2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 เป็นวันที่มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 18 ของประเทศไทยที่เกิดขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาลผสมที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำได้ตัดสินใจยุบสภาภายหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีและก่อนที่จะมีการลงมติไม่ไว้วางใจ

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 18 นี้ พรรคการเมืองที่เข้าแข่งขันกันนั้นมีอยู่หลายพรรค แต่พรรคการเมืองที่ถูกจับตามองว่าจะเป็นคู่แข่งให้หัวหน้าพรรคของตนชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นเห็นมีอยู่เพียง 4-5 พรรคเท่านั้นเอง คือพรรคประชาธิปัตย์ เจ้าเก่าที่ยังคงมีนายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรค คุมทัพนักการเมืองลงสนามเลือกตั้งเอง นายชวน หลีกภัย นั้นมีฐานที่มั่นอยู่ที่จังหวัดตรัง และเสียงสนับสนุนที่ดีในช่วงนั้นของพรรคเองก็มาจากภาคใต้ ที่จริงพรรคประชาธิปัตย์เข้มแข็งมาแต่เดิมจากภาคใต้ก่อนที่คุณชวน หลีกภัย จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ยิ่งนายกรัฐมนตรีของพรรคเป็นคนใต้ด้วยก็ถือว่าเป็นเรื่องดี พรรคที่สองก็น่าจะเป็นพรรคชาติไทย ที่เคยเป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วครั้งหนึ่ง คราวนี้ได้นายบรรหาร ศิลปอาชา มาเป็นหัวหน้าพรรคเตรียมพร้อมเต็มที่ปรับปรุงไม่ให้พรรคเป็นพรรคของครอบครัวกลุ่มราชครูอย่างที่เคยถูกล้อกันมาแล้ว นายบรรหาร ศิลปอาชา ได้ระดมคนดีมีฝีมือมาเข้าพรรคด้วย ที่เด่นชัดเห็นจะเป็นการได้ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย มาช่วยการหาเสียงดูทันสมัย หัวหน้าพรรคประกาศนโยบายว่าถ้าพรรคชนะเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาลจะดำเนินการทำรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนพรรคที่สามเป็นพรรคความหวังใหม่ ที่มีพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายทหารที่เข้ามาเล่นการเมืองแบบเปิดโดยออกจากกองทัพมาจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเอง ท่านมีพรรคพวกอยู่มากที่สนับสนุน สำหรับพรรคที่สี่คือ พรรคชาติพัฒนาของอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ แม้จะถูกทหารยึดอำนาจตอนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่เข็ดการเมือง ท่านได้แยกออกมาจากพรรคชาติไทยของท่าน และพรรคสำคัญเป็นพรรคที่ห้าคือพรรคพลังธรรม อันพรรคในรัฐบาลผสมที่ทำให้รัฐบาลผสมของนายกรัฐมนตรีชวนล่ม พรรคพลังธรรมมีความใหม่ในการเลือกตั้งครั้งนี้คือเปลี่ยนหัวหน้าพรรคจากพลตรีจำลอง ศรีเมือง มาเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดังนั้น การเมืองจึงสนุกกันมาก

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ยังใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535 ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 และแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 5 พ.ศ. 2538 อยู่จึงเป็นการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแต่เป็นเขตใหญ่ขนาดกลางที่มี ส.ส. ได้ถึง 3 คน โดยมีจำนวน ส.ส. ผันแปรตามจำนวนของประชากร ในตอนนั้นมี ส.ส. ได้ 391 คน ในวันเลือกตั้งปรากฏว่ามีผู้มาใช้สิทธิถึง 23,462,746 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิ 37,817,983 คน คิดได้เป็นร้อยละ 62.04 ของจำนวนผู้มีสิทธิ นับว่ามากกว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าพรรคชาติไทยที่มี นายบรรหาร ศิลปอาชา ที่เพิ่งเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค เมื่อ พ.ศ. 2537 นั้นได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด คือจำนวน 92 ที่นั่ง ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ได้ 86 ที่นั่ง และพรรคความหวังใหม่มาเป็นอันดับ 3 ได้ 57 ที่นั่ง หลังการเลือกตั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดสุพรรณบุรี หัวหน้าพรรคชาติไทยจึงได้เป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทยโดยไม่ยาก เพราะการเมืองตอนนั้นผลของการเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีได้อย่างชัดเจน