ผลต่างระหว่างรุ่นของ "กรมร่างกฎหมาย"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 3: บรรทัดที่ 3:
----
----


'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' นายจเร พันธุ์เปรื่อง  
'''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ''' รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง  


----
----

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 10:31, 31 พฤษภาคม 2556

ผู้เรียบเรียง นายนิพัทธ์ สระฉันทพงษ์


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


องค์กรงานร่างกฎหมายของไทยในอดีต

ในสมัยก่อนประเทศไทยยังไม่มีองค์กรทำงานร่างกฎหมายโดยเฉพาะ การร่างกฎหมายในสมัยนั้นจึงมักจะกระทำต่อเมื่อมีคดีความเกิดขึ้น และกฎหมายที่มีอยู่ในขณะนั้นคือกฎหมายพระธรรมศาสตร์มิได้กล่าวไว้หรือกฎหมายที่มีอยู่ขัดกับประเพณีที่นิยมของประเทศไทย พระมหากษัตริย์จะทรงตั้งพระราชกำหนดบท พระอัยการขึ้นเป็นกฎหมายเฉพาะเป็นเรื่องๆ ไป ซึ่งบางครั้งเรียกว่า “พระราชศาสตร์” โดยใช้เคียงคู่กับ “พระธรรมศาสตร์” ซึ่งเป็นหลักอยู่

สำหรับวิธีการร่างกฎหมายนั้นพระมหากษัตริย์จะมีพระราชดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เป็นพนักงานเรียงข้อความขึ้นหรือบางครั้งก็มีเจ้าหน้าที่อื่นรับพระบรมราชโองการมาสั่งให้อาลักษณ์เรียบเรียงอีกชั้นหนึ่ง เมื่อร่างแล้วพระมหากษัตริย์ก็ทรงนำมาตรวจแก้ด้วยพระองค์เอง แล้วจึงประกาศใช้

ในกรณีที่กฎหมายที่มีอยู่ใช้มานานแล้วหรือเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากซับซ้อนไม่สะดวกแก่การพิจารณาคดีก็จะมีการชำระกฎหมายกันครั้งหนึ่ง โดยพระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประชุม “ลูกขุน ณ ศาลา” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ และ “ลูกขุน ณ ศาลา” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายตุลาการ มีหน้าที่ตรวจชำระกฎหมายโดยให้ยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัยหรือที่ไม่ควรใช้ และคงใช้เท่าที่ใช้ได้ และจัดระเบียบกฎหมายต่างๆ ให้เป็นหมวด หมู่ และมาตรา เพื่อให้คนสามารถรู้กฎหมายได้ง่ายขึ้น การร่างกฎหมายเช่นนี้จะกระทำเป็นครั้งคราว

ต่อมาครั้งหลังสุด เมื่อปี พ.ศ. 2347 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงมีพระบรมราชโองการให้มีการชำระกฎหมายทั้งหมด ซึ่งต่อมาเรียกกฎหมายที่ร่างในครั้งนั้นว่า “กฎหมาย ตราสามดวง” หรือ “ประมวลกฎหมายรัชกาลที่หนึ่ง” การร่างกฎหมายในสมัยเดิมจึงเอาแต่ผู้รู้งานที่เกี่ยวข้อง มาช่วยกันทำ มิได้มีผู้ชำนาญด้านการร่างกฎหมายโดยเฉพาะ ส่วนวิธีการปฏิบัติที่พระมหากษัตริย์ทรงตรวจแก้กฎหมายด้วยพระองค์เองนั้นคงปฏิบัติกันต่อมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[1]

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2417 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน”และได้มี “ประกาศว่าด้วยการตั้งเคาน์ซิลแลพระราชบัญญัติ” และในปีเดียวกันได้มีการกำหนดวิธีการดำเนินงาน โดยสภาที่ปรึกษา (Council of State) จะรวมผู้มีสติปัญญาไว้เป็นที่ปรึกษาในการบริหารราชการ และกรณีเป็นเรื่องสำคัญก็จะร่างเป็นกฎหมายขึ้น นอกจากนี้สภานี้ยังมีพระราชประสงค์จะให้ทำหน้าที่พิจารณาถ้อยคำที่จะใช้ในกฎหมายด้วย และเรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวาย และยังทรงมอบหมายให้สภาดังกล่าวถวายคำแนะนำเพื่อคิดด้านการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่ถูกต้องด้วย

“เคาน์ซิลออฟสเตค” ดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ “สภาแห่งรัฐ” (Conseil d’ Etat) ของประเทศฝรั่งเศส เพราะฉะนั้น “เคาน์ซิลออฟสเตค” นี้เปรียบเหมือนสถาบันแรกของประเทศไทย ที่ดำเนินการด้านการร่างกฎหมายโดยเฉพาะและให้คำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินในประเทศไทย อันเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อทำหน้าที่ในลักษณะดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา[2]

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงดำริใหม่เห็นว่างานการใช้บังคับกฎหมายนั้นมีเจ้าหน้าที่ทางธุรการดำเนินงานอยู่แล้ว และในด้านการพิจารณาคดีความ ก็มีผู้พิพากษาตุลาการ แต่ส่วนราชการที่จะคิดทำกฎหมายยังไม่มีพนักงานจัดไว้เป็นกรมโดยเฉพาะ จึงได้มี “พระราชบัญญัติรัฐมนตรี ร.ศ. 113” ขึ้นใหม่ เพื่อให้การตรวจตราแก้ไขและการประชุมปรึกษากฎหมายมีความสมบูรณ์ขึ้น ที่ประชุมปรึกษากฎหมายนี้ เรียกว่า “รัฐมนตรีสภา” ส่วนรัฐมนตรีนั้น มี 2 ประเภท คือ (1) เสนาบดีหรือผู้แทนเสนาบดี และ (2) ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งขึ้น

ในระหว่างปี พ.ศ. 2440 ได้เริ่มมีการจ้างฝรั่งและชาวต่างประเทศเข้ามาช่วยแก้ไขและการยกร่างกฎหมายสำคัญต่างๆ และได้ตั้งขึ้นเป็นคณะกรรมการมีหน้าที่ตรวจชำระพระราชกำหนดบทกฎหมายเก่าใหม่ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เป็นประธาน และมีพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงพิชิตปรีชากร พระยาประชากิจกรจักร (แช่ม บุนนาค) เจ้าพระยาอภัยราชา (โรแลง ยัคแมงส์) เมอซิเออร์ ริชาร์ด ยัคส์ เกอร์กแปตริก หมอโตกิจิ มาเซา และเมอซิเออร์ คอร์เนย์ ชเล็สเซอร์ เป็นกรรมการ หลังจากนั้นมามีการตั้งกรรมการอีกหลายชุดเพื่อชำระกฎหมายที่จำเป็นให้ใช้ได้ไปพลางก่อน จึงอาจกล่าวได้ว่า ในการร่างกฎหมายสมัยใหม่นี้[3] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้ทรงรับหน้าที่งานร่างกฎหมายอย่างเป็นล่ำเป็นสันเป็นพระองค์แรก จนได้รับพระนามว่า “พระบิดาแห่งกฎหมายไทย” [4]

ในปี พ.ศ. 2451 ได้มีการจ้างชาวฝรั่งเศสเข้ามาเป็นกรรมการอีกเพื่อยกร่างประมวลกฎหมาย 4 ฉบับ โดยกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายชุดนี้ทำการอยู่ที่อาคารบริเวณวัดมหาธาตุด้านสนามหลวง ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่อาคารของกระทรวงยุติธรรมที่ท่าช้างวังหน้า (ซึ่งปัจจุบันได้รื้อถอนไปแล้ว และสร้างเป็นโรงละครแห่งชาติขึ้นแทน) จนถึงปี พ.ศ. 2459 กองกรรมการชำระประมวลกฎหมายชาวต่างประเทศ ก็รวบรวมร่างกฎหมายขึ้นถวายและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยขึ้นตรวจแก้ ซึ่งขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงสนพระทัยในงานร่างกฎหมายมาก และได้ทรงแต่งตั้งกรรมการฝ่ายไทยเพิ่มขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2459 และในปี พ.ศ. 2462 ก็ได้แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เป็นการแน่นอนขึ้นโดยให้พระยามานวราชเสวี (ปลอด – วิเชียร ณ สงขลา) เป็นเลขานุการประจำกองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย ในระหว่างนี้โดยผลของสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ประเทศไทยประกาศสงครามกับประเทศเยอรมัน ประเทศออสเตรีย และประเทศฮังการี ทำให้มีการริบทรัพย์เชลยและได้อาคารของพ่อค้าชาวเยอรมันคนหนึ่งมา กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย จึงได้ย้ายมาทำงานที่ตึกใหม่นี้ ซึ่งต่อมากลายมาเป็นที่ทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจนถึงปัจจุบัน[5]

ความเป็นมาของกรมร่างกฎหมาย

ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลของไทยให้ทันสมัย มีความเป็นสากล เนื่องจากศาลไทยในเวลานั้น คือ เรื่องของศาลกงสุลต่างชาติ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในประเทศไทยเป็น ที่รู้กันว่าชาวต่างชาติมีอำนาจอิทธิพลมาก เวลาเกิดคดีความ ข้อโต้แย้งขึ้นมา คนไทยมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ เพราะชาวต่างชาติมักอ้างกฎหมายไทยยังล้าหลังไม่ทันสมัย เพื่อใช้เป็นข้ออ้างเอาเปรียบคนไทย ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลไทยยังไม่พร้อมที่จะรับข้อกฎหมายใหม่ๆ[6] เพื่อใช้เป็นเหตุผลในการขอยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ทำไว้กับต่างประเทศ จึงได้มีการจัดตั้ง “คณะกรรมการร่างประมวลกฎหมายต่างๆ” ขึ้นหลายคณะ เพื่อร่างกฎหมายอย่างสากล และได้มีการแต่งตั้งนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสให้ดำรงตำแหน่งเป็น “ที่ปรึกษาในการร่างกฎหมาย” ในปี พ.ศ. 2447 เพื่อเป็นการสนองข้อเรียกร้องของรัฐบาลฝรั่งเศสในการที่จะยอมแก้ไขสนธิสัญญายกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ที่จะทำให้การชำระสะสางกฎหมายต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงทรงจัดระเบียบวิธีในการชำระสะสางกฎหมายเสียใหม่จึงทรง พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศตั้ง “กรมร่างกฎหมาย” สังกัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้มีการจัดตั้งองค์กรที่มีหน้าที่ในการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายโดยตรงขึ้นในประเทศไทย

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ได้มีประกาศพระบรมราชโองการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2475 ให้โอน “กรมร่างกฎหมาย” ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมไปขึ้นตรงต่อ “คณะกรรมการราษฎร” ซึ่งคณะกรรมการราษฎรได้เห็นความสำคัญของ “กรมร่างกฎหมาย” โดยเห็นควรจัดตั้งหน่วยงานในลักษณะของ “สภาแห่งรัฐ” (Conseil d’ Etat) ของประเทศในภาคพื้นยุโรป เพื่อความสะดวกในการดำเนินการออกกฎหมาย[7]

จากนั้นได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช 2476 ซึ่งประกาศใช้ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2476 โดยพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติให้ “กรมร่างกฎหมาย” เป็นกรมอิสระที่ขึ้นตรงต่อคณะรัฐมนตรี[8]

การบริหารงานของกรมร่างกฎหมาย

โดยยกกองกรรมการชำระประมวลกฎหมายขึ้นเป็นกรมชั้นอธิบดี สังกัดในกระทรวงยุติธรรม โดยมิได้มีหน้าที่ชำระประมวลกฎหมายแต่อย่างเดียว แต่ให้มีหน้าที่ร่างกฎหมายอื่นๆ ด้วย เพื่อให้กฎหมายมีการร่างที่ถูกวิธีการ และให้กระทรวงทบวงการต่างๆ ส่งร่างกฎหมายมาให้กรมร่างกฎหมายตรวจแก้เสียก่อนแล้วจึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรมร่างกฎหมายในครั้งนั้น มีโครงสร้างประกอบไปด้วย

1. เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (ม.ร.ว. ลพ สุทัศน์) เป็นนายกกรรมการ

2. นายอาร์ ซี กียอง หัวหน้ากรรมการร่างประมวลกฎหมาย เป็นที่ปรึกษา

3. พระยานรเนติบัญชากิจ (ลัด เศรษฐบุตร) เป็นกรรมการ

4. พระยาจินดาภิรมย์ (จิตร ณ สงขลา) เป็นกรรมการ

5. พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี (บุญช่วย วณิกกุล) เป็นกรรมการ

6. นายชาลส์ เลเวกส์ เป็นกรรมการ

7. พระยามานวราชเสวี เป็นกรรมการ

8. นายเรมี เดอ ปลังเตอโรส เป็นกรรมการ

9. นายเรเน กาโซ เป็นกรรมการ

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการ เมื่อปี พ.ศ. 2469 ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เป็น “นายกกรรมการกรมร่างกฎหมาย” โดยตำแหน่ง แทนการแต่งตั้งเป็นการเฉพาะบุคคลแต่เดิม และให้เพิ่มตำแหน่ง “อุปนายก” ขึ้นอีกตำแหน่งหนึ่ง เพราะเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมมักมีราชการประจำมาก และในปีเดียวกันนั้นเอง ได้มีการวางระเบียบเกี่ยวกับการส่งร่างกฎหมายมาเพื่อพิจารณาให้แน่นอนขึ้น โดยในกรณีเป็นการคิดการใหม่ให้นำ “หลักการ” ขึ้นพิจารณาในเสนาบดีสภาหรืออภิรัฐมนตรีสภาเพื่ออนุมัติก่อน ส่วนกฎหมายอื่นๆ ก็ให้ตกลงกับเจ้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องเสียก่อน จึงจะส่งมายังกรมร่างกฎหมาย[9]

อำนาจหน้าที่ของกรมร่างกฎหมาย

กรมร่างกฎหมายจะมีลักษณะเป็นหน่วยงานบริหารโดยทั่วไป คือ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่ ร่างกฎหมาย โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างกฎหมายเฉพาะเรื่อง (ad hoc committee) เป็นครั้งคราว ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมิได้มีลักษณะเป็นสถาบันที่มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งและไม่มีระเบียบการปฏิบัติงานที่เป็นระบบ[10]

กรมร่างกฎหมายได้กลายมาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา

กรมร่างกฎหมายได้โอนสังกัดไปขึ้นตรงต่อ “คณะกรรมการราษฎร” เพื่อความสะดวกในการดำเนินการออกกฎหมาย และตามความจำเป็นในงานร่างกฎหมายแล้ว รัฐบาลในช่วงนั้นประสงค์จะให้มีองค์กรขึ้นประเภทหนึ่ง ทำหน้าที่พิจารณาข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน โดยให้มีสภาพเช่นเดียวกับ “สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ” (Conseil d' Etat) ของประเทศฝรั่งเศส และในปีต่อมาได้มีการตรา “พระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พุทธศักราช 2476” โดยโอนงานของ “กรมร่างกฎหมาย” มาเป็นงานของคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทำหน้าที่ร่างกฎหมาย ให้คำปรึกษาทางกฎหมายและทำหน้าที่เป็นศาลปกครอง ดังนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ “สภาที่ปรึกษาแห่งรัฐ” (Conseil d' Etat) ของประเทศฝรั่งเศส ทุกประการ เพียงแต่ว่าในส่วนที่เกี่ยวกับคดีปกครองนั้นยังไม่เริ่มทำการจนกว่าจะมีกฎหมายตามมาอีกฉบับหนึ่ง เพื่อกำหนดว่าอะไรเป็นคดีปกครองบ้าง การที่ให้เรียก “องค์กรศาลปกครอง” ที่จะจัดตั้งขึ้นนั้นว่า “คณะกรรมการกฤษฎีกา” ก็เพราะรัฐบาลในขณะนั้นโดยดำริของนายปรีดี พนมยงค์ ไม่ประสงค์จะใช้คำว่า “ศาล” เนื่องจากสัญญาทางพระราชไมตรีเกี่ยวกับการถอนคดีจากอำนาจของศาลไทยยังมีอยู่ และเกรงว่าต่างประเทศจะอ้างเหตุการณ์ตั้งศาลใหม่เข้ามาแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินได้ ตามกฎหมายดังกล่าวได้แบ่งกรรมการกฤษฎีกาเป็น 2 ประเภท คือ กรรมการร่างกฎหมาย และกรรมการกฤษฎีกา[11] ขึ้นตามแนวทางของสถาบันที่ปฤกษาราชการแผ่นดินในสมัยรัชกาลที่ 5 และ Conseil d' Etat ของประเทศภาคพื้นทวีปยุโรป โดยองค์กรดังกล่าวจะทำหน้าที่ร่างกฎหมายและให้ความเห็นทางกฎหมายแก่รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐแทนกรมร่างกฎหมาย รวมทั้งมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเสียหายจากการกระทำตามหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคดีปกครองด้วย เพื่อให้คณะกรรมการกฤษฎีกาปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ กฎหมายดังกล่าวได้จัดตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการและให้การบริการทางวิชาการแก่คณะกรรมการกฤษฎีกา จึงนับได้ว่า “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ได้มีการจัดตั้งขึ้นเป็นทางการ

แต่อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2476 ใช้บังคับอยู่นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาจะปฏิบัติหน้าที่เฉพาะการร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมาย ส่วนงานชี้ขาดคดีปกครอง เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีการตรากฎหมายเพื่อกำหนดประเภทคดีปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงยังมิได้ทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดีปกครองและสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาก็เพียงแต่มีบทบาทในการช่วยเหลือคณะกรรมาการกฤษฎีกาในด้านการร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายตามที่รัฐบาลส่งเรื่องมาให้ดำเนินการ[12]

ต่อมาในปี พ.ศ. 2522 จากการที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการและหน่วยบริหารงานของคณะกรรมการกฤษฎีกามาเป็นเวลานาน จึงได้มีโอกาสรับทราบปัญหาข้อขัดข้องทางการบริหารของฝ่ายปกครองในรูปของการขอคำปรึกษากฎหมายและในรูปของการเสนอแก้ไขปรับปรุงกฎหมายมาโดยตลอด และสำนักงานฯ ได้ทำการวิเคราะห์ประสบการณ์และแนวทางในการแก้ไขปัญหาของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศได้ข้อยุติว่า การบริหารของประเทศในปัจจุบันยังขาดการกำหนดระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และโดยที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดตั้งขึ้นโดยมีรูปแบบเช่นเดียวกับ “สภาแห่งรัฐ” (Conseil d' Etat) ของประเทศฝรั่งเศส ประเทศไทยจึงสมควรดำเนินการพัฒนาในรูปแบบเดียวกัน เพื่อสร้างความเชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายปกครองซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางระเบียบแบบแผนในการปฏิบัติราชการได้ต่อไป

โดยแนวคิดและเป้าหมายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้เสนอให้มีการตราพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ขึ้น เพื่อปรับปรุงการจัดองค์กร อำนาจหน้าที่และกลไกในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียใหม่ โดยกำหนดแผนงานและขั้นตอนของการพัฒนาคณะกรรมการกฤษฎีกาให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบวิธีพิจารณาคดีปกครองขึ้นในประเทศไทย โดยมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์” ขึ้น เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทในคดีปกครองต่างหากจากคณะกรรมการร่างกฎหมายซึ่งยังคงไว้เช่นเดิม[13] และให้มี “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น

อนึ่ง อำนาจของคณะกรรมการกฤษฎีกาในการพิจารณาเรื่องที่ราษฎรได้รับความเสียหายจากการกระทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือคดีปกครองได้รับการพัฒนาตลอดมา จนในที่สุดได้โอนไปเป็นอำนาจของศาลปกครอง เมื่อมีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้น ในปี พ.ศ. 2542[14]

อ้างอิง

  1. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 60 ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ป.. หน้า 1 – 2.
  2. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. ความเป็นมาและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. ม.ป.ท..ม.ป.ป. หน้า 2.
  3. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 60 ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ป.. หน้า 3.
  4. วิกิพีเดีย. “วันรพี”, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki. (4 กุมภาพันธ์ 2556) หน้า 1.
  5. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 60 ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ป.. หน้า 3.
  6. วิกิพีเดีย. “วันรพี”, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://th.wikipedia.org/wiki. (4 กุมภาพันธ์ 2556) หน้า 3.
  7. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 60 ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ป.. หน้า 4.
  8. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 120 ปี เคาน์ซิลออฟสเตด จากสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2417 – พ.ศ. 2537. กรุงเทพมหานคร. 2537. หน้า 22.
  9. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 60 ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ป.. หน้า 3 - 4.
  10. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 120 ปี เคาน์ซิลออฟสเตด จากสถาบันที่ปรึกษาราชการแผ่นดินมาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2417 – พ.ศ. 2537. กรุงเทพมหานคร. 2537. หน้า 22.
  11. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. 60 ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. กรุงเทพมหานคร. ม.ป.ป.. หน้า 4.
  12. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. ความเป็นมาและอำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. ม.ป.ท..ม.ป.ป.. หน้า 3.
  13. เรื่องเดียวกัน, หน้า 4.
  14. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา. “ประวัติความเป็นมา”, [ออนไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.krisdika.go.th (4 กุมภาพันธ์ 2556) หน้า 1.