กลุ่มการเมืองภายในพรรคการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


กลุ่มการเมืองภายในพรรคการเมือง

กลุ่มการเมืองภายในพรรคการเมือง (Faction) เป็นการรวมตัวของกลุ่มต่างๆ ของสมาชิกภายในพรรคการเมือง อันเป็นลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความแตกแยกภายในพรรคการเมือง ดังทัศนะของ เบลเลอร์ และ เบลโลนี (Beller & Belloni) ให้ความเห็นว่า กลุ่มเหล่านี้เป็นกลุ่มย่อยที่ก่อตั้งขึ้นมาในลักษณะของการแข่งขันให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์เชิงอำนาจภายในกลุ่มใหญ่ที่กลุ่มเหล่านั้นดำรงอยู่ ทั้งนี้คำว่า Faction ในอดีตเคยถูกใช้ในความหมายของการเป็นพรรคการเมือง ก่อนที่จะมีการพัฒนามาเป็นคำว่า Political Party ในเวลาต่อมา ซึ่งในอดีตนั้นการรวมกันเป็นกลุ่มทางการเมืองเป็นสิ่งถูกให้ความหมายในแง่ลบ ดังที่ จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา ได้เตือนให้หลีกเลี่ยงการจัดตั้งพรรคการเมือง เพราะจะก่อให้เกิดความแตกแยก เป็นพรรคเป็นพวก

ประเภทของกลุ่มการเมืองภายในพรรคการเมือง

(1) กลุ่มภายในพรรคที่เป็น “กลุ่มพรรคพวก (factional cliques)” เป็นกลุ่มที่ก่อตั้งขึ้นจากบุคคลที่มีผลประโยชน์บางอย่างร่วมกัน เช่น อุดมการณ์ นโยบาย เรื่องส่วนตัวหรืออื่นๆ โดยที่ไม่ได้มีเป้าหมายในการรวมตัวกันเพื่อแสวงหาเป้าหมายหรือผลประโยชน์ของกลุ่ม กลุ่มการเมืองภายในพรรคประเภทนี้มักเป็นกลุ่มที่ไม่เป็นทางการ สมาชิกของกลุ่มมีจำนวนไม่แน่นอนและความเหนียวแน่นของสมาชิกในกลุ่มค่อนข้างสั้น ซึ่งกลุ่มประเภทนี้มักจะปรากฏในช่วงที่มีประเด็นปัญหาหนึ่งภายในพรรคหรือในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

(2) กลุ่มภายในพรรคที่เป็นกลุ่มอุปถัมภ์และความสัมพันธ์ส่วนตัว (personal and client-group factions) กลุ่มในลักษณะนี้ ยังหมายความได้ถึงกลุ่มผู้อุปถัมภ์-ผู้รับการอุปถัมภ์ ซึ่งกลุ่มประเภทนี้ต่างจากกลุ่มประเภทแรก ตรงที่จะมีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นรูปธรรม มีกระบวนการวิธีการสรรหาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกลุ่มกับสมาชิก กลุ่มในพรรคการเมืองประเภทนี้จะอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวของผู้นำกลุ่มเป็นสำคัญ ทำให้สมาชิกของกลุ่มประเภทนี้มีจำนวนน้อย และมักใช้หรืออ้างถึงหัวหน้ากลุ่มมาเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่ม ด้านความยั่งยืนของกลุ่มลักษณะนี้ขึ้นอยู่กับอำนาจทางการเมืองของผู้นำกลุ่มเป็นสำคัญ

(3) กลุ่มภายในพรรคที่มีความเป็นสถาบันหรือองค์การ (institutionalized or organizational factions) กลุ่มในลักษณะนี้มักเป็นกลุ่มที่มีความเป็นทางการ หรือ กลุ่มที่มีพัฒนาการ ซึ่งไม่พึ่งพิงหรือผูกพันกันด้วยความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์กันระหว่างผู้นำกับสมาชิก แต่จะมีลักษณะความสัมพันธ์แบบร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม มีตำแหน่งหรือกฎระเบียบที่แน่นอน ทั้งนี้ พื้นฐานของการดำรงอยู่ของกลุ่มแบบนี้ คือ ผลประโยชน์ในทุกๆ เรื่องตั้งแต่เชิงอุดมการณ์ ประโยชน์เชิงวัตถุ ผลประโยชน์สาธารณะ ไปจนถึงผลประโยชน์ส่วนตัว โดยสมาชิกในกลุ่มแบบนี้มักมีการรวมกลุ่มกันอย่างถาวรหรือเป็นระยะเวลายาวนาน

กลุ่มการเมืองภายในพรรคกับผลกระทบต่อพรรคการเมือง

โดยทั่วไปการเกิดกลุ่มภายในพรรคการเมืองมีแนวโน้มนำไปสู่ความอ่อนแอและความไม่เป็นเอกภาพในพรรคการเมืองนั้น เนื่องจากลักษณะของการมีกลุ่มที่มักมีการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ภายในพรรคการเมือง ซึ่งอาจสร้างบรรยากาศกดดันและความตึงเครียดอันเป็นผลมาจากการต่อสู้ ฉกฉวยโอกาสกันระหว่างแกนนำสำคัญในพรรคการเมือง และในท้ายที่สุดมักออกมาในรูปของการแยกตัวออกไปของกลุ่มบางกลุ่ม เพื่อออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ เพื่อต่อสู้กับพรรคการเมืองเดิมในฐานะพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามต่อไป ดังกรณีตัวอย่าง ความแตกแยกในพรรคแรงงานของอังกฤษ (Labour Party) ในปี ค.ศ. 1981 เนื่องจากกลุ่มฝ่ายขวาในพรรคไม่เห็นด้วยกับการให้สหภาพแรงงานมีอำนาจมากขึ้นในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค กลุ่มนี้จึงแยกออกไปตั้งพรรคใหม่ชื่อ พรรคสังคมประชาธิปไตย (Social Democrat Party-SDP) และในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1983 พรรคใหม่นี้ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับพรรคเสรีนิยม (Liberal Party) เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันกัน เป็นผลให้ได้รับคะแนนเสียงถึง 1 ใน 4 ของคะแนนเสียงทั้งหมด เกือบมีชัยชนะเหนือพรรคแรงงาน ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกที่อังกฤษอาจมีโอกาสมีระบบพรรคที่ไม่ใช่ระบบสองพรรค แต่จำนวนที่นั่งโดยระบบการเลือกตั้งที่ใช้อยู่ทำให้มีที่นั่งไม่มากและในปี ค.ศ. 1988 สองพรรคนี้ได้รวมเป็นพรรคเดียวกันภายใต้ชื่อ พรรคประชาธิปไตยเสรีนิยม (Liberal Democrat Party) ในเวลาต่อมา


ตัวอย่างกลุ่มภายในพรรคการเมืองต่างประเทศ

ในกรณีของสหรัฐอเมริกา พรรคเดโมแครต (Democratic Party) ถือเป็นพรรคขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลในฐานะที่เป็นพรรคการเมืองเก่าแก่และได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิปดีคนปัจจุบัน (Barack Obama) ยิ่งไปกว่านั้น ความน่าสนใจของพรรคการเมืองนี้ ก็คือ การเป็นพรรคที่มีกลุ่มภายในพรรคที่มีความหลากหลาย โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ฝ่าย ได้แก่

(1) ฝ่ายเสรีนิยม (Liberals) ประกอบไปด้วย กลุ่มประชาธิปไตยก้าวหน้า (Progressive Democrats) กลุ่มเสรีนิยมประชาธิปไตย (Liberal Democrats) และกลุ่มสหภาพ (Unions) แรงงานและลูกจ้าง

(2) ฝ่ายแนวทางสายกลาง อนุรักษ์นิยมและเสรีชน (Moderates, Conservatives and Libertarians) ประกอบไปด้วย กลุ่มประชาธิปไตยสายกลาง (Moderate Democrats) กลุ่มประชาธิปไตยอนุรักษ์นิยม (Conservative Democrats) และกลุ่มเสรีชนประชาธิปไตย (Libertarian Democrats)

(3) ฝ่ายชาติพันธุ์ชนกลุ่มน้อย (Ethnic Minorities) ประกอบไปด้วย พวกอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน(African Americans) พวกฮิสแปนิค (Hispanics) ซึ่งหมายถึงคนที่สืบเชื้อสายจากสเปนและเม็กซิกันอเมริกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอเมริกันเชื้อสายเอเซียอเมริกัน ( Asian Americans) กลุ่มมุสลิม (Muslims) กลุ่มชาวยิว (Jewish) และกลุ่มอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนอเมริกันพื้นเมือง (Native American)

ในกรณีของออสเตรเลีย พรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคแรงงานออสเตรเลีย (the Australian Labor Party) ก็มีกลุ่มการเมืองภายในพรรค ได้แก่ กลุ่มแรงงานฝ่ายขวา (Labor Right Party) ที่มีเครือข่ายสมาชิกกลุ่มเป็นจำนวนมากในรัฐต่างๆ โดยมีมุมมองทางการเมืองที่มุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างก้าวหน้ากับการจัดการทางเศรษฐกิจที่เป็นแนวทางให้ชุมชนสามารถพัฒนาและเติบโตขึ้นได้ โดยยังคงรักษาสถานภาพเดิมของชุมชนที่ถูกคาดหวังเอาไว้ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มสังคมนิยมฝ่ายซ้าย (Socialist Left) ซึ่งมีเป้าหมายในการแทรกแซงและผลักดัน นโยบายเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม การเคลื่อนไหวในเรื่องสิทธิสตรี สิทธิของชายรักเพศเดียวกัน รวมไปถึงการดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างเสรี เป็นต้น

กลุ่มการเมืองภายในพรรคการเมืองไทย

กลุ่มการเมืองภายในพรรคการเมืองของไทย มักนิยมเรียกในชื่อของ “มุ้ง” “กลุ่ม” หรือ “วัง” ต่างๆ ซึ่งกลุ่มการเมืองเหล่านี้มักมีพื้นฐานมาจากสายสัมพันธ์ส่วนตัวในแง่ของการอุปถัมภ์ เครือญาติหรือการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะต่างๆ รวมไปถึงการมีอุดมการณ์ร่วมกัน ทั้งนี้กลุ่มที่มีบทบาททางการเมืองโดดเด่นในอดีต ได้แก่ “กลุ่ม 16” ซึ่ง เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง 13 กันยายน 2535 ประกอบด้วย ส.ส. จำนวน 16 คน ของพรรคฝ่ายค้านที่มีอยู่ระหว่าง 30 – 40 คน และมีความสัมพันธ์กันในทางส่วนตัว ซึ่งมาจากพรรคชาติพัฒนา 11 คน ได้แก่ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายสุชาติ ตันเจริญ นายจำลอง ครุฑขุนทด นายประวัฒน์ อุตตะโมต ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณวี นายธานี ยี่สาร นายยงยศ อรุณเสสะเศรษฐ นายบรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายสนธยา คุณปลื้ม นายวิทยา คุณปลื้ม พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ และจากพรรคชาติไทย 5 คนได้แก่ นายเนวิน ชิดชอบ นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายสรอรรถ กลิ่นประทุม นายวราเทพ รัตนากร และนายชูชาติ หาญสวัสดิ์

กลุ่ม 16 เริ่มมีบทบาทจากการได้รับหน้าที่ให้ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล กลุ่ม 16 สามารถแสดงผลงานในหลาย ๆ เรื่องได้เป็นอย่างดี จนทำให้รัฐบาลของนายชวนต้องตัดสินใจยุบสภา ผลงานชิ้นแรกได้แก่การอภิปรายในปัญหาการปั่นหุ้น เอฟซีที รัตนะการเคหะ และกฤษดามหานคร ต่อจากนั้น ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ ออกมาแถลงถึงความไม่ชัดเจนของงบประมาณจัดซื้อสารเคมีเพื่อฆ่ายุงลายหรือที่รู้จักกันในนามของ “งบยุงลาย” และผลงานที่สร้างชื่อให้กับกลุ่มนี้ก็คือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ในปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ซึ่งเป็นผลให้รัฐบาลต้องประกาศยุบสภาในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ยังมี “กลุ่ม 10 มกรา” ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2529 โดยมีความขัดแย้งอันเนื่องมาจากความไม่พอใจในการจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีของนายพิชัย รัตตกุล ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น ทั้งนี้ความขัดแย้งภายในพรรคมีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อร่างพระราชบัญญัติกฎหมายลิขสิทธิ์เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2531 และสมาชิกในกลุ่มนี้ที่มี นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นแกนนำได้คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว จนเป็นเหตุให้พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศยุบสภา และในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 กรกาคม พ.ศ. 2531 กลุ่ม 10 มกราก็ได้ออกมาจัดตั้งพรรคประชาชนในเวลาต่อมา

กลุ่มการเมืองในพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญ คือ “กลุ่มวังน้ำเย็น” นำโดย นายเสนาะ เทียนทอง ซึ่งตั้งชื่อตามชื่อ ตำบลวังน้ำเย็น อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว อันเป็นถิ่นฐานธุรกิจและการเมืองดั้งเดิมของนายเสนาะ แต่เดิมนั้นกลุ่มนี้เป็นสมาชิกพรรคชาติไทย ซึ่งมี นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรค เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดเป็นจำนวนมาก ทำให้มีส่วนสำคัญในการครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ของ พรรคชาติไทย ซึ่งทำให้ นายบรรหาร สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทำให้ นายเสนาะ มีความสำคัญอย่างมากในพรรคชาติไทยโดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่ในเวลาต่อมากลุ่มวังน้ำเย็นกลับเปลี่ยนมากดดันให้ นายบรรหาร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เมื่อ พ.ศ. 2539 โดยสนับสนุนให้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ ซึ่งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน ในครั้งนั้นนายบรรหารถูกกดดันจนต้องประกาศว่าจะลาออก

แต่ในทางตรงกันข้าม หลังผ่านพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร กลับไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่เลือกใช้อำนาจในการยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งทั่วไป สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ซึ่งเหตุการณ์นี้สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มวังน้ำเย็นและได้ลาออกจากพรรคชาติไทย ไปเข้าร่วมกับพรรคความหวังใหม่ ที่มี พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค นายเสนาะได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค สามารถสนับสนุนให้พรรคความหวังใหม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของประเทศไทยได้สำเร็จ

เหตุปัจจัยของความขัดแย้งระหว่างสมาชิกหรือกลุ่มภายในพรรคการเมืองไทย

(1) ประเด็นของความขัดแย้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ (Clash of Interests) เป็นสำคัญ โดยมีความไม่พอใจส่วนตัวเป็นส่วนเสริมทำให้ความขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์รุนแรงขึ้น

(2) ผลประโยชน์ที่เป็นพื้นฐานของความขัดแย้งเป็นผลประโยชน์เฉพาะตัว เฉพาะกลุ่มมากกว่าเป็นผลประโยชน์ส่วนรวมหรือของพรรค

(3)ความขัดแย้งภายในพรรคที่รุนแรง มักเป็นความขัดแย้งกันระหว่างชนชั้นนำของพรรคมากกว่าสมาชิกพรรคในระดับล่าง

(4) พรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่มาก จะมีโอกาสเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มได้โดยง่าย

(5) การเป็นพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล ยิ่งมีผลประโยชน์ที่นำไปสู่ความขัดแย้งของสมาชิกหรือกลุ่มต่างๆ ได้มาก


ตัวอย่างความขัดแย้งจากกลุ่มภายในพรรคการเมืองไทยกับการเกิดพรรคการเมืองใหม่

พรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์เกิดความแตกแยกขึ้นภายในพรรค ช่วง พ.ศ. 2519 ส่งผลให้มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ทั้งที่เป็นและไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในปีพ.ศ. 2522 อาทิเช่น

(1) พรรคประชากรไทย นำโดยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตสมาชิกกลุ่มหัวเก่าในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งร่วมก่อตั้งพรรคขึ้นมาพร้อมกับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีกหลายคนที่แยกตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์

(2) พรรคเสรีธรรม นำโดยนายบุญยิ่ง นันทาภิวัฒน์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ที่รวมตัวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคต่างๆ เช่น พรรคพลังใหม่ พรรคกิจสังคมและพรรคธรรมสังคม

(3) พรรครวมไทย เกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง พล.ต.ต.สง่า กิตติขจร อดีตสมาชิกพรรคประชาไทย กับ นายส่งสุข ภัคเกษม อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.เชียงใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มของนายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มหนุ่มในพรรคชาติไทย

(4) กลุ่มธรรมนูญ นำโดย นายธรรมนูญ เทียนเงิน อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่วนกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ที่แยกตัวออกจากพรรคประชาธิปัตย์แต่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งใน พ.ศ. 2522 ได้แก่ “กลุ่มราชพฤกษ์” นำโดย ร้อยตำรวจเอก สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ ต่อมาภายหลังกลุ่มนี้ได้ไปรวมกับกลุ่มของนายไชยศิริ เรืองกาญจนเศรษฐ์ ตั้งเป็นพรรคประชาราษฎร์ขึ้นมา

พรรคกิจสังคม เกิดความแตกแยกในพรรคในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2529 ทำให้มีสมาชิกพรรคจำนวนมากได้แยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่ ได้แก่

(1) พรรคสหประชาธิปไตย เกิดจากการรวมตัวกันระหว่างสมาชิกพรรคกิจสังคม โดยมีนายบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรค กลุ่มของนายโกศล ไกรฤกษ์ อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม และกลุ่มของนายสวัสดิ์ คำประกอบ ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคกิจสังคมเป็นแกนนำสำคัญ ร่วมกับ สมาชิกพรรคชาติไทย โดยมีกลุ่มสยามประชาธิปไตยของ พันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ เป็นแกนนำและมีสมาชิกพรรคชาติไทยที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

(2) พรรคกิจประชาคม นำโดย สมาชิกพรรคกิจสังคมในกลุ่มของนายบุญชู โรจนเสถียร อดีตรองหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค นอกจากนี้ยังมีสมาชิกบางส่วนจากพรรคชาติไทยและพรรคชาติประชาธิปไตยรวมอยู่ด้วย

(3) พรรครวมไทย นำโดยกลุ่มของนายณรงค์ วงศ์วรรณ รองหัวหน้าพรรคกิจสังคม ร่วมกับสมาชิกพรรคชาติไทย นอกจากนี้ยังมีสมาชิกพรรคกิจสังคมอีกจำนวนหนึ่งแยกตัวออกไปอยู่กับพรรคการเมืองใหม่ เช่น พรรคมวลชนและพรรคราษฎร

กลุ่มในพรรคการเมืองไทยช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2530

ในช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการปกครองโดยรัฐบาลผสมหลายพรรค ซึ่งความเป็นกลุ่มหรือมุ้งปรากฏชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเลือกตั้งและการจัดสรรตำแหน่งในรัฐบาล อิทธิพลของกลุ่มต่างๆ ภายในพรรคการเมือง แสดงออกมาในรูปของการกดดันและสร้างอำนาจต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีหรือตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ ซึ่งสัมพันธ์กับจำนวนสมาชิกกลุ่มที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งในสถานการณ์ที่ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถมีเสียงข้างมากเด็ดขาด การรักษาและผูกพันกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ไว้กับพรรคการเมืองของตน เพื่อประโยชน์ในการจัดตั้งรัฐบาลเป็นสิ่งจำเป็นที่หัวหน้าพรรคที่ต้องการเป็นแกนนำในการรวบรวมเสียงข้างมากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ โดยกลุ่มในพรรคการเมืองที่มีความสำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว มีดังต่อไปนี้ กลุ่มภายในพรรคความหวังใหม่ ได้แก่

- กลุ่มพระพาย ประกอบด้วย นายทวี ไกรคุปต์ นายกริช กรงเพชร นายเฉลิมยศ แสนวิเศษ นายพิทักษ์ ศรีตะบุตร นายไพจิตร ศรีวรขาน นายสนิท จันทรวงศ์ นายอรรถสิทธ์ ทรัพย์สิทธิ์ นายบุญทรง วงศ์กวี นายเทิดภูมิ ใจดี

- กลุ่มอีสานใต้ ประกอบด้วย นายพิศาล มูลศาสตรสาทร นายเกียรติ ศรีสุรินทร์ นายเฉลิมพล สนิทวงศ์ชัย นายมานพ จรัสดำรงนิตย์ นายระวี กิ่งคำวงศ์ นายวิทยา ขันอาสา นายสวัสดิ์ สืบสายพรหม

- กลุ่มภาคเหนือ ประกอบด้วย นายบุญชู ตรีทอง นายวิสิต พยัคฆบุตร นายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ นายปัญญา จีนาคำ นายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ นายประเทือง ปานลักษณ์ นายมนตรี ด่านไพบูลย์

- กลุ่มเอกภาพ (วาดะห์) ประกอบด้วย นายเด่น โต๊ะมีนา นายไพศาล ยิ่งสมาน นายมุข สุไลมาน นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายสุดิน ภูยุทธานนท์ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์

- กลุ่มภาคตะวันออก ประกอบด้วย นายเสริมศักดิ์ การุณ นายนุกุล ธนิตกุล นายมณฑล ไกรวัตนุสรณ์

- กลุ่มอีสานเหนือ ประกอบด้วย นายฉัตรชัย เอียสกุล นายสุรพล ดนัยตั้งตระกูล

- กลุ่มอิสระ ประกอบด้วย นายเกษม รุ่งธนเกียรติ นายเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ นายแก้ว บัวสุวรรณ นายขุนทอง ภูผิวเดือน นายเฉลิมชัย อุฬารกุล นายบวร ภุจริต นายบุญชง วีสมหมาย นายประสงค์ บูรณ์พงศ์ นายพา อักษรเสือ นายไพฑูรย์ แก้วทอง นายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ นายวิชัย ชัยจิตวณิชกุล นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายสุรศักดิ์ เทียมประเสริฐ กลุ่มภายในพรรคชาติไทย ได้แก่

- กลุ่มเทิดไท ประกอบด้วย นายณรงค์ วงศ์วรรณ นายสุชาติ ตันเจริญ ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณวี นายดุสิต รังคศิริ นายวีระกร คำประกอบ นายเมธา เอื้ออภิญญากุล พ.ต.อ.สุทธี คะสุวรรณ นายเนวิน ชิดชอบ นายชัย ชิดชอบ นายปณวัตร เลี้ยงผ่องพันธุ์ นายประสิทธ์ ตังศรีเกียรติกุล นายทรงศักดิ์ ทองศรี นายวัชรินทร์ ฉันทะกุล นายปิยะณัฐ วัชราภรณ์ นายดนัยฤทธิ์ วัชราภรณ์ พ.ต.อ.พิณ วงศ์ปลั่ง นายจตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ นายรณฤทธิชัย คานเขต นายพีรพันธุ์ พาลุสุข นายเกษม รุ่งธนเกียรติ นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ นายวราเทพ รัตนากร นายเสริมศักดิ์ การุณ นายยงยศ อรุณเวสสะเศรษฐ นายไกรศักด์ ทะไกรลาศ นายศักดา คงเพชร นายอนุรักษ์ จุรีมาศ นายสุรพันธ์ ชินวัตร นายประทวน รมยานนท์ นายสมบูรณ์ วันไชยธนาวงศ์ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม พล.ต.สนั่น เศวตเศรณี นายวัลลภ สุปรียศิลป์ และนายธานี ยี่สาร

- กลุ่มบรรหารและส.ส.ภาคกลาง ประกอบด้วย นายบรรหาร ศิลปะอาชา นายบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ นายชุมพล ศิลปอาชา นายกัญจนา ศิลปอาชา นายประภัตร โพธสุธน นายจองชัย เที่ยงธรรม นายบุญธง สงฆ์ประชา นายเดช บุญหลง นายชาญชัย ปทุมารักษ์ นายสมพัตน์ แก้วพิจิตร นางพวงเล็ก บุญเชียง นายสฤษ์ อึ้งอภินันท์ นายนิยม วรปัญญา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายเดชา สุขารมณ์ นายเรวัติ ศิรินุกูล และร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักด์ศิริ

- กลุ่มวังน้ำเย็น ประกอบด้วย นายเสนาะ เทียนทอง นายบุรินทร์ หิรัญบุณณะ นายวิทยา เทียนทอง นายสุนทร วิลาวัลย์ นายบุญส่ง สมใจ นายอุดมศักดิ์ ทั่งทอง นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ นายวาณี หาญสวัสดิ์ นายสำเภา ประจวบเหมาะ นายศิลป์ชัย นุ้ยปรี นายชัชวาลย์ ชมพูแดง นายวิเศษ ใจใหญ่ นายอร่าม โล่ห์วีระ นายเงิน ไชยศิวามงคล นายเรืองวิทย์ ลิกค์ นายศุภสิทธิ์ เตชะตานนท์ นายสกุล ศรีพรหม นายประยุทธ์ ศิริพานิช นายเอี่ยม ทองใจสด พ.อ.ท.กิตติคุณ นาคะบุตร นายไพโรจน์ เครือรัตน์ นายวิวัฒน์ ตยางคนนท์ และนายจำนง โพธิสาโร

- กลุ่มภาคตะวันออก ประกอบด้วย นายสมชาย คุณปลื้ม นายสนธยา คุณปลื้ม นายวิทยา คุณปลื้ม นายสันต์ศักดิ์ งามพิเชษฐ์ นายสง่า ธนสงวนวงศ์ นายสมชาย สหชัยรุ่งเรือง และนายสุรสิทธิ์ นิติวุฒิวรรักษ์

- กลุ่มปากน้ำ ประกอบด้วยนายวัฒนา อัศวเหม นายสมพร อัศวเหม นายมั่น พัธโนทัย และนายประดิษฐ์ ยั่งยืน

- กลุ่มซอยราชครู ประกอบด้วย พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร นายปองพล อดิเรกสาร และนายเจริญ จรรย์โกมล

- กลุ่มลำปาง ประกอบด้วย นายบุญชู ตรีทอง และนายวาสิต พยัคฆบุตร

- กลุ่ม 16 ประกอบด้วยสมาชิกของกลุ่ม 16 กับ กลุ่มเทิดไท ที่มีการซ้อนกันอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างมีบทบาทอย่างสำคัญภายในพรรคชาติไทย

กลุ่มในพรรคไทยรักไทย : พรรคขนาดใหญ่และศักยภาพในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

พรรคไทยรักไทย เกิดขึ้นภายใต้บทบาทนำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี พ.ศ. 2541 ประกอบกับผลของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ที่มีบทบัญญัติเอื้อต่อการเติบโตและดำรงอยู่ของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ทำให้พรรคไทยรักไทยเติบโตและมีอิทธิพลขึ้นอย่างมาก จากทั้งปัจจัยในการรวบรวมกลุ่มในพรรคการเมืองอื่นๆ มาอยู่ในพรรคเดียวกัน และการควบรวมพรรคการเมืองอื่น หลังจากการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อ พ.ศ. 2544 จากนั้นในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2548 พรรคไทยรักไทย ได้รับการเลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ทำให้พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรกที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้สำเร็จ โดยกลุ่มการเมืองในพรรคไทยรักไทยมีดังต่อไปนี้

ภาพแกนนำกลุ่มการเมืองภายในพรรคไทยรักไทย

- กลุ่มบ้านจันทร์ส่องหล้า เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดในพรรคไทยรักไทย นำโดย พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร สมาชิกคนสำคัญ ได้แก่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายวราเทพ รัตนากร นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี น.พ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช

- กลุ่มวังบัวบาน นำโดย นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคเหนือ

- กลุ่มวังน้ำยม นำโดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ สมาชิกคนสำคัญ ได้แก่ นายสุชน ชามพูนท นายบุญชู ตรีทอง และศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

- กลุ่มวังพญานาค หรือพรรคเสรีธรรมเดิม นำโดย นายพินิจ จารุสมบัติ

- กลุ่มวังน้ำเย็น นำโดย นายเสนาะ เทียนทอง

- กลุ่มบ้านริมน้ำ (กลุ่มพ่อมดดำ) มีนายสุชาติ ตันเจริญ เป็นหัวหน้ากลุ่ม มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในภาคกลางและภาคอีสาน

- กลุ่มราชบุรี นำโดย นายสรอรรถ กลิ่นประทุม

- กลุ่มชลบุรี นำโดย นายสนธยา คุณปลื้ม และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดชลบุรี

- กลุ่มลำตะคอง หรือพรรคชาติพัฒนาเดิม สมาชิกแตกออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งมี นายกร ทัพพะรังสี เป็นแกนนำร่วมกับกลุ่มซอยราชครู แต่อีกกลุ่มหนึ่งมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นแกนนำ

- กลุ่มทานตะวัน หรือพรรคความหวังใหม่เดิม หลังจากพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ วางมือทางการเมือง สมาชิกในกลุ่มก็ดูหงอยเหงาตามไปด้วย

- กลุ่มวาดะห์ ภายใต้การนำของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ภายหลังจากการเลือกตั้งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ส.ส.กลุ่มนี้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ทำให้บทบาทของกลุ่มถดถอยลงไป

- กลุ่มวังค้างคาว นำโดยนายประชา มาลีนนท์ สมาชิกส่วนใหญ่เป็นส.ส.ในภาคเหนือ 3-4 จังหวัด

- กลุ่มบุรีรัมย์ นำโดย นายเนวิน ชิดชอบ

- กลุ่มกทม. นำโดยนางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวหน้ากลุ่ม เหล่าส.ส.เมืองหลวง

- กลุ่มวังมะนาว (กลุ่ม 16 เดิม) มีสมาชิกที่โดดเด่นเช่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ นายธานี ยี่สาร นายจำลอง ครุฑขุนทด

ที่มา

“กลุ่มต่างๆ ในพรรคไทยรักไทย”,Retrieved from URL http://www.poakpong.com/tag/democrat

“กลุ่มวังน้ำเย็น”,Retrieved from URL http://th.wikipedia.org/wiki/กลุ่มวังน้ำเย็น

“พรรคไทยรักไทย”,Retrieved from URL http://th.wikipedia.org/wiki/พรรคไทยรักไทย

บุญธรรม เลิศสุขีเกษม.ความแตกแยกภายในพรรคการเมืองไทย : ศึกษาเปรียบเทียบพรรคประชาธิปัตย์พรรคกิจสังคม และพรรคชาติไทย . วิทยานิพนธ์หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต (การปกครอง)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2531 หน้า 95-100,198-207.

วิทยา นภาศิริกุลกิจ และ สุรพล ราชภัณทารักษ์. พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2544 หน้า 33.

สังศิต พิริยะรังสรรค์ และ ผาสุก พงษ์ไพจิตร (บรรณาธิการ).จิตสำนึกและอุดมการณ์ของขบวนการประชาธิปไตยร่วมสมัย.กรุงเทพฯ : ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2539 หน้า 41-43, 85 และ108.

Dennis C. Beller and Frank P. Belloni (ed). Faction politics : political parties and factionalism in comparative perspective. Santa Barbara, Cal. : ABC-Clio,1978 p.6,419-430.

“Factions in the Democratic Party (United States)”,Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/Factions_in_the_Democratic_Party_(United_States)

“The Labor Right faction of the Australian Labor Party”,Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/Labor_Right

“The Socialist Left faction of the Australian Labor Party”,Retrieved from URL http://en.wikipedia.org/wiki/Socialist_Left_(Australia)