ท่าราชวรดิฐ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้แต่ง : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ท่าราชวรดิฐเป็นท่าเรือพิเศษตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าพระที่นั่งราชกิจวินิจ มีคำแปล “ท่าราชวรดิฐ” ว่า ท่าอันประเสริฐของพระราชา ดังนั้นจึงเป็นท่าเรือสำคัญที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวังมากที่สุด อยู่ทางด้านตะวันตกของกำแพงวัง ถนนที่แล่นผ่านท่าราชวรดิฐก็คือถนนมหาราชที่จะแล่นขึ้นมาทางเหนือผ่านท่าช้างวังหลวงเลาะเรื่อยมาจนถึงท่าพระจันทร์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงตัดกับถนนพระจันทร์ เดิมในบริเวณนี้มีพระที่นั่งอยู่หลายหลังที่สร้างมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งเหล่านี้ชำรุดทรุดโทรมในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงโปรดให้รื้อออกไปเสีย เหลือเพียงพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยที่ซ่อมรักษาไว้ ปัจจุบันเวลามีพระราชพิธีทางเรือก็ยังใช้ท่าราชวรดิฐ

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาแล้ว ได้มีเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญเรื่อง หนึ่งเกิดขึ้นที่ท่าราชวรดิฐ ในสมัยที่มีรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่มีผู้นำทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะรัฐประหาร” เป็นผู้สนับสนุนและค้ำเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เหตุการณ์นั้นเรียกกันว่า “กบฏแมนแฮตตัน” แต่ฝ่ายผู้ที่ก่อการเรียกคณะของตนว่า “คณะกู้ชาติ” โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2494 และที่ชื่อของการกบฏนี้เป็นฝรั่งนั่นก็เนื่องจากเกิดขึ้นในวันที่นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ไปในพิธีรับมอบเรือขุดสันดอนที่ชื่อ “แมนแฮตตัน” ที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกามอบให้แก่รัฐบาลไทย

เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อเวลาบ่าย คือ 15.30 น. เมื่อมีพิธีรับมอบเรือขุดแมนแฮตตันที่ท่าราชวรดิฐ โดยไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ได้มีนายทหารเรือที่เป็นผู้นำชื่อ น.ต.มนัส จารุภา นำกำลังหน่วยกล้าตายเพียงไม่กี่คนปฏิบัติการจี้จับตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ต่อหน้าผู้มาร่วมพิธีทั้งคนไทยและทูตานุทูตต่างประเทศ ตอนนั้นก็ได้ลดธงชาติอเมริกันลงจากเสา และได้ชักธงชาติไทยขึ้นไปแทนเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังเดินชมเรือขุดนี้อยู่ น.ต. มนัส จารุภา ก็เริ่มปฏิบัติการจี้จับตัว นายกรัฐมนตรีทันทีดังที่ น.ต.มนัส จารุภา เขียนเล่าไว้ในหนังสือที่เขียนชื่อ “เมื่อข้าพเจ้าจี้ จอมพล ป.” ในเวลาสำคัญนี้ว่า

“ข้าพเจ้าชักเอาปืนกลมือแมดเสนออกจากกระเป๋าถือ กระชากลูกเลื่อนบรรจุลูกปืนเข้าสู่ลำกล้อง บอกกับตัวเองว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือทำงาน ชื่อเสียงของเราจะดีเลวแค่ไหน เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวของข้าพเจ้าร้อน เลือดขึ้นหน้า วิ่งออกจากห้องที่โคนต้นมะขามริมเขื่อนที่หมู่รบนั่งรออยู่ ตะโกนออกคำสั่งว่า “หมู่รบตามข้าพเจ้าวิ่ง” ข้าพเจ้าวิ่งไปตามเขื่อน กระชับปืนมั่นอยู่ในมือตรงไปยังตัวท่าราชวรดิษฐ (พิมพ์ตามต้นฉบับของผู้เขียนเล่าที่ถูกต้องเขียนราชวรดิฐ – ผู้เขียน) หมู่รบวิ่งติดตามข้าพเจ้ามารวมทั้ง ร.ท. ปัญญา และ ร.ท. วีระ (โอสถานนท์-ผู้เขียน)”

ปฏิบัติการของ น.ต.มนัส จารุภา และทหารเรือกลุ่มที่เรียกว่า “หมู่รบ” นี้ทำความแปลกใจให้ทั้งทหารและพลเรือนที่อยู่ในบริเวณพิธีจัดงาน เพราะทหารเรือกลุ่มนี้ได้ปิดสะพานไม่ให้ใครขึ้นลงด้วย โดยให้ทหารเรือถือปืนยืนกันอยู่ ตอนนี้เองที่ปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอกหลวงเสนาณรงค์ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยได้วิ่งเข้ามาพร้อมตะโกนถามว่า

“จะทำอะไรกัน”

น.ต.มนัส จารุภา ไม่ตอบ หากแต่กลับสั่งทหารเรือของตนว่า

“ใครฝ่าฝืนเข้ามาให้ยิงทันที”

จากนั้น น.ต.มนัส จารุภา ก็วิ่งขึ้นสะพานที่ทอดลงมาจากเรือแมนแฮตตัน เพื่อไปดักรอจับจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยผ่านทั้งพลเรือเอกหลวงสินธุ์สงครามชัย ผู้บัญชาการทหารเรือ และพลเรือตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรีรอจนจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และคณะเดินเข้ามาใกล้ที่ น.ต.มนัส จารุภา ยืนอยู่ น.ต.มนัส จารุภา จึงกล่าวขึ้นว่า

“เราต้องการแค่ตัวจอมพล คนอื่นไม่เกี่ยวถอยออกไป ขอเชิญจอมพลทางนี้”

ตอนแรก มิสเตอร์ มิสกูด เจ้าหน้าที่สถานทูตอเมริกัน ก็ทำท่าจะกั้นตัวนายกรัฐมนตรีไว้ แต่เห็นท่า น.ต.มนัส จารุภา เอาจริง ที่ยกปืนประทับและสั่งให้ฝรั่งถอยออกไปจึงได้ถอยเปิดทางให้ น.ต.มนัส จารุภาจึงจี้ให้นายกรัฐมนตรีกับทหารติดตามและตำรวจติดตามไปลงเรือเปิดหัวขนาดเล็ก ที่ น.อ.อานนท์ ปุณฑริกภา ให้มาจอดรถอยู่ที่ท่าแล้ว นำจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไปขึ้นเรือรบหลวงศรีอยุธยา

เหตุการณ์หลังจากนั้น พ.อ.อนันต์ พิบูลสงคราม เขียนเล่าเอาไว้ตอนหนึ่งว่า

“เมื่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ถูกนำตัวไปกักขังเป็นประกันไว้ในเรือรบหลวงศรีอยุธยาแล้ว ฝ่ายรัฐบาลซึ่งมี พ.อ.นายวรการบัญชาเป็นผู้รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีได้ส่งผู้แทนไปเจรจาขอร้องให้ฝ่ายทหารเรือหยุดกระทำอันเป็นกบฏจลาจลนั้นเสียโดยทันที ครั้นฝ่ายทหารเรือบางส่วนยังดื้อดึงอยู่ การปะทะกันก็อุบัติขึ้นหลายแห่งในพระนครระหว่างกำลังทหารบกและตำรวจ ฝ่ายรัฐบาลกับกำลังทหารเรือฝ่ายก่อการกบฏ”

ยี่สิบสี่ชั่วโมงต่อมาทางรัฐบาลก็สั่งให้ทางกองทัพอากาศส่งเครื่องบินเรือรบหลวงศรีอยุธยา ดังที่สว่าง ลานเหลือได้เขียนเล่าไว้ใน “37 ปีแห่งการปฏิวัติ” ว่า

“กระทั่งเวลา 15.00 น. เครื่องบินของกองทัพอากาศซึ่งขับขี่โดยนาวาตรีพร่างเพ็ชร์ บุณยรัตพันธ์ ได้กราดปืนกลทิ้งระเบิดลงที่ ร.ล.ศรีอยุธยา จนเกิดไฟไหม้เรือจม จอมพล ป. ซึ่งถูกคุมอยู่บนเรือว่ายน้ำข้ามฝั่งไปขึ้นทางด้านกองทัพเรือ มี ร.ท.ชอบ ศิริวัฒน์ และ ร.ท.มาโนช ทุมมานนท์ นายทหารเรือทั้งคู่ (ยศขณะนั้น) ว่ายน้ำขนาบซ้ายขวา เพื่อช่วยเหลือไม่ให้จอมพลทหารบกต้องจมหายลงไปในน้ำ พลตรีหม่อมหลวงขาบ กุญชร อดีตนายทหารเสรีไทยได้ไปขอรับตัวจอมพล ป. จากพระราชวังเดิมกลับมาโดยมีนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ เช่น พลเรือเอก หลวงสินธุ์ฯ และ พลเรือตรี แชน ปัจจุสานนท์ ร่วมมาด้วย...”

เมื่อได้ตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งรอดจากพิฆาตเรือรบหลวงศรีอยุธยา จมลงไปได้แล้ว คืนวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2494 เวลาดึกประมาณ ห้าทุ่มสี่สิบห้านาทีทางรัฐบาลก็ออกแถลงการณ์ว่า

“บัดนี้ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีได้กลับมายังกองบัญชาการกลางคณะรัฐมนตรี ณ วังปารุสกวันโดยเรียบร้อยแล้ว”

สาเหตุของการจี้จอมพล ป.พิบูลสงครามครั้งนี้ น่าจะไม่ใช่เรื่องทำกันเล่น ๆ หากเป็นเรื่องที่ทางฝ่ายทหารเรือไม่พอใจทั้งรัฐบาลและคนในคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นทหารบกและตำรวจ และ น.ต.มนัส จารุภา ได้เขียนเล่าการคุยกันระหว่างเขากับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ใน ร.ล.ศรีอยุธยา ขณะที่กักตัวจอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้

หลวงพิบูลฯ “ในการกระทำครั้งนี้มีพวกคอมมิวนิสต์ร่วมด้วยหรือเปล่า”

มนัส “ไม่มี”

หลวงพิบูลฯ “แล้วหลวงประดิษฐ์ร่วมด้วยหรือเปล่า”

มนัส “ไม่ได้ร่วม”

หลวงพิบูลฯ “ได้ซับซิตี้ (เงินอุดหนุน) จากใคร”

มนัส “พวกที่ทำงานครั้งนี้ เป็นพวกคนหนุ่มเกือบทั้งสิ้นไม่เคยได้รับเงินทองอุดหนุนจากบุคคลหรือคณะใด ๆ มีแต่เงินเดือนของตนเอง แม้แต่ตัวผมเองก็เงินติดกระเป๋าในขณะนี้เพียงพันสองร้อยบาทเท่านั้นเอง”

เว้นระยะไปชั่วระยะเวลาหนึ่ง หลวงพิบูลสงครามก็ถามคำถามอีกว่า

“เหตุใดพวกคุณจึงคิดทำการเช่นนี้ขึ้น”

ครั้งนี้นายกรัฐมนตรีจอมพล ป.พิบูลสงคราม หัวหน้ารัฐบาลได้รับคำตอบยาวหน่อย

“ที่พวกผมทำขึ้นก็เพราะว่า รัฐบาลคณะนี้มีความเหลวแหลกมากมาย รัฐมนตรีในคณะหลายคนทำความชั่วร้าย ใช้อำนาจหน้าที่ในทางทุจริตกอบโกยผลประโยชน์ส่วนตัว โดยไม่คิดถึงประโยชน์ของราษฎรส่วนรวมตลอดทั้งบุคคลหลายคนในคณะรัฐประหารก็ได้ใช้อภิสิทธิ์แสวงหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าพรรคพวกตนเองเช่นเดียวกัน”

แต่คำสนทนาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ “ถูกจี้” กับ น.ต.มนัส จารุภา ผู้จี้ก็เป็นเพียงคำบันทึกที่ปรากฏหลังเหตุการณ์กบฏแมนแฮตตันหลายปี โดยไม่มีคำตอบ บางคนฝ่ายหลวงพิบูลสงครามมองว่าเป็นคำแก้ตัวของผู้ก่อการ

เมื่อฝ่ายที่ก่อการเป็นฝ่ายแพ้ก็ต้องหนี น.ต.มนัส จารุภา กับพรรคพวกอีก 3 คนหนีขึ้นไปทางเหนือและข้ามแดนไปอยู่ในเขตพม่า จนอีกหลายปีจึงได้กลับเข้ามาในไทยและถูกจับกุมตัวได้

ส่วนพวกที่ไม่ได้หนีหรือหนีไม่พ้นก็ถูกจับกุมตัวมาดำเนินคดี ทางรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างผู้มีอำนาจฝ่ายทหารทั้งกองทัพบกและตำรวจก็ได้ทำการกวาดล้างทั้งศัตรูทางการเมืองและฝ่ายทหารเรือ นายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ต้องถูกภัยการเมืองเล่นงาน รวมทั้งผู้บัญชาการทหารเรือที่เคยเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ร่วมกันมากับนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามก็ถูกเล่นงานด้วยมีนายทหารเรือชั้นผู้ใหญ่ถูกจับกุมตัวเป็นผู้ต้องหาถึง 70 คน จนแทบไม่เหลือนายทหารเรืออาวุโสในกองทัพเรือขณะนั้น

แต่เรื่องกบฏแมนแฮตตันนี้ได้ถูกสมาชิกวุฒิสภาคือพระยาศรีธรรมราช เสนอเปิดอภิปรายทั่วไปเรื่องการกบฏจลาจลขึ้นต่อสภา และได้มีการอภิปรายกันเป็นเวลา 4 วัน จากวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2494 ถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ซึ่งการอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดีเป็นการเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้ชี้แจงข้อสงสัย เพราะฝ่ายกบฏเองไม่มีใครสามารถเข้ามาชี้แจงได้ แต่เชื่อว่าการอภิปรายของวุฒิสภานั้นน่าจะทำให้รัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทหารในตอนนั้นไม่พอใจ ดังปรากฏความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ที่ อ.พิบูลสงคราม เขียนเอาไว้

“...อภิปรายระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม จนถึง 3 พฤศจิกายน เป็นเวลาสี่วัน รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม แทนที่จะเป็นฝ่ายโจทย์ในคดีกบฏแมนแฮตตัน จึงกลับต้องมานั่งเป็นเสมือนจำเลยตัวการของวุฒิสภา ซึ่งบัดนี้ได้ประกาศความเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม อย่างเปิดเผย และขณะเดียวกันก็แสดงตัวออกมาให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้สนับสนุนฝ่ายกบฏแมนแฮตตันมาแล้วโดยปริยาย การเปิดอภิปรายทั่วไปของวุฒิสภาในครั้งนั้นจึงบ่งชี้ให้เห็นความมุ่งหมายของ นายควง อภัยวงศ์ และพรรคพวกประชาธิปัตย์ว่าจะ ‘เชือดคอไก่’ ให้จงได้”

ความรู้สึกในทำนองเดียวกันนี้อาจมิได้มีอยู่แต่เฉพาะคนใกล้ชิดนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เท่านั้น คณะรัฐประหารและผู้นำทหารบกกับตำรวจที่ได้ดำเนินการกวาดล้างศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลและลดทอนอำนาจและกำลังของกองทัพเรือก็อาจคิดไปในทางเดียวกัน ดังนั้นคณะทหารที่ประกอบด้วยนายทหารบก ทหารเรือ และทหารอากาศ จำนวน 9 คน ที่นำโดย พลเอก ผิน ชุณหวัณ เพราะเป็นหัวหน้าคณะทหารจึงได้เข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม และตั้งคณะบริหารประเทศชั่วคราวขึ้น

แต่เป้าหมายการยึดอำนาจไม่ได้อยู่ที่จะขจัด จอมพล ป.พิบูลสงคราม หากแต่ล้มรัฐบาลเดิม และยุบสภาเพื่อขจัดวุฒิสภาที่รัฐบาลคุมไม่ได้ และล้มเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 ที่พวกตนไม่ชอบใจ โดยประกาศให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2475 กลับมาใช้ชั่วคราวก่อน

เพียงวันเดียวก็มีการตั้งคณะรัฐมนตรีชั่วคราว ที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะบริหารประเทศชั่วคราวก็แต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภทที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ และให้สมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งนี้ทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง

จึงอาจกล่าวได้ว่า “กบฏแมนแฮตตัน” ที่ล้มรัฐบาลไม่สำเร็จนั้นก็นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ที่ผู้นำทหารของรัฐบาลจัดการยึดอำนาจและสถาปนาคณะของตนให้มีอำนาจมากขึ้นไปกว่าเดิมอีกด้วย