25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 09:12, 25 ตุลาคม 2556 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (หน้าที่ถูกสร้างด้วย ''''ผู้เรียบเรียง''' ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุต...')
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เป็นวันที่ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 22 ของประเทศ ที่จริง พลเอกชวลิต น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2539 แล้ว เพราะตอนนั้นเมื่อรัฐบาลเจอปัญหาหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจจากฝ่ายค้านที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ทางพรรคร่วมรัฐบาลได้หารือกันเห็นควรให้นายกรัฐมนตรี บรรหาร ลาออก และเมื่อมีการหยั่งเสียงกันในกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลก็มีการเสนอชื่อ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี หากแต่นายกรัฐมนตรี บรรหาร ศิลปอาชา ได้ดำเนินการยุบสภาเสียแทนในวันที่ 27 กันยายน จนนำมาสู่การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ได้เข้ามาเล่นการเมืองโดยจัดตั้งพรรคความหวังใหม่หลังจากลาออกจากราชการในกองทัพ และก็ได้นำพรรคความหวังใหม่ลงสู่สนามเลือกตั้งมาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกใน พ.ศ. 2435 หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แต่ในการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคความหวังใหม่ได้คะแนนมาอยู่ในลำดับที่ 3 มีผู้แทนราษฎรจำนวน 72 คน กระนั้นเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองจนพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ที่ทางพรรคสามัคคีธรรมที่เป็นพรรคที่ได้คะแนนเป็นอันดับหนึ่งเสนอมาให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็มีเสียงที่จะเสนอคนใหม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ 2 คน โดยคนแรกคือ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงส์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ที่เป็นพรรคที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 2 และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ทางพรรคที่รวมกันค้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร เสนอ จนมีการกล่าวกันว่าถ้าเสนอให้ พล.อ.อ.สมบุญ เป็นตามที่มีเสียงข้างมากในสภาสนับสนุนประชาชนก็จะไม่พอใจ ถ้าเสนอให้ พลเอกชวลิต เป็นตามที่ประชาชนพอใจ ก็ไม่มีเสียงข้างมากในสภา และครั้งนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เสนอชื่อ นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี

ครั้งนี้พรรคความหวังใหม่เมื่อได้คะแนนของพรรคมาเป็นอันดับหนึ่ง พรรคจึงเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ จึงเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งรัฐบาลผสม 6 พรรคโดยมีพรรคชาติพัฒนา พรรคประชากรไทย พรรคมวลชน พรรคเสรีธรรม และพรรคกิจสังคม ตอนนั้นพรรคฝ่ายค้านก็มิใช่มีเพียงพรรคประชาธิปัตย์เท่านั้น พรรคชาติไทยเองก็มาร่วมอย่างแข็งขัน และยังมีพรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ และพรรคไทย แต่รัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ก็ต้องมาเจอกันภาวะเศรษฐกิจที่ร้ายแรงมีบริษัทและธนาคารในเมืองไทยเสียหายมากจนต้องยอมรับเงื่อนไขของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF

รัฐบาลของ พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ ไม่สามารถจะทนต่อแรงบีบคั้นทางการเมืองอย่างมากได้ จึงได้ยอมลาออกในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2540