สิทธิ เศวตศิลา
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สิทธิ เศวตศิลา : เสรีไทยสายอเมริกา
ผู้คนมักทราบกันดีว่าพลอากาศเอก สิทธิ เศวตศิลา มีบทบาทมากในเมืองไทย เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่สำคัญมากคนหนึ่งมาตั้งแต่ก่อนลงเลือกตั้ง และเมื่อเล่นการเมืองก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองสำคัญคือพรรคกิจสังคม ครั้นเมื่อพ้นจากวงการเมืองก็ได้รับการโปรดเกล้าฯให้เป็นองคมนตรี กระนั้นก็ยังมีอีกงานหนึ่งที่สำคัญในชีวิตของสิทธิ เศวตศิลา คือท่านได้มีส่วนทำงานให้แผ่นดินที่สำคัญและต้องเสี่ยงภัย อันได้แก่การเข้าร่วมเป็นเสรีไทย ซึ่งงานเสรีไทยที่ว่านี้อาจมีคนทราบกันไม่มากนัก สิทธิ เศวตศิลา ได้เข้าร่วมงานเสรีไทย เมื่อเดือนเมษายน ปี 2487 เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีมาสดๆร้อนๆ จากสถาบันเอ็มไอที ที่สหรัฐอเมริกา จึงเป็นเสรีไทยสายอเมริกา ขณะนั้นท่านอายุอยู่ช่วงเบญจเพส คือ 25 ปี เพราะเกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี 2462 ที่บ้านหลังวัดชนะสงคราม โดยเป็นบุตรพระยาวันพฤกษ์พิจารณ์ (ทองคำ) กับคุณหญิงขลิบ ดังนั้นพื้นเพท่านจึงเป็นคนกรุงเทพฯมาแต่ต้น การเป็นเสรีไทยของท่านที่อเมริกานั้นท่านเป็นรุ่นที่ 2 ที่จริงท่านสมัครใจตั้งแต่รุ่นแรก แต่เขาไม่เรียกท่าน เรียกเพียงเพื่อนท่านที่มาสมัครใจพร้อมๆกัน โดยที่ถึงวันนี้ก็ยังหาเหตุผลไม่ได้ การทำงานเสรีไทยของท่านนั้นอ่านดูจากที่ท่านเขียนเองจะดีกว่า
“ในที่สุดผมก็ถูกเรียกเข้าร่วมเสรีไทย...ให้มียศร้อยตรีเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2487 ถูกส่งมาเป็นหน่วยส่งข่าวหลังแนวรบในประเทศไทย นับเป็นเสรีไทยรุ่นที่ 2 จำนวน 14 คน...
วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2487 (ค.ศ.1944) เราได้กระโดดร่มลงที่ดอยอินทนนท์ หลังเที่ยงคืน เครื่องบินวนประมาณ 13 รอบ เราสามคน...”
เสรีไทยที่โดดร่มลงแผ่นดินไทยนี้นอกจาก สิทธิ เศวตศิลา แล้วมี เฉลิม จิตตินันท์ และ อุดมศักดิ์ ภาสวณิช เมื่อโดดร่มลงมาแล้วทั้งสามคนถูกคุมตัวลงมากรุงเทพฯ เพราะมีความไม่เข้าใจกัน ทำให้เจ้าหน้าที่ของไทยในพื้นที่แจ้งให้ทางทหารญี่ปุ่นทราบ แต่แม้จะถูกคุมตัวก็ยังอยู่ในความดูแลของฝ่ายไทย จึงได้รับการกันตัวไว้ที่ค่ายเชลยศึกที่ตึกเรียนมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้เสรีไทยกลุ่มของท่าน “สามารถนำคริสตัล และสมุดรหัสของพวกเรา มาให้ขบวนการเสรีไทยในประเทศไทย ใช้เตรียมการเพื่อกอบกู้อิสรภาพของประเทศไทย...” ดังที่ผลงานของเสรีไทยได้มีส่วนช่วยให้ทางรัฐบาลไทยได้ดำเนินการเจรจาให้ประเทศไทยได้รอดพ้นจากการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามได้ แม้รัฐบาลในช่วงเวลาสงครามจะได้เคยประกาศสงครามกับฝ่ายพันธมิตรไปแล้วเมื่อปี 2485 ก็ตาม
การที่สิทธิ เศวตศิลา ได้ร่วมทำงานเป็นเสรีไทยสายอเมริกา นั้นก็เพราะท่านกำลังเรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และที่ไปเรียนที่นั่นก็เพราะท่านได้ทุนของกองทัพอากาศไทยไปเรียนที่สถาบันเอ็มไอที สิทธิ เศวตศิลา เป็นคนเรียนเก่ง ท่านเรียนระดับต้นที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ จังหวัดพระนคร แล้วย้ายตามบิดาไปอยู่ที่สงขลาจึงไปเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ ต่อมาถูกส่งกลับมาเรียนที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ที่พระนครเพราะอยากให้ภาษาอังกฤษดี แต่อยู่ได้ไม่นานก็กลับไปที่โรงเรียนมหาวชิราวุธที่สงขลาอีก ก่อนที่จะกลับมาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบ แล้วจึงเข้าไปเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็เรียนไม่ทันจบ ชิงทุนได้ไปเรียนที่สถาบันเอ็มไอที
เมื่อสงครามเลิกแล้วในปี 2488 สิทธิ เศวตศิลาจึงกลับไปเรียนปริญญาโทต่อที่สถาบันเดิมจนจบแล้วจึงกลับไทยในปี 2491 มาเป็นนายเรืออากาศเอกทำงานที่กรมช่างอากาศ ตอนนั้นการเมืองเปลี่ยนแปลงไป พวกที่ทำงานเสรีไทยและเป็นฝ่ายนายปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าเสรีไทยหมดอำนาจ จอมพล ป.พิบูลสงครามกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายทหารอากาศ สิทธิ เศวตศิลา ทำงานเป็นทหารไม่เป็นนักการเมืองอยู่ได้สักสองปี ความสามารถเฉพาะตัวของท่าน ก็ส่งให้ท่านถูกดึงไปใกล้ผู้มีอำนาจ ซึ่งเป็นการดึงมาทำงานเพราะมีคุณสมบัติตรงตามที่คนมีอำนาจในแผ่นดินในวันนั้นต้องการ คนใหญ่คนนั้นคือ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ที่วันนั้นเป็น
อธิบดีกรมตำรวจ ที่มีอำนาจมากกว่ารัฐมนตรีหลายคนเสียอีก
“...กรมตำรวจไปสืบมาว่า ผมเก่งภาษาอังกฤษ เคยทำงานกับหน่วยสืบราชการลับ หรือ OSS...”
อธิบดี เผ่า ศรียานนท์ จึงได้ติดต่อผู้บัญชาการทหารอากาศ ขุนรณนภากาศขอตัว นายทหารอากาศ สิทธิ เศวตศิลา มาทำงานเป็นล่ามใน " คณะกรรมการนเรศวร " ซึ่งคือตัวจักรที่ทำงานเป็นตัวเชื่อมรับความช่วยเหลือจากทางการอเมริกันที่ให้ไทยโดยผ่านทางกรมตำรวจ การทำงานของท่านนั้นมิใช่เพียงเป็นล่ามแปลความเท่านั้น แต่มีความสามารถในการช่วยติดต่อประสานงานและทำงานต่างๆได้รวดเร็ว มีความรู้เรื่องการทำงานลับจึงทำให้เป็นคนที่อธิบดีเผ่าชอบมาก ดังนั้นเมื่อมีการตั้ง “กรมประมวลราชการแผ่นดิน" ขึ้นมาทำงานสืบเรื่องลับในปี 2497 ที่อธิบดีกรมตำรวจ เผ่า ศรียานนท์ เข้ามาเป็นอธิบดีด้วยอีกตำแหน่งนั้น สิทธิ เศวตศิลา
ก็ได้เข้ามาทำงานในกรมใหม่แห่งนี้ด้วย
สิทธิ เศวตศิลา กลับมาเริ่มต้นเป็นนายทหารได้ยศครั้งแรกนั้นอาจไม่เท่าเพื่อนที่เรียนมาพร้อมกัน แต่ทำงานยังไม่ทันครบ 10 ปี ท่านก็ได้รับการเลื่อนยศอย่างรวดเร็ว ในเดือนพฤษภาคม ปี 2500 ท่านได้รับการเลื่อนยศเป็นพลอากาศจัตวา นับเป็น “นายพล” ที่มีอายุน้อยที่สุดของกองทัพอากาศ คือมีอายุเพียง 37 ปี และอีกสองเดือนต่อมาตำแหน่งงานทางพลเรือนก็เจริญรุ่งเรือง ท่านได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองอธิบดีกรมประมวลฯ ดูแลด้านต่างประเทศ ในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน แสดงว่าได้รับความไว้วางใจจากอธิบดีเป็นอย่างมาก แต่ปี 2500 นั้นก็เป็นปีที่มีทั้งโชคและเคราะห์สำหรับท่านด้วยเหมือนกัน เพราะปีนั้นเป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ใหญ่มากมากระทบกระเทือนถึงท่านด้วย
เมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 นั้นมีผลทำให้ พลต.อ.เผ่า ศรียานนท์ หมดอำนาจ คนที่ทำงานใกล้ชิดพล ต.อ.เผ่า ก็ตกที่นั่งลำบากไปด้วย พล อ.ต.สิทธิ ซึ่งทำงานอยู่ที่กรมประมวลฯจึงทำงานด้วยความลำบาก ถึงต้นปี 2503 ท่านจึงย้ายกลับไปทำงานที่กองทัพอากาศและไปสร้างงานข่าวกรองชั้นดีให้กองทัพอากาศ จนต่อมาเมื่อพ้นสมัยจอมพล สฤษดิ์ แล้ว ท่านจึงกลับมาทำงานที่สภาความมั่นคงซึ่งตั้งขึ้นใหม่ในสมัยจอมพล สฤษดิ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล พระยาศรีวิสารวาจาผู้เป็นเลขาธิการ ได้ชวนท่านมา ท่านได้ทำงานอยู่ที่นี่จนได้เป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงฯเมื่อปี 2517 และเป็นอยู่จนเกษียณราชการ
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีการตั้งสมัชชาแห่งชาติขึ้นในเดือนธันวาคม ปี 2516 นั้น พล อ.ท.สิทธิ ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาฯ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย นับว่าเป็นการเข้าสู่วงการเมืองแต่ยังไม่ได้ลงเลือกตั้ง
จนถึงปลายปี 2521 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง และหลังการเลือกตั้งปี 2522 พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง คราวนี้ พล อ.ท.สิทธิ ได้ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นอยู่จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมาจึงได้เปลี่ยนตำแหน่งมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายกฯก็ได้ขอยศทหารให้ท่านเป็นพลอากาศเอกด้วย แต่รัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ อยู่ต่อมาได้เพียงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ นายกฯก็ประกาศลาออกกลางสภาฯ ทำให้มีรัฐบาลใหม่ที่มีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ ดังนั้นพล อ.อ.สิทธิ ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายกฯมาตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือทั้งที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ และโรงเรียนสวนกุหลาบ จึงอยู่ร่วมรัฐบาลช่วยเพื่อนในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศต่อมา รวมเวลานานติดต่อกันถึง 10 ปีครึ่ง นับเป็นขุนพลคู่ใจด้านงานต่างประเทศของนายกฯพลเอก เปรม แต่ผู้เดียวตลอดเวลา 8 ปีด้วย ช่วงเวลาที่ท่านคุมกระทรวงต่างประเทศเป็นเวลาที่การเมืองระหว่างไทยกับเวียดนามตึงเครียดมาก เวียดนามนั้นถึงกับใช้คำพูดข่มขู่ไทย รัฐมนตรีต่างประเทศของเวียดนามในตอนนั้นคือนายเหงียนโกธัค แต่รัฐมนตรีสิทธิสามารถนำไทยผ่านมาได้เป็นอย่างดี ท่านเล่าไว้อย่างอารมณ์ดีว่า
“การพบกับนายเหงียนครั้งนั้น นัดพบกันที่ล็อบบี้ของตึกสหประชาชาติ ทันทีที่เริ่มพูดคุยกัน เขากล่าวหาว่าผมโจมตีเขา...และไม่ยอมหยุดกล่าวหาจนผมรำคาญจึงยกเท้าขึ้นมานั่งไขว่ห้างและบอกว่า ผมเพิ่งดูมวยทีวีก่อนมาพบกัน และผมฝึกชกมวยมาตั้งแต่หนุ่ม เขาตกใจที่ผมมาไม้นี้ จึงไม่พูดต่อเรื่องผมกล่าวโจมตีเขาอีก”
แต่ในที่สุดนายเหงียนโกธัคก็ได้เชิญท่านไปเยือนเวียดนาม ความสัมพันธ์ของสองประเทศจึงปรับตัวดีขึ้น
ส่วนงานด้านพรรคการเมืองของท่านนั้นมาเริ่มในปี 2526 รัฐมนตรีสิทธิเล่าว่า นายกฯพลเอก เปรม บอกว่า " สิทธิลื้อไปหาพรรคลงเล่นการเมืองสิ " ดังนั้นท่านจึงคิดลงเลือกตั้งและหาพรรคสังกัด ในที่สุดท่านได้เลือกและถูกเลือกโดยพรรคกิจสังคม ให้ลงเลือกตั้งที่เขต 2 อันมีพื้นที่บางลำภูที่เป็นถิ่นบ้านเกิดของท่าน โดยได้ร่วมทีมกับหัวหน้าพรรค ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และดร.เกษม ศิริสัมพันธิ์ โดยท่านเป็นคนกลาง จึงเป็นทีมที่โดดเด่นและเข้มแข็ง และท่านก็ไม่ผิดหวัง ผู้สมัครของพรรคกิจสังคมชนะยกเขต ท่านได้คะแนนเป็นที่ 2 รองจากหัวหน้าประมาณพันคะแนนเท่านั้นเอง
การเข้าร่วมพรรคกิจสังคมและชนะเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2526 มีความสำคัญพอสมควร ท่านจึงมีฐานจากประชาชนด้วย หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ พลเอก ประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่เป็นพรรคซึ่งได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่ง ได้พยายามจะให้พรรคชาติไทยเป็นแกนจัดตั้งรัฐบาล โดยท่านจะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ดำเนินการไม่สำเร็จ เพราะพรรคกิจสังคมที่ พล อ.อ.สิทธิเป็นสมาชิกสำคัญ และมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เป็นหัวหน้าพรรคได้เป็นตัวตั้งตัวตีดึงพรรคการเมืองอื่นให้สนับสนุนพลเอก เปรม กลับมาเป็นนายกฯต่อไป และกันพรรคชาติไทยให้ออกไปเป็นฝ่ายค้าน ตัว พล อ.อ.สิทธิ เองก็ยังคงได้ร่วมรัฐบาลต่อมาในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ในปี 2529 การเมืองก็มีปัญหาอีก นายกฯจึงยุบสภา ที่นำไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปใหม่ พล อ.อ.สิทธิ ก็ลงเลือกตั้งอีกในเขตเดิมโดยท่านเป็นหัวหน้าทีม เพราะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ไม่ลงเลือกตั้งในคราวนี้ และรัฐมนตรีสิทธิก็นำทีมกิจสังคมชนะเลือกตั้งได้เข้าสภา และพรรคก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลที่มีพลเอก เปรม เป็นนายกฯต่อมา โดยรัฐมนตรีสิทธิก็ยังร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในช่วงเวลาเดียวกัน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคม และต่อมาพล อ.อ.สิทธิ ได้รับความไว้วางใจจากคนในพรรคให้เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคมในวันที่ 30 มกราคม ปี 2530
ถึงปี 2531 นายกรัฐมนตรียุบสภาจึงต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปกันอีก ครั้งนี้พลเอก เปรม ได้วางมือจากการเมือง พล.ต.ชาติชาย หัวหน้าพรรคชาติไทยซึ่งได้เสียงมากที่สุดจึงได้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีพรรคกิจสังคมร่วมด้วย รัฐมนตรีสิทธิก็ยังอยู่ในตำแหน่งเดิม แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนายกฯกับรัฐมนตรีต่างประเทศก็ดูจะไม่ดีนัก และในวันที่ 26 สิงหาคม ปี 2533 ท่านจึงถูกปรับออกจากรัฐบาลและตามมาด้วยการที่ท่านได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคกิจสังคม ดังนั้นเมื่อมีการรัฐประหารล้มรัฐบาลของนายกฯชาติชาย โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ปี 2534 ท่านจึงไม่ได้อยู่ในรัฐบาลแล้ว ต่อมาหลังพ้นจากวงการเมืองแล้วประมาณ 3 ปีท่านก็ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นองคมนตรีในปี 2537 และดำรงตำแหน่งสืบมาจนถึงอสัญกรรมในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2558