ผลต่างระหว่างรุ่นของ "สมัชชาคนจน"
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
ลไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 218: | บรรทัดที่ 218: | ||
<references/> | <references/> | ||
[[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน]] | [[หมวดหมู่:เหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย สมัย พ.ศ. 2520-ปัจจุบัน]] | ||
[[หมวดหมู่:อุเชนทร์ เชียงเสน]] |
รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 14:10, 5 ตุลาคม 2554
ผู้เรียบเรียง อุเชนทร์ เชียงเสน
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
สมัชชาคนจน
สมัชชาคนจน” เป็น “ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม” ของคนยากจนที่มีบทบาทสำคัญและได้รับความสนใจอย่างมากในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากมีกิจกรรม/การเคลื่อนไหวที่โดดเด่น โดยเฉพาะเรื่องการชุมนุม เดินขบวนเพื่อเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า “การเมืองบนท้องถนน” จนได้รับการยอมรับ เป็นที่รู้จัก หรือกล่าวถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งจากสื่อมวลชนและนักวิชาการ แม้ว่าในระยะหลัง ท่ามกลางบริบททางการเมืองที่เปลี่ยนไป สมัชชาคนจนจะไม่ได้มีบทบาทโดดเด่นในเวทีการเมืองบนท้องถนนมากนักแล้วก็ตาม แต่หากพิจารณาในฐานะองค์กรมวลชนที่มี “ชีวิตทางการเมือง” มากว่า 10 ปี กล่าวได้ว่า สมัชชาคนจน เป็น “องค์กร”ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีอายุยืนยาว มีกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมากองค์กรหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรที่มีลักษณะใกล้เคียงกันที่เกิดขึ้น ในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535
การก่อตัวของสมัชชาคนจน [1]
สมัชชาคนจนก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2538 (วันสิทธิมนุษยชนสากล) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมีตัวแทนชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา ทั้งในประเทศ และอีก 10 ประเทศในทวีปเอเชียได้เข้าร่วมกันก่อตั้ง หลังจากนั้นได้ร่วมกันร่าง “คำประกาศลำน้ำมูล” หรือ “ปฏิญญาปากมูล” ขึ้นในระหว่างวันที่ 11-14 ธันวาคม 2538 ณ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยผู้เข้าร่วมมีความเห็นร่วมกันว่า
- แนวคิดที่สนับสนุนแต่เพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชน เป็นแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อประชาชนและต่อการพัฒนาสังคม จึงถือเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องได้รับการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนะ ความคิด ยุทธศาสตร์ และการปฏิบัติในกระบวนการพัฒนาทั้งของรัฐและบริษัทเอกชนเสียใหม่ ตามแนวทางที่จะมุ่งไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติที่ไร้พรมแดน [2]
ทั้งนี้ “สมัชชาคนจน” อธิบายตนเองว่าเป็น
- เครือข่ายของชาวบ้านคนยากจนจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ ที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงครามการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ระหว่างภาครัฐและธุรกิจกับชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นทั้งในชนบทและในเมือง นโยบาย และโครงการพัฒนาของรัฐ กฎหมาย ฯลฯ ที่รุกรานวิถีชีวิตปกติ ละเมิดสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่น ทำลายวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย [3]
โดยในการก่อตั้ง สมัชชาคนจน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีรวบรวมพลังแห่งความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ประสานความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในการผลักดันให้ตระหนักว่า รัฐต้องจัดสรรทรัพยากรต่างๆให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง[4] และประสานความร่วมมือซึ่งกันและกันเพื่อการแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมาชิก[5]
ทั้งนี้ เครือข่ายย่อยๆ ที่เข้ามาร่วมกันกันก่อตั้งและเคลื่อนไหวในนามสมัชชาคนจนในช่วงแรกนั้น ส่วนใหญ่ มีการเคลื่อนไหวของตนเองมาก่อนทั้งสิ้น เช่น เครือข่ายเขื่อนหรือสมัชชาเขื่อน เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ เครือข่ายปัญหาสลัม กรณีการคัดค้านโรงไฟฟ้าพลังขยะ - ลิกไนต์ อ.หางดง จ. เชียงใหม่ กรณีการคัดค้านการก่อสร้างศูนย์ราชการโพธิ์เขียว จ. สุพรรณบุรี เป็นต้น
ขณะที่รูปแบบการจัดตั้งองค์กรนั้น มีลักษณะเป็น “เครือข่าย” (ที่”เครือข่าย” ย่อยมารวมตัวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มอำนาจและพลังการต่อรองของคนจน) โดยอำนาจในการตัดสินใจในกิจกรรมและการเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับมติเวทีที่ประชุมตัวแทนชุมชนท้องถิ่นที่เรียกว่า “พ่อครัวใหญ่” โดยมีนักวิชาการ นักพัฒนาเอกชน (NGO) จากสถาบัน/องค์กรต่างๆ เป็นที่ปรึกษา[6]
แนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้ที่สำคัญ คือ ใช้พลังมวลชน โดยการรวมกลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อน “เดินขบวน” หรือชุมนุมประท้วงอย่างสันติวิธี (แม้จะต้องใช้เวลาในการปักหลักชุมนุมที่ยืดเยื้อยาวนานก็ตาม) เพื่อกดดันให้รัฐบาลเปิดเวทีเจรจาอย่างเสมอหน้า เพื่อให้มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
ประภาส ปิ่นตบแต่ง อธิบายว่า “การเดินขบวน” หรือชุมนุมอย่างสันติ สำหรับสมัชชาคนจน เป็นทั้งวิธีการและเป้าหมายในตัวเอง ซึ่งสามารถสรุปวัตถุประสงค์ได้หลายอย่างดังต่อไปนี้
1) เป็นแรงกดดันโดยตรง ด้วยจำนวนและกิจกรรมต่างๆ เช่น การล้อมทำเนียบรัฐบาล การเดินขบวนแสดงพลังฯลฯ เพื่อให้ได้บรรลุข้อเรียกร้องของตน
2) เป็นกระบวนการที่จะทำให้ชาวบ้านเห็นว่า ตัวเองมีอำนาจ เห็นอำนาจของตนเองจากการร่วมกันต่อสู้ เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ภายใน
3) เป็นวิธีการในการสื่อสารความเจ็บปวด ความทุกข์ยาก และข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาข้อเรียกร้องต่อสังคมหรือสาธารณะชน[7]
ปริมาณ ขอบเขตของปัญหา และการเคลื่อนไหวที่สำคัญ[8]
1. รัฐบาลบรรหาร: การชุมนุมยกที่ 1 “มหกรรมทวงสัญญาสมัชชาคนจน”
หลังจากมีการประชุมเพื่อจัดตั้งสมัชชาคนจนอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 10 ธันวาคม 2538 และได้จัดทำข้อเรียกร้อง แนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอต่อรัฐบาลในเดือนเดียวกัน ในระหว่างวันที่ 26 มีนาคม-23 เมษายน 2539 สมัชชาคนจนจัดชุมนุมใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันให้รัฐบาลเปิดการเจรจา โดยมีผู้เข้าร่วมการชุมนุมจาก 21 จังหวัด ประมาณ 11,000 คน แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มปัญหาเขื่อน 13 กรณี 2) กลุ่มปัญหาป่าไม้-ที่ดิน 31 กรณี 3) กลุ่มปัญหาจากโครงการของรัฐ 4 กรณี 4) กลุ่มปัญหาผู้ป่วยจากการทำงาน 1 กรณี และ 5) กลุ่มปัญหาชุมชนแออัด 7 กรณี ทั้งหมดรวม 56 กรณี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรณีปัญหาในพื้นที่ภาคอิสาน [9]
ผลการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจนทั้งหมดได้รับการรับรองโดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 เมษายน 2539 ซึ่งยอมรับว่า โครงการของรัฐทำให้ประชาชนเดือดร้อน และรัฐจะดำเนินการพิจารณาชดเชยให้แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น โดยมีการตั้งคณะกรรมการต่างๆ ขึ้นมาพิจารณา
หลังยุติการชุมนุม คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามมติ ครม. ดำเนินการแก้ปัญหาล่าช้า ทำให้สมัชชาคนจนชุมนุมอีก 2 ครั้ง คือ “เวทีประชาชนทวงสัญญา 100 วัน สมัชชาคนจน” ระหว่างวันที่ 13-19 สิงหาคม 2539 และ “การชุมนุมตรวจราชการ” ระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม -7 พฤศจิกายน 2539
ผลการแก้ไขปัญหา โดยมติ ครม. 22 เมษายน 2539 ได้ข้อยุติเพียงกรณีเดียว คือ ยุติการก่อสร้างเขื่อนแม่ละเมา จ.ตากโดยเด็ดขาด และใช้วิธีการแก้ไขปัญหานอกกลไกราชการอีก 1 กรณี โดยนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดินชดเชยให้กับชาวบ้านกรณีที่สาธารณะประโยชน์ซำสูง จ.ขอนแก่น [10]
2. รัฐบาลชวลิต: การชุมนุมยกที่ 2 “99 วันบนท้องถนน”
สมัชชาคนจนจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 25 มกราคม 2540 โดยมีกลุ่มปัญหาเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 กลุ่ม คือ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกและประมงขนาดเล็กภาคใต้ (นับเป็น 1 กรณีปัญหา) รวมเป็น 6 กลุ่มปัญหา และมีกลุ่มข้อเสนอเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในเชิงกฎหมายและนโยบายเพิ่มขึ้นมานอกเหนือจากการแก้ไขเฉพาะรายกรณีปัญหา[11] ครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 20,000 คน โดยมีกรณีปัญหาเพิ่มขึ้นเป็น 125 ปัญหา และขยายพื้นที่ปัญหาออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ กว้างขวางมากยิ่งขึ้นเป็น 35 จังหวัด
การชุมนุมที่ยืดเยื้อถึง 99 วัน ได้ข้อตกลงจากการเจรจาเป็นมติ ครม. ทุกกรณี ภายหลังยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 จนสิ้นสุดรัฐบาลชวลิต (6 พฤศจิกายน 2540) คณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นได้ประชุมอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถแก้ไขปัญหาได้จนบรรลุผล 18 กรณี ส่วนที่เหลืออยู่ในขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งมีความคืบหน้าต่างระดับกันไป กล่าวคือ มีความก้าวหน้าในการดำเนินการ 90 กรณี และดำเนินการล่าช้า 17 กรณี[12]
3. รัฐบาลชวน 2 : จากกลับบ้านมือเปล่า สู่ “ดาวกระจาย”
เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ สมัชชาคนจนได้ยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลชวน 2 ดำเนินการสานต่อการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. เดิม โดยการแต่งตั้งและเร่งดำเนินประชุมคณะกรรมการชุดต่างๆ แต่ปรากฏว่ารัฐบาลชวนกลับละเมิดข้อตกลง เช่น รัฐบาลประกาศไม่รับร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมในสถานประกอบการที่ผ่านการร่างร่วมกัน หรืออนุมัติงบประมาณการออกแบบการก่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ. แพร่ เป็นต้น สมัชชาคนจนจึงตัดสินใจจัดการชุมนุมย่อยเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาขึ้นในระหว่างวันที่ 5 เมษายน -29 พฤษภาคม 2541
ผลจากการชุมนุมที่สำคัญ คือ มติ ครม. วันที่ 21 เมษายน 2541 ซึ่งระบุว่า ไม่ควรจ่ายค่าชดเชยหรือค่าทดแทนแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนซ้ำซ้อนหรือย้อนหลัง เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้มีการเรียกร้องของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างเสร็จไปแล้วตามมาอีกมากมาย และควรจ่ายให้เฉพาะเขื่อนที่สร้างใหม่ในอนาคตเท่านั้น มติดังกล่าวถือเป็นการยกเลิกมติการจ่ายค่าชดเชยแก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนสิรินธรและเขื่อนปากมูลด้วย นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่อนุมัติงบประมาณโครงการนำร่องเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืนตามที่ตกลงกันไว้ อย่างไรก็ตาม สมัชชาคนจนได้ตัดสินใจยุติการชุมนุมในวันที่ 29 พฤษภาคม 2541 พร้อมประกาศจะจัดการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง[13]
ในช่วง 1 ปี ของรัฐบาลนายชวน 2 สามารถแก้ไขปัญหาได้ผลจนยุติ 6 กรณี เหลือ 97 กรณี โดยถดถอย 71 กรณี ล่าช้า 26 กรณี มีมติ ครม. เกี่ยวกับสมัชชาคนจน 6 มติ ซึ่งเป็นการละเมิดข้อตกลงเดิม 5 มติ และดำเนินตามข้อตกลงเดิม 1 มติ คือ มติ ครม. วันที่ 16 มิถุนายน 2541 เรื่องอนุมัติงบประมาณโครงการใต้สะพานเพื่อแก้ไขปัญหาคนไร้บ้านในเมือง เมื่อท่าทีของรัฐบาลไม่เอื้อต่อการแก้ปัญหา สมัชชาคนจนจึงประกาศยุติการเจรจา[14]
หลังจากยุติการเจรจาและการแก้ไขปัญหาต่างๆ ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง สมัชชาคนจนไม่ได้จัดการชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันรัฐบาลตามที่ประกาศไว้ แต่หันมาใช้ “ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย” กล่าวคือ ให้แต่ละเครือข่ายและกรณีปัญหากลับไปเคลื่อนไหวด้วยตัวเองในพื้นที่ต่างๆ
ในภาคอิสาน ที่เขื่อนปากมูลมีการปักหลักชุมนุมและจัดตั้งเป็นหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2542 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 5,000 คน ที่เขื่อนราษีไศลมีการชุมนุมและจัดตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นคง ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2542 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน ที่ จ. ขอนแก่น มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินและหนี้สินระหว่างวันที่ 28 เมษายน-8 พฤษภาคม 2542 ที่ จ.สกลนคร มีการชุมเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2542 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 2,000 คน[15]
ในภาคเหนือ มีการชุมนุมของเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) และสมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทยกว่า 5,000 คน ที่ศาลากลาง จ. เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 25 เมษายน - 19 พฤษภาคม 2542 เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินและปัญหาสัญชาติ
ในภาคใต้ มีการชุมนุมของชาวประมงพื้นบ้าน จ. สงขลา และสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านที่ จ. สงขลา ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2542 เพื่อคัดค้านการใช้เรือปั่นไฟจับปลากะตักในเวลากลางคืน นอกจากนี้ สมาชิกสมาพันธ์ฯ ยังมีเคลื่อนไหวในจังหวัดต่างๆ ในช่วงเวลาเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า การชุมนุมตามยุทธศาสตร์ดาวกระจายทั้งหมดไม่สามารถสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้และต้องยุติลงอย่างรวดเร็ว (ยกเว้นกรณีหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน) เนื่องจากรัฐบาลนอกจากจะไม่สนใจหรือยอมรับปัญหาของกลุ่มเคลื่อนไหวแล้ว ยังใช้มาตรการตอบโต้และกดดันกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยรูปแบบต่างๆ รวมทั้งใช้ความรุนแรง เช่น กรณีการชุมนุมที่ จ. เชียงใหม่ และ จ. สงขลา นอกจากนั้น ยังมีแกนนำชาวบ้านและเอ็นจีโอจำนวนมากยังถูกดำเนินคดีเนื่องจากการชุมนุมเคลื่อนไหว
สำหรับกลุ่มสมัชชาคนจนที่ปักหลักชุมนุมและก่อตั้งหมู่บ้านแม่มูนมั่นยืนอยู่ ณ สันเขื่อนปากมูลและในพื้นที่ต่างๆ[16] รวมทั้งหมด16 กรณี (โดยกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลและราษีไศลได้พัฒนาข้อเรียกร้องจากเดิมเป็นให้รัฐบาล “เปิดประตูเขื่อนถาวร”)[17] พวกเขาได้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อรณรงค์กับสาธารณะในเดือนมกราคม 2543 จากนั้นก็เริ่มสร้างแรงกดดันต่อรัฐบาล ด้วย “ปฏิบัติการสันติวิธีเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อให้ปลาขึ้นวางไข่” โดยบุกเข้าไปชุมนุมในบริเวณลานจอดรถโรงไฟฟ้าเขื่อนปากมูลในวันที่ 15 พฤษภาคม 2543 และส่งกำลังคนส่วนหนึ่งมาปืนกำแพงเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล จนในที่สุดรัฐบาล โดยนายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการช่วยเหลือประชาชน (คชช.) ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการกลางเพื่อแก้ปัญหาสมัชชาคนจนขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2543
หลังจากคณะกรรมการกลางฯ ได้ทำรายงานสรุปเสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 6 กรกฎาคม 2543[18] สมัชชาคนจน 16 กรณีปัญหาจึงเดินทางเข้ามาชุมนุมที่หน้าทำเนียบฯ เพื่อผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหา ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2543 และตัดสินใจปีนทำเนียบฯ อีกครั้งในวันที่ 16 กรกฎาคม 2543 เพื่อกดดันให้รัฐบาลมีมติ ครม. รับรองข้อเสนอของกรรมการกลางฯ ในที่สุดรัฐบาลได้มีมติ ครม. แก้ไขปัญหาให้สมัชชาคนจนในวันที่ 25 กรกฏาคม 2543 และ 8 สิงหาคม 2543 แต่สมัชชาคนจนเห็นว่าไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการกลางฯ เสนอ และไม่สามารถนำสู่การแก้ไขปัญหาได้[19] จึงยังคงปักหลักชุมนุมที่ข้างทำเนียบฯ และบนสันเขื่อนปากมูลต่อไปจนกระทั่งสิ้นสุดรัฐบาลชวน 2
4. รัฐบาลทักษิณ: จากความหอมหวาน สู่ขมขื่น
หลังจากรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้ไปรับฟังปัญหาของสมัชชาคนจนที่ยังคงปักหลักชุมนุมข้างทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2544 จากนั้นก็ได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามแก้ไขปัญหาฯ จนกระทั่งสมัชชาคนจนพอใจและยุติการชุมนุมในวันที่ 12 เมษายน 2544 โดยกรณีปัญหาที่เสนอต่อรัฐบาลในครั้งนี้มีกลุ่มปัญหา 205 กรณี[20] อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลทักษิณไม่มีองค์ประกอบที่ตัวแทนของสมัชชาคนจนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลชวลิตและรัฐบาลชวน 2
ในช่วงแรก ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลทักษิณกับสมัชชาคนจนเป็นไปด้วยดี และดูเหมือนการแก้ไขปัญหาจะมีความคืบหน้า เช่น นายกฯ ได้ลงพื้นที่เขื่อนปากมูล และสั่งการมีการทดลองเปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 4 เดือน ตามมติ ครม. เดิม, มีการทดลองเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูล และเขื่อนราษีไศล 1 ปี เพื่อศึกษาผลกระทบ เป็นต้น แต่หลังจากผ่านช่วงปีแรก เมื่อแก้ไขปัญหาที่ไม่มีความก้าวหน้า และสมัชชาคนจนพยายามเรียกร้องอีกครั้งหนึ่ง กลับถูกรัฐบาลตอบโต้ด้วยมาตรการต่างๆ เช่น ใช้เจ้าหน้าที่เทศกิจขับไล่ รื้อที่พักของชาวบ้านที่ชุมนุมอยู่ข้างทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2546 เป็นต้น
ในช่วงปี 2548 หลังจากการเลือกตั้งใหม่ และพ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง สมัชชาคนจนได้เดินทางมาชุมนุมในระหว่างวันที่ 15-17 มีนาคม 2548 บริเวณหน้ารัฐสภา การชุมนุมครั้งนี้ไม่มีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล แต่ได้ประกาศจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการภาคประชาชนตรวจสอบนโยบายความยากจนและสังคม“ ซึ่งเป็นความพยายามในสร้างบทบาทใหม่ของตนเองในพื้นที่สังคมประชา ในห้วงเวลาที่โครงสร้างโอกาสทางการเมืองไม่เอื้อที่จะเรียกร้องกดดันให้มีการแก้ไขปัญหา
กลางเดือนพฤษภาคม 2548 เครือข่ายเขื่อนประมาณ 700 คน ได้จัดชุมนุมย่อยขึ้นที่หน้ารัฐสภา เพื่อติดตามแก้ไขปัญหา และคัดค้านการนำเขื่อนขนาดใหญ่ 5 แห่ง คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนโป่งขุนเพชร เขื่อนลำโดมใหญ่ เขื่อนรับร่อ และเขื่อนคลองกราย เสนอให้ ครม. อนุมัติการก่อสร้าง ผลปรากฏว่า ไม่มีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุม ครม. แต่อย่างใด
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ท่ามกลางกระแสการขับไล่นายกฯ ทักษิณให้ออกจากตำแหน่ง สมัชชาคนยังยืนยันที่จะชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาของตนเอง ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ตามที่วางแผนไว้ตั้งแต่ปลายปี 2548 โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. เปิดโปงการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 2. เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหา 3. ผลักดันเรื่องการปฏิรูปการเมืองเพื่อคนจน ทั้งนี้สมัชชาคนจนได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องของพันธมิตร ที่ได้เข้าไปร่วมเคลื่อนไหวขับไล่รัฐบาลในนาม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ให้สมัชชาคนจนเข้าร่วมไล่รัฐบาล เนื่องจากเห็นว่า โดยพื้นฐานองค์กรอย่างสมัชชาคนจน มีลักษณะเป็น ‘องค์กรมวลชน’ ซึ่งมีที่มาของการรวมตัวจากปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของการรวมตัว คือ การแก้ไขปัญหาของสมาชิก ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างจากองค์กรเคลื่อนไหวทางการเมืองอื่นๆ คือ “ต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกและหากตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องนำสมาชิกเข้ามาร่วมผลักดันเคลื่อนไหวด้วย ไม่ใช่แค่ประกาศหรือแถลงการณ์เพียงอย่างเดียว”[21]
การชุมนุมในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมประมาณ 2,000 คน โดยเริ่มชุมนุมที่หน้ารัฐสภา แล้วบุกเข้ายึดกระทรวงเกษตรฯ ในอีก 3 วันต่อมา จนได้เจรากับ รมต. กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม สมัชชาคนต้องตัดสินใจยุติการชุมนุมในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2549 เนื่องจากรัฐบาลตัดสินใจยุบสภาและสถานการณ์ทางการเมืองมีการต่อสู้กันอย่างรุนแรง
พัฒนาการและการคลี่คลายตัว: จาก “กรณีปัญหา/เครือข่าย” สู่ “เครือข่าย”
หากพิจารณาแต่ละกลุ่มปัญหาหรือเครือข่ายย่อยๆ ในสมัชชาคนจน จะพบว่า ส่วนใหญ่พบว่า ได้มีการรวมตัวและต่อสู้เคลื่อนไหวด้วยตัวเองมาก่อนมีการจัดตั้งหรือเข้าร่วมกับสมัชชาคนจนทั้งสิ้น ดังนั้น กล่าวได้ว่า จากประสบการณ์การเคลื่อนไหวเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเครือข่ายที่เห็นถึงข้อจำกัดในการสร้างพลังต่อรองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวนผู้ชุมนุม และสภาวะของแต่ละกรณีปัญหาที่อยู่ในสถานการณ์ “ร้อน” กล่าวคือ ปัญหาอยู่ในระดับรุนแรง/ตรึงเครียด หรือ ตกอยู่ในภาวะที่กำลังถูกกระทำ/คุกคาม เช่น ชาวบ้านในสลัมอยู่ในสถานการณ์ถูกไล่รื้อ หรือชาวบ้านที่อาศัยในเขตป่าถูกผลักดันออกจากพื้นที่ เป็นต้น เป็นปัจจัยสำคัญ (ในหมู่ปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น การแตกตัวของเครือข่ายย่อยใน สกย.อ ที่มาเข้าร่วมจัดตั้งในสมัชชาคนจน) ที่ทำให้เกิดการรวมตัวขึ้นเป็น “สมัชชาคนจน”
แนวคิดและประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวได้แปรไปสู่รูปธรรมอย่างชัดเจนในการ “ชุมนุมใหญ่” ล้อมทำเนียบรัฐบาล ในการชุมนุมยกที่ 1 สมัยรัฐบาลบรรหาร และยกที่ 2 ในสมัยรัฐบาลชวลิต เพื่อกดดันให้มีการเจรจาอย่างเสมอหน้า และได้ข้อตกลงในการแก้ปัญหาทุกกรณี
แม้ว่าในสมัยรัฐบาลบรรหาร การแก้ปัญหาไม่สามารถลุล่วงได้ แต่ “แนวทางแบบสมัชชาคนจน” คือ การวมตัวชุมนุมล้อมทำเนียบรัฐบาลสร้างแรงกดดันด้วยคนจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการเจรจาอย่างเสมอหน้ากับรัฐบาล, การผลักดันให้มีมติ ครม. รองรับการแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหา เช่น การลงสำรวจพื้นที่ปัญหา เป็นต้น ทำให้ขบวนการ/เครือข่ายต่างๆ ที่เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงนั้นยอมรับว่า แนวทางนี้น่าจะเป็นกระบวนการที่ทำให้การเรียกร้องประสบความสำเร็จ[22] หลังการชุมนุมใหญ่ยกที่ 1 สมัชชาคนจนจึงขยายตัวอย่างก้าวกระโดด ทั้งจำนวนกรณีปัญหาและผู้เข้าร่วมชุมนุมในยกที่ 2 การเคลื่อนไหวในช่วงนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งในแง่ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา และด้านอื่นๆ เช่น การยอมรับจากสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือคนชั้นกลางที่ได้สนับสนุนการต่อสู้ในรูปแบบต่างๆ
แสดงตารางเปรียบเทียบจำนวนกรณีปัญหาในการชุมนุมยกที่ 2 และยกที่ 1 [23]

แต่ในยุครัฐบาลชวน 2 หลังจากกระบวนการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ต่อเนื่องมาจากรัฐบาลบรรหาร-ชวลิตถูกล้มกระดานลง สมัชชาคนจนได้เปลี่ยนไปใช้ “ยุทธศาสตร์ดาวกระจาย” เนื่องจากประเมินว่ารัฐบาลมีความเข้มแข็ง ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นกลางในเมือง และที่สำคัญคือ รัฐบาลมีท่าทีแข็งกร้าว ไม่เอื้อต่อการชุมนุมใหญ่เพื่อกดดันให้มีการแก้ไขปัญหาดังเช่นในช่วงที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ภายในสมัชชาคนจนเองก็ไม่พร้อมในการชุมนุมใหญ่เช่นกัน เนื่องจากมวลชนประสบปัญหาด้านเศรษฐกิจ (ต้นทุนในการชุมนุมมีสูง) และ/หรือเหนื่อยล้าจากวิธีการชุมนุมที่ผ่านมา นอกจากนี้เงื่อนไขสถานการณ์ปัญหาหรือ “ความร้อน” ของแต่ละกลุ่ม/เครือข่ายก็มีระดับต่างกัน
ในระดับที่ลึกกว่านั้น ได้เกิดประสบการณ์อีกชุดหนึ่งจากการเคลื่อนไหว กล่าวคือ ถึงแม้จะได้เจรจากับรัฐบาลและมีมติ ครม. มารองรับการแก้ไขปัญหาก็ตาม แต่มติ ครม. นั้นถูกเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ตลอดเวลาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล และบางครั้งมติ ครม. ก็เปรียบเสมือน “กระดาษแผ่นเดียว” ที่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ ประสบการณ์ชุดนี้ส่งผลสะเทือนต่อความเชื่อมั่นใน “แนวทางแบบสมัชชาคนจน” ดังนั้น หลายกรณีปัญหาจึงหันไปใช้ยุทธศาสตร์ที่เห็นว่าสอดคล้องกับสภาพของตนมากกว่า คือ ยืดพื้นที่หรือ “ตรึงพื้นที่-ต่อสู้ในระดับพื้นที่เป็นด้านหลัก[24] โดยอาจจะชุมนุมย่อยบ้างเมื่อมีความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม การชุมนุมตามยุทธศาสตร์ดาวกระจายหรือการเคลื่อนไหวแนวทางอื่นๆ หลังจากนั้น หลายครั้งเป็นการเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่ม/เครือข่ายอื่นนอกสมัชชาคนจน ทำให้เกิดความสัมพันธ์ข้ามกลุ่ม/เครือข่ายมากขึ้น ทำให้ต่อมาบางกลุ่มได้เข้ามาร่วมเคลื่อนไหวกับสมัชชาคนจน หรือบางกลุ่มในสมัชชาคนจนไปเข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเครือข่ายอื่นที่มีประเด็นปัญหาเดียวกัน
โดยสรุป จากรัฐบาลชวน 2 จนมาถึงรัฐบาลทักษิณ สมัชชาคนจนไม่มีการเคลื่อนไหวโดยการชุมนุมใหญ่อีกเลย สาเหตุที่เป็นเช่นนี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า นอกจากโครงสร้างโอกาสทางการเมืองที่เปลี่ยนไป ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เกิดความเปลี่ยนแปลง/คลี่คลายภายในสมัชชาคนจนเอง ทั้งในแง่ของสภาพปัญหาที่คลี่คลายไป และผลสืบเนื่องจากสถานการณ์ตั้งแต่รัฐบาลชวน 2 เป็นต้นมา ที่สมัชชาคนจนไม่สามารถเป็นเวทีในการต่อรองเจรจาเพื่อการแก้ไขปัญหาให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างที่เคยเป็นในอดีต ซึ่งปรากฏการณ์ที่สำคัญเหล่านี้ ได้แก่
1) กลุ่ม/เครือข่ายในสมัชชาคนจนที่มีความเข้มแข็งและ/หรือสามารถสร้างกระบวนการต่อรอง ปกป้องตนเองได้ในระดับหนึ่ง เน้นการเคลื่อนไหวในระดับพื้นที่ อย่างกรณีเขื่อนที่ยังไม่ได้สร้าง เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น ฯลฯ และทั้งไม่ได้ตั้งใจหรือเห็นความจำเป็นที่จะเคลื่อนไหวใหญ่เพื่อเอาชนะหรือแตกหักกับรัฐบาลในช่วงเวลานั้นๆ
2) ในช่วงสถานการณ์ที่สมัชชาคนจนไม่มีความพร้อมและมีข้อจำกัดในด้านต่างๆ กลุ่ม/เครือข่ายที่มีกรณีปัญหาเพิ่มขึ้นและมีความพร้อมในระดับหนึ่ง ได้แสวงหาช่องทางเคลื่อนไหวอื่น หรือเคลื่อนไหวอย่างอิสระด้วยตัวเอง เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค ที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ดินรถไฟ คนไร้บ้าน โดยไม่ได้นำกรณีปัญหาเหล่านี้เข้าร่วมเรียกร้องกับสมัชชาคนจน เป็นต้น
3) กลุ่ม/เครือข่ายได้รวมกลุ่มและร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายอื่นๆ ในประเด็นระดับปัญหา/นโยบายเดียวกัน เช่น กรณีปัญหาป่าไม้ได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนกับสมัชชาป่าชุมชน ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มชาวบ้านที่มีปัญหาเดียวกันในระดับประเทศ, เครือข่ายเกษตรทางเลือกเคลื่อนไหวเรื่องนโยบายที่เกี่ยวกับการเกษตรร่วมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น เรื่องข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) การเปิดเสรีทางด้านการเกษตร ฯลฯ
4) กลุ่ม/เครือข่ายได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวกับเครือข่ายที่เกิดขึ้นใหม่ในระดับพื้นที่/ภาค เช่น เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) กรณีปัญหาที่ดินในภาคเหนือ เข้าร่วมการเคลื่อนไหวและเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.)[25]
5) ความเข้มข้นรุนแรงของปัญหาได้คลี่คลายลงในบางระดับ และ/หรือสามารถต่อรองกับกลไกรัฐหรือส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ได้ เช่น กรณีปัญหาที่ดินสาธารณะประโยชน์ แม้จะยังไม่มีการรับรองสิทธิในที่ดินให้ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์ในที่ดินได้ดังเดิม, กรณีปัญหาป่าไม้ ชาวบ้านสามารถอยู่กับป่าได้โดยไม่ต้องเผชิญกับปัญหาการ “ไล่คนออกจากป่า” เป็นต้น
6) เกิดความอ่อนแอภายในองค์กรเครือข่ายของสมัชชาคนจนเอง ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก
- (1) การต่อสู้ที่ยาวนาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา ทำให้ชาวบ้านบางส่วนมีความกระตือรือร้นในการเข้าร่วมการเคลื่อนไหวน้อยลง และจำเป็นต้องหาทางออกอื่นๆ ในระดับปัจเจก
- (2) การแทรกแซง / การตอบโต้จากรัฐและฝ่ายตรงกันข้าม เช่น กรณีเขื่อนสิรินธร ซึ่งเคยมีสมาชิกเข้าร่วมเคลื่อนไหวเรียกร้องจำนวนมาก แต่หลังรัฐบาลชวน 2 มีแกนนำบางส่วนแยกตัวออกไป ทำให้มีผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวน้อยลง, กรณีเขื่อนปากมูล แกนนำบางส่วนได้แยกตัวไปทำงานกับ กฝผ. และกลับมาเป็นฝ่ายต่อต้านการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน และ
- (3) เกิดการเปลี่ยนแปลงในหมู่ที่ปรึกษาหรือเอ็นจีโอที่ทำงานในพื้นที่ร่วมกับชาวบ้าน
กล่าวโดยสรุป เนื่องจากสมัชชาคนจนเกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายต่างๆ ดังนั้นภาพ “ความเข้มแข็ง” จึงแปรผันตรงกับความเข้มแข็งในการเข้าร่วมของแต่ละเครือข่าย เมื่อปัจจัยภายในกลุ่ม/เครือข่ายได้คลี่คลาย/เปลี่ยนแปลงไป จึงส่งผลต่อภาพ “ความเข้มแข็ง” ของสมัชชาคนจนด้วย ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์และส่งผลกับการความเปลี่ยนแปลง มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน เช่น ข้อจำกัดด้านยุทธศาสตร์ ความหลากหลายของปัญหา ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถสร้าง “เอกภาพ” ในการเคลื่อนไหวได้ ดังนั้น การชุมนุมในช่วงหลังจึงมีแนวโน้มกลับไปสู่ระดับเครือข่ายย่อยอีกครั้งหนึ่งมากกว่าจะเป็นการชุมนุมใหญ่ร่วมกันของทุกเครือข่ายอย่างในยกที่ 1 และ 2
อย่างไรก็ตาม จากความเปลี่ยนแปลงภายในสมัชชาคนจนดังที่กล่าวมาข้างต้น (ยกเว้น ข้อ 6) ไม่สามารถประเมินคุณค่าหรือสรุปอย่างรวบรัดได้ว่า เป็นการ “ก้าวไปข้างหน้า” หรือ “ถอยหลังเข้าคลอง” หากจำเป็นต้องพิจารณาในรายละเอียดอย่างรอบด้าน และสามารถที่จะถกเถียงกันได้ต่อไป
ความสำเร็จ/ล้มเหลวของสมัชชาคนจน[26]
ในส่วนของผลความสำเร็จ/ล้มเหลวของขบวนการเคลื่อนไหวสามารถที่จะประเมินได้ในหลายมิติ เช่น (1) รูปธรรมการแก้ไขปัญหาทั้งที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้ารายกรณีและปัญหาระดับนโยบาย (2) ผลสะเทือนต่อสังคม และ (3) การเรียนรู้และเติบโตภายในขบวนการ โดยในที่นี้จะทำการสรุปเฉพาะในข้อที่ (1) คือ ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหา[27]
1. เครือข่ายสลัม 4 ภาค
กรณีปัญหา จาก 8 กรณีปัญหาที่เข้าร่วม สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด 7 กรณีปัญหา เหลือเพียงกรณีชุมชนบึงลำไผ่ที่ได้รับการบรรเทาปัญหาชั่วคราวในช่วงรัฐบาลชวลิต โดยการหยุดไล่รื้อและจับกุมชาวบ้านเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ แต่ต่อมาในสมัยรัฐบาลชวน กลไกการแก้ไขปัญหาได้ยุติลง ทำให้ กทม. ใช้จังหวะเวลานี้ทำการพิสูจน์สิทธิแต่ฝ่ายเดียว ในที่สุดจึงสรุปว่าที่ดินผืนที่ชาวบ้านอาศัยมาหลายสิบปีเป็นที่สาธารณะและชาวชุมชนต้องย้ายออกไป
พ.ร.บ. ชุมชนแออัด ไม่สามารถล่ารายชื่อเสนอกฎหมายได้ครบ 50,000 ชื่อ แต่เครือข่ายฯ เห็นว่า “หากกดดันต่อรองให้ชุมชนได้อยู่ที่ดินเดิมหรือย้ายในระยะใกล้เคียง (ไม่เกิน 5 กม.) ได้เป็นผลสำเร็จ ก็ไม่จำเป็นต้องมี พ.ร.บ. นี้ เพราะ พ.ร.บ. ฉบับชาวบ้านคงถูกนักการเมืองในสภาเอาไปแก้ไขจนไม่เหลือสาระอะไร”[28]
คณะกรรมการนโยบายแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาชุมชนแออัดแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งขึ้นโดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2540 ในรัฐบาลชวลิต สืบเนื่องจากพยายามที่จะยกระดับปัญหาชุมชนแออัดให้มีความสำคัญเป็นปัญหาระดับชาติ แต่ตลอด 3 รัฐบาล กลับไม่มีการประชุมคณะกรรมการฯ กระทั่งถูกเลิกไป [29]
2 เครือข่ายเขื่อน
ยกเลิก 4 เขื่อน คือ 1) เขื่อนแม่ละเมา จ.ตาก 2) เขื่อนสายบุรี จ. ยะลา 3) เขื่อนคลองกลาย จ.นครศรีธรรมราช 4) เขื่อนรับร่อ จ.ชุมพร
จ่ายค่าชดเชย 7 เขื่อน ประกอบด้วย เขื่อนขนาดเล็ก/กลาง ได้แก่ 1) เขื่อนยางบ้านโต้น อ.บ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา 2) เขื่อนหนองน้ำขุ่น อ.แก้งสนามนาง จ.นครราชสีมา 3) เขื่อนวังบายศรี อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ 4) เขื่อนห้วยสะแบก อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร 5) เขื่อนห้วยขอนแก่น อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ 6) เขื่อนลำคันฉู อุบลราชธานี และเขื่อนขนาดใหญ่ ได้แก่ 7) เขื่อนราษีไศล
ชะลอโครงการ (ยังไม่มีการก่อสร้าง) 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนลำโดมใหญ่ เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนโป่งขุนเพชร ขณะที่เขื่อนหัวนา ซึ่งมีการก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว มีมติครม.ให้หยุดดำเนินการใดๆไว้ก่อน โดยเฉพาะการถมลำน้ำ ให้ศึกษาผลกระทบ และตรวจสอบทรัพย์สินของราษฎรผู้ได้รับผู้กระทบ
เปิดประตูน้ำ ได้แก่ 1) เขื่อนห้วยละห้า เปิดประตูน้ำเพื่อคืนที่ดินให้กับชาวบ้าน 2) เขื่อนปากมูล ทดลองเปิดประตูน้ำ 1 ปี และต่อมามีมติให้เปิด 4 เดือน ปิด 8 เดือน 3) เขื่อนราษีไศล มีการทดลองเปิดประตูน้ำ และต่อมามีมติให้เปิด 4 เดือน ปิด 8 เดือน และตั้งคณะกรรมการศึกษาและตรวจสอบผลกระทบทางสังคม และตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งหมดนี้ถือว่าการแก้ไขปัญหายังไม่สิ้นสุด เพราะยังไม่ได้เป็นไปตามที่เรียกร้อง และชาวบ้านยังยืนยันที่จะเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อไป
3 เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน [30]
กรณีปัญหารัฐประกาศเขตป่าหรือที่ดินสาธารณะทับที่ดินชาวบ้าน สามารถแก้ปัญหา บรรลุผลมีข้อยุติ 6 กรณี ได้แก่ 1) ที่สาธารณประโยชน์ทุ่งพันขัน จ. สกลนคร 2) ที่สาธารณะประโยชน์บ้านดงขี้เหล็ก จ. ลำพูน 3) ป่าสงวนแห่งชาติดงลาน อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น 4) ป่าไม้ถาวรป่าตีนภูเวียง อ.สีชมพู จ.ขอนแก่น 5) ที่ราชพัสดุ อ.กุดบาก จ.สกลนคร 6) ที่ราชพัสดุอากาศอำนวย จ.สกลนคร (สมัยชวลิต)
นอกเหนือจากนั้น กรณีที่สาธารณะประโยชน์ ถือว่า ชาวบ้านอยู่อาศัยและประกอบอาชีพในพื้นที่เดิมได้ ถึงแม้ยังไม่สามารถเพิกถอนการประกาศที่สาธารณะทับที่ดินชาวบ้านหรือออกเอกสารรองรับสิทธ์ของชาวบ้านได้ แต่ส่วนใหญ่อยู่ระหว่างรอการเพิกถอนหรือรองรับสิทธิ์ และบางส่วนอยู่ในขั้นตอนการสำรวจ
ส่วนกรณีที่ดินในเขตป่า รัฐบาลมีมติให้ยุติการจับกุมชาวบ้านที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติ แม้ส่วนใหญ่จะยังไม่ได้กันเขตหรือออกเอกสารสิทธิ์รองรับให้กับชาวบ้าน แต่ยังสามารถต่อสู้/ยืนยันสิทธิ์อยู่ในพื้นที่เดิมได้โดยไม่มีการอพยพ ยกเว้น กรณีแก้งกะอาม และ กรณีผาช่อ ที่ชาวบ้านถูกอพยพและไม่สามารถกลับไปทำกินในที่ดินเดิมได้
พ.ร.บ. ป่าชุมชน มีการล่า 50,000 ชื่อและเสนอกฎหมายในปี 2543 และผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ร่างดังกล่าวนี้ถูกวุฒิสภาแก้ไขเปลี่ยนแปลงจนต่างไปจากเจตนารมณ์เดิมของผู้เสนอ
ในสมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ จุลลานนท์ สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติได้นำ ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชนเข้าสู่พิจารณาอีกครั้ง และผ่านการพิจารณาในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่สำคัญซึ่งขัดกับเจตนารมณ์เดิมของผู้เสนอ[31]
ต่อมาในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ. ป่าชุมชน ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในการลงมติในวาระที่ 3 มีองค์ประชุมของ สนช.ไม่ครบเกินกึ่งหนึ่ง เป็นผลให้ตกไปตามรัฐธรรมนูญ[32]
4. เครือข่ายโครงการพัฒนาของรัฐ
บรรลุผลมีข้อยุติ 3 กรณี ได้แก่ 1) ยกเลิกโครงการนิคมอุตสาหกรรมคำสมิง จ.อุบลราชธานี 2) ย้ายโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมเจนโก้ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ไปอยู่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด, 3) มีการจ่ายค่าชดเชยให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาด่านช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี ยุติโครงการชั่วคราว 2 กรณี ได้แก่ 1) ศูนย์ราชการทุ่งดอนแต้ว 2) ศูนย์ราชการบ้านโพธิ์เขียว
5. เครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน
สมัยรัฐบาลชวลิต: มีการจ่ายค่าชดเชย/ทดแทน 32 ราย เป็นเงิน 7,181,337 บาท
สมัยรัฐบาลทักษิณ: กรณีสารเคมีระเบิดที่คลองเตย ครม. อนุมัติเงิน 40.75 ล้านบาท ในปี 2545 เพื่อตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ โดยแบ่งเป็นจัดตั้งศูนย์อาชีวเวชศาตร์และสิ่งแวดล้อมคลองเตย 25 ล้านบาท กองทุนฟื้นฟูอาชีพกลุ่มผู้ป่วยฯ 5.25 ล้านบาท และจ่ายเป็นค่าเชยให้รายละ 100,000 บาท จำนวน 105 คน[33]
กรณีคนงานที่ป่วยจากการทำงาน คุณวัลลภ บุญที่สุด ที่เสียชีวิต ได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนในสำนักงานประกันสังคมเป็นเงิน 140,000 บาท คุณบุญเรือน สัญโภชน์ ได้ค่าประเมินการสูญเสียปอด 5 ปี, สภาพจิตใจ 3 ปี รวมเป็น 260,000 บาท (กรณีสภาพจิตใจ เป็นเงินบริจาค ซึ่งรองนายกฯ ชวลิต เป็นฝ่ายเจรจากับกระทรวงแรงงานฯ ให้จ่ายเป็นกรณีพิเศษ) ขณะที่คนงานอื่นๆ อีก 12 คน ไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคเพื่อรองรับสิทธิ์
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. สถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมฯ อยู่ในขั้นรอเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. กลับไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้เสนออีกเช่นกัน
6. เครือข่ายเกษตรทางเลือก
รัฐบาลชวน 2 ได้อนุมัติงบประมาณ โครงการนำร่องเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นกองทุนสำหรับผู้สนใจทั่วไปที่จะทำเกษตรกรรมยั่งยืนจำนวน 633 ล้านบาท ในปี 2543 จากเดิมที่เสนอไว้ 950 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาลชวลิต
นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงและทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 ให้มีเรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน, ประกาศใช้ พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และมีการออกมติ ครม. ห้ามปลูกทดลองจีเอ็มโอในระดับไร่นา จนกว่าจะมีกฎหมายรับรองความปลอดภัยชีวภาพ
จากผลรูปธรรมจากเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนที่กล่าวมาข้างต้น มีการประเมินความสำเร็จที่เกิดขึ้นในลักษณะที่แตกต่างกัน เช่น ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้ประเมินผลลัพธ์เกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยในสมัยรัฐบาลชวลิต เช่น กรณีการสร้างเขื่อน ว่า ข้อตกลงทั้งหมดเป็นเพียง “ข้อยกเว้นเฉพาะกรณี” ที่นำไปอ้างอิงในกรณีอื่นๆ ไม่ได้ และมีลักษณะของการ “สังคมสงเคราะห์” เนื่องจาก “รัฐบาลชวลิตไม่ได้แก้ไขกฎหมาย ระเบียบราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำให้การจ่ายค่าชดเชยเป็นเรื่องของ ‘หลักการ’ ที่ผู้เดือดร้อนจากนโยบายอื่นๆ นอกจากสมัชชาคนจนจะสามารถได้รับด้วย” หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ไม่ได้สร้างบรรทัดฐานหรือหลักการที่เป็นทางการ[34]
อย่างไรก็ตาม ในฝ่ายสมัชชาคนจนบางส่วนเห็นว่า ถึงแม้ไม่ได้หลักการที่เป็นทางการ แต่การเคลื่อนไหวของพวกเขาได้สร้างบรรทัดฐานทางสังคมที่ (1) ทำให้กลุ่มต่างๆ ที่ได้รับปัญหาในลักษณะเดียวกันกล้าออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของตนเอง และ (2) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเตรียมงบประมาณจำนวนหนึ่งไว้เพื่อจ่ายค่าชดเชยหรือค่าอื่นๆ เพื่อรองรับผู้ที่ได้รับผลกระทบ หรือผู้ได้รับผลกระทบได้รับการดูแลเยียวยาจากรัฐมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้การดำเนินโครงการรัฐหรือกระบวนการต่างๆ ไม่สามารถที่จะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายๆ อีกต่อไป หากต้องอาศัยความยินยอมจากประชาชน หรือยอมให้มีกระบวนการที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ถึงแม้กระบวรการมีส่วนร่วมนั้นจะเป็นการ “จัดฉาก” ก็ตาม แต่เป็นช่องทางหนึ่งที่ประชาชนสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้
ปัญหาความแตกต่างในการประเมินผลจากการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนโดยภาพรวมทั้งหมดเกิดจากจุดอ้างอิงที่ต่างกัน กล่าวคือ ถ้านำความสำเร็จในแง่การได้รับการแก้ไขปัญหาจนสิ้นสุดเป็นตัวตั้ง ก็ถือได้ว่า สมัชชาคนจนประสบความสำเร็จไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนกรณีปัญหาทั้งหมด อย่างที่ได้สรุปมาข้างต้น แต่ถ้าหากนำสถานการณ์ปัญหาของชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เช่น ชาวบ้านยังสามารถอยู่ในที่ทำกินเดิมได้ ไม่โดนไล่ออกจากป่า หรือโครงการพัฒนาที่ชาวบ้านต่อต้านยังไม่สามามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ในแง่นี้ ก็สามารถมองได้ว่า สมัชชาคนจนประสบความสำเร็จมากพอสมควร (ยกเว้นกรณีที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาหรือนโยบายรัฐแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไขหรือเยียวยา ซึ่งถือว่าประสบความล้มเหลว)[35]
อ้างอิง
- ↑ เนื่องจากความเข้าใจหรือการอธิบายสมัชชาคนจนมีความแตกต่างกัน ในกลุ่มคนต่างๆ ในส่วนนี้ จึงอาจจะเรียกได้ว่า เป็น“ฉบับทางการ” เนื่องจากนำมาจากเอกสาร “ภายใน” สมัชชาคนจนเอง ซึ่งถูกผลิตโดยกองเลขานุการ สมัชชาคนจน หรือที่ปรึกษาซึ่งเป็นเอ็นจีโอ ในรูปของแผ่นพับ ใบปลิว แถลงการณ์ และบทความขนาดสั้น เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงและรณรงค์ให้สาธารณะมีความเข้าใจและสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน ตัวอย่างเอกสารชุดนี้ที่สำคัญได้แก่ สมัชชาคนจน, “รวมพลังประสานใจสู่ชัยคนจน” เอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 1, 2540 และเอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 2 และ 3; กองเลขานุการสมัชชาคนจน, “สรุปความเป็นมาการชุมนุมมหกรรมทวงสัญญาสมัชชาคนจน 6 กลุ่มปัญหา 121 กรณี,” จดหมายข่าว ครป., 4: 16 (มกราคม-กุมภาพันธ์, 2540), หน้า 14-18; สมัชชาคนจน “ความเป็นมาสมัชชาคนจน,” วารสารเสียงประชาชน (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์), หน้า 1-4; แถลงการณ์สมัชชาคนจน เรื่อง “คำประกาศสมัชชาคนจน การชุมนุมใหญ่คนจนครั้งประวัติศาสตร์ มหกรรมทวงสัญญาสมัชชาคนจน ครั้งที่ 2” วันที่ 25 มกราคม 2540 ณ ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น
- ↑ ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน: 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก, 2541) หน้า 69
- ↑ สมัชชาคนจน, “รวมพลังประสานใจสู่ชัยคนจน” เอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 1, 2540. ซึ่งข้อความชุดเดียวกันนี้ยังปรากฏใน เอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 2 และ 3 ทั้งหมดเป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อชี้แจงความเป็นมา ปัญหาต่างๆ ของสมัชชาคนจน เพื่อรณรงค์ขอความสนับสนุนจากฝ่ายต่างๆ และเข้าร่วมกิจกรรม “รวมพลัง ประสานใจ สู่ชัยคนจน” ในวันที่ 20 มีนาคม 2540.
- ↑ สมัชชาคนจน, “รวมพลังประสานใจสู่ชัยคนจน” เพิ่งอ้าง
- ↑ กองเลขานุการ สมัชชาคนจน, “สรุปความเป็นมาการชุมนุมมหกรรมทวงสัญญาสมัชชาคนจน 6 กลุ่มปัญหา 121 กรณี” จดหมายข่าว ครป., 4: 16 (มกราคม-กุมภาพันธ์, 2540), หน้า 14. และบทความชิ้นนี้ปรากฏอยู่ใน สมัชชาคนจน “ความเป็นมาสมัชชาคนจน” วารสารเสียงประชาชน (ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์), หน้า 1-4.
- ↑ สมัชชาคนจน, “รวมพลังประสานใจสู่ชัยคนจน” เอกสารเผยแพร่ฉบับที่ 1, 2540. และดูคำอธิบายเรื่อง “โครงสร้างขององค์กร” ของสมัชชาคนจน ซึ่งมาจากคำอธิบายของสมัชชาคนจนเองได้ใน ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน บทที่ 4 “องค์กรการเคลื่อนไหว สมัชชาคนจน” หน้า 93-110
- ↑ ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน, หน้า 153
- ↑ ลำดับการเคลื่อนไหวที่สำคัญในช่วงก่อตั้งจนถึงรัฐบาลชวลิต ดูรายละเอียดใน ประภาส ปิ่นตบแต่ง,การเมืองบนท้องถนน โดยเฉพาะในบทที่ 3 “สมัชชาคนจน กำเนิดและพัฒนาการ” บทที่ 6 “การเมืองของคนจน”
- ↑ เนื่องจากมีกลุ่มและกรณีปัญหาเข้าร่วมจำนวนมาก ทำให้การนับและการแบ่งจำนวนและกรณีต่างๆ มีความแตกต่างกัน โดยส่วนนี้แบ่งตามประภาส ปิ่นตบแต่ง ใน การเมืองบนท้องถนน ขณะที่กองเลขานุการสมัชชาคนจนแบ่งกลุ่มปัญหาในการชุมนุมยกที่ 1 เป็น 4 กลุ่มปัญหา 47 กรณี โดยรวมโครงการรัฐและชุมชนแออัดเป็นกลุ่มปัญหาเดียวกัน และแบ่งการชุมนุมยกที่ 2 เป็น 7 กลุ่มปัญหา 121 กรณี.
- ↑ สมัชชาคนจน, “ความเป็นมาการชุมนุมมหกรรมทวงสัญญาสมัชชาคนจน” ใน วารสารเสียงประชาชน, 1: 1 (ตุลาคม, 2540), หน้า 16-17.
- ↑ นอกจากกลุ่มปัญหานโยบายที่สมัชชาคนจนเสนอต่อรัฐบาล 6 กรณี คือ (1) ร่าง พ.ร.บ. ชุมชนแออัด (2) ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองพันธุ์พืช (3) ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน (4) นโยบายการกระจายการถือครองที่ดิน (5) โครงการนำร่องเพื่อพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อย และ (6) ร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในสถานประกอบการแล้ว ในระหว่างการชุมนุมสมัชชาคนจนยังได้จัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับ พ.ร.บ. สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การตั้งศาลปกครอง และการรับรองสิทธิชุมชน ฯลฯ เสนอต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ดูใน สมัชชาคนจน,“ข้อเสนอเรื่องปฏิรูปการเมืองต่อคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ,” เอกสารอัดสำเนา, 26 มีนาคม 2539.
- ↑ ดูรายละเอียดผลลัพธ์จากการเคลื่อนไหวในช่วงนี้อย่างละเอียดได้ใน ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน, หน้า 185-208.
- ↑ กองเลขานุการ, “ลำดับเหตุการณ์การเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน : รัฐบาลชวน 2” เอกสารอัดสำเนา, 2541
- ↑ กองเลขาสมัชชาคนจน “สรุปความคืบหน้า ปัญหาและอุปสรรค สามปีสมัชชาคนจน“ เอกสารอัดสำเนา, 6 ธันวาคม 2541.
- ↑ กองเลขาสมัชชาคนจน “สรุปความคืบหน้า ฯ,“ เพิ่งอ้าง.
- ↑ ประกอบด้วย แม่มูนมั่นยืน 1 ที่สันเขื่อนปากมูล} แม่มูนมั่นยืน 2 และ 3 ที่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนราศีไศล, แม่มูนมั่นยืน 4 ที่บ้านห้วยหินฝน จ. ชัยภูมิ บริเวณที่จะสร้างเขื่อนโป่งขุนเพชร, หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 5 ที่สันเขื่อนลำคันฉู, แม่มูนมั่นยืน 6 ที่บ้านใหม่ไทบุญมี บริเวณหัวงานที่จะก่อสร้างเขื่อนลำโดมใหญ่
- ↑ ดู ฝ่ายวิชาการสมัชชาคนจน, 16 ปัญหาคนจนกับทางออกสังคมไทย (กรุงเทพฯ: ฝ่ายวิชาการสมัชชาคนจน เนื่องในโอกาสการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามมติกรรมการกลางแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน 16 กรณี, 2543)
- ↑ ดู คณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน, ข้อเสนอกรณีเขื่อนปากมูล และ 16 กรณีปัญหาสมัชชาคนจน (กรุงเทพฯ : คณะกรรมการกลางเพื่อแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน, 2543).
- ↑ ดู “ผ่ามติ ครม.25 กรกฎาคม 2543” และ “วิพากษ์มติ ครม. 8 สิงหาคม 2543 กรณีมาตรการระยะยาวในการแก้ไขปัญหาเขื่อน” ใน ฝ่ายวิชาการสมัชชาคนจน, 16 ปัญหาคนจนกับทางออกสังคมไทย. เพิ่งอ้าง. หน้า 5-15.
- ↑ จำนวนกรณีปัญหา 205 กรณี ในที่นี้อ้างจาก ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี,”สมัชชาคนจนในยุครัฐบาลทุนนิยม,” ใน อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ บรรณาธิการ, ปิดหู ปิดตา ปิดปาก: สิทธิเสรีภาพในมือธุรกิจการเมืองสื่อ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์คบไฟ, 2548) หน้า161-140. แต่จากการให้สัมภาษณ์ของแกนนำสมัชชาคนจน (ไพจิตร ศิลารักษ์) ใน “คนจนฮือ ทวงสัญญา แม้ว ม็อบข้าว ชาติไทย ก่อหวอด,” ไทยโพสต์, 31 มีนาคม 2544. ระบุว่า ทั้งหมดมี 111 กรณีปัญหา 10 นโยบาย (และคดีความเกิดจากต่อสู้อีก 130 คดี) ซึ่งความไม่ชัดเจนเรื่องกรณีปัญหานี้ยังไม่สามารถตรวจสอบว่ามีความถูกต้องมาน้อยแค่ไหน และมีการแจกแจงอย่างไร
- ↑ ดูท่าทีของสมัชชาคนจนต่อการเคลื่อนไหวเพื่อขับไล่รัฐบาลได้ใน ประภาส ปิ่นตบแต่ง, สัมภาษณ์, “ขอประชาธิปไตยที่กินได้ อัปรีย์จะไป จัญไรจะมา...ช่างหัวมัน” ประชาไท, 21 กุมภาพันธ์ 2549. แม้ประภาส จะไม่ได้มีความเป็น “ตัวแทน” ของสมัชชาคนจนก็ตาม แต่เขามีบทบาทสำคัญในการช่วยคบคิด-ให้คำปรึกษาในการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ รวมทั้งการแก้โจทย์ทางการเมืองในสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งไม่เพียงถูกตั้งโยนใส่สมัชชาคนจนจากแกนนำพันธมิตรเท่านั้น แต่รวมถึงส่วนอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน ที่ต้องการ “ไล่ทักษิณ” ด้วย ซึ่งกล่าวได้ว่า บทสัมภาษณ์ชิ้นคือ การตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเขาเห็นว่า “คำถามจากฝ่ายต่างๆ ที่พุ่งตรงมายังสมัชชาคนจนคือ รัฐบาลหมดความชอบธรรมในการบริหารประเทศหรือยัง ถ้าหมดแล้ว ก็ต้องไล่ ถ้าไม่ไล่รัฐบาลแล้วยังมาเรียกร้องอีก ก็หมายความว่า ยังให้ความชอบธรรมกับรัฐบาลใช่ไหม หรือคำถามทำนองว่า ไม่กลัวตกเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองหรือ แม้กระทั่งมีการมองว่า องค์กรอย่างสมัชชาคนจนเห็นแก่ตัว คิดแต่เรื่องปัญหาของตนเอง ไม่ก้าวหน้า ไม่ยกระดับ ซึ่งผมคิดว่าบางเรื่องเข้าใจได้ แต่บางทีไม่ค่อยเป็นธรรมกับพวกเขาเท่าไหร่ … สมัชชาคนจนอาจจะไม่จำเป็นต้องต้องตอบคำถามเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา เพราะคำถามเหล่านี้มันมีเพียง 2 ทางให้เลือก คือ ไล่กับไม่ไล่ แต่อาจจะเริ่มจากว่า สมัชชาคนจนต้องการอะไร และปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนก็ต้องออกมาแก้ไขปัญหา”
- ↑ บารมี ชัยรัตน์, สัมภาษณ์, 29 ตุลาคม 2548.
- ↑ ที่มา: ข้อมูลจากการประมวลสรุปเอกสารสรุปปัญหาและข้อเรียกร้องโดยสมัชชาคนจน อ้างจาก ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน, หน้า 71
- ↑ “ยุทธศาสตร์ยึดพื้นที่” สามารถใช้ได้กับบางกรณีเท่านั้น เช่น กรณีการต่อต้านโครงการพัฒนาที่ยังไม่ได้สร้าง, กรณีปัญหาป่าไม้-ที่ดิน ที่ยังไม่ถูกไล่ออกจากพื้นที่ หรือการต่อสู้กับประมงพาณิชย์ของกลุ่มประมงพื้นบ้านที่สร้างกลไกป้องกันตัวเองได้แล้ว เป็นต้น แต่ไม่สามารถใช้ได้กับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ “อย่างสมบูรณ์” แล้ว เช่น กรณีเขื่อนปากมูล เขื่อนสิรินธร เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณาเรื่องยุทธศาสตร์/ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวนั้น ยังมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง และขึ้นกับเงื่อนไข/สถานการณ์ในช่วงเวลาหนึ่งๆ
- ↑ สกน. ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2543 โดยมีสมาชิก 9 เครือข่าย ครอบคลุมพื้นที่หมู่บ้านในเขตภาคเหนือตอนบน 7 จังหวัด คือ เชียงราย ลำปาง พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง โดยมี 5 ประเด็นปัญหาหลัก คือ 1.ปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า 2. ปัญหาที่ดิน 3.ปัญหาการจัดการน้ำ 4.ปัญหาราคาพืชผล 5. ปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยที่ปรึกษาและ NGOs ที่ทำงานร่วมกับ สกน. ส่วนหนึ่งเคยทำงานกับสมัชชาคนจน ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ สกน. ได้ใน ภัชราภรณ์ สาคำ, “รู้จัก สกน. องค์กรประชาชนภาคเหนือ,” เสียงสหพันธ์, 1: 1 (มีนาคม-เมษายน, 2545), หน้า 5-8.
- ↑ บทความภาษาไทยที่อภิปรายข้อถกเถียงในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับความสำเร็จล้มเหลวและยุทธศาสตร์ใว้อย่างละเอียด คือ ประภาส ปิ่นตบแต่ง “แนวทางการเคลื่อนไหวต่อสู้และยุทธวิธีของขบวนการทางสังคม” ฟ้าเดียวกัน, 1: 4 (ตุลาคม-ธันวาคม, 2546) หน้า 161-175 และ ประภาส ปิ่นตบแต่ง, ขบวนการประชาชนในชนบท ช่วงตั้งแต่ทศวรรษ 2530: ผลสำเร็จ ล้มเหลว และผลกระทบ” ใน ประชาธิปไตย ประชาสิทธิ์ ประชาธรรม, นวลน้อย ตรีรัตน์ บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), หน้า 21-74.
- ↑ เรื่องความสำเร็จ/ล้มเหลวนี้ สรุปประมวลจากข้อมูลก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นส่วนใหญ่ เพราะหลังจากนั้น สมัชชาคนจนไม่ได้มีการเคลื่อนไหวกดดันให้มีการแก้ไขปัญหา เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการต่อสู้กันในการเมืองระดับชาติที่รุนแรง หรือ โครงสร้างโอกาสทางการเมืองไม่เอื้อต่อการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจน และจึงทำให้ไม่มีความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาที่สำคัญ
- ↑ “สรุปประสบการณ์ 10 ปีสมัชชาคนจน โดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค” วันที่ 5 พฤศจิกายน 2548 ณ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย
- ↑ บุญเลิศ วิเศษปรีชากุล “เครือข่ายสลัม 4 ภาค” หน้า 78. ซึ่งในที่นี้สามารถวิเคราะห์ได้ว่า ความตื่นตัวที่จะผลักดัน พ.ร.บ.และ คณะกรรมการฯ ลดลงไปหรือไม่ได้สนใจอีกต่อไป เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไป และชาวบ้านสามารถที่จะใช้ช้องทางอื่นต่อรองได้
- ↑ เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน ไม่สามารถที่จะรวบรวมข้อมูลที่มีรายละเอียดของแต่ละกรณีปัญหาอย่างเป็นระบบได้ เนื่องมีกรณีปัญหาจำนวนมากและข้อมูลกระจายอยู่ในเครือข่ายย่อยในแต่ละภูมิภาค และนอกจากนั้น ยังมีบางกลุ่มไม่ได้เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในช่วงหลัง ดังนั้นการสรุปในที่นี้ นอกจากในส่วน บรรลุผลมีข้อยุติ ที่นำมาจาก กองเลขาสมัชชาคนจน “สรุปความคืบหน้า ปัญหาและอุปสรรค สามปีสมัชชาคนจน“ แล้ว ได้จมาจากกการประเมินอย่างคร่าวๆ ของ บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน, 21 พฤศจิกายน 2448
- ↑ ดูเหตุผลที่ผู้เสนอร่างพ.ร.บ. ป่าชุมชน “ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมรับ” ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสนช.ได้ใน “เหตุผลที่ไม่ควรยอมรับกฎหมาย ‘ป่าชุมชน’ ฉบับ สนช. ” ประชาไท, 27 พฤศจิกายน 2550
- ↑ “ศาล รธน.ตีตกร่าง พ.รบ.หวยบนดิน-ป่าชุมชน-เจ็ดชั่วโคตร เหตุไม่ครบองค์ประชุม” ประชาไท, 7 พฤศจิกายน 2551
- ↑ ต่อมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดบางส่วนในภายหลัง เช่น กรณีกองทุนฟื้นฟูอาชีพ เนื่องจากการเรียกร้องของกลุ่มฯ
- ↑ ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน, หน้า 235 และดูการประเมินสมัชชาคนจนดูการประเมินผลสำเร็จของสมัชชาคนจนในช่วงรัฐบาลชวลิตได้ใน หน้า 185-208
- ↑ สำหรับผู้สนใจศึกษาสมัชชาคนจน งานเขียนที่สำคัญเกี่ยวกับสมัชชาคนจน ที่เสนอมุมมองในการศึกษา และทำความเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ที่สำคัญได้แก่ (เรียงตามลำดับเวลา)
(1) สุธี ประศาสน์เศรษฐ์, “แปดญัตติว่าด้วยสมัชชาคนจน,” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน), ฉบับที่ 1 (เมษายน 2540), หน้า 94-101 บทความนี้ถือว่าเป็นงานวิชาการชิ้นแรกที่พยายามนิยามความหมายและอธิบายการเคลื่อนไหวของสมัชชาคนจนผ่านกรอบทฤษฎี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอธิบายว่า “สมัชชาคนจนเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใหม่ (New Social Movement)” ซึ่งต่อมาได้ถูกนำไปอ้างอิงอย่างกว้างขวางในงานศึกษาสมัชชาคนจน
(2) กนกศักดิ์ แก้วเทพ “จากสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (2517-2522) ถึงสมัชชาคนจน (2538- ): ความต่อเนื่องและขาดตอน” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน), ฉบับที่ 3 (ตุลาคม, 2540), หน้า 91-109 (และต่อมาได้ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมและตีพิมพ์อีกครั้งในชื่อเดียวกันใน วิพากษ์ทุนนิยมไทย ทัศนะจากกระแสหลุด (กรุงเทพฯ: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542), หน้า 9-28) บทความนี้ ศึกษาเปรียบเทียบระหว่างสหพันธ์ฯ กับสมัชชาคนจน โดยเห็นว่า แม้ผู้เล่นหลัก (Actor) ยังคงเป็นชาวนาชาวไร่เหมือนเดิม และทั้ง 2 ขบวนการนี้ได้สะท้อนถึงวิกฤติการณ์ของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และขีดจำกัดของรัฐ ซึ่งเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งให้มีการวมตัวเป็นองค์กรเพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง รวมทั้งยังเป็นการสืบทอดจิตวิญญาณของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ว่า “รัฐเป็นสิ่งที่ต่อรองหรือต่อต้านได้ แทนที่จะเป็นฝ่ายกระทำเพียงฝ่ายเดียวเหมือนเช่นที่ผ่านมาในอดีต” แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ สมัชชาคนจนนับเป็นพัฒนาการของขบวนการชาวนาชาวไร่ที่สำคัญ กล่าวคือ พัฒนาจากกลุ่มที่เน้นเฉพาะผลประโยชน์ของตน (class interest) ในกรณีสหพันธ์ฯ ไปสู่การเคลื่อนไหวที่ครอบคลุมผลประโยชน์ของสังคมวงกว้าง (Non-class interest) ในกรณีสมัชชาคนจน ซึ่งถือเป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่ และเป็นวิถีทางที่สำคัญอย่างหนึ่งในการพัฒนาสู่ประชาสังคม
(3) ประภาส ปิ่นตบแต่ง, การเมืองบนท้องถนน: 99 วันสมัชชาคนจน และประวัติศาสตร์การเดินขบวน ชุมนุมประท้วงในสังคมไทย (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา มหาวิทยาลัยเกริก, 2541) ปรับปรุงจาก “การเมืองของขบวนการชาวบ้านด้านสิ่งแวดล้อมในสังคมไทย” วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก สาขารัฐศาสตร์ จุฬาฯ. หนังสือเล่มนี้ ถือได้เป็นงานศึกษาสมัชชาคนจนอย่างเป็นระบบที่สุดในภาษาไทย และเป็นการบุกเบิกการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมยุคใหม่ โดยใช้ทฤษฎีการระดมทรัพยากรและโครงสร้างโอกาสทางการเมือง โดยอธิบายการเกิดขึ้นของสมัชชาคนจน ผ่านเงื่อนไขจำเป็นด้านโครงสร้าง และเงื่อนไขความพอเพียง กล่าวคือ การพัฒนาองค์กรภายใน และปัจจัยภายนอกองค์กร ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างโอกาสทางการเมือง โครงสร้างโอกาสทางสังคม และฝ่ายต่อต้าน
(4) คริส เบเกอร์ “สมัชชาคนจน: ภูมิหลังและบทบาท” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง (เพื่อชุมชน), ฉบับที่ 18 (2543) หน้า 105-137. แปลและเรียบเรียงโดยอุทัย ม่วงศรีเมืองดี จาก Chris Baker “Thailand’s assembly of the poor : background, drama, reaction,” South East Asia Research, Volume 8, Number 1 (1 March 2000), pp. 5-29. คริส เบเกอร์ได้จัดวางการก่อกำเนิดของสมัชาคนจนลงในการเปลี่ยนแปลงสังคมชนบท และเปรียบเทียบกับขบวนการอื่นๆ ผ่านกรอบเศรษฐศาสตร์การเมือง และอธิบายว่า สมัชชาคนจนเป็นลูกผสมแบบใหม่ในระบบเศรษฐกิจการเมืองของชนชั้นชาวนาส่วนใหญ่ของไทย โดยมีที่มาจากกลุ่มคนยากจน ผู้ขาดความมั่นคงด้านสิทธิในการถือครองที่ดิน และต้องพึ่งพิงส่วนแบ่งรายได้จากเศรษฐกิจภาคเมือง ชาวนาเหล่านี้ยังไม่ยอมละทิ้งฐานดั้งเดิมในชนบทเพื่อความมั่นคงของตนในระยะยาว รวมทั้งยังคงมีความผูกพันทางสังคมและวัฒนธรรมอยู่ สมัชชาคนจนจึงมีเป้าหมายการเรียกร้อง คือ สิทธิในที่ดินทำกิน แหล่งน้ำ และทรัพยากรป่าไม้ ที่จำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตเศรษฐกิจแบบกึ่งยังชีพ (semi-subsistence) ซึ่งยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวได้สะท้อนถึงประสบการณ์ที่ช่ำชองในการประเมินสภาพทางเศรษฐกิจการเมืองระดับชาติ โดยมีกุญแจสำคัญ คือ “การจัดรูปแบบองค์กรและยุทธศาสตร์ของผู้นำที่มีรากอยู่ในชนบทและมีประสบการณ์ในเมือง”
5) อุเชนทร์ เชียงเสน “10 ปีสมัชชาคนจน :บทเรียนบางประการ” ฟ้าเดียวกัน, ปีที่ 5 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน, 2550) หน้า 148-180 โดยบทความนี้ได้ทบทวนและเสนอข้อถกเถียงเกี่ยวกับสมัชชาคนจนในมิติต่างๆ นับตั้งแต่เรื่องความเข้าใจที่มีต่อสมัชชาคนจนของคนกลุ่มต่างๆ โครงสร้างองค์กร ผลสำเร็จ/ล้มเหลว และบทเรียนในการเคลื่อนไหวในรอบ 10 ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น ยังมีงานศึกษาสมัชชาคนในภาษาอังกฤษที่สำคัญ คือ Bruce D. Missingham, The Assembly of the Poor in Thailand (Chaing Mai: Silkworm Books, 2003)