางการเมืองประกาศสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2529 นายอุกฤษ มงคลนาวินได้แถลงว่ามีพรรคการเมืองที่สนับสนุนให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี 6 พรรคได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรครวมไทย พรรคราษฎรและพรรคกิจประชาคมรวม 266 เสียง มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2529[30]

          ปัญหาความขัดแย้งของพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มจัดตั้งรัฐบาลจนขยายตัวมากขึ้น ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2530 ซึ่งเป็นวันที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำการประชุมเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยกลุ่มนายวีระ มุสิกพงษ์ได้เสนอชื่อนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ ส่วนกลุ่มของนายชวน หลีกภัย ได้เสนอชื่อนายพิชัย รัตตกุลเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย และนายวีระ มุสิกพงษ์ได้ลงชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคกับพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ปรากฏว่าทั้งนายเฉลิมพันธ์และนายวีระพ่ายแพ้ต่อ นายพิชัยและพลตรีสนั่น[31]

          รัฐบาลพลเอกเปรมสมัยที่สามมาสิ้นสุดลงเมื่อพลเอกเปรมประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยสาเหตุที่มีการยุบสภาฯเกิดกลุ่ม 10 มกราได้ลงมติไม่รับร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของฝ่ายรัฐบาลที่ได้นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อลงมติในวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2531 แต่กลุ่ม10 มกรา จำนวน 32 คน ได้ยกมือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้และอีก 6 คนงดออกเสียง พันโทสนั่น เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ยอมรับว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาภายในพรรคได้ รัฐมนตรีร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง พลเอกเปรมจึงได้ตัดสินใจยุบสภาฯเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2531 และได้มีการจัดให้เลือกตั้งใหม่ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2531[32]

          ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 ปรากฏว่า พรรคชาติไทย โดย พลตรี ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรค ได้รับเลือกมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง ด้วยที่นั่ง 87 ที่นั่ง รองลงไปคือ พรรคกิจสังคม มี 54 ที่นั่ง และพรรคประชาธิปัตย์ 48 ที่นั่ง[33] ในตอนค่ำวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2531 หัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค 5 พรรค อันประกอบด้วย พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคราษฎรและพรรคสหประชาธิปไตย ได้เข้าพบพลเอกเปรมเพื่อเชิญให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี  พลเอกเปรมได้กล่าวขอบคุณพร้อมกับพูดว่า “ผมขอพอ”[34] ส่งผลให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่

          วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2531พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งเป็นองคมนตรีและในวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ได้โปรดเกล้าฯ ยกย่องพลเอกเปรมให้เป็นรัฐบุรุษ และในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2541 มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรี

          พลเอกเปรมยังมีบทบาทในการแก้ไขวิกฤติการณ์ทางการเมืองไทยอีกหลายครั้ง เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในระหว่างวันที่ 17-24 พฤษภาคม พ.ศ.2535 นำไปสู่การปราบปรามและปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรีและพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษได้นำพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 เพื่อคลี่คลายเหตุการณ์[35]

          พลเอกเปรมยังถูกเรียกขานว่า “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” [36]และเป็นผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่ทุกฝ่ายยังเคารพและเกรงใจ ในวันปีใหม่ วันสงกรานต์และวันคล้ายวันเกิดจะมีคณะรัฐมนตรีและผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าคารวะและขอพร

         

ผลงานอื่น ๆ

          พ.ศ.2536 พลเอกเปรมได้ก่อตั้งมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม  ติณสูลานนท์ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ จงรักภักดีของคนในชาติรวมถึงส่งเสริม สนับสนุน ปลูกฝังค่านิยม และเผยแพร่วัฒนธรรมไปสู่ประชาชนให้กว้างขวางยิ่งขึ้น[37]

          พลเอกเปรมเป็นสามัญชนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่สำคัญ เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้น ปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายหน้า) เมื่อพ.ศ.2525 เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1 เมื่อ พ.ศ.2525 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์ เมื่อ พ.ศ.2531 เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี ชั้นที่ 1 (เสนางคะบดี) เมื่อพ.ศ.2533[38]

                                                              

หนังสือแนะนำ

มูลนิธิรัฐบุรุษ.(2549, พิมพ์ครั้งที่ 2).รัฐบุรุษชื่อเปรม.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.

เสถียร จันทิมาธร.(2545). เส้นทางสู่อำนาจพลเอกเปรม ติณสูลานนท์.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน.

สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม.(2556).อำนาจเปรม.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ.

 

บรรณานุกรม

กองทัพบก, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 22, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command22.htm, เมื่อ 1 มิถุนายน 2559

จำลอง ศรีเมือง,ร่วมกันสู้, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธีระการพิมพ์, 2535 พิมพ์ครั้งที่ 2), หน้า 188.

ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, รูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทย ระหว่าง พ.ศ. '2518-2539', (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,2541), หน้า 98.

มูลนิธิรัฐบุรุษ, รัฐบุรุษชื่อเปรม , (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549 พิมพ์ครั้งที่ 2) หน้า 41.

มูลนิธิรัฐบุรุษ,วัตถุประสงค์มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้าถึงจาก,http://www.ratthaburut.com/เมื่อ 5 กันยายน 2559

บัญชร ชวลาศิลป์, จากใต้สู่อีสาน ผลึกแห่งชีวิต พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์,(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2549).หน้า 21.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,กลุ่ม 10 มกรา เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/กลุ่ม_10_มกรา เมื่อ 5 กันยายน 2559.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 เมื่อ 5 กันยายน 2559

สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม,อำนาจเปรม,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ,2556),หน้า 118

สัญญลักษณ์ เทียมถนอม,ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง ชีวประวัติพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิติใหม่. 2545), หน้า 203.

เสถียร จันทิมาธร, เส้นทางสู่อำนาจพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ , (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545) หน้า 46.

 

อ้างอิง

[1] มูลนิธิรัฐบุรุษ, รัฐบุรุษชื่อเปรม , (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2549 พิมพ์ครั้งที่ 2) หน้า 41.

[2] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 50.

[3] เสถียร จันทิมาธร, เส้นทางสู่อำนาจพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ , (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2545) หน้า 46.

[4] กองทัพบก, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 22, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command22.htm, เมื่อ 1 มิถุนายน 2559

[5] บัญชร ชวลาศิลป์, จากใต้สู่อีสาน ผลึกแห่งชีวิต พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์,(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2549).หน้า 21.

[6] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 54.

[7] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 60.

[8] กองทัพบก, พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก ลำดับที่ 22, เข้าถึงจาก http://www.rta.mi.th/command/command22.htm, เมื่อ 1 มิถุนายน 2559

[9] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 74.

[10] เสถียร จันทิมาธร, เส้นทางสู่อำนาจพลเอกเปรม ติณสูลานนท์, ,(กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2545).หน้า 120.

[11] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 79.

[12] สัญญลักษณ์ เทียมถนอม,ล้วนเป็นผมลิขิตชีวิตเอง ชีวประวัติพลตรีสนั่น ขจรประศาสน์, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มิติใหม่. 2545), หน้า 203.

[13] ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, รูปแบบรัฐบาลในระบบรัฐสภาไทย ระหว่าง พ.ศ. '2518-2539', (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร,2541), หน้า 98.

[14] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 132.

[15] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 169.

[16] ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, หน้า 97.

[17] สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม,อำนาจเปรม,(กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ,2556),หน้า 118

[18] ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, หน้า 103.

[19] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 234.

[20] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 230.

[21] ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, หน้า 104.

[22] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 231.

[23] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 381.

[24] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 446-447.

[25] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 475.

[26] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 487.

[27] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 592.

[28] ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, หน้า 105.

[29] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 629.

[30] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 634.

[31] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี,กลุ่ม 10 มกรา เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/กลุ่ม_10_มกรา เมื่อ 5 กันยายน 2559.

[32] ธีรภัทร เสรีรังสรรค์, หน้า 106.

[33] วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531เข้าถึงจาก https://th.wikipedia.org/wiki/การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2531 เมื่อ 5 กันยายน 2559

[34] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 716.

[35] จำลอง ศรีเมือง,ร่วมกันสู้, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธีระการพิมพ์, 2535 พิมพ์ครั้งที่ 2), หน้า 188.

[36] สนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม, หน้า 178.

[37] มูลนิธิรัฐบุรุษ,วัตถุประสงค์มูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เข้าถึงจาก,http://www.ratthaburut.com/เมื่อ 5 กันยายน 2559

[38] มูลนิธิรัฐบุรุษ, หน้า 740.