ประชานิยมทางเลือก : จากสากลสู่ประเทศไทย
ผู้เรียบเรียง : ดร.ถวิลวดี บุรีกุล[1] และรัชวดี แสงมหะหมัด[2]
บทคัดย่อ
ประชานิยมเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคม ตลอดจนรูปแบบของประชานิยมมีความแตกต่างกัน มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนและไม่จำเป็นที่จะต้องแยกออกเป็นสองขั้วของประชานิยมเสมอไป ด้วยเหตุแห่งปัจจัยผลักดันทั้งจากภายนอกและภายในสังคมนั้นเอง ที่ทำให้แนวคิดประชานิยมถูกนำมาใช้ในสภาวการณ์ที่แตกต่างกัน การศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอให้เห็นถึง พลวัตของประชานิยมในบริบทสากล รวมถึงศึกษาบริบทของประเทศไทย โดยนำแนวคิดประชานิยมมาอธิบายความสนใจในรูปแบบประชานิยมต่าง ๆ ของคนไทยว่ามีความสนใจประชานิยมแบบใด และสำรวจทัศนคติของประชาชนไทยต่อแนวทางประชานิยมของพรรคการเมืองต่าง ๆ จากการเลือกตั้ง ใน พ.ศ. 2562 และ 2566 ทั้งนี้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาของประเทศไทยมาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย หลังการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 และวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ผลการศึกษา พบว่า ประเทศต่าง ๆ มีรูปแบบประชานิยมที่หลากหลายขึ้นกับบริบทของประเทศนั้น และ มีทิศทางของประชานิยมที่พัฒนาขึ้นมาตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเฉพาะในเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่ประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงจุดยืนของแนวคิดทางการเมืองอันเกี่ยวข้องกับประชานิยม และพบว่าลักษณะประชานิยม มีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาตามสภาวการณ์ ไม่ใช่การเปลี่ยนกระแสเรื่องขวาไปซ้าย แต่ต้องการเปลี่ยนจากทิศทางปัจจุบันไปตรงกันข้ามมากกว่า
Abstract
Populism is a concept used to describe political and social phenomena, with various forms that are dynamic and not easily categorized. It does not necessarily need to be divided into two opposing poles. External and internal societal factors drive the application of populist ideas in different contexts. This study aims to illustrate the dynamics of populism in a global context, as well as examine the context of Thailand. It explores the various forms of populism that Thai people are interested in and surveys public attitudes toward the populist approaches of different political parties based on the general elections of 2019 and 2023. The data used in this study of Thailand comes from surveys of eligible voters after the elections on March 24, 2019, and May 14, 2023. The study finds that different countries exhibit diverse forms of populism depending on their contexts, and populism evolves in response to societal changes, especially in Asia. In Thailand, the public's political stances related to populism have shifted, revealing that populist tendencies fluctuate based on the situation. This is not a shift from right to left but rather a movement away from the current direction toward an opposite one.
บทนำ
การเมืองโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลง ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศมีการปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมประชาธิปไตย และบางประเทศกลับประสบกับภาวะที่ถดถอยของประชาธิปไตย ตลอดจนค่านิยมของประชาชนที่เคยชื่นชอบรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยเริ่มเปลี่ยนแปลงไป (Norris and Inglehart, 2019, p. 4) คำว่าประชานิยมเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น เพราะประชานิยมได้กลายเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญในหลายประเทศทั่วโลก เพราะผู้นำและพรรคการเมืองที่เน้นเรื่องของประชานิยมมักมีอิทธิพลและอำนาจมากขึ้นในการปกครองประเทศ ทั้งนี้ ประชานิยมในนัยแรกคือสะท้อนว่า ใครควรจะเป็น ผู้ปกครอง และมีอำนาจที่ชอบธรรมที่มาจากประชาชนซึ่งไม่ใช่ชนชั้นนำ อีกประการหนึ่ง เป็นแนวคิดที่อาจกล่าวกันได้ว่า เป็นหลักการว่า ผู้ปกครองควรทำอะไร นโยบายใดที่ควรจะดำเนินการ และควรมีการตัดสินใจอย่างไร แต่แนวคิดก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามค่านิยมหลักการและสภาวการณ์ เช่น ประชานิยมที่เน้นสังคมนิยม (socialist) ประชานิยมแบบอนุรักษ์ (conservative) ประชานิยมแบบก้าวหน้า (progressive populism) ประชานิยมแบบอำนาจนิยม (authoritarian populism) เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงว่าสังคมนั้นควรจะปกครองอย่างไร เพราะประชานิยม เป็นเรื่องที่ท้าทายอำนาจที่ชอบธรรมของสถาบันการเมืองที่มีอยู่เดิม รวมทั้งเรื่องของอำนาจ ว่าควรจะอยู่ที่ใด รวมถึงบทบาทของผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไร เป้าหมายที่สำคัญ จึงรวมไปถึงสื่อ การเลือกตั้ง นักการเมือง พรรคการเมือง เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักประท้วง กลุ่มผลประโยชน์ องค์กรนานาชาติต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้นำที่เน้นประชานิยม มักอ้างว่ามีอำนาจทางการเมืองที่ชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย เพราะเขามาจากประชาชน เสียงของประชาชนเป็นรูปแบบที่แท้จริงของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จากปรากฏการณ์ทางการเมืองในหลายประเทศจะเห็นว่ามีการใช้รูปแบบประชานิยมที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อดึงความสนใจของประชาชนและให้การสนับสนุนแนวคิดของผู้ปกครอง
ด้วยประชานิยมมีรูปแบบที่หลากหลาย แตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ ความเข้าใจในเรื่องของประชานิยมจึงต่างกัน แต่ทำให้เข้าใจได้ว่า การพัฒนาทางการเมืองมีทิศทางอย่างไร และมีผลต่อความพยายามที่จะสร้างประชาธิปไตยอย่างยั่งยืนหรือไม่ นอกจากนี้การศึกษา เรื่องของประชานิยมจะทำให้เกิดความเข้าใจได้ว่า สาเหตุและปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนประชานิยมเกิดจากอะไร จากการศึกษาของนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องประชานิยม (Mudde and Kaltwasser, 2017; Hawkins and Kaltwasser, 2017; Taggart 2004) พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองทั่วโลก นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของการใช้ประชานิยม เพื่อประโยชน์ทางการเมือง ตลอดจนทำให้ได้เข้าใจถึงทัศนคติของประชาชนต่อนโยบายของพรรคการเมืองหรือนักการเมืองที่เน้นประชานิยม ประกอบกับความเข้าใจในเรื่องของประชานิยมจะทำให้สามารถประเมินผลกระทบของนโยบายประชานิยมของผู้ปกครองประเทศต่อสังคมประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี เพราะผู้นำทางการเมืองที่เน้นประชานิยม มักจะท้าทายหลักการของประชาธิปไตย ดังนั้น ความเข้าใจในเรื่องของประชานิยมจะทำให้สามารถประเมินความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการปกครองที่ใช้นโยบายประชานิยมได้ ประกอบกับความเข้าใจ ถึงบริบทของสังคมภายใต้การนำนโยบายประชานิยมไปปฏิบัติ และการเข้าใจถึงทัศนคติและพฤติกรรมของประชาชนที่มีต่อนโยบายประชานิยมจะทำให้สามารถออกแบบกลยุทธ์ในการป้องกันผลกระทบที่ไม่พึงปรารถนาที่เกิดขึ้นจากการใช้นโยบายประชานิยมนั้น
บทความนี้จึงเป็นการนำเสนอรูปแบบของประชานิยมที่หลากหลายในบริบทสากลซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงของ เศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ตลอดจนค่านิยม รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้ประชานิยมที่ถูกนำไปใช้มีความแตกต่าง และเปลี่ยนแปลงไปในทางทิศทางที่ไม่เหมือนเดิม การศึกษาในครั้งนี้จึงเป็นการนำเสนอให้เห็นถึง พลวัตของประชานิยมในบริบทสากล รวมถึงศึกษาบริบทของประเทศไทย โดยนำแนวคิดประชานิยมมาอธิบายความสนใจในรูปแบบประชานิยมต่าง ๆ ของคนไทยว่ามีความสนใจประชานิยมแบบใด และสำรวจทัศนคติของประชาชนไทยต่อแนวทางประชานิยมของพรรคการเมืองต่าง ๆ จากการเลือกตั้ง ใน พ.ศ. 2562 และ 2566 ทั้งนี้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษามาจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยศึกษาจากการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทยใน วันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562 จำนวน 1,532 ตัวอย่าง โดยสุ่มหลังจากการเลือกตั้งใน ช่วงวันที่ 11 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน พ.ศ. 2562 และหลังการเลือกตั้งใน วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 จำนวน 1,500 ตัวอย่าง โดยทำการรวบรวมข้อมูล ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน ถึง 15 กันยายน พ.ศ. 2566 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างมาจากการสุ่มตามความน่าจะเป็นตามหลักสถิติจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งของประเทศไทย นั่นคือผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป
แนวคิดของประชานิยม และผลกระทบต่อกระบวนการประชาธิปไตย
แนวคิดของประชานิยม
ประชานิยม (Populism) เป็นแนวทางทางการเมืองที่พยายามเสนอว่ารูปแบบการดำเนินการตามแนวประชานิยมนี้เป็นตัวแทนผลประโยชน์และเสียงของคนธรรมดา และมักจะวางตัวเป็นฝ่ายตรงข้ามกับกลุ่มชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจที่ถูกมองว่าเป็นศัตรู แนวคิดหลักของลัทธิประชานิยมคือ "ประชาชน" ต่อต้าน "ชนชั้นนำ" และมักเกี่ยวข้องกับผู้นำที่มีเสน่ห์ซึ่งอ้างว่าพูดแทนประชาชนโดยตรง ประชานิยมสามารถปรากฏในหลากหลายแนวทางทางการเมือง ตั้งแต่ฝ่ายซ้ายไปจนถึงฝ่ายขวา มักจะเน้นหัวข้อต่าง ๆ เช่น ชาตินิยม การต่อต้านโลกาภิวัตน์ การต่อต้านการอพยพ และการปกป้องเศรษฐกิจ ความน่าดึงดูดของประชานิยมมักอยู่ที่คำมั่นสัญญาว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชนและตอบสนองความกังวลของพวกเขาที่ถูกมองว่าไม่ได้รับการใส่ใจจากชนชั้นนำ (Mudde, 2017, pp. 1-20)
แนวทางของประชานิยมมีหลากหลายตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าประชานิยมที่กล่าวถึงกันมักเป็นประชานิยมแบบดั้งเดิม หรือที่เรียกว่าประชานิยมแบบเก่า (Old Populism หรือ Traditional Populism)
ประชานิยมแบบเก่า (Old populism) หมายถึง รูปแบบของประชานิยมที่เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 ประชานิยมประเภทนี้มีลักษณะโดดเด่นด้วยรากฐานทางการเกษตรและการมุ่งเน้นไปที่ความไม่พอใจของเกษตรกรและประชากรในชนบทต่อนักอุตสาหกรรม นายธนาคาร และชนชั้นทางการเมือง หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของลัทธิประชานิยมแบบเก่า คือ พรรคประชาชน (People's Party) หรือที่รู้จักกันในนามพรรค Populist Party ในสหรัฐอเมริกาซึ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1890 พรรคประชาชนสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ เช่น การใช้เงินเหรียญอย่างเสรี ภาษีเงินได้แบบก้าวหน้า การควบคุมทางรถไฟโดยรัฐบาล และการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกโดยตรง นโยบายเหล่านี้มุ่งเน้นที่การแก้ไขปัญหาความยากลำบากทางเศรษฐกิจและการถูกปลดออกจากสิทธิทางการเมืองที่ชาวชนบทอเมริกันต้องเผชิญ (Goodwyn, 1978, pp. 3-25) ส่วนประชานิยมแบบดั้งเดิม (Traditional populism) หมายถึง รูปแบบประชานิยมที่เน้นความแตกต่างระหว่าง "ประชาชน" และ "ชนชั้นนำ" ประชานิยมประเภทนี้มักมีลักษณะเด่นคือมีผู้นำที่มีเสน่ห์ หรือ บารมีซึ่งอ้างว่าตนเองเป็นตัวแทนของคนธรรมดาเพื่อต่อต้านชนชั้นนำที่ทุจริตและห่างไกลประชาชน ประชานิยมแบบดั้งเดิมมักจะรวมถึงประเด็นต่าง ๆ เช่น ชาตินิยม และการปกป้องทางเศรษฐกิจ (Mudde and Kaltwasser, 2017, pp. 1-30) ประชานิยมแบบดั้งเดิมสามารถพบเห็นได้ในหลายส่วนของโลกและในบริบททางการเมืองที่หลากหลาย พบได้ทั้งในขบวนการทางการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ขึ้นอยู่กับบริบททางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเฉพาะ
อนึ่ง การพิจารณารูปแบบของประชานิยมอาจจำแนกตามความนิยมทางการเมืองที่แตกต่างกันดังในประเทศตะวันตกที่ประชาชนมีค่านิยมทางการเมืองแยกขั้ว จนทำให้นักวิชาการจัดกลุ่มความสนใจทางการเมืองและการจูงใจของนักการเมืองไปในแนวทางต่างขั้วที่เรียกว่า ประชานิยมฝ่ายขวา (Right-Wing populism) และประชานิยมฝ่ายซ้าย (Left -Wing Populism) และกลุ่มที่ไม่เน้นด้านใด จึงอยู่ตรงกลางเรียกว่า ประชานิยมสายกลาง (Moderate Populism)
ประชานิยมฝ่ายขวา (Right-Wing Populism) (Mudde, 2007, pp. 22-26) เป็นแนวคิดทางการเมืองที่ผสมผสานความเป็นชาตินิยม การต่อต้านชนชั้นนำ และนโยบายอนุรักษ์นิยมทางสังคมและเศรษฐกิจ ประชานิยมฝ่ายขวามักมุ่งเน้นการปกป้องอัตลักษณ์และวัฒนธรรมของชาติ ต่อต้านการอพยพ และวิจารณ์โลกาภิวัตน์ โดยมักมองว่าชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไป ประชานิยมฝ่ายขวามีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ชาตินิยมและการปกป้องวัฒนธรรม เน้นความสำคัญของการปกป้องวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาติ มักจะต่อต้านการอพยพและการผสมผสานวัฒนธรรม
2. การต่อต้านชนชั้นปกครอง วิพากษ์วิจารณ์ชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจว่าไม่สนใจความต้องการของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปได้มีอำนาจ
3. นโยบายเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี โดยเน้นลดการแทรกแซงของรัฐ ลดภาษี และสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเอกชน
4. ความปลอดภัยและระเบียบ ให้ความสำคัญกับการรักษาความปลอดภัยและระเบียบในสังคม โดยมักจะสนับสนุนนโยบายที่เข้มงวดเกี่ยวกับอาชญากรรมและการบังคับใช้กฎหมาย
5. การปกป้องอำนาจอธิปไตยของชาติ ต่อต้านการรวมกลุ่มทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เช่นสหภาพยุโรป เน้นความสำคัญของการควบคุมชายแดนและนโยบายต่างประเทศที่เป็นอิสระ
6. การต่อต้านโลกาภิวัตน์ วิจารณ์โลกาภิวัตน์ว่าเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาติถูกทำลายมักจะสนับสนุนนโยบายการค้าและการลงทุนที่เน้นประโยชน์ของชาติก่อน
7. การเน้นความสำคัญของครอบครัวและค่านิยมแบบดั้งเดิม สนับสนุนค่านิยมทางศีลธรรมและครอบครัวแบบดั้งเดิม มักจะคัดค้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ถูกมองว่าเป็นภัยต่อโครงสร้างสังคมเดิม
ประชานิยมฝ่ายซ้าย (Left -Wing Populism) หมายถึง อุดมการณ์ทางการเมืองที่ผสมผสานการเมืองฝ่ายซ้ายกับวาทศิลป์และแนวคิดของประชานิยม ซึ่งเน้นเรื่องความยุติธรรมทางสังคม ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการเสริมสร้างอำนาจให้กับประชาชนทั่วไปเพื่อต่อต้านโครงสร้างอำนาจของชนชั้นนำที่ถูกมองว่าเป็นปฏิปักษ์ นักประชานิยมฝ่ายซ้ายมักสนับสนุนโครงการสวัสดิการสังคมที่กว้างขวาง การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า และการลดความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ประชานิยมฝ่ายซ้ายมุ่งหวังที่จะระดมพล 'ประชาชนทั่วไป' ต่อต้านชนชั้นนำทางเศรษฐกิจและการเมือง เน้นประเด็นความยุติธรรมทางสังคมและความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนนโยบาย เช่น การกระจายความมั่งคั่ง การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า และการขยายโครงการสวัสดิการสังคม มักส่งเสริมค่านิยมที่ครอบคลุมและหลากหลายทางวัฒนธรรม (Mudde and Kaltwasser, 2017, pp. 32-35) โดยลักษณะสำคัญสามารถสรุปจากการศึกษาของนักวิชาการต่าง ๆ (Mudde, and Kaltwasser, 2013, pp. 147-174; Laclau, 2005; Mouffe, 2018; Levitsky and Roberts, 2011) คือ
1. เน้นความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ผ่านการกระจายความมั่งคั่ง การเก็บภาษีสูงจากคนร่ำรวยและการเพิ่มโปรแกรมสวัสดิการสังคม และมีการแทรกแซงของรัฐในเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการแทรกแซงของรัฐในเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อควบคุมตลาด ปกป้องคนงานและให้บริการสาธารณะ
2. ต่อต้านชนชั้นปกครอง มีการคัดค้านชนชั้นนำทางการเมืองและเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบัน และสนับสนุนให้ประชาชนทั่วไปได้มีอำนาจ
3. สนับสนุนความยุติธรรมทางสังคม
4. การทำให้กิจการหลักเป็นของชาติและความเป็นเจ้าของสมบัติสาธารณะ เพื่อให้ทรัพยากรและบริการเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว
สำหรับประชานิยมอีกรูปแบบหนึ่งที่มีลักษณะไม่ไปทางซ้ายหรือขวา หรือปรับจากการจำแนกแบบคู่ตรงข้าม (dichotomy) แบ่งขั้ว คือ ประชานิยมสายกลาง (Moderate Populism) ที่อุดมการณ์ของประชานิยม จึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละประเทศ ที่มีต่อกระแสโลกาภิวัตน์และเส้นแบ่งทางสังคมตลอดจนการเมืองภายในประเทศด้วย (นิธิ เนื่องจำนงค์, 2566, น. 16) ซึ่งหมายถึง การมีกลยุทธ์ทางการเมืองที่ผสมผสานวาทศิลป์และนโยบายประชานิยมเข้ากับแนวทางการปฏิบัติที่เป็นกลางและมีความเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น กลยุทธ์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อดึงดูดผู้มีสิทธิเลือกตั้งในวงกว้างโดยตอบสนองต่อความกังวลที่เป็นที่นิยมและสนับสนุนผลประโยชน์ของประชาชนทั่วไป ในขณะเดียวกันก็รักษาความมุ่งมั่นต่อหลักการประชาธิปไตยและบรรทัดฐานทางสถาบัน (Mudde, 2007, p. 23) โดยตัวอย่างของประชานิยมสายกลางสามารถเห็นได้ในแนวปฏิบัติทางการเมืองของผู้นำบางคนที่สร้างสมดุลระหว่างประชานิยมกับการบริหารที่มีความรับผิดชอบ ผู้นำเหล่านี้อาจสนับสนุนโครงการสวัสดิการสังคมและการปฏิรูปเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับประชาชนทั่วไป แต่หลีกเลี่ยงมาตรการที่รุนแรงซึ่งอาจทำให้ระบบการเมืองและเศรษฐกิจไม่มั่นคง ประชานิยมสายกลาง จัดเป็นแนวคิดทางการเมืองที่เน้นการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างมีความสมดุล โดยไม่เน้นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงหรือต้องทำลายระบบเดิม แนวคิดนี้พยายามสร้างความสมดุลระหว่างการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและการรักษาความเสถียรภาพของระบบการเมืองและเศรษฐกิจ (Mudde, 2007, p. 23) ประชานิยมสายกลางอาจรวมถึงนโยบายที่เน้นการกระจายความมั่งคั่งและโอกาสทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรมมากขึ้น เช่น การสนับสนุนการศึกษาฟรี การให้การดูแลสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่าย หรือการส่งเสริมโครงการสาธารณะต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยไม่มีการเน้นการปลุกปั่นความเกลียดชังหรือการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม
คุณลักษณะของประชานิยมสายกลาง ประกอบด้วย
1. สมดุลระหว่างการตอบสนองและความเสถียรภาพ เน้นการตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน แต่ยังคงรักษาความเสถียรภาพของระบบการเมืองและเศรษฐกิจ
2. นโยบายที่เป็นธรรม สนับสนุนการกระจายความมั่งคั่งและโอกาสทางเศรษฐกิจให้เป็นธรรม เช่น การศึกษาฟรี การดูแลสุขภาพที่เข้าถึงได้ง่าย การส่งเสริมโครงการสาธารณะต่าง ๆ
3. การมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจทางการเมืองและการพัฒนานโยบาย
4. การหลีกเลี่ยงการแบ่งแยก ไม่เน้นการปลุกปั่นความเกลียดชังหรือการแบ่งแยกชนชั้นในสังคม แต่พยายามสร้างความสามัคคีและการรวมกลุ่ม
5. ความโปร่งใสและการรับผิดชอบส่งเสริมความโปร่งใสในกระบวนการทางการเมืองและการรับผิดชอบของผู้มีอำนาจ
6. การปฏิรูปที่ค่อยเป็นค่อยไป เน้นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อยเป็นค่อยไปและสมเหตุสมผล ไม่ทำลายระบบเดิมอย่างรุนแรง
7. การปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ความสำคัญกับการปกป้องสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

ภาพ 1 : คุณลักษณะของประชานิยมในแนวคิดของตะวันตก
อย่างไรก็ตาม สภาวการณ์ของโลกได้เปลี่ยนแปลงไป มีภูมิรัฐศาสตร์ ในรูปแบบที่ท้าทายการเมืองการปกครองมากขึ้น ประชานิยมในรูปแบบใหม่ ๆ จึงถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดกระแสของความนิยมในทางการเมือง และสร้างฐานอำนาจของคนที่เห็นร่วม ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จ ในหลาย ๆ ประเทศ เพราะประชานิยม ไม่จำเป็นต้องเน้นที่รูปแบบเดิม ๆ อีกต่อไป จึงเรียกได้ว่าเกิดประชานิยมทางเลือก (Alternative Populism) ขึ้น
ประชานิยมทางเลือก (Alternative Populism) หมายถึง ประชานิยมที่แตกต่างจากแนวทางและกลยุทธ์ของประชานิยมแบบดั้งเดิม โดยมักจะรวมเอาองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์หรือไม่เป็นไปตามแบบแผนเดิม ขณะที่ประชานิยมแบบดั้งเดิมมักจะเน้นการเรียกร้องโดยตรงถึง "ประชาชน" ต่อต้าน "ชนชั้นนำ" ประชานิยมทางเลือกอาจมุ่งเน้นไปที่แง่มุมต่าง ๆ หรือใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการมีส่วนร่วมกับสาธารณชนและแก้ไขปัญหาสังคม ตัวอย่างหนึ่งของประชานิยมทางเลือกสามารถพบได้ในวิธีที่รวมเอาเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสังคมออนไลน์เพื่อระดมผู้สนับสนุนและเผยแพร่ข้อความ วิธีการที่ทันสมัยนี้ทำให้ขบวนการประชานิยมสามารถหลีกเลี่ยงช่องทางสื่อแบบดั้งเดิม โดยเชื่อมต่อโดยตรงกับผู้ชมที่กว้างขวางยิ่งขึ้น อีกแง่มุมหนึ่งของประชานิยมทางเลือกอาจรวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายที่ก้าวหน้าหรือไม่ธรรมดาซึ่งแยกออกจากประชานิยมกระแสหลัก (Moffitt, B. 2016, pp. 45-65) ที่มักเป็นรูปแบบของการจำแนกประชานิยมแบบคู่ตรงข้าม เช่น ซ้าย หรือขวานั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีการจำแนกรูปแบบของประชานิยมออกเป็น ประชานิยมอนุรักษ์นิยม (Conservative Populism) และประชานิยมก้าวหน้า (Progressive Populism) โดย ประชานิยมอนุรักษ์นิยม (Conservative Populism) เน้นคุณค่าแบบดั้งเดิม อธิปไตยของชาติ และความไม่เห็นด้วยกับการอพยพและนโยบายทางสังคมแบบเสรีนิยม และมักจะสร้างสิ่งจูงใจให้ประชาชนได้รู้สึกถึงตัวตนทางวัฒนธรรมและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของพวกเขาถูกคุกคามโดยการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างรวดเร็ว และมาจากอิทธิพลของชนชั้นสูงและอำนาจต่างชาติ ผู้นำลัทธิประชานิยมแบบอนุรักษ์นิยมมักจะแสดงตนเป็นผู้ปกป้องชาติ ประเพณี และมีสามัญสำนึกที่จะต่อต้านชนชั้นสูงที่ถูกมองว่าทุจริตหรือไม่เข้าถึงประชาชน (Inglehart and Norris, 2019, pp. 71-102) ทั้งนี้ประชานิยม แบบนี้ อาจคล้ายกับ ประชานิยมแบบดั้งเดิม (Traditional populism) และประชานิยมฝ่ายขวา (Right-Wing Populism)
ส่วนประชานิยมก้าวหน้า (Progressive Populism) มีความคล้ายคลึงหลายประการกับประชานิยมฝ่ายซ้าย โดยมุ่งเน้นที่การปฏิรูปเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางสังคม และสิทธิของกลุ่มที่ถูกกีดกัน อย่างไรก็ตาม ประชานิยมก้าวหน้ามักจะเน้นที่นโยบายทางสังคมแบบองค์รวม และการปกครองที่มีส่วนร่วมมากขึ้น และพยายามแก้ไขความไม่เท่าเทียมกันของระบบรัฐผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า การปฏิรูปการศึกษา การปกป้องสิ่งแวดล้อม และสิทธิของแรงงาน นักประชานิยมก้าวหน้าจะสนับสนุนประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมมากขึ้นและมุ่งสร้างสังคมที่ยุติธรรมและเป็นธรรมยิ่งขึ้นสำหรับทุกคน (Judis, 2016, pp. 90-110) โดยที่ประชานิยมก้าวหน้าเน้นความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ ความยุติธรรมทางสังคม และการเสริมพลังให้กับกลุ่มที่ถูกกีดกัน จึงมักวิพากษ์วิจารณ์อำนาจของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ บริษัทข้ามชาติ ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ และอิทธิพลของเงินในทางการเมือง ทั้งนี้ นักประชานิยมก้าวหน้าจะสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ เช่น การดูแลสุขภาพที่เป็นสากล ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้น และการควบคุมที่เข้มงวดขึ้นต่อบริษัทเอกชนและผู้มีอันจะกิน ทั้งยังอาจกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนว่าเพื่อเป็นการต่อสู้ระหว่างคนธรรมดาและชนชั้นสูงที่มีอำนาจและร่ำรวย (Frank, 2020)

ภาพ 2 : ประชานิยมทางเลือก
ผลกระทบของประชานิยมต่อกระบวนการประชาธิปไตย
ประชานิยมมีผลกระทบที่สำคัญต่อประชาธิปไตย โดยเฉพาะเมื่อเป็นประชานิยมฝ่ายซ้ายที่มักจะเน้นไปที่ประเด็นของความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม และขับเคลื่อนนโยบายที่มุ่งเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ สิ่งเหล่านี้สามารถเห็นได้จากแรงผลักดันทางบวกต่อประชาธิปไตย และทำให้เกิดการรับฟังกลุ่มเสียงของคนกลุ่มน้อย และนับว่าเป็นสิ่งท้าทายต่ออำนาจรัฐ ที่อาจนำไปสู่ผลทางลบก็ได้ ประเด็นที่น่าห่วงกังวล ต่อประชานิยมฝ่ายซ้ายก็คือ ทิศทางและปัญหาที่ซับซ้อน แต่มักมีการแก้ปัญหาแบบง่าย รวดเร็ว ซึ่งอาจนำไปสู่บรรยากาศทางการเมืองที่แบ่งขั้ว และก่อให้เกิดการแตกแยก นอกจากนี้ประชานิยมฝ่ายซ้าย สามารถที่จะโน้มน้าวความสนใจของคนกลุ่มใหญ่ต่อคนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของคนกลุ่มน้อย และทำให้เกิดการละเลยหลักการของประชาธิปไตยเสรี นอกจากนี้ประชานิยมฝ่ายซ้าย มักจะเกี่ยวข้องกับความไม่ไว้วางใจสถาบันการเมืองและปฏิเสธพรรคการเมืองแบบดั้งเดิม หรือพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม สิ่งนี้ทำให้เป็นการท้าทายต่อโครงสร้างอำนาจ และอาจนำไปสู่การเกิดกระบวนการประชาธิปไตยที่อ่อนแอ และทำให้เป็นความยากในการที่จะปกครองประเทศอย่างมีประสิทธิผล ในบางประเทศนำมาสู่การเกิดแรงกดดัน และทำให้เกิดรัฐประหารในที่สุด เพราะฝ่ายที่กระทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างฉับพลัน มักเป็นกองทัพและอ้างเรื่องของความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศ ดังนั้น ขณะที่ประชานิยมฝ่ายซ้ายสามารถนำมาสู่ความสนใจของสาธารณชนในประเด็นเศรษฐกิจและสังคม แต่ยังก่อให้เกิดสิ่งที่ท้าทายต่อประชาธิปไตยด้วย และมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนทางประชาธิปไตย ตลอดจนการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่ท้าทายกับการเคารพหลักการของประชาธิปไตย (Muddd, 2004, pp. 541-563) นอกจากนี้มีการศึกษาของ Larry Diamond นักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่ได้วิเคราะห์เรื่องค่านิยมที่มีผลต่อประชาธิปไตยโดยปัจจัยที่ทำให้เกิดประชานิยมก็คือความไม่พอใจในชนชั้นนำทางการเมือง ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม (Diamond, 2015(A) pp.80-85) ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อประชาธิปไตยอันเนื่องมาจากการมีนโยบายประชานิยมก็คือการลดคุณภาพของประชาธิปไตยลง อาจไปคุกคามกับกระบวนการประชาธิปไตยอีกด้วย (Diamond 2015(B), pp. 141-155) ด้วยเหตุที่ผู้นำประชานิยมมักท้าทายกฎเกณฑ์และระบบการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังเกิดการแบ่งแยกทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น โดยเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสนับสนุนและกลุ่มต่อต้าน รวมถึงเกิดความเสี่ยงต่อการเสื่อมถอยของประชาธิปไตย โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้นำประชานิยมมีแนวโน้มเป็นเผด็จการและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีสิทธิ เสรีภาพ (Diamond, 2008, pp. 145-150) ทั้งนี้ Diamond ได้เสนอแนวทางการรับมือกับประชานิยมในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยก็คือควรเสริมสร้างสถาบันประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีระบบตรวจสอบถ่วงดุลและกฎหมายที่สำคัญ นอกจากนี้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญจึงควรมีการส่งเสริมให้มีมากขึ้น และสร้างความเข้าใจในระบบการเมืองที่จะช่วยลดความเสี่ยงจากประชานิยมได้ ตลอดจนต้องมีการแก้ไขปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ (Diamond, 2019, pp. 220-225)
ประชานิยมในยุโรป
ประชานิยมเป็นแนวทางทางการเมืองที่มุ่งหมายแทนผลประโยชน์และเสียงของประชาชนทั่วไป มักอยู่ในฝ่ายตรงข้ามกับชนชั้นนำที่มีอิทธิพล สามารถแสดงออกในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ฝ่ายซ้ายถึงฝ่ายขวา (Norris and Inglehart, 2019) สองนักวิชาการชื่อดังได้ศึกษาและเขียนเกี่ยวกับประชานิยมอย่างละเอียด โดยพวกเขาได้สำรวจสาเหตุ รูปแบบ และผลกระทบของประชานิยมต่อการเมืองโลก โดยศึกษาในบริบทของประเทศในยุโรปหลายประเทศ และเน้นถึงประเด็นสำคัญที่อธิบายความเป็นประชานิยม คือ
(1) ความรู้สึกต่อต้านชนชั้นนำ ขบวนการประชานิยมมักจะตั้งตัวในฝ่ายตรงข้ามกับชนชั้นนำทางการเมือง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ความรู้สึกนี้เกิดจากความเชื่อว่าชนชั้นนำนั้นคอร์รัปชันและไม่เข้าใจความต้องการและความกังวลของประชาชนทั่วไป
(2) การนำที่มีเสน่ห์ ผู้นำประชานิยมมักมีบุคลิกที่แข็งแกร่งและมีเสน่ห์ พวกเขามักจะตั้งตัวเป็นเสียงของประชาชนและสัญญาว่าจะนำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่โดยการท้าทายสถานะที่เป็นอยู่
(3) การแก้ปัญหาที่เรียบง่าย โดยที่คำพูดที่เป็นประชานิยมมักจะเป็นการเสนอวิธีแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมาให้กับปัญหาที่ซับซ้อน เน้นถึงความรู้สึกของความเป็นสามัญและการปฏิบัติจริง ซึ่งมักจะรวมถึงการให้คำสัญญาในการแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ การย้ายถิ่น และความไม่เท่าเทียมทางสังคม
(4) อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ขบวนการประชานิยมหลายกลุ่มเน้นถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาตินิยม ซึ่งมักจะใช้คำเกี่ยวกับการปกป้องมรดกทางวัฒนธรรม ประเพณี และค่านิยมของชาติจากภัยคุกคามภายนอก และ
(5) มีการเรียกร้องตรงไปยังประชาชนให้คล้อยตาม ประชานิยมมักจะก้าวข้ามสถาบันทางการเมืองและคนกลาง แต่จะเลือกใช้วิธีการสื่อสารตรงเพื่อเชื่อมต่อกับผู้สนับสนุน เช่น การใช้สื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้พวกเขาพบว่าการตอบโต้กับการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่ก้าวหน้าได้ทำให้ขบวนการประชานิยมเติบโตในประชาธิปไตยตะวันตก การตอบโต้นี้มีรากฐานมาจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากร ความกังวลทางเศรษฐกิจ และการรับรู้ถึงการสูญเสียสถานะของกลุ่มสังคมดั้งเดิม และมีการวิเคราะห์การขึ้นมาของพรรคประชานิยมฝ่ายขวาในยุโรป โดยแสดงสภาวะทางสังคมและการเมืองที่ทำให้พรรคการเมืองนั้นประสบความสำเร็จ รวมถึงปัญหาการย้ายถิ่นฐาน ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ และความไม่พอใจในพรรคการเมืองหลัก (Norris and Inglehart, 2019) ทั้งนี้ พวกเขาได้ศึกษาปัจจัยหลัก ๆ ที่ขับเคลื่อนประชานิยมและผลกระทบ อันประกอบด้วย
(1) การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและประชากร (Cultural and Demographic Shifts) การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและประชากรในสังคมตะวันตกเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการเกิดขึ้นของประชานิยม ผู้คนที่รู้สึกว่าตนเองกำลังสูญเสียสถานะและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมจะหันมาสนับสนุนผู้นำประชานิยมที่สัญญาว่าจะปกป้องค่านิยมดั้งเดิมของพวกเขา
(2) ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ (Economic Insecurity) เช่น การว่างงานและความไม่เท่าเทียมทางรายได้ ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจในระบบเศรษฐกิจปัจจุบันและหันมาสนับสนุนขบวนการประชานิยมที่เสนอทางออกที่ดูเรียบง่ายและชัดเจน (Norris, 2005)
(3) การไม่พอใจในชนชั้นนำทางการเมือง (Dissatisfaction with Political Elites) การรับรู้ว่าชนชั้นนำทางการเมืองคอร์รัปชันและไม่ใส่ใจต่อความต้องการของประชาชนทั่วไป ทำให้ผู้คนหันมาสนับสนุนผู้นำประชานิยมที่ดูเหมือนจะเป็นเสียงของประชาชนและต่อต้านชนชั้นนำเหล่านั้น (Norris and Inglehart, 2019)
ในการศึกษาเรื่องประชานิยมในยุโรป พวกเขายังได้ศึกษาว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการเมืองที่สำคัญ คือ
(1) เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น (Increased Political Polarization) โดยที่ประชานิยมมักจะนำไปสู่การแบ่งแยกทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น เนื่องจากผู้นำประชานิยมมักจะใช้วาทกรรมที่เน้นความแตกต่างระหว่าง "พวกเขา" และ "พวกเรา" ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางสังคมและการเมืองที่รุนแรงขึ้น
(2) การอ่อนแอของสถาบันประชาธิปไตย (Weakening of Democratic Institutions) เพราะการขึ้นมาของผู้นำประชานิยมที่มีแนวโน้มเป็นเผด็จการสามารถทำให้สถาบันประชาธิปไตยอ่อนแอลง ผู้นำเหล่านี้มักจะท้าทายกฎเกณฑ์และการตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมือง ซึ่งสามารถนำไปสู่การลดลงของคุณภาพประชาธิปไตยในระยะยาว (Norris, 2017)
(3) นโยบายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อโลกาภิวัตน์ (Anti-Globalization Policies) ประชานิยมมักจะเชื่อมโยงกับการต่อต้านโลกาภิวัตน์และการกลับไปสู่ชาตินิยม ซึ่งสามารถนำไปสู่นโยบายที่จำกัดการค้าเสรีและการย้ายถิ่น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
Pippa Norris และ Ronald Inglehart ยังวิเคราะห์การขึ้นมาของขบวนการประชานิยมในโลกตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและยุโรป พวกเขาเสนอแนวคิดว่า การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและประชากรได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ที่เรียกว่า "Cultural Backlash" หรือ "การตอบโต้ทางวัฒนธรรม" ซึ่งเป็นแรงผลักดันหลักในการเกิดขึ้นของผู้นำและขบวนการประชานิยม (Norris and Inglehart, 2019, pp. 65-70) ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดการตอบโต้ทางวัฒนธรรมก็คือการเปลี่ยนแปลงทางประชากร เพราะการเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มน้อยและการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร ทำให้กลุ่มประชากรดั้งเดิมรู้สึกสูญเสียอำนาจและสถานะของตน การเปลี่ยนแปลงทางค่านิยม เพราะการเปลี่ยนแปลงไปสู่ค่านิยมที่ก้าวหน้า เช่น การยอมรับสิทธิของกลุ่ม LGBTQ+ ความเท่าเทียมทางเพศ และการย้ายถิ่น เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มที่ยึดมั่นในค่านิยมแบบดั้งเดิม ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจเพราะความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่พอใจในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และหันไปสนับสนุนขบวนการประชานิยมที่สัญญาจะนำความมั่นคงกลับคืนมา
ในยุโรป การเมืองแบบประชานิยมเกิดขึ้นอย่างชัดเจนและพรรคฝ่ายขวาจัดประสบความสำเร็จในหลายประเทศด้วยเหตุที่มาจากความไม่พอใจต่อการย้ายถิ่นของชนชาติอื่นที่เข้ามาในประเทศตน และการเพิ่มขึ้นของประชากรกลุ่มน้อยในสังคมยุโรปเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันไปสนับสนุนพรรคฝ่ายขวาจัด ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและความกังวลเกี่ยวกับการสูญเสียงานและรายได้ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งรู้สึกไม่พอใจและหันไปสนับสนุนพรรคที่เสนอวิธีแก้ปัญหาที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา ความไม่พอใจต่อพรรคการเมืองหลักและการรับรู้ว่าพรรคเหล่านี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหันไปสนับสนุนพรรคที่ให้คำมั่นว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้ปรากฏชัดเจนในการเลือกตั้งในหลายประเทศ เช่น ในปี พ.ศ. 2567 ที่ประชาชนหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับพรรครัฐบาลมากขึ้น อาทิจาก ผลการเลือกตั้ง ของประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 พบว่า พรรคพันธมิตรฝ่ายซ้าย Left-wing coalition สร้างการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างชัดเจน โดยได้รับชัยชนะเหนือพรรคที่เป็นพรรคของผู้นำประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองแนวกลางของประธานาธิบดี ส่วนพรรคที่เน้นนโยบายขวาจัด ที่เริ่มเหมือนจะมีความนิยมมากแต่สุดท้าย ได้รับความนิยมลดลง แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจากความนิยมในพรรคที่ค่อนข้างจะเป็นขวากลางมาเป็นพรรคฝ่ายซ้ายที่มีนโยบายตรงข้ามกับพรรคการเมืองที่ปกครองประเทศอยู่เดิม และที่ประเทศอังกฤษเช่นกัน ประชาชนหันมาสนับสนุนพรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่เป็นประชานิยมแบบอนุรักษ์ และหันไปเลือกพรรคแรงงานที่ถูกเรียกว่าเป็นพรรคซ้ายกลาง (Centre-left) (Solace Global, 2024) และ Holden M. and Macaskill A. (2024) สรุปคือ พรรคการเมืองที่มีแนวคิดสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนโดยใช้นโยบายประชานิยมที่เป็นที่ชื่นชอบในช่วงเวลานั้นมากที่สุดก็จะได้รับคะแนนนิยมนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ ประชานิยมส่งผลกระทบต่อการเมืองยุโรป คือ การนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงผู้ปกครอง เปลี่ยนแปลงนโยบาย เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น และเป็นความท้าทายต่อประชาธิปไตยในระยะยาว
ประชานิยมในเอเชีย
ประชานิยม เป็นแนวคิดที่มีความหมายหลากหลาย เมื่อนำมาอธิบายสภาพทางการเมืองในเอเชีย พบว่า ลักษณะโครงสร้างและพลวัตของประชานิยมในสังคมประชาธิปไตยของเอเชียมีความแตกต่างกัน และแตกต่างจากแนวคิดประชานิยมของยุโรป ทั้งนี้จากการศึกษาของเครือข่ายการวิจัยประชาธิปไตยแห่งเอเชีย (the Asia Democracy Research Network (ADRN)) (Lee et al. 2021, p. 13) ที่เลือกศึกษาเกี่ยวกับประชานิยมใน 11 ประเทศทั่วเอเชีย โดยพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งโครงสร้างและผลกระทบทางสังคม ซึ่งรูปแบบของประชานิยมขึ้นกับบริบทของประเทศ ผลการศึกษาครั้งนี้นำมาสู่การจัดกลุ่มของประชานิยมออกเป็นหลายประเภท เช่น ประชานิยมทางการเมือง (Political Populism) ประชานิยมที่เน้นอำนาจนิยม (Authoritarian Populism) ประชานิยมที่เน้นในเรื่องของการกระจายทรัพยากร (Redistributive Populism) และประชานิยมที่เน้นในเรื่องของชาติพันธุ์และศาสนา (Ethnic/religious Populism) และประชานิยมก้าวหน้า (Progressive Populism) โดยพบว่า การที่ประชานิยมในเอเชียมีรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย การอธิบาย และกลยุทธ์ที่ใช้เพื่อดึงดูดความนิยม ทั้งนี้ ประชานิยมที่เน้นการกระจายทรัพยากร มาจากการมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความยากจนในสังคมชนบท ขณะที่ประชานิยมในเรื่องชาติพันธุ์และศาสนา เป็นเรื่องของการต่อสู้ระหว่างคนกลุ่มใหญ่และคนกลุ่มน้อย นอกจากนี้ประชานิยมก้าวหน้า จะเน้นในเรื่องของการปกครองและประชาธิปไตย การป้องกันการทุจริต และการเมืองที่มีความแตกต่าง ขณะที่ประชานิยมแบบอำนาจนิยม (Authoritarian Populism) มาจากการแข่งขันทางการเมืองการปกครอง ทั้งนี้ การศึกษาของเครือข่ายวิจัยประชาธิปไตยแห่งเอเชียแสดงให้เห็นว่าในสังคมของประเทศที่เป็นประชาธิปไตย 11 ประเทศในเอเชียนั้น แม้รูปแบบของประชานิยมที่แตกต่างแต่บางประเทศก็มีความซับซ้อนและผสมผสานกัน ซึ่งการศึกษานี้ถือว่าเป็นการเสนอให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อที่จะปกป้องประชาธิปไตยด้วย
โดยที่ประชานิยมก้าวหน้าเกี่ยวข้องกับประชานิยมทางการเมือง ประกอบไปด้วยประชานิยมที่เน้นอำนาจนิยมและเน้นความก้าวหน้าของประชาธิปไตย ประชานิยมทางการเมืองให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของประชาชนในการต่อต้านชนชั้นนำที่ทุจริต และนโยบายของรัฐบาลที่ล้มเหลว นอกจากนี้ ประชานิยมทางการเมืองสามารถที่จะแบ่งเป็นสองแนวโดยพิจารณาจากความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและประชาชนในแนวตั้ง การเคลื่อนไหวในทางตรงกันข้ามขึ้นอยู่กับค่านิยมเสรีของพลเมืองที่กระตือรือร้น และคาดหวังให้ผู้นำทางการเมืองและผู้แทนของเขาต้องสำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน นอกจากนี้ถึงแม้จะมีปัญหาเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง แต่ชนิดของประชานิยมแบบนี้จะยังคงตอบสนองต่อความยั่งยืนของประชาธิปไตย ดังตัวอย่างในประเทศเกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งมีกระบวนการที่นำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้า และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม ถือว่าเป็นประชานิยมที่ก้าวหน้าในทัศนะของผู้ศึกษา ซึ่งองค์ประกอบที่สำคัญของประชานิยมลักษณะนี้ก็คือ องค์กรประชาสังคม (Lee 2021, pp. 21-38; Wu and Chu, 2021, pp. 38-60)
ในอีกมุมหนึ่ง ประชานิยมในประเทศฟิลิปปินส์และปากีสถาน ก็ถือว่าเป็นประชานิยมที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่เป็นประชานิยมอำนาจนิยม (Authoritarian Populism) ซึ่งผู้นำทางการเมืองหรือชนชั้นนำที่ปกครองประเทศเป็นผู้ขับเคลื่อนการสนับสนุนของประชาชนเพื่อที่จะเสริมสร้างอิทธิพลของตัวเอง เช่น ในประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วงประธานาธิบดีดูเตอร์เตมีอำนาจ ทั้งนี้ ประชานิยมของดูเตอร์เต เป็นกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงผู้นำเผด็จการปกครองประเทศและนำไปสู่ผลกระทบที่เป็นทางลบมากกว่าทางบวก ขณะที่ประเทศปากีสถานมีประชานิยมที่น่าสนใจ ก็คือ องค์กร ศาล ที่ก่อตั้งเป็นสถาบันเพื่อได้รับความนิยมจากประชาชน และองค์กรศาลได้รับการสนับสนุนด้วยการทำงานอย่างกระตือรือร้นในการบริการประชาชน นอกจากนี้ศาลสูงเองก็ให้ความชอบธรรมกับการรัฐประหารของทหารและหลายครั้งได้สนับสนุนการขับไล่นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งตามความต้องการของทหาร (Magno, 2021, pp. 61-79; Riaz 2021, pp. 80-96)
ส่วนประชานิยมที่เน้นการกระจายทรัพยากร (Redistributive Populism) ถือว่าเป็นประชานิยมที่ใส่ใจกับเรื่องของเศรษฐกิจ ซึ่งนำมาใช้โดยนักการเมืองหรือรัฐบาลเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงเลือกตั้ง หรือเป็นชุดของนโยบายที่เน้นสวัสดิการ ทั้งนี้ เป็นการให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินไปในนโยบายที่คิดว่าจะได้รับความนิยมจากประชาชนมากกว่าตามจำเป็นและความต้องการจริงของประชาชน และการใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ มักจะเกินความสามารถของรัฐ ในลักษณะนี้นโยบายประชานิยม แบบนี้จึงเป็นรูปแบบหนึ่งของประชานิยมที่มาจากข้างบน (top down policy) ดังในกรณีของประเทศอินเดียและประเทศไทย ซึ่งประเทศอินเดียมีประวัติศาสตร์อันยาวนานของประชานิยมที่มีการเคลื่อนไหวของประชาชนมาโดยตลอด เพื่อที่จะต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาการทำลายสภาพแวดล้อม ตลอดจนปกป้องความเป็นอยู่ของเกษตรกร ประชานิยมของอินเดียมีฐานรากมาจากรูปแบบของการปฏิรูปเพื่อเสรีภาพ ซึ่งนำมาสู่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ดังนั้น มาตรการประชานิยมในการกระจายทรัพยากรจึงถูกนำมาใช้ในเรื่องต่าง ๆ เช่น ประกันการจ้างงานในชนบท (Kaustuv Chakrabarti and Kaustuv Kanti Bandyopadhyay, 2021, pp. 97-120) ขณะที่ประเทศไทยในยุครัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร นโยบายการกระจายทรัพยากรได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง เพื่อที่จะลดความยากจนและเพื่อการชนะการเลือกตั้ง เช่นนโยบายเรื่องของการประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ กองทุนหมู่บ้าน หรือ การลดหนี้เป็นต้น (Bureekul et al., 2021, pp. 121-135)
สำหรับประเทศมองโกเลีย ประชานิยมทางเศรษฐกิจ เป็นการผสมระหว่างการใช้การเติบโตทางเศรษฐกิจร่วมกับประชานิยมแบบกระจายทรัพยากรเพื่อเป็นการหาเสียงทางการเมืองและสัญญาว่าจะให้ เมื่อได้รับเลือกแล้ว นักการเมืองมักใช้รายได้ของประเทศเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในการโฆษณาหาเสียง ซึ่งนักการเมืองของมองโกเลียจะเรียกตัวเองว่าเป็น “ลูกของประชาชน” ยืนอยู่เพื่อประเทศชาติ และพยายามที่จะดึงดูดให้เกิดความรู้สึกเห็นชอบ และชื่นชมกับตัวนักการเมือง (Erdenebileg et al. 2021, pp. 136-146)
ส่วนมาเลเซียเป็นการผสมผสานระหว่างประชานิยมแบบกระจายทรัพยากร และการปฏิรูปการเมืองจากข้างบน แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นการดำเนินการมักเป็นเรื่องของการจัดการภายในพรรคการเมืองมากกว่าการขับเคลื่อนของมวลชนฐานราก (Halim and Azhari, 2021, pp. 146-164)
อีกกลุ่มหนึ่งคือประชานิยมที่เน้นเรื่องของชาติพันธุ์และศาสนานั้นปรากฏในอินโดนีเซีย ศรีลังกา และเมียนมา ประชานิยมแบบนี้มักจะถูกเรียกว่าขวาจัด เพราะประชานิยมลักษณะนี้จะต่อต้านการเข้ามาของผู้อพยพหรือชนต่างชาติ รวมถึงผู้ใช้แรงงานต่าง ๆ ขณะที่ประชานิยมที่เน้น ชาติพันธุ์และศาสนาเหล่านี้ แสดงถึงความใส่ใจกับความเป็นหรือการมีเอกลักษณ์ของตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อย ที่ต้องการอิสรภาพในการปกครอง นอกจากนี้พรรคการเมืองบางพรรคก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยมักใช้ประชาชนที่สนใจในเรื่องนี้เป็นฐานการเมือง เพื่อรักษาการควบคุมทางการเมือง อินโดนีเซียเป็นสังคมมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก แต่ประกอบไปด้วยชาติพันธุ์ต่าง ๆ มากมาย และเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลาย (Nuryanti, 2021, p. 165-175) ขณะที่ศรีลังกา ประชาชนส่วนใหญ่เป็นสิงหล ส่วนน้อยเป็นทมิฬ และมีชาวคริสเตียนด้วย (Jayasinghe, 2021, pp. 176-196) ขณะที่เมียนมามีความหลากหลายของชาติพันธุ์ต่าง ๆ จำนวนมากและมีความขัดแย้ง ความหลากหลายเหล่านี้นำมาสู่การพิจารณาในเรื่องของการสร้างประชานิยมในกลุ่มคนที่ถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ (Thu, 2021, pp. 197-210)
จะเห็นได้ว่าเอเชีย เป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ และมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อีกทั้งมีชาติพันธุ์ต่างๆ ความแตกต่างทางสังคมในแต่ละประเทศมีอยู่มาก ดังนั้น การเกิดขึ้นของประชานิยมจึงปรากฏในหลากหลายรูปแบบ และแต่ละรูปแบบมีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างกัน กลยุทธ์ในการดำเนินการจึงต่างกัน ผลที่เกิดขึ้นจึงต่างกันด้วย แม้จะไม่มีการขับเคลื่อนประชานิยมอย่างแข็งขัน และแบ่งออกเป็นขั้วการเมือง ดังประเทศในภูมิภาคอื่น แต่ภูมิภาคเอเชียก็จัดว่าประชานิยมได้เข้ามาฝังรากในทางการเมืองของภูมิภาคนี้แล้ว
แนวคิดของประชาชนชาวไทยต่อประชานิยม
ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีการเพิ่มขึ้นของการนำแนวคิดประชานิยมมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง โดยเฉพาะสมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ประชานิยมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการลดความยากจน และเป็นกลยุทธ์ในการเอาชนะการเลือกตั้ง จากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา พรรคการเมืองจึงแสวงหานโยบาย ที่จะสร้างคะแนนเสียงให้กับพวกตน ดังนั้น นโยบายประชานิยมจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างแรงดึงดูดให้กับกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น จากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2562 และ พ.ศ. 2566 นโยบายประชานิยม ถูกนำมาใช้ในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2562 มีพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายแบบอนุรักษ์นิยมและมีบางพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายแบบก้าวหน้า นอกจากนี้ยังมีพรรคการเมืองที่นำแนวคิดทางด้านการศรัทธาในศาสนาเข้ามาประกอบการหาเสียงอีกด้วย โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 และ เป็นการเลือกตั้งหลังจากที่ว่างเว้นไปเป็นเวลา 8 ปี จึงทำให้มีกลุ่มประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกจำนวนหลายล้านคน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ นโยบายประชานิยมที่จะดึงดูดคนกลุ่มนี้ จึงถูกนำมาใช้โดยพรรคการเมืองพรรคใหม่ ที่ถือว่าเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ และสอดคล้องกับความต้องการของนักเลือกตั้งสมัยแรกอีกด้วย
ส่วนการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2566 เป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูง นโยบายประชานิยมในรูปแบบใหม่ ๆ ได้ถูกนำมาใช้ และประสบความสำเร็จ จากการเลือกตั้งทั้ง 2 ครั้ง แสดงให้เห็นชัดเจน ถึงประชานิยมในประเทศไทยที่มีการปรับเปลี่ยนและมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตลอดจนแนวคิดของคนไทยก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย ประกอบกับสถาบันพระปกเกล้า ได้ทำการศึกษาเรื่องค่านิยมประชาธิปไตย และ พฤติกรรมการเลือกตั้ง ทั้ง 2 ครั้ง โดยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนไทยต่อแนวทางประชานิยมของพรรคการเมืองต่าง ๆ หลังจากการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 และ 2566 จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาจากการสุ่มตามความน่าจะเป็น จำนวน 1,532 และ 1,500 ตามลำดับ และพบประเด็นที่่น่าสนใจที่สามารถอธิบายความเป็นไปหรือพลวัตของประชานิยมในประเทศไทยได้อย่างชัดเจน
คำถามที่ต้องการคำตอบคือประชาชนไทยชอบประชานิยมแบบไหน การศึกษาครั้งนี้สามารถหาคำตอบจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยใช้แบบสำรวจมาตรฐานของ Comparative Study of Electoral System (CSES) และได้สอบถามประชาชนถึงความพอใจต่อประเด็นที่จะสนับสนุนการเป็นประชาธิปไตยหรืออยู่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย ซึ่งแสดงนัยถึงความชอบธรรมของสังคมประชาธิปไตยในประเทศไทย โดยใช้คำถาม 4 คำถาม คือการยกเลิกระบบการเลือกตั้ง และระบบรัฐสภา เพื่อให้มีผู้เชี่ยวชาญมาตัดสินใจในนามประชาชน ทหารควรเข้ามาปกครองประเทศ การมีพรรคการเมืองพรรคเดียวเป็นที่ยอมรับได้ และควรยกเลิกระบบรัฐสภาและการเลือกตั้งเพื่อให้มีผู้นำที่เข้มแข็งเข้ามาบริหารประเทศ ผลการศึกษา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ นั่นแสดงว่าประชาชนชาวไทยยังยึดมั่นกับหลักการของประชาธิปไตย ดังนั้น การสนับสนุนประชานิยมแบบอำนาจนิยม อาจจะไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนไทยส่วนใหญ่ต้องการ อย่างไรก็ตาม มีประชาชนส่วนหนึ่งก็ยังยอมรับได้กับรูปแบบการปกครองที่ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย

ภาพ 3 : ทัศนคติเรื่องประเด็นประชานิยมแบบอำนาจนิยม หรือ ประชานิยมฝ่ายขวา พ.ศ. 2566

ภาพ 4 : ทัศนคติเรื่องชาตินิยม พ.ศ. 2566
นอกจากนี้ ความจงรักภักดีต่อชาติ หรือการรักชาติของประชาชนซึ่งจัดว่าเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของประชานิยมฝ่ายขวาหรือกลุ่มอนุรักษ์ พบว่าประชาชนไทยมีการสนับสนุนแนวคิดนี้ ประมาณ 57.1% หรือประมาณครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ คนไทยกว่าครึ่งเห็นว่าควรยอมรับว่าควรรักษาการดำเนินชีวิตแบบไทยๆ ซึ่งหมายถึงความเป็นชาตินิยมของคนไทยยังคงมีอยู่นั่นเอง นักการเมืองบางส่วนจึงหันมาสร้างคะแนนนิยม โดยการมีนโยบายเรื่อง ชาตินิยม เพราะคนไทยกว่าครึ่งมีลักษณะยอมรับประชานิยมแบบที่ใส่ใจกับชาตินิยม ซึ่งจัดว่าเป็นประชานิยมแบบดั้งเดิมหรือประชานิยมฝ่ายขวา

ภาพ 5 : แนวคิดประชานิยมฝ่ายขวา พ.ศ. 2566
เมื่อสอบถามถึง นโยบายของรัฐที่เกี่ยวกับการจำกัดสินค้าจากต่างประเทศซึ่งหมายถึงคุณสมบัติของประชานิยมฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์ ปรากฏว่า 3 ใน 4 ของประชาชนชาวไทยเห็นด้วย เพื่อปกป้องผู้ใช้แรงงานและชาวนา จึงเห็นว่าคุณลักษณะของประชาชนไทยบางส่วนมีการสนับสนุนประชานิยมฝ่ายขวาหรืออนุรักษ์ และเมื่อศึกษาไปถึงความเป็นไปได้ที่ประชาชนชาวไทยจะสนใจแนวทางของประชานิยมฝ่ายซ้าย

ภาพ 6 : แนวคิดประชานิยม ฝ่ายซ้าย พ.ศ. 2566
ลักษณะของประชานิยมฝ่ายซ้ายจะให้ความสำคัญกับความเสมอภาคและความยุติธรรมทางสังคม ในเรื่องนี้ ประชาชนชาวไทยให้ความสำคัญกับเรื่องของความเสมอภาคมากที่สุด โดยกว่า ร้อยละ 80 เห็นว่าผู้หญิงเท่าเทียมกับชายโดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทในทางการเมือง ซึ่งมีเพียง ร้อยละ 12.3 เท่านั้นที่เห็นว่าผู้หญิงไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้อง ส่วนแนวคิดในเรื่องของความหลากหลายทางความคิดจะทำให้สังคมสับสน ประชาชน ร้อยละ 63.1 เห็นด้วย ขณะที่ ร้อยละ 73.9 เห็นด้วยว่าความสามัคคีของชุมชนจะถูกทำลาย ถ้าประชาชนแตกแยกเป็นหลายกลุ่ม คำตอบเหล่านี้สามารถอธิบายได้ว่า ประชาชนชาวไทยยังมีแนวคิดในเรื่องของการไม่ยอมรับความหลากหลายทางความคิดแต่ยอมรับความเสมอภาคระหว่างเพศ

ภาพ 7 : ประชานิยมของไทย พ.ศ. 2566
สรุปจากการศึกษานี้ แสดงถึงลักษณะของการเป็นประชานิยมของคนไทยสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 1. ประชานิยมแบบอนุรักษ์ ซึ่งอธิบายได้ว่าเป็นแนวทางใกล้เคียงกับประชานิยมฝ่ายขวา 2. ประชานิยมฝ่ายกลาง และ 3. ประชานิยมฝ่ายเสรีภาพ หรือ คล้ายกับประชานิยมก้าวหน้า หรือฝ่ายซ้าย ทั้งนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นั้นเห็นด้วยกับการปกครองที่มีผู้นำที่เข้มแข็ง ประชาชนไทยส่วนหนึ่งยังมีลักษณะของชาตินิยมสูงและไม่ชอบให้คนต่างชาติเข้ามาแย่งงานและคุมอำนาจทางเศรษฐกิจ ส่วนประชานิยมฝ่ายกลางเป็นกลุ่มที่เน้นสมดุลอำนาจและยอมรับความเสมอภาคระหว่างเพศ ขณะที่ประชานิยมฝ่ายเสรีภาพเน้นเสรีภาพในการแสดงออกและเคารพความหลากหลาย
การศึกษานี้จึงนำแนวทางประชานิยมไปพิจารณากับการศึกษาทัศนคติของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองครั้งที่ผ่านมา ซึ่งพบสิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับการนำนโยบายประชานิยมไปใช้เพื่อสร้างคะแนนนิยมของพรรคการเมืองต่าง ๆ ดังการนำเสนอในส่วนต่อไป
ผลของนโยบายประชานิยมและความนิยมต่อพรรคการเมือง
ในการศึกษาถึงพฤติกรรมการเลือกตั้งที่ได้มีการศึกษากันในนานาประเทศ มักศึกษาถึงจุดยืนของประชาชนว่าตนเองอยู่ฝ่ายไหน และพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีในประเทศนั้นอยู่ฝ่ายไหน ตลอดจนประชาชนเลือกอย่างไร โดยให้ประชาชนได้ระบุตัวเองว่า ยืนอยู่จุดไหนระหว่างฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ซึ่งในอดีตการสอบถามในลักษณะนี้คนไทยมักไม่สามารถระบุตนเองได้ และไม่คิดว่าประเทศไทยมีฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา และยังวางตัวเองอยู่ตรงกลาง ดังเช่นในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ได้เก็บรวบรวมข้อมูลหลังจากการเลือกตั้ง พบว่าจากคะแนนที่ประชาชนให้ตนเองคือ 0 เป็นฝ่ายซ้ายสุดขั้ว และ 10 คือฝ่ายขวาสุดขั้ว และประชาชนวางตนเองอยู่ที่คะแนน 5.5 นั่นคือเป็นขวากลาง ขณะที่วางพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่มีการแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนั้นอยู่ในระดับค่อนข้างเป็นกลางโดยมีพรรคการเมืองที่ถูกประชาชนวางให้เป็นสายกลาง ก็คือพรรคการเมืองที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาลในยุคนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยพรรคเพื่อชาติจะถูกวางว่าเป็นพรรคที่เป็นฝ่ายซ้ายที่สุด คะแนนอยู่ที่ 4.1 รองลงมา คือ รวมไทยสร้างชาติ เพื่อไทย พลังท้องถิ่นไทย อนาคตใหม่ ชาติพัฒนา ชาติไทยพัฒนา เสรีรวมไทย ภูมิใจไทย ซึ่งอยู่ในระดับคะแนนที่ค่อนไปทางกลางซ้าย ส่วนรวมพลังประชาชาติไทย พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ซึ่งในขณะนั้นพรรคพลังประชารัฐถูกก่อตั้งโดยผู้ที่สนับสนุนทหารอยู่ที่กลางขวา และตัวประชาชนเองวางตนเองไว้ที่ 5.5 นั่นคือกลางขวา ประชาชนส่วนหนึ่งที่ระบุตนเองว่าเป็นกลางขวาส่วนมากจะเลือกพรรคเพื่อไทย ถึงหนึ่งในสี่และเลือกพลังประชารัฐ ร้อยละ 15 อนาคตใหม่ ร้อยละ 12.7 และประชาธิปัตย์ 10.1 ในการเลือกตั้งครั้งนั้นประชาชนส่วนใหญ่จะเลือกพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยมิได้ก่อตั้งรัฐบาลเพราะไม่สามารถได้คะแนนเสียงในรัฐสภาที่รวมกันแล้วเกินครึ่ง แสดงว่าในการเลือกตั้งครั้งแรกหลังจากมีการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประชาชนส่วนมากยังวางตนตนเองเป็นกลางขวา และไม่มีพรรคการเมืองที่อยู่ในขั้วซ้ายหรือขั้วขวาอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนั้นมีพรรคการเมืองใหม่ซึ่งเป็นที่รวมของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้น คือพรรคอนาคตใหม่ที่ประชาชนให้ความสนใจและมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้ลงคะแนนเป็นครั้งแรกจำนวนมากสนับสนุนอีกด้วย และในจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ตอบแบบสอบถามในครั้งนี้กว่า ร้อยละ 10 ตอบว่าเลือกพรรคนี้
ส่วนในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหลังสุด เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สถาบันพระปกเกล้าได้มีการรวบรวมข้อมูลอีกครั้งหนึ่งหลังการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน ถึง 15 กันยายน พ.ศ. 2566 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในแนวคิดทางการเมืองของประชาชน โดยประชาชนวางตนเองจากกลางขวาไปเป็นกลางซ้าย และสามารถระบุพรรคการเมืองให้มีความแตกต่างทางอุดมการณ์อย่างชัดเจน โดยวางพรรคการเมืองที่เคยเป็นฝ่ายรัฐบาลทุกพรรคอยู่ทางขวา พรรคการเมืองเหล่านั้นเป็นพรรคการเมืองที่ใช้นโยบายประชานิยมแบบอนุรักษ์ ซึ่งพรรครวมไทยสร้างชาติถูกวางไว้ที่ คะแนน 7.1 จาก 10 พลังประชารัฐ 7.0 ซึ่งสองพรรคนี้เป็นพรรคที่สนับสนุนอดีตผู้นำรัฐบาล คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมคือประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยถูกวางไว้ที่ คะแนน 6.0 และ 6.3 ส่วนชาติไทยพัฒนาอยู่ที่ 5.6 ซึ่งเป็นกลางขวา ส่วนพรรคที่ถูกมองว่าเป็นกลางซ้ายคือไทยสร้างไทยและเพื่อไทย ส่วนก้าวไกลและเป็นธรรมถูกวางไว้เป็นฝ่ายซ้ายคือ 3.8 และ 3.2 ตามลำดับ

ภาพ 8 : การวางตนเองและพรรคการเมือง ในจุดใดระหว่างฝ่ายขวาและซ้าย พ.ศ. 2562

ภาพ 9 : การวางตนเองและพรรคการเมือง ในจุดใดระหว่างฝ่ายขวาและซ้าย พ.ศ. 2566

ภาพ 10 : คนไทยกับประชานิยม
การเลือกตั้งที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองหลายพรรคที่แสดงจุดยืนเป็นกลาง ส่วนพรรคที่มีนโยบายก้าวหน้าอย่างชัดเจนนั้นกลับเป็นพรรคที่ประชาชนได้ให้ความสนับสนุนอย่างมาก เพราะประชาชนที่มองว่าพรรคก้าวไกลเป็นพรรคฝ่ายซ้ายอย่างมากเลือกก้าวไกลถึงเกือบ ร้อยละ 40 ที่น่าสนใจก็คือประชาชนที่มองว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นฝ่ายขวาอย่างชัดเจนเลือกพลังประชารัฐเพียง ร้อยละ 4.2 นั่นคือการเลือกเพราะชอบในอุดมการณ์เดียวกันเป็นขวาเหมือนกันมีจำนวนไม่ถึง ร้อยละ 10 เช่นเดียวกับพรรครวมไทยสร้างชาติที่สนับสนุน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อย่างชัดเจนได้คะแนนจากคนที่มองว่าตนเองเป็นขวาอย่างมากเพียง ร้อยละ 4.6 แต่คนที่มองรวมไทยสร้างชาติเป็นขวากลับเลือกพรรคก้าวไกลถึง ร้อยละ 39.4 และเลือกเพื่อไทยถึง ร้อยละ 31 ทั้งนี้ เพราะแนวคิดของประชาชนได้เปลี่ยนไป และหันมาเลือกพรรคที่มีนโยบายก้าวหน้ามากขึ้น ตลอดจนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับรัฐบาล ทั้งนี้ เพราะผลการดำเนินงานของรัฐบาลที่ผ่านมาที่อาจยังไม่ถูกใจ ซึ่งแสดงได้จากคะแนนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลที่ลดลง

ภาพ 11 : ความเชื่อมั่นรัฐบาล
ที่มา : ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการให้บริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ พ.ศ. 2545 – 2566 (สถาบันพระปกเกล้า, สำนักวิจัยและพัฒนา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2566)
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเชื่อมั่นในตัวพรรคการเมืองกับเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองแต่ละพรรคมีความแตกต่างออกไป การที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นในพรรคการเมืองสูงขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดที่แต่เดิมพรรคการเมืองได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในระดับต่ำเมื่อเทียบกับองค์กรทางการเมืองอื่นๆ แต่ในช่วงการเลือกตั้งพรรคการเมืองมีการแข่งขันกันทางนโยบายและแสดงจุดยืนอย่างชัดเจน มีการนำแนวทางประชานิยมที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ ทำให้ประชาชนมองว่าพรรคการเมืองนั้นมีการทำงานแข่งขันกันและสามารถเป็นตัวแทนของพวกเขาได้จึงฝากความหวังไว้กับพรรคการเมืองที่พวกเขาชื่นชอบ

ภาพ 12 : ความเชื่อมั่นในพรรคการเมือง
ที่มา : ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการให้บริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ พ.ศ.2545–2566 (สถาบันพระปกเกล้า, สำนักวิจัยและพัฒนา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2566)
ดังนั้น จากการนำเสนอแนวคิดประชานิยมดังกล่าวแล้วและเมื่อประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยก็พบว่า ประชาชนชาวไทยเริ่มมีความเข้าใจกับการออกแบบนโยบายของพรรคการเมืองเพื่อที่จะดึงดูดความสนใจและนำมาซึ่งกันได้คะแนนเสียงและสนับสนุนพรรคการเมืองนั้นนโยบายประชานิยมแบบก้าวหน้าจึงเป็นนโยบายที่ได้ผลในการเลือกตั้งที่ผ่านมาในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ลึกลงไปก็จะพบว่าไม่เพียงตัวนโยบายของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนและผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมาทำให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะลงคะแนนอย่างไร ประกอบกับแนวคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม แม้ความหวังของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแสดงออกอย่างชัดเจนจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาแต่จะรวมตัวกันสร้างรัฐบาลก็ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่มีคะแนนเสียงข้างมากที่สุดในสภาเสมอไปด้วยข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ รัฐบาลที่ปกครองประเทศอยู่ในปัจจุบันจึงเป็นรัฐบาลที่มาจากการผสมระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายขวาและพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายในสายตาของประชาชน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ผลงานยังไม่เป็นที่ถูกใจของประชาชนมากนักเพราะแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้การดำเนินการยังไม่เห็นผล การศึกษานี้จึงพบสิ่งที่สำคัญก็คือ ประชาชนชาวไทยเปลี่ยนแปลงระดับของค่านิยมที่สนับสนุนประชานิยม จากฝ่ายขวากลางกลายเป็นฝ่ายสายกลางในช่วง 4 ปี ของการดำรงตำแหน่งของกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนการรัฐประหาร
สรุป
ประชานิยมเป็นแนวคิดที่ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฏการทางการเมืองและสังคม ตลอดจนรูปแบบของประชานิยมมีความแตกต่างกัน มีการเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตไม่สามารถจำแนกได้อย่างชัดเจนและไม่จำเป็นที่จะต้องแยกออกเป็นสองขั้วของประชานิยมเสมอไป ด้วยเหตุแห่งปัจจัยผลักดันทั้งจากภายนอกและภายในสังคมนั้นเอง ที่ทำให้แนวคิดประชานิยมถูกนำมาใช้ในสภาวการณ์ที่แตกต่างกัน แต่มักเป็นไปเพื่อสร้างความนิยมทางการเมือง ประกอบกับลักษณะโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้าถึงเทคโนโลยี ข่าวสาร ความรู้ และอิทธิพลจากภายนอก รวมถึงปัจจัยภายในที่มาจากการดำเนินงานของผู้ปกครองหรือรัฐบาลก็มีผลต่อการกำหนดจุดยืนของนักการเมือง และพรรคการเมืองว่าจะวางตัวอย่างไร รูปแบบของประชานิยมแบบเดิม และเน้นไปที่การแก้ปัญหาความยากจนเป็นหลักดังเช่นในประเทศอินเดียและไทยในอดีตยังไม่เพียงพอที่จะนำมาสู่การได้คะแนนนิยมมากขึ้น แม้เป็นนโยบายที่จำเป็นแต่ยังไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการสนับสนุนจากประชาชน ด้วยเหตุนี้ ในหลายประเทศจึงพบว่ามีการนำเสนอนโยบายที่แตกต่างไปจากเดิม ตลอดจนมีการศึกษาค่านิยมของประชาชนและอารมณ์ทางการเมืองของประชาชนในขณะนั้นประกอบ เพื่อใช้ในการต่อสู้ทางการเมืองดังเช่นในประเทศยุโรป ส่วนในเอเชียพบว่าการถูกกดทับทางการเมืองของชนกลุ่มน้อยก็มีผลที่จะทำให้เกิดนโยบายประชานิยมเพื่อให้ได้คะแนนเสียงจากชนกลุ่มน้อยเอง และจากประชาชนที่ไม่ชอบประชานิยมแบบอำนาจนิยม อย่างไรก็ตาม ในบางสังคม ประชานิยมฝ่ายขวายังเป็นที่ชื่นชอบเพราะการบริหารงานของรัฐบาลที่เปิดกว้างรับคนต่างชาติเข้ามามากขึ้น ทำให้ประชาชนของประเทศนั้นได้รับความเดือดร้อนจึงหันมาสนับสนุนพรรคการเมืองที่มีแนวนโยบายไปทางขวาและปกป้องความเป็นชาติ
จากกรณีของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงของแนวคิดทางการเมืองของประชาชนอันเกี่ยวข้องกับประชานิยมจึงสอดคล้องกับการศึกษาของ Norris และ Inglehart (2019) และ Diamond (2019) ว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรและค่านิยมก้าวหน้าที่มีมากขึ้น และไม่ต้องการยึดมั่นกับค่านิยมแบบดั้งเดิม และใช้นโยบายประชานิยมแบบเดิมที่เคยประสบความสำเร็จ ดังในการศึกษาของ (Bureekul, et.al., 2021) ที่ทุกพรรคการเมืองดูเหมือนจะใช้แนวทางที่นำนโยบายในการสร้างประชานิยมที่เน้นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากขึ้น จึงดูคล้ายกัน แต่สิ่งที่ต่างคือความก้าวหน้าในการนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสังคมสู่อนาคตที่พึงปรารถนาของประชาชน รวมถึงการไม่พอใจชนชั้นนำทางการเมืองที่ไม่ใส่ใจต่อความต้องการของประชาชนทั่วไป อีกทั้งความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประชาชนอยากจะเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนขบวนการหรือพรรคการเมืองที่เสนอแนวนโยบายที่เป็นทางออกที่เรียบง่ายและชัดเจนมากกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการแบ่งแยกทางการเมืองอย่างชัดเจนจากผู้นำประชานิยมที่ใช้วาทกรรมเพื่อจำแนกกลุ่มของตนออกจากกลุ่มการเมืองหรือพรรคการเมืองอื่น ๆ
โดยสรุป ลักษณะประชานิยมมีการเปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาตามสภาวการณ์ “ไม่ใช่การเปลี่ยนกระแสเรื่องขวาไปซ้าย แต่ต้องการเปลี่ยนจากทิศทางปัจจุบันไปตรงกันข้ามมากกว่า” (Anti-Establishment Populism)
เอกสารอ้างอิง
ภาษาไทย
นิธิ เนื่องจำนงค์. (2566). ประชานิยมสายกลางในยุโรป คุณลักษณะสำคัญและนัยที่มีต่อประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มห่าวิทยาลัย.
สถาบันพระปกเกล้า, สำนักวิจัยและพัฒนา และสำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2566). ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการให้บริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ พ.ศ. 2545-2566. กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า.
ภาษาอังกฤษ
Bureekul, T. et.al. (2021). Populism in Thailand. In Lee, S J. et al. (Eds.), Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 121–135). Printforce, The Netherlands: Brill.
Burton, C. (2009). Review of How East Asians View Democracy, by Y. Chu, L. Diamond, A. J. Nathan, and D. C. Shin. Pacific Affairs, 82(2), 315–317. Retrieved from http://www.jstor.org/stable/25608874
Chu, Yun-han, Diamond, Larry, Nathan, Andrew J. and Shin, Doh Chull. (2008). New York: Columbia University Press.
Diamond, L. (1999). Developing Democracy: Toward Consolidation. Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Diamond, L. (2008). The Spirit of Democracy: The Struggle to Build Free Societies Throughout the World. New York: Henry Holt and Company.
Diamond, L. (2015)A. In Search of Democracy. London: Routledge.
Diamond, L. (2015)B. Facing Up to the Democratic Recession. Journal of Democracy, 26(1), 141-155.
Diamond, L. (2019). Ill Winds: Saving Democracy from Russian Rage, Chinese Ambition, and American Complacency. New York: Penguin Press.
Erdenebileg, G. et.al. (2021). Populism as a Phenomenon: Signs of Populism in Mongolian Development. In Lee, S J. et al. (Eds.), Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 136–146). Printforce, The Netherlands: Brill.
Frank, T. (2020). People Without Power: The War on Populism and the Fight for Democracy. Melbourne, Vic: Scribe.
Goodwyn, L. (1978). The Populist Moment: A Short History of the Agrarian Revolt in America. New York: Oxford University Press.
Halim, F. A. and Azhari, A. (2021). The Changing Nature of Populism in Malaysia. In Lee, S J. et al. (Eds.), Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 147–162). Printforce, The Netherlands: Brill.
Hawkins, K. A., and Kaltwasser, C.R. (2017). The Ideational Approach to Populism: Concept, Theory, and Analysis. In Kirk Andrew Hawkins, Ryan E. Carlin, Levente Littvay and Cristóbal Rovira Kaltwasser (Eds.), The Ideational Approach to Populism (pp. 1-26). Abingdon, Oxon: Routledge
Taggart, P. (2004). Populism and representative politics in contemporary Europe. Journal of Political Ideologies, 9(3), 269-288.
Holden M. and Macaskill A. (2024). As Europe turns right, UK voters reject Conservative populism. Reuters. Retrieved from https://www.reuters.com/world/europe/europe-turns-right-uk-voters-reject-conservative-populism-2024-07-05/
Inglehart, R., and Norris, P. (2019). Cultural Backlash: Trump, Brexit, and Authoritarian Populism. Cambridge: Cambridge University Press.
Jayasinghe, P. (2021). Hegemonic Populism: Sinhalese Buddhist Nationalist Populism in Contemporary Sri Lanka. In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 176–196). Printforce, The Netherlands: Brill.
Judis, J. B. (2016). The Populist Explosion: How the Great Recession Transformed American and European Politics. New York: Columbia Global Reports.
Kaustuv Chakrabarti and Kaustuv Kanti Bandyopadhyay (2021) Populism in Contemporary Indian Politics. In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 97–120). Printforce, The Netherlands: Brill.
Lee, S J. et al. (2021). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts. Printforce. The Netherlands: Brill.
Lee, S. J. (2021). South Korea’s Tamed Populism: Popular Protests from Below and Populist Politics from the Top. In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts. Print force (pp. 21-37), The Netherlands: Brill.
Levitsky, S., and Roberts, K. M. (Eds.). (2011). The Resurgence of the Latin American Left. Baltimore: Johns Hopkins University Press.
Laclau, Ernesto. (2005). On populist reason / Ernesto Laclau. New York : Verso
Magno, F. A. (2021). Chapter 3 Contemporary Populism and Democratic Challenges in the Philippines. In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 61-79). Printforce, The Netherlands: Brill.
Moffitt, B. (2016). The Global Rise of Populism: Performance, Political Style, and Representation. Stanford: Stanford University Press, 45-65.
Mouffe, C. (2019). For a Left Populism. Brooklyn and London: Verso.
Mudde, C. (2004). The Populist Zeitgeist. Government and Opposition , Volume 39 , Issue 4 , 2004 , pp. 541–563. From https://doi.org/10.1111/j.1477-7053.2004.00135.x.
Mudde, C. (2007). Populist Radical Right Parties in Europe. Cambridge: Cambridge University Press.
Mudde, C., and Kaltwasser, C. R. (2013). Exclusionary vs. Inclusionary Populism: Comparing Contemporary Europe and Latin America. Government and Opposition, 48(2), 147-174.
Mudde, C., and Kaltwasser, C. R. (2017). Populism: A Very Short Introduction. New York: Oxford University Press.
Norris, P. (2005). Radical Right: Voters and Parties in the Electoral Market. New York: Cambridge University Press.
Norris, P. (2017). Strengthening Electoral Integrity. New York: Cambridge University Press.
Norris, P., and Inglehart, R. (2019). Cultural Backlash: Trump, Brexit, and Authoritarian Populism. Cambridge: Cambridge University Press.
Nuryanti, S. (2021). Populism in Indonesia: Learning from the 212 Movement in Response to the Blasphemy Case against Ahok in Jakarta. In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 165-175). Printforce, The Netherlands: Brill.
Riaz, A. (2021). Judicial Populism and Its Impact on the Quality of Democracy in Pakistan. In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 80-94). Printforce, The Netherlands: Brill.
Solace Global. (2024). The Populist Wave and Polarization in Europe in 2024. Retrieved from https://www.solaceglobal.com/report/populism-europe-2024/.
Thu. M. (2021). Populism in Myanmar, In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 197-210). Printforce, The Netherlands: Brill.
Wu, C. and Chu. Y. (2021). Populism in Taiwan: A Bottom-Up Model. In Lee, S J. et al. (Eds.). Populism in Asian Democracies; Features, Structures, and Impacts (pp. 38-58). Printforce, The Netherlands: Brill.
[1] รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า และรักษาการผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา
[2] นักวิชาการผู้ชำนาญการ สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า