ชาติสามัคคี (พ.ศ. 2542)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 22:17, 11 มิถุนายน 2553 โดย Teeraphan (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต



พรรคชาติสามัคคี (2542-2543)

พรรคชาติสามัคคี เรียกชื่อหรือเขียนชื่อย่อว่า “ชสค” เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “CHART SAMAKEE PARTY” เรียกชื่อหรือเขียนชื่อเป็นภาษาอังกฤษโดยย่อว่า “CSP” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมืองเลขที่ 1/2542 ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2542[1]

เครื่องหมายพรรคชาติสามัคคี ประกอบด้วยรูปแผนที่ประเทศไทยสีเหลืองทอง บนประเทศไทยมีวงกลมอยู่ตรงกลางภาพในวงกลมมีรูปมือประสานกัน 4 มือ และมีชื่อพรรคภาษาไทยว่า “พรรคชาติสามัคคี” และภาษาอังกฤษว่า “CHART SAMAKEE PARTY” ด้านล่างมีอักษรชื่อพรรคว่า “พรรคชาติสามัคคี เพื่อความสามัคคี ของคนไทยทั้งชาติ” มีความหมายว่าพรรคชาติสามัคคี มีความมุ่งมั่นจะให้คนไทยทั้งชาติมีความสมัครสมาน สามัคคีกันเป็นน้ำหนึ่งเดียวกันเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศให้มีความรุ่งเรืองด้วยวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลให้ทันกับกระแสโลกาภิวัฒน์ [2]

ตรายางเครื่องหมายสำหรับประทับรับรองเอกสารของพรรคเป็นเครื่องหมายย่อในลักษณะเดียวกัน หากแต่ใช้สีเดียวล้วน [3]

ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคชาติสามัคคี ตั้งอยู่เลขที่ 662/47 หมู่บ้านรุ่งเจริญ ซอย 2 ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10320 [4]


นโยบายพรรคชาติสามัคคี พ.ศ. 2542 [5]

ตามที่ประเทศไทยกำลังประสบสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้คนจำนวนมากต้องประสบกับปัญหาต่างๆมากมาย ดังนั้นเราคิดว่าถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องรวมพลัง สมัครสมานสามัคคีพร้อมใจกันร่วมมือช่วยแก้ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ พรรคชาติสามัคคีเกิดจากการรวมตัวของชนทุกหมู่เหล่าเพื่อช่วยกันสานเจตนารมณ์ที่ต้องการเห็นความสงบสุขของสังคมประเทศชาติก้าวไปไกลและเจริญรุ่งเรือง ประชาราษฎร์มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่านี้ พรรคชาติสามัคคีจึงขออาสาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่างๆของประเทศชาติ ดังมีนโยบายของพรรค 12 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ด้านเศรษฐกิจ แก้ไขภาคเศรษฐกิจทางด้านภาคอุตสาหกรรมที่ด้อยประสิทธิภาพ การเกษตรที่มีผลผลิตต่ำ สนับสนุนธุรกิจและอุตสาหกรรมส่งออก สร้างสรรค์ความเจริญทางเศรษฐกิจของประเทศ และลดช่องว่างและขจัดความยากจน

2. ด้านการเมือง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบาย การตัดสินใจทางการเมือง และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ

3. ด้านสังคม เสริมสร้างศักยภาพของคนให้เป็นคนดี มีคุณธรรม สนับสนุนการสืบทอดเอกลักษณ์ความเป็นไท และการปลูกฝังค่านิยมที่ดีงาม

4. ด้านการต่างประเทศ ส่งเสริมมิตรภาพ และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน และสนับสนุนให้ความร่วมมือกับนานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาซึ่งมีผลกระทบต่อมนุษยชาติ

5. ด้านการเกษตร สนับสนุนปฏิรูปที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ยากจนและไม่มีที่ดินทำกิน ส่งเสริมขีดความสามารถให้แก่เกษตรกรทั้งการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และการประมงเพื่อปรับปรุงคุณภาพ

6. ด้านการศึกษา สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และขยายโอกาสให้ทั่วถึงคนทุกกลุ่ม สนับสนุนการปลูกฝังจิตสำนึกเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และส่งเสริมวิชาชีพที่ได้รับการยกย่อง

7. ด้านการสาธารณสุข ส่งเสริมสุขภาพและการรักษาพยาบาล และสนับสนุนการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

8. ด้านแรงานและสวัสดิการสังคม สนับสนุนปรับปรุงกฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงานเด็ก แรงงานหญิง และส่งเสริมการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อให้สามารถเข้าสู่ภาคแรงงานได้

9. ด้านวิทยาศาสตร์ สนับสนุนการผลิตและพัฒนากำลังพลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มีปริมาณและคุณภาพเพียงพอกับความต้องการ และสนับสนุนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาประเทศ

10. ด้านการอุตสาหกรรม พรรคจะส่งเสริมให้มีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมส่งออกในชนบท และพัฒนาอุตสาหกรรมส่งออกหลักของประเทศ

11. ด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรน้ำ ป่าไม้ และปลูกฝังให้เด็ก เยาวชน และประชาชนตระหนักในความของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

12. ด้านอื่นๆ แก้ไขปัญหายาเสพย์ติด สนับสนุนสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา สื่อสารมวลชน ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดทางเพศต่อเด็กและสตรี และปลูกฝังพื้นฐานแก่เด็กและเยาวชนในเรื่องความมีเหตุผลการยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น

พรรคชาติสามัคคีไม่เคยมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเลือกตั้ง จนกระทั่งถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 1/2543 ลงวันที่ 27 มกราคม 2543 ให้ยุบพรรคชาติสามัคคีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มาตรา 65 วรรคสอง เนื่องจากไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติว่า “ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีสมาชิกตั้งแต่ห้าพันคนขึ้นไป ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยสมาชิกซึ่งมีที่อยู่ในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัดที่นายทะเบียนประกาศกำหนด และมีสาขาพรรคการเมืองอย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา” เมื่อพรรคการเมืองไม่สามารถกระทำได้ดังกล่าว ให้พรรคการเมืองนั้นเป็นอันยุบไปตามมาตรา 65 ซึ่งเมื่อครบกำหนดเวลาพรรคชาติสามัคคีมีจำนวนสมาชิกพรรคและจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยพรรคชาติสามัคคีไม่ได้ยื่นคำชี้แจงภายในกำหนดเวลาแต่อย่างใด ศาลจึงตัดสินให้ยุบพรรคชาติสามัคคี [6]

มีรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรคชาติสามัคคีตอนตั้งพรรคมีทั้งสิ้น 7 คน ดังนี้ [7]

1. นายชาติชาย เลาสกุลภักดี หัวหน้าพรรค

2. นายสิริวุฒิ วุฒิสุวรรณวัฒน์ รองหัวหน้าพรรค

3. นายเทพรัตน์ ชุณหชา เลขาธิการพรรค

4. นางสาวลลิดา วงษ์จีน รองเลขาธิการพรรค

5. นางสาวศศิกานต์ มั่งศิริ เหรัญญิกพรรค

6. นายจักรินทร์ มั่งศิริ โฆษกพรรค

7. นางสุปราณี ยุวกนิษฐ์ กรรมการบริหารพรรค

และพรรคชาติสามัคคีได้มีมติประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคชาติสามัคคี ครั้งที่ 1/2542 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2542 ให้นายชาติชาย เลาสกุลภักดี พ้นจากสมาชิกภาพตามข้อบังคับพรรคชาติสามัคคี พ.ศ. 2542 ข้อ 18 (5) (คือ คณะกรรมบริหารพรรคมีมติให้ออก) ตั้งแต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2542 และแต่งตั้งให้นายสิริวุฒิ วุฒิสุวรรณวัฒน์ รองหัวหน้าพรรคทำหน้าที่หัวหน้าพรรคชาติสามัคคีแทน[8] เนื่องจาก นายชาติชาย เลาสกุลภักดี โดนตำรวจจับฐานฉ้อโกงทรัพย์และหลอกลวงผู้อื่น หลังจากนายชาติชาย เลาสกุลภักดีไปแอบอ้างตนเป็นม.ร.ว. ไปพักตามโรงแรมทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยไม่ยอมเสียค่าใช้จ่าย [9]

อ้างอิง

  1. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ง, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 123,131.
  2. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ง, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 131-132.
  3. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ง, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 132.
  4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ง, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 133.
  5. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ง, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 123-131.
  6. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 29 ง, 29 มีนาคม 2543, หน้า 25. และ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 117 ตอนที่ 50 ก, วันที่ 1 มิถุนายน 2543, หน้า 41-43.
  7. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนที่ 9 ง, วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2542, หน้า 179.
  8. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 46 ง, วันที่ 2 กรกฎาคม 2542, หน้า 133.
  9. สยามรัฐ, 27 กุมภาพันธ์ 2542.