การจัดตั้งพรรคการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต


การจัดตั้งพรรคการเมือง

1. ความสำคัญของพรรคการเมือง

          พรรคการเมือง คือ การรวมตัวกันของกลุ่มบุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในทิศทางเดียวกันเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่าง ๆ รวมกัน โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 45 กำหนดให้เสรีภาพแก่บุคคลในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทั้งนี้ กฎหมายในการจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำรโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

          พรรคการเมืองจึงมีบทบาทสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคประชาชนที่ต้องการให้แก้ไขปัญหา หรือ ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศ จึงทำให้เกิดการรวมตัวของบุคคลเป็นพรรคการเมืองเพื่อนำปัญหาหรือความต้องการของประชาชนอย่างเดียวกันไปดำเนินการแก้ไข ด้วยการเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจบริหารและอำนาจนิติบัญญัติของผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

 

2.ความเป็นมาของการจัดตั้งพรรคการเมืองตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

          จากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 57/2557 ลงวันที่ 7 มิถุนายน 2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไปอย่างต่อเนื่องมิได้สะดุดลงจนกว่าจะมีกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิก ดังนี้

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ให้งดเว้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การเลือกตั้งและ การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาไว้เป็นการชั่วคราว

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 ห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดำเนินการประชุม หรือดำเนินกิจการใด ๆ ในทางการเมือง และการดำเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็น การชั่วคราว รวมทั้งให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราวด้วย ในกรณีมีข้อสงสัยให้หารือคณะกรรมการการเลือกตั้ง

- พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552

          จากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้กิจกรรมทางการเมืองต้องหยุดชะงักลงไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
เพื่อกำหนดวิธีการจัดตั้งพรรคการเมืองและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้มีความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ในบทเฉพาะกาลได้กำหนดให้พรรคการเมืองที่จัดตั้งหรือเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2550 และยังดำรงอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับเป็นพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้[1] และต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด[2]

ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ พรรคการเมืองที่จัดตั้งแต่เดิมรวมถึงพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งขึ้นใหม่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองใหม่ไม่สามารถจัดตั้งหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามกฎหมายได้ทัน เนื่องจากประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป ลงวันที่ 7 มิถุนายน พุทธศักราช 2557 และ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ลงวันที่ 1 เมษายน พุทธศักราช 2558 ยังมีผลใช้บังคับ การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเช่นว่านี้จึงยังไม่อาจกระทำได้ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงได้ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เพื่อขยายกำหนดเวลาตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อให้ทุกพรรคการเมืองได้รับประโยชน์เสมอกัน อนึ่ง คำสั่งฉบับนี้ได้กำหนดให้สิ้นผลไปตามความในข้อ 8 เมื่อมีการประกาศพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ... ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติอันเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของพรรคการเมือง และร่วมกันจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง เพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

 

3.การจัดตั้งพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

          ' 3.1 'คุณสมบัติของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง (มาตรา 9 มาตรา 18 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560)

          กฎหมายกำหนดให้บุคคลที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน สามารถร่วมตัวกันเพื่อร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองได้ ทั้งนี้ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน อย่างไรก็ดี กฎหมายได้เปิดช่องให้ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองสามารถยื่นคำขอแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองต่อนายทะเบียนไว้ก่อนรวบรวมผู้จัดตั้งพรรคการเมืองให้ครบ 500 คนก็ได้[3] แต่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนรับแจ้ง

กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองต้องเป็นบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยการเกิด หรือ กรณีแปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่น รวมถึงไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองตามกฎหมาย หรือ ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ[4]

          นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละ ไม่น้อยกว่าหนึ่งพันบาทแต่ไม่เกินคนละห้าหมื่นบาท เพื่อเป็นทุนประเดิมในการก่อตั้งพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านบาท[5]

          สำหรับผู้ร่วมก่อตั้งที่มีตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมืองต้องเป็นสมาชิกที่มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปี และมีวาระการดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อบังคับของพรรคการเมืองแต่ต้องไม่เกินคราวละสี่ปี[6]

3.2 ขั้นตอนการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง

          3.2.1 ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง

          ผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองต้องประชุมร่วมกันโดยมีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน โดยต้องบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร การลงมติของผู้เข้าร่วมประชุมต้องทำโดยเปิดเผยและให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของผู้เข้าร่วมประชุม การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการดังต่อไปนี้'[7]'

                    (1) กำหนดชื่อ ชื่อย่อ และภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง คําประกาศอุดมการณ์ ทางการเมืองของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง และข้อบังคับ

(2) เลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิกและกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง

(3) ดำเนินการอื่นอันจําเป็นต่อการจัดตั้งพรรคการเมืองตามที่คณะกรรมการกำหนด

3.2.2 ขั้นตอนการยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง

ให้ผู้ซึ่งได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้ยื่น “คําขอ” ต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองพร้อมด้วย “เอกสารและหลักฐาน” ที่เกี่ยวข้อง โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองต้องออกใบรับคําขอให้แก่ผู้ยื่นคําขอ ไว้เป็นหลักฐาน[8] ทั้งนี้ คำขอต้องมีรายการ อย่างน้อยดังต่อไปนี้[9]

(1) ชื่อและชื่อย่อของพรรคการเมือง

(2) ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมือง

(3) ที่ตั้งสำนักงานใหญ่พรรคการเมือง

(4) ชื่อ ที่อยู่ เลขประจําตัวประชาชนและลายมือชื่อของหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการ พรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง

                    สำหรับเอกสารและหลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมคำขออย่างน้อยต้องประกอบด้วย[10]

                              (1) ชื่อ ที่อยู่ เลขประจําตัวประชาชน และลายมือชื่อของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคน

(2) หลักฐานการชําระเงินทุนประเดิมของผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคน

(3) ข้อบังคับ อย่างน้อยต้องมีรายการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เช่น ชื่อและชื่อย่อของพรรคการเมือง ภาพเครื่องหมาย คำประกาศอุดมการณ์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคการเมือง การบริหารจัดการสาขาพรรคการเมือง การประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง รายได้ของพรรคการเมือง การเลิกพรรคการเมือง เป็นต้น

ทั้งนี้ ข้อบังคับต้องไม่มีลักษณะที่ขัดต่อกฎหมาย ดังต่อไปนี้[11]

1) เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต้องไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

2) ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

3) อาจก่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างชนในชาติ

4) ครอบงําหรือเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญ

(4) บันทึกการประชุมตามมาตรา 10 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งผู้ได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง รับรองความถูกต้อง

(5) หนังสือรับแจ้งของนายทะเบียนในกรณีที่มีการแจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมือง ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

3.3 ขั้นตอนสำหรับนายทะเบียน

          เมื่อนายทะเบียนได้รับคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง หรือเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่น พร้อมกับคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองถูกต้องตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งรับจดทะเบียน จัดตั้งพรรคการเมืองและให้ประกาศการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา[12]

          แต่หากทะเบียนพรรคการเมืองเห็นว่าคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง หรือเอกสารหรือหลักฐานที่ยื่น พร้อมกับคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองในเรื่องใดไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ให้นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนทราบพร้อมด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขให้แล้วเสร็จ ภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วไม่มีการแก้ไขหรือยังแก้ไขไม่ถูกต้อง หรือไม่ครบถ้วน ให้นายทะเบียนรายงานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาและมีมติไม่รับจดทะเบียนจัดตั้ง พรรคการเมือง และให้นายทะเบียนแจ้งมติของคณะกรรมการให้ผู้ยื่นคําขอจัดตั้งพรรคการเมืองทราบ ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการมีมติ[13]

          ในกรณีที่ปรากฏภายหลังว่าข้อบังคับของพรรคการเมืองที่ได้ยื่นไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้นายทะเบียนพรรคการเมืองรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับนั้นและแจ้งมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ “คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง” ทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติ[14]

 

4. ความก้าวหน้าของกฎหมายพรรคการเมืองฉบับปัจจุบัน

          เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประเทศไทยจึงได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 โดยกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่มีความแตกต่างจากกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับเดิมใน 5 ประเด็น ได้แก่ ในส่วนของผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองที่กฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดให้ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 500 คน นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดให้ภายในหนึ่งปี ต้องมีสมาชิกพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 5,000 คน และภายในสี่ปีต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10,000 คน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่าจะพบว่ากฎหมายใหม่ได้กำหนดจำนวนสมาชิกในการก่อตั้งพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองในจำนวนที่มากขึ้น เพื่อให้การก่อตั้งพรรคการเมืองเป็นเรื่องที่ทำได้ยากขึ้น เป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่มีอุดมการณ์ร่วมกันในสัดส่วนที่มากขึ้น รวมตลอดถึงการกำหนดในเรื่อง “เงินทุน” ในการจัดตั้งพรรค และ การกำหนดให้สมาชิกในการร่วมก่อตั้งพรรคต้องมีหน้าที่ในการจ่ายเงินประเดิมทุนในการจัดตั้งพรรคการเมืองและจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง อันถือเป็นหน้าที่เพิ่มเติมจากเดิมที่ไม่เคยมีการกำหนดไว้นั่นเอง

 

ตาราง 1 เปรียบเทียบความแตกต่างของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และ พ.ศ. 2550

ประเด็นเนื้อหา

พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560

พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550

ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคการเมือง

- ไม่น้อยกว่า 500 คน (มาตรา 9)

- 15 คนขึ้นไป (มาตรา 8)

จำนวนสมาชิกพรรคการเมือง

- ภายใน 1 ปี ไม่น้อยกว่า 5,000 คน โดยภายใน 4 ปี ไม่น้อยกว่า 10,000 คน (มาตรา 33 (1)) 

- ภายใน 1 ปี ไม่น้อยกว่า 5,000 คน (มาตรา 26)

การจัดตั้งสาขาพรรคการเมือง

- ภายใน 1 ปี ต้องมีภาคละ 1 สาขา และ ต้องมีสมาชิกสาขา 500 คนขึ้นไป (มาตรา 33 (2))

- ภายใน 1 ปี ต้องมีภาคละ 1 สาขา (มาตรา 26)

ทุนประเดิมในการก่อตั้งพรรคการเมือง และ ผู้ร่วมก่อตั้งต้องจ่ายเงินทุนประเดิม

- ไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท (มาตรา 141 (3))

- คนละ 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 50,000 บาท  (มาตรา 9 วรรคสอง)

- ไม่ได้กำหนด

สมาชิกจ่ายค่าบำรุงพรรคการเมือง

- ไม่น้อยกว่า 100 บาทต่อปี (มาตรา 15 (15)) หรือ

- ตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาท (มาตรา 15 วรรคสี่)

- ไม่ได้กำหนด

 

5. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 105 ง/12 มิถุนายน 2557. ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124/ตอนที่ 64 ก/7 ตุลาคม 2550. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. '2550'

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 140 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[2] มาตรา 141 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[3] มาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[4] มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[5] มาตรา 9 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[6] มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[7] มาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[8] มาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[9] มาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[10] มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[11] มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[12] มาตรา 17 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[13] มาตรา 17 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[14] มาตรา 17 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560