การเฉลิมพระนคร ๑๕๐ ปี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:02, 19 พฤษภาคม 2560 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.สนธิ เตชานันท์


 

พระราชพิธีฉลองพระนคร: ความเป็นมา

พระราชพิธีฉลองพระนครหรือสมโภชพระนครนี้เคยมีมาแล้ว ๒ ครั้ง คือสมโภชเมื่อแรกสร้างพระนครเสร็จในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกครั้งหนึ่ง และสมโภชพระนครครบรอบ ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกครั้งหนึ่ง ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีฉลองพระนครขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นวาระที่กรุงเทพมหานครมีอายุครบ ๑๕๐ ปี นับเป็นการสมโภชครั้งที่ ๓

พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับงานฉลองพระนครเริ่มปรากฏเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๖๙ แต่เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ฉะนั้นเห็นกันว่า การที่รัฐบาลจะจัดงานพิธีใดๆ จึงจำต้องพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายและประโยชน์ที่จะได้รับให้มากที่สุด จึงสมควรเตรียมงานไว้ล่วงหน้าก่อน เพราะเมื่อได้วางแผนงานแล้วจะทราบจำนวนเงินค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ทำให้สามารถเตรียมงบประมาณสำหรับรายจ่ายทัน[1]


การสร้างสิ่งอันเป็นอนุสรณ์และปฏิสังขรณ์โบราณสถาน

พระปฐมบรมราชานุสรณ์

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า สมควรจะจัดสร้างสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ที่ระลึกแห่งพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรีวงศ์ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร และเพื่อเป็นการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์แก่อาณาประชาราษฎร์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ โดยเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๐ ทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาการจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เรียกว่าคณะกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ คณะกรรมการนี้ประกอบด้วยสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดชเป็นนายกกรรมการ สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายก และให้อภิรัฐมนตรีกับทั้งเสนาบดีทุกกระทรวงเป็นกรรมการ ในการประชุมครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ นั้น มีการยกประเด็นเรื่องสถานที่ที่จะประดิษฐานพระบรมรูปซึ่งได้มีความคิดกันอยู่เดิมบ้างแล้ว ว่าจะสร้างพระบรมรูปหล่ออย่างใหญ่ประดิษฐานอยู่หน้าพระวิหารพระศรีสากยมุนี ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ตกแต่งแก้ไขซ่อมแซมพระวิหารให้วิจิตรบรรจง ขยายลานเสาชิงช้าให้กว้างใหญ่ และทำถนนขนาดใหญ่มีสวนยาวตั้งแต่เสาชิงช้าหน้าวัดสุทัศน์ฯ ตรงไปบรรจบถนนราชดำเนินกลาง[2] แต่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้ซึ่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้นทรงเสนอให้พิจารณาถึงประโยชน์สาธารณะด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชหัตถเลขาถึงสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระนครสวรรค์วรพินิตด้วยว่าการสร้างถนนดังกล่าวอาจอยู่ในประเภทงดงามเฉยๆ ไม่สู้เป็นสาธารณประโยชน์มากนัก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จึงได้เสนอให้สร้างสะพานเชื่อมธนบุรีกับกรุงเทพฯ ข้อเสนอนี้กรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วว่ามีประโยชน์ต่อการขยายเขตพระนครให้กว้างขวาง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงเห็นชอบและมีพระราชดำริให้สร้างพระบรมรูปใกล้ๆ สะพาน [3]

อนึ่ง มีคำบอกเล่าจากหลวงมหาสิทธิโวหาร (สอ เศรษฐบุตร หรือ เสถบุตร) ผู้ซึ่งเป็นปลัดกรมกององคมนตรีอยู่ในขณะนั้น ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริแน่วแน่ว่าควรเป็นการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จะได้เป็นสาธารณประโยชน์ในการขยายความเจริญฝั่งธนบุรี แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีเงินแผ่นดินเพียงพอ แต่ด้วยพระขัตติยะมานะยิ่งในเรื่องนี้ ได้ทรงดำเนินการอย่างละมุนละม่อม จนท้ายที่สุด เสนาบดีสภาได้อนุโลมตามพระราชดำริ [4]

เงินทุนที่ใช้ในการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์นั้นประมาณราว ๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคพระราชทรัพย์เป็นส่วนพระองค์จำนวนหนึ่ง และรัฐบาลจ่ายเงินแผ่นดินช่วยจำนวนหนึ่ง ส่วนเงินอีกจำนวนหนึ่งนั้น มีพระราชดำริว่าควรบอกบุญเรี่ยไรชาวสยามทุกชั้นบรรดาศักดิ์ตามกำลัง[5] และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเหรียญขึ้นพระราชทานแก่ผู้เข้าเรี่ยไรสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ มีอยู่ ๒ ชนิด คือ ๑. ขนาดใหญ่ สำหรับผู้ที่ได้เข้าเรี่ยไรเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ ๕๐๐ บาทขึ้นไป ๒. ขนาดเล็ก สำหรับสำหรับผู้ที่ได้เข้าเรี่ยไรเป็นจำนวนเงินตั้งแต่ ๑๐ บาทขึ้นไป[6] (กรมศิลปากร ๒๕๒๕: ๑๑๒)

พระบรมรูป

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตสภา ผู้อำนวยการแผนกศิลปากรในเวลานั้น ทรงออกแบบพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดเกล้าฯ ให้นายโคราโด เฟโรจี (CoradoFeroci) หรือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี นายช่างปั้นชาวอิตาเลียน ซึ่งรับราชการอยู่ที่ศิลปากรสถาน เป็นผู้ขึ้นหุ่นพระบรมรูป เสร็จแล้วส่งไปหล่อที่ยุโรป เป็นพระบรมรูปทรงเครื่องขัตติยาภรณ์ ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ ขนาดสูงจากพื้นถึงยอด ๔.๖๐ เมตร ฐานกว้าง ๒.๓๐ เมตร [7]

เมื่อแล้วเสร็จได้อัญเชิญขึ้นประดิษฐานบนบัลลังก์เหนือเกย มีอัฒจันทร์ขึ้นลงสองข้าง มีซุ้มจรนำ สกัดหลังตั้งเป็นลับแล มีศิลาจารึกอยู่ด้านหลัง ประดิษฐาน ณ เชิงสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ตรงที่ต่อปลายถนนตรีเพ็ชร ในบริเวณที่สร้างนี้เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถ้าแม้ต้องจัดซื้อตามพระราชกฤษฎีกาแล้ว จะต้องจ่ายเงินเป็นจำนวนประมาณหนึ่งล้านบาท แต่พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานยกที่ดินนี้และสิ่งปลูกสร้างบริเวณนี้ โดยไม่คิดราคา เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลสาธารณะส่วนหนึ่งต่างหากจากจำนวนเงิน ๑ ล้านบาทซึ่งพระราชทานสำหรับค่าก่อสร้าง

สะพาน

ลักษณะสะพานมีรูปเหมือนลูกศร ปลายศรชี้ไปทางฝั่งธนบุรีซึ่งสอดคล้องกับพระราชลัญจกรประจำพระองค์ คือ พระแสงศร ตรงกลางโค้งทางลาดฝั่งพระนครเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก(มหาราช) ผู้ออกแบบสะพานคือ หม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ กฤดากร พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงอำนวยการสร้าง บริษัทดอร์แมน ลอง (Dorman Long Ltd.) จำกัด ประเทศอังกฤษ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ใช้เวลาในการก่อสร้าง ๒ ปีเศษ เป็นสะพานเหล็กยาว ๒๒๙.๗๖ เมตร กว้าง ๑๖.๖๘ เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ ๗.๕๐ เมตร ช่วงกลางสะพานสามารถเปิดปิดให้เรือใหญ่ผ่านได้ นับว่าเป็นสะพานที่ทันสมัยที่สุดในประเทศ โดยเป็นสะพานสำหรับรถและคนข้าม ในขณะที่สะพานพระราม ๖ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นสะพานสำหรับรถไฟข้าม แต่แล้วเสร็จในต้นรัชกาลที่ ๗

สะพานพระพุทธยอดฟ้าเริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๔๗๒ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ซึ่งในสมัยนั้นถือเป็นใกล้ปลายปีทรงวางศิลาพระฤกษ์ซึ่งบรรจุสิ่งต่างๆต่อไปนี้ไว้

๑. แผ่นหิรัญบัฏจารึกประกาศพระบรมราชโองการสร้างสะพาน

๒. รูปสะพานและแผนผังสะพาน

๓. เหรียญบรมราชาภิเษกและเหรียญราชรุจิในรัชกาลที่ ๗

๔. หีบบรรจุสิ่งของ กระทรวงพาณิชย์และคมนาคมเป็นผู้จัดทำ เป็นหีบสี่เหลี่ยมทึบขนาด ๒๐ นิ้ว กว้าง ๖ นิ้ว สูง ๖ นิ้ว

๕. ค้อนเงิน และเกรียงเงิน สำหรับทรงก่อพระฤกษ์

๖. อิฐปิดทอง เงิน นาก พันผ้าสีชมพู อย่างละ ๖ แผ่น สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงก่อ

การปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

นอกจากการก่อสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์และสะพานแล้ว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามทั่วทั้งพระอาราม นับเป็นการปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่เช่นเดียวกับการปฏิสังขรณ์ในงานสมโภชพระนคร ๑๐๐ ปี พ.ศ. ๒๔๒๕ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดเกล้าให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้ง ๔ พระองค์และสร้างพระมหาประสาทห้ายอดขึ้นไว้ในพระราชวังฝ่ายบุรพทิศและเชิญพระบรมรูปขึ้นประดิษฐานบนพระมหาปราสาท [8] นามว่าปราสาทพระเทพบิดร

การปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามในครั้งนี้ ใช้วิธีหาทุนดำเนินการเช่นเดียวกับการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ คือเปิดเรี่ยไรรับเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไปมาสมทบทุนในการปฏิสังขรณ์ กล่าวคือคณะกรรมการได้ประชุมกันประมาณเงินที่จะต้องจ่ายทั้งสิ้นเป็นจำนวน ๖๐๐,๐๐๐ บาท แล้วนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระราชศรัทธาอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ๒๐๐,๐๐๐ บาทให้เป็นทุนในการปฏิสังขรณ์ รัฐบาลออกเงินอีกส่วนหนึ่ง ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนเงินที่เหลือก็ได้เปิดรับจากประชาชนทั่วไปตามแต่ศรัทธา สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต นายกกรรมการจัดการทำนุบำรุงวัดพระศรีรัตนศาสดารามโปรดให้ออกประกาศบอกบุญแก่ประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ และกระทรวงพระคลังมหาสมบัติได้ออกประกาศเกี่ยวกับระเบียบการรับเงินเรี่ยไร ตลอดจนสิ่งตอบแทนแก่ผู้บริจาคในวันเดียวกัน [9] ซึ่งได้แก่เหรียญพระแก้วมรกต ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว ปางสมาธิประทับนั่งอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านหลังเป็นรูปยันต์กงจักรมีอักษรจารึกมรรค ๘ ผู้บริจาคตั้งแต่ ๑๐๐ บาทขึ้นไปพระราชทานเหรียญทอง ผู้บริจาคตั้งแต่ ๒๐ บาทขึ้นไปพระราชทานเหรียญเงิน ผู้บริจาคตั้งแต่ ๕ บาทขึ้นไปพระราชทานเหรียญทองคำขาว ผู้บริจาคตั้งแต่ ๑ บาทขึ้นไปพระราชทานเหรียญทองแดง[10]

รายการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามมีทั้งสิ้น ๔๒ รายการ แบ่งเป็น ๓ แผนก ได้แก่ แผนกพระอุโบสถ แผนกวิหารคดพระระเบียง และแผนกหอมนเทียรธรรม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฝังจารึกรายการปฏิสังขรณ์บริเวณผนังด้านนอกของประตูพระอารามตะวันตก [11] อนึ่ง ก่อนหน้านั้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระที่นั่งต่างๆ ในพระบรมมหาราชวังด้วย โดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงอำนวยการซ่อมพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยช่างของราชบัณฑิตยสภาแผนกศิลปากร มีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรรค์ ทรงควบคุม เมื่อขึ้นสำรวจ พบว่าเครื่องบนหลังคาผุหัก ฝนรั่วลงมาทำให้ลายปูนปั้นและผนังผุเปื่อยแตกร้าว จึงต้องเปลี่ยนตัวไม้เครื่องบนละเครื่องยอดใหม่ เป็นโอกาสให้สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระฯ ได้ทรงออกแบบทรวดทรงเครื่องยอดพระที่นั่งจักรีเสียใหม่ให้อ้วนสั้นแทนที่จะเป็นทรงสูงข่มกันกับตัวตึกแบบฝรั่ง นอกจากนั้น ได้ซ่อมแซมบันได้หน้ามุขเด็จ ท้องพระโรงกลาง ฯลฯ เท่าที่ต้องการใช้ก่อน แล้วจึงค่อยๆ หางบประมาณทำไปเป็นระยะทั้งหมู่ [12]

 

พระราชพิธีฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี

ในการเตรียมการได้ประกอบการพระราชพิธีฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี โดยแบ่งงานเป็น ๓ ภาค คือ

ภาคที่ ๑ งานฉลองพระนคร จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔-๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีในวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เวลา ๑๗.๐๐ นาฬิกา ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เจ้าพระยายมราชกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลแทนพสกนิกรชาวสยาม มีพระราชดำรัสตอบแล้ว เสด็จประทับพระมณฑปที่บวงสรวง เสร็จแล้วเสด็จประทับพลับพลา พระราชทานธงชัยเฉลิมพลแก่กองทหาร ๑๒ ธง แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทักษิณท้องสนามหลวง เพื่อพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ราษฎรได้ฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ครั้นเวลา ๑๘.๑๕ น. เสด็จในพระราชพิธีฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปฎิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมทั้งสร้างคัมภีร์พระธรรมเทศนา ในตอนเย็นวันที่ ๔ เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีทรงเจิมคัมภีร์พระธรรมเทศนา ถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า ณ ปราสาทพระเทพบิดร โปรดเกล้าฯ ให้พนักงานวียนเทียนฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามและฉลองคัมภีร์พระธรรมเทศนา และมีการแสดงมหรสพจนถึงกลางคืน

อนึ่ง ระหว่างวันที่ ๕-๖ เมษายน เวลา ๑๔.๐๐-๒๔.๐๐ นาฬิกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนและพระสงฆ์สามเณรได้เข้านมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร เที่ยวชมพระอารามและถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จบุรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า เนื่องในงานฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวันที่ระลึกมหาจักรี เพื่ออนุโมทนาสาธุการพระราชกุศลโดยทั่วกัน ส่วนในวันที่ระลึกมหาจักรี ๖ เมษายนเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้พระสงฆ์สามเณรชุมนุมทำวัตร สาธยายพระพุทธพจนะในพระอุโบสถและที่ศาลาหน้าปราสาทพระเทพบิดร

วันที่ ๕ เมษายน เวลา ๑๗.๑๐ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปทรงสดับพระพุทธมนต์ในการฉลองพระนคร ณ วัดสุทัศน์เทพวรารามซึ่งเป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพระราชพิธีที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ทรงประเคนผ้าไตรและย่ามกับพัดรองที่ระลึกในงานฉลอง พระนครแด่พระสงฆ์ ๓๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้าเป็นประธาน พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ และเหรียญรัตนาภรณ์แก่เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ในการสร้างสะพาน พระราชทานหีบบุหรี่เงินถมแก่นาย เจ รักค์ (Mr. J. Ruck) นายช่างกำกับการก่อสร้างสะพาน กับโปรดเกล้าฯ ให้ส่งหีบบุหรี่เงินถมไปพระราชทานแก่นายชาร์ลส์ มิเชล (Mr. Charles Mitchell) ประธานกรรมการบริษัทดอร์แมน ลอง (Dorman, Long & Co., Ltd.,) ซึ่งดำเนินการก่อสร้างสะพาน

วันที่ ๖ เมษายน วันที่ระลึกมหาจักรี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพระราชพิธีที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนคร สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต นายกกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ (แทนสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ซึ่งสิ้นพระชนม์แล้ว) กราบบังคมทูลรายงานการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ มีพระราชดำรัสตอบแล้ว ได้เวลาอุดมมงคลฤกษ์เวลา ๐๘.๑๕ นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยฆ้อนเงินสำหรับตัดกระดาษ ซึ่งบริษัทดอร์แมน ลอง ทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน จากนั้นเสด็จขึ้นประทับเหนือพระราชยานพุดตานทองเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่ทางสถลมารค (ทางบก) ข้ามสะพานพระพุทธยอดฟ้าจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี และประทับทอดพระเนตรกระบวนเรือรบแล่นผ่านลอดสะพานพระพุทธยอดฟ้า แล้วเสด็จลงประทับเหนือพระราชบัลลังก์บุษบกในเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค (ทางน้ำ) จากฝั่งธนบุรีกลับยังท่าราชวรดิฐฝั่งพระนคร

เมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้ว ประชาชนได้กราบถวายบังคมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอย่างล้นหลามตลอดทั้งวัน

อนึ่ง ในวันที่ระลึกมหาจักรี ๖ เมษายน เวลา ๑๐.๓๐ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานตั้งบายศรีและเครื่องสังเวยที่หน้าศาลหลักเมือง และในเวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าทูลละอองธุลีพระบาท ตลอดจนพ่อค้าคฤหบดีร่วมบำเพ็ญกุศล ถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ที่เจริญพระพุทธมนต์ในงานฉลองพระนคร ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ทั้งนี้ โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดภัตตาหารจากห้องเครื่องต้นพร้อมด้วยไทยธรรมไปถวายประธานคณะสงฆ์ และในเวลา ๑๗. ๐๐ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานพระราชพิธีตั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน ที่หน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พราหมณ์เบิกแว่น เจ้าพนักงานและประชาชนรับแว่นเวียนเทียนสมโภชพระบรมรูป

ภาคที่ ๒ งานเฉลิมสิริราชสมบัติ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๘-๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕

วันที่ ๘ เมษายน เวลา ๑๗.๔๕ นาฬิกา เสด็จออกท้องพระโรงกลาง พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ แล้วสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต นายกกรรมการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ พร้อมด้วยกรรมการทั้งคณะทรงนำพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์จำลองขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย จากนั้นทรงศีลแล้วทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชาสิริราชกกุธภัณฑ์ เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์จบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกมุขกระสันโปรดเกล้าฯ ให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาท เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

วันที่ ๙ เมษายน เวลา ๑๐.๕๕ นาฬิกา เสด็จออกห้องพระราชพิธี พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท บำเพ็ญพระราชกุศลถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ แล้วเสด็จเข้าประทับในพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬารทรงเศวตพัสตร์ เวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา เสด็จออกดาดฟ้าข้างพระที่นั่ง ทรงจุดธูปเทียนสังเวยเทวดา แล้วเสด็จขึ้นประทับพระแท่นมูรธาภิเษก ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ทรงแปรพระพักตร์สู่มงคลทิศอุดร สรงสหัสธารามูรธาภิเษกสนาน แล้วเสด็จเข้าในพระที่นั่งบรมราชสถิตมโหฬาร ทรงเครื่องราชภูษิตาภรณ์ พระภูษาเขียนทองชั้นสีตามพระพิชัยสงครามประจำสนิวาร

ฉลองพระองค์ขาว ทรงรัดพระคต พระมาลาสักหลาดขาว สอดพระสังวาลมหานพรัตน ทรงพระแสงดาบคาบค่าย เสด็จออกห้องพระราชพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายแด่พระสงฆ์ ซึ่ง เจริญพระพุทธมนต์ และในเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานตั้งบายศรีแก้ว ทอง เงิน เวียนเทียนสมโภชพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ภาคที่ ๓ งานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน จัดขึ้นในวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ วันที่ ๒๓ เมษายน เวลา ๑๘.๐๕ นาฬิกา โปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน ทรงพระราชอุทิศถวายสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๖ รัชกาล และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

 

ภาคผนวก

พระราชดำรัสในพระราชพิธีบวงสรวงวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง มีความตอนหนึ่งว่า:

“ตัวเราได้ตั้งใจ และขอให้ท่านทั้งปวงได้มีความพร้อมกันตั้งความปรารถนา ในการปกครองรักษาทำนุบำรุงแผ่นดินในระยะต่อไปนี้ให้ประเพณีวงศ์ดำรงอยู่อย่ารู้เสื่อมคลายและเพิ่มเติมสิ่งซึ่งดีทั้งหลายให้เจริญมากมูลขึ้น ฉันใดที่ท่านแต่ก่อนมีน้ำใจต่อต้านศัตรูภัยอื่นยากมาย่ำยีพระราชอาณาเขตต์ด้วยกำลังพลโยธา ท่านได้ช่วยกันทำหน้าที่ปราบปรามจนวินาศ บัดนี้เราทั้งหลาย ผู้ได้รับมฤดกความสงบราบคาบของท่านแล้ว กลับได้ประสพโภคภัยบ่าเข้ามาท่วมทับ ขอจงมีน้ำใจสนองท่านแต่ก่อนด้วยความตั้งหน้าฝ่าอุปสรรคและอดทน เพื่อให้ชาติของเราตั้งมั่นอยู่ได้ ดุจท่านแต่ก่อนมีความอดทนต่อสู้ศัตรูภายนอกฉะนั้น”

พระราชดำรัสในการพระราชพิธีเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ มีความบางตอนดังนี้:

“อันการสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์ เพื่อเป็นที่ระลึกในการฉลองพระนคร...นับเป็นงานโอฬารอันหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าได้อาศัยความพยายามแห่งท่านทั้งหลายผู้ปรีชาสามารถ ข้าพเจ้ารู้สึกปิติอย่างภาคภูมิใจ ว่าตั้งแต่ดำริเริ่มและปฎิบัติมา ลงมือวางศิลาฤกษ์สะพานเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ การนี้ได้ดำเนิรโดยสะดวก มิได้มีความขัดข้องพ้องพานอย่างไร จนสำเร็จสมความประสงค์ เป็นเกียรติยศแก่ประเทศชาติเห็นปานนี้ เพราะกำลังกายกำลังความคิดและกำลังทรัพย์ของพวกเราช่วยกันทั้งนั้น ขอให้ได้รับความขอบใจจากข้าพเจ้าจงทั่วกัน....การฉลองพระนครคราวนี้ แม้มามีในสมัยที่บ้านเมืองตกอยู่ในฐานอัตคัดฝืดเคือง แต่กำลังความกตัญญู กตเวทีของพวกเราหากเป็นพละแรงกล้า จึ่งสามารถประกอบงานถวายเป็นราชบรรณาการสนอพระเดชพระคุณได้อย่างเอิกเริกมโหฬาร เป็นเกียรติยศสมรูปสมลักษณะ โดยไม่เป็นการสิ้นเปลืองเท่าไร เพราะต่างช่วยกันสำแดงความสวามิภักดิ์ด้วยความรื่นเริงบันเทิงใจ ....ขณะนี้ ได้อุดมฤกษ์ ข้าพเจ้าจะดำเนินการเปิดปฐมบรมราชานุสรณ์ มอบให้เป็นอนุสสรณียวัตถุแด่ชาวสยามทั้งภายนี้และภาคหน้า เพื่อรำลึกถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอยู่เนืองนิจแล้ว เกิดกำลังอาจหาญในการรักษาพระราชมฤดกคือ อิสสรสุขของประเทศสยาม ไว้ให้สถาพรชีวกัลปาวสาน และจะเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าโยงเชื่อมพระมหานครและกรุงธนบุรีเป็นปฐพีแผ่นเดียวกัน ให้มหาชนทั้งสองจังหวัดสัญจรไปมาได้สะดวกตามความปรารถนา เจริญการพาณิชย์ทุกโอกาส ขอให้ถาวรวัตถุอันนี้จงสำเริงสุขประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหลาย ทั่วหน้าเทอญ”

 

บรรณานุกรม

กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์

จันทกาญจ์ คล้อยสาย. ๒๔๔๓. เฉลิมพระนคร ย้อนฉลองกรุง. กรุงเทพฯ: ซีรอกซ์ กราฟฟิก.

ดวงจิตร จิตรพงศ์, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๔๑. ป้าป้อนหลาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง (บก). ๒๕๓๖. ประมวลพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: วัชชรินทร์การพิมพ์.

พิมพวัลคุ์ เสถบุตร. ๒๕๓๗. สอ เสถบุตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ

พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ๒๕๕๑. บทนิทรรศการพระราชประวัติพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ชั้นที่ ๓

 

อ้างอิง

  1. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๑.
  2. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๘ , ๑๑.
  3. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๒๘ – ๒๙.
  4. พิมพวัลคุ์ เสถบุตร. ๒๕๓๗. สอ เสถบุตร. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ผู้จัดการ, หน้า ๑๐๔-๑๐๕.
  5. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๙๙.
  6. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า๑๑๒.
  7. พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ๒๕๕๑. บทนิทรรศการพระราชประวัติพระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว. ชั้นที่ ๓
  8. จันทกาญจ์ คล้อยสาย. ๒๔๔๓. เฉลิมพระนคร ย้อนฉลองกรุง. กรุงเทพฯ: ซีรอกซ์ กราฟฟิก, หน้า ๗-๘.
  9. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๑๑๓.
  10. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๑๑๖.
  11. กรมศิลปากร. ๒๕๒๕. พระราชพิธีฉลองพระนครครบ ๑๕๐ ปี. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, หน้า ๑๒๑-๑๒๒, ๑๒๔.
  12. ดวงจิตร จิตรพงศ์, หม่อมเจ้าหญิง. ๒๕๔๑. ป้าป้อนหลาน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. หน้า ๑๑๓.