ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' : ภัทรวดี ชินชนะ '''ผู้ทรงคุณวุฒิประจำ..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
 
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 16:00, 19 มิถุนายน 2567

ผู้เรียบเรียง : ภัทรวดี ชินชนะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : นายจเร พันธุ์เปรื่อง


ความหมายสมบูรณาญาสิทธิราชย์

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ (อังกฤษ: Absolute Monarchy) คือ ระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นผู้ปกครองและมีสิทธิ์ขาดในการบริหารประเทศ ในระบอบการปกครองนี้ กษัตริย์ก็คือกฎหมาย กล่าวคือ ที่มาของกฎหมายทั้งปวงอยู่ที่กษัตริย์ คำสั่ง ความต้องการต่าง ๆ ล้วนมีผลเป็นกฎหมาย[1] กษัตริย์มีอำนาจในการปกครองแผ่นดินและพลเมืองโดยอิสระ โดยไม่มีกฎหมายหรือองค์กรตามกฎหมายใด ๆ จะห้ามปรามได้ แม้องค์กรทางศาสนาอาจทัดทานกษัตริย์จากการกระทำบางอย่างและองค์รัฏฐาธิปัตย์ (กษัตริย์) นั้นจะถูกคาดหวังว่าจะปฏิบัติตามธรรมเนียม แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ไม่มีรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด ๆ ที่จะอยู่เหนือกว่าคำชี้ขาดของรัฏฐาธิปัตย์ ตามทฤษฎีพลเมืองนั้น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มอบความไว้วางใจทั้งหมดให้กับพระเจ้าแผ่นดินที่ดีพร้อมทางสายเลือดและได้รับการเลี้ยงดูฝึกฝนมาอย่างดีตั้งแต่เกิด

ในทางทฤษฎี กษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะมีอำนาจทั้งหมดเหนือประชาชนและแผ่นดิน รวมทั้งเหนืออภิชนและบางครั้งก็เหนือคณะสงฆ์ด้วย ส่วนในทางปฏิบัติกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มักจะถูกจำกัดอำนาจ โดยทั่วไปโดยกลุ่มที่กล่าวมาหรือกลุ่มอื่น กษัตริย์บางพระองค์ (เช่นจักรวรรดิเยอรมนี ค.ศ. 1871-1918) มีรัฐสภาที่ไม่มีอำนาจหรือเป็นเพียงสัญลักษณ์และมีองค์กรบริหารอื่นๆ ที่กษัตริย์สามารถเปลี่ยนแปลงหรือยุบเลิกได้ตามต้องการ แม้จะมีผลเท่ากับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่โดยทางเทคนิคที่เป็นไปได้แล้ว นี่คือราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) เนื่องจากการมีอยู่ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายพื้นฐานของประเทศ

ประเทศที่ใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปัจจุบันคือ ซาอุดิอาระเบีย บรูไน โอมาน สวาซิแลนด์ กาตาร์ รวมทั้ง นครรัฐวาติกัน ด้วย[2]


ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย

ประเทศไทยเคยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์เด็ดขาดในการปกครองแผ่นดิน ดังคำกล่าวที่ว่า "พระบรมราชานุภาพของพระเจ้าแผ่นดิน กรุงสยามนี้ไม่ได้ปรากฏในกฎหมายอันหนึ่งอันใด ด้วยเหตุที่ถือว่าเป็นที่ล้นพ้น ไม่มีข้อสั่งอันใดจะเป็นผู้บังคับขัดขวางได้[3]

ในทัศนะของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยนั้น ไม่ได้เป็นระบอบที่มีมาแต่สมัยโบราณ แต่เพิ่งมีมาในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากในรัชกาลนี้ พระองค์ทรงรวบอำนาจจากเหล่าขุนนาง ข้าราชการ ที่เคยมีอำนาจและบทบาทมากก่อนหน้านั้น มาไว้ที่ศูนย์กลางการปกครอง คือ ตัวพระองค์ และพระประยูรญาติ ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงดำรงสถานะเป็นทั้งประมุขของรัฐและประมุขของฝ่ายบริหารอย่างแท้จริง เท่ากับว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทยมีเพียง 3 รัชกาลเท่านั้น คือ รัชกาลที่ 5, รัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7[4]

ในกรณีพิจารณาระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เราจะละเลยไม่พิจารณาสถาบันพระมหากษัตริย์ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เสียมิได้ ไม่ว่าด้านพระราชกรณียกิจซึ่งได้ทรงประกอบเพื่อประเทศชาติและประชาชนหรือในด้านแนวความคิดทางการเมืองและการปกครอง ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของ พระราชอาณาจักร ทั้งนี้ เพราะการศึกษาประวัติศาสตร์แห่งสถาบันนี้ จะทำให้เราทราบประวัติความเป็นมา และความเป็นไปของสถาบันแห่งนี้ในอนาคตได้ดีขึ้น ดังคำพังเพยที่ว่า “อดีตเป็นเครื่องชี้ปัจจุบันและอนาคต”

ความหมายของ “พระมหากษัตริย์”[5]

ความหมายของ “พระมหากษัตริย์” อาจแยกพิจารณาได้เป็น 2 ประการ คือ :

1. ความหมายตามรูปศัพท์

2. ความหมายในทางการเมืองและการปกครอง

1. ความหมายตามรูปศัพท์

คำว่า“พระมหากษัตริย์” หากแปลตามรูปศัพท์ย่อมหมายความว่า“นักรบผู้ยิ่งใหญ่”[6]ทั้งนี้เพราะคำว่า “มหา” แปลว่ายิ่งใหญ่ และ “กษัตริย์” แปลว่านักรบ แต่ถ้าจะถือตามความหมายที่ใช้กันอยู่ทั่วไปและตามความเข้าใจธรรมดาแล้ว พระมหากษัตริย์ ก็คือ พระเจ้าแผ่นดิน[7] คติที่เรียกพระเจ้าแผ่นดินว่า “พระมหากษัตริย์” นั้น เรารับมาจากภาษาสันสกฤตซึ่งมีความหมาย 2 นัย นัยแรก คือความหมายดังกล่าวข้างต้น คตินี้สืบเนื่องมาจากธรรมเนียมการใช้วรรณะในอินเดียซึ่งถือว่า “กษัตริย์” รวมถึงพวกนักรบด้วย และคติที่สอง หมายถึงผู้ปกครองแผ่นดินซึ่งสืบเนื่องมาจากคติ“มหาสมมติ” ซึ่งถือว่ามหาชนเป็นผู้เลือกกษัตริย์

ศัพท์สำหรับเรียกพระมหากษัตริย์มีหลายรูป หลายคตินิยม แตกต่างกันไป เช่น ราชราชา หรือ ราชัน ซึ่งหมายถึงผู้ชุบน้อมจิตใจของผู้อื่นไว้ด้วยธรรม มหาสมมติ หรืออเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ซึ่งมีนัยดังกล่าวแล้วข้างต้น จักรพรรดิ ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองที่ปวงชนพึงใจและเป็นผู้มีคุณธรรมสูง มีความหมายใกล้เคียงกับ ธรรมราชา อันหมายถึงผู้รักษาและปฏิบัติธรรม ทั้งเป็นต้นเหตุแห่งความยุติธรรมทั้งมวล นอกจากนั้นก็มีคำว่า พระเจ้าอยู่หัว อันหมายถึง พระผู้เป็นผู้นำ หรือประมุขของประเทศ ท้ายที่สุดก็คือ คำว่าพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งสืบเนื่องมาจากคตินิยมที่ว่าพระมหากษัตริย์เป็นเจ้าของแผ่นดิน (เขตคาม อธิปติ) ซึ่งอาจดูได้จากกฎหมายลักษณะเบ็ดเสร็จที่ประกาศในรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง เมื่อ พ.ศ. 1903

เป็นที่น่าสังเกตว่า มีผู้พยายามแสดงให้เห็นว่า ราชา กษัตริย์ และจักรพรรดิ ต่างกัน แท้จริงแล้ว น่าจะแตกต่างกันในแง่รากศัพท์และคำแปลตามรากศัพท์เท่านั้น แต่ความหมายอันแท้จริงไม่น่าจะแตกต่างกัน คำแปลตามรากศัพท์ที่แตกต่างกันนี้ แสดงให้เห็นถึงหน้าที่ต่าง ๆ ที่พระมหากษัตริย์มีแต่เดิม ตามคตินิยมต่าง ๆ ซึ่งผสมผสานเข้าด้วยกันในปัจจุบัน ไม่ว่าคำแปลตามรากศัพท์ของคำเหล่านี้ จะเป็นอย่างไรก็ตาม สำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว “ในหลวง” ก็คือ “ในหลวง” ที่เขาจงรักภักดีตลอดชั่วกาลนานนั่นเอง.

2. ความหมายในทางการเมืองและการปกครอง

แนวความคิดในทางการเมืองและการปกครองที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ แต่เดิมนั้น มี 2 ประการ ประการแรก ถือว่าพระมหากษัตริย์คือหัวหน้าครอบครัวใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กันทางสายเลือดกับหมู่คณะ ประการที่สอง ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐในทางการเมือง หรือเป็นผู้มีอำนาจปกครองสูงสุด ในต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปนั้น ถือ หลักเทวสิทธิ (divine right of the kings) อย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นพระผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยอย่างเด็ดขาด และมีอำนาจล้นพ้น (absolute) แต่ในประเทศไทยนั้น คตินิยมสมัยสุโขทัย มีลักษณะหนักไปในแนวแรก คือถือว่า พระมหากษัตริย์เป็น “พ่อเมือง” มีคำขึ้นต้นพระนามว่า “พ่อขุน” ราษฎรมีความใกล้ชิดกับพระองค์ ถึงขนาดสั่นกระดิ่งถวายฎีกาได้ ครั้นถึง สมัยอยุธยาคตินิยมก็เปลี่ยนไป เพราะรับอิทธิพลจากขอมมากขึ้น พระมหากษัตริย์จึงเป็น “อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ” คือประชาชนและเสนาอำมาตย์เลือกพระองค์ขึ้นปกครองประเทศ อย่างไรก็ดี แม้คติที่สองนี้ จะสืบเนื่องมากจากสมัยอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าแนวความคิดของไทยต่างกับของยุโรปตรงที่ว่าพระมหากษัตริย์ไทยมีลักษณะผสมทั้ง 2 แนวความคิด กล่าวคือ พระองค์ไม่ใช่เทวดาอย่างเขมรหรือฝรั่ง และขณะเดียวกันก็ไม่ใช่คนธรรมดาสามัญ จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยไม่เคยมี “เทวสิทธิของพระมหากษัตริย์” ดังที่เป็นอยู่ในยุโรปเลย[8] ทั้งนี้ เพราะพระมหากษัตริย์ไทยมีนิติราชประเพณี ทศพิธราชธรรม และพระมโนธรรมกำกับอยู่ และทรงประทับอยู่กับราษฎรเสมอมา

พัฒนาการทางการเมืองการปกครองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของประเทศไทย[9]

การเมืองการปกครองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้บริหารสูงสุดที่จะกำหนดรูปแบบและโครงสร้างการปกครองเพื่อปกครองดูแลราษฎรให้เกิดความสงบเรียบร้อยอยู่ภายใต้พระราชอำนาจอันเด็ดขาด โดยแบ่งการบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 3 ลักษณะ คือ การบริหารราชการส่วนกลาง การบริหารราชการส่วนภูมิภาค และการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น โดยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้น จะเกิดขึ้นหลังสุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งการบริหารส่วนภูมิภาคจะเริ่มต้นในสมัยพระเจ้าอู่ทองแห่งกรุงศรีอยุธยา กล่าวคือ การบริหารส่วนกลางหรือส่วนราชธานีจะมีการปกครองแบบ “จตุสดมภ์” ที่มี 4 หน่วยงานหลัก คือ กรมเมือง (เวียง) กรมวัง กรมคลัง กรมนา โดยมีขุนนางเป็นผู้บริหารควบคุมดูแลในตำแหน่ง “เสนาบดี” ที่มีหน้าที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของภารกิจ ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงปรับปรุงและเพิ่มเติมหน่วยงานอีก 2 หน่วยงาน คือ กรมพระกลาโหมและกรมมหาดไทย โดยผู้บริหารมีตำแหน่ง “อัครมหาเสนาบดี” ซึ่งอำนาจมากกว่า “เสนาบดีจตุสดมภ์” ดังนั้นหน่วยงานการบริหารส่วนกลางจึงมี 6 หน่วยงาน และเป็นหน่วยงานหลักของการบริหารราชการส่วนกลางตลอดมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนกลางโดยเพิ่มหน่วยงานมากขึ้น เนื่องจากความเจริญของบ้านเมืองที่ขยายตัวทำให้เกิดภารกิจการงานแบบใหม่เกิดขึ้นมากมาย โดยทรงโปรดให้ปรับหน่วยงานเดิม 6 หน่วยงานเพิ่มเติมอีก 6 หน่วยงาน รวมเป็น 12 หน่วยงาน และเปลี่ยนชื่อจากกรมเป็น “กระทรวง” ส่วนตำแหน่งผู้บริหารทุกกระทรวงมีฐานะเท่าเทียมกันคือตำแหน่ง “เสนาบดี” อันเป็นรากฐานของการพัฒนามาเป็นกระทรวงต่าง ๆ ในปัจจุบันและตำแหน่งเสนาบดีก็เปลี่ยนชื่อเป็น “รัฐมนตรี” โครงสร้างการปกครองส่วนกลาง คือ “กระทรวง” จึงเป็นการบริหารหลักในการปกครองและการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของประเทศด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักบริหารที่ทรงมีพระกรุณาธิคุณ และคุณูปการต่อราชอาณาจักรสยามอย่างสูงยิ่งสำหรับการบริหารและการปกครองส่วนภูมิภาค ความสัมพันธ์ระหว่างเมืองหลวงกับหัวเมือง จะมีลักษณะโครงสร้างของอำนาจแบบหลวมไม่กระชับที่จะผูกพันให้เกิดความจงรักภักดีอย่างแน่นแฟ้นตลอดไป การที่หัวเมืองต่าง ๆ ยอมอยู่ใต้อำนาจนั้นขึ้นอยู่กับพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถในการรบและมีพระบารมีมากพอที่จะยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์นั้นได้ จึงมีลักษณะอำนาจกระจายเป็นการยอมรับอำนาจชั่วคราว ดังนั้นเมื่อมีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินจึงต้องมีการดื่มน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อแสดงความจงรักภักดีทุกครั้ง สงครามปราบปรามระหว่างหัวเมืองที่กบฏหรือแข็งข้อ จึงเกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย ซึ่งรูปแบบการปกครองส่วนภูมิภาคในระยะแรกจะมีการแบ่งหัวเมืองออกเป็น 3 ลักษณะ คือ หัวเมืองลูกหลวง (เมืองหน้าด่าน) หรือหัวเมืองชั้นใน เมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอก และหัวเมืองประเทศราช สำหรับหัวเมืองลูกหลวงจะมีการเปลี่ยนแปลงตามเมืองหลวงที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น สมัยกรุงสุโขทัย เมืองลูกหลวง ได้แก่ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองกำแพงเพชร เมืองสองแคว (พิษณุโลก) และเมืองสระหลวง (พิจิตร) หรือสมัยกรุงศรีอยุธยา และเมืองลูกหลวง ได้แก่ เมืองลพบุรี พระประแดง (สมุทรปราการ) เมืองนครนายก และเมืองสระหลวง (พิจิตร) ความสำคัญของเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน คือเป็นเมืองที่เมืองหลวงส่งเชื้อพระวงศ์ไปปกครองเป็นส่วนใหญ่และเป็นจุดป้องกันข้าศึกก่อนที่กองทัพศัตรูจะเข้ามาตีถึงเมืองหลวง สำหรับเมืองพระยามหานครหรือหัวเมืองชั้นนอกเป็นเมืองที่อยู่กระจายตามภูมิภาคต่าง ๆ โดยมีเจ้าเมืองเป็นคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ฐานะความสำคัญของหัวเมืองขึ้นอยู่กับจำนวนของพลเมืองว่าเป็นเมืองขนาดใด จึงแบ่งเป็น หัวเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เช่น หัวเมืองเอกที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ ได้แก่ เมืองพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช และเมืองนครราชสีมา เป็นต้น ทั้งนี้อำนาจของเจ้าเมืองจะมีอำนาจในการเก็บภาษีผลผลิตต่าง ๆ และแบ่งเข้าสู่เมืองหลวงตามกำหนด เรียกว่า “ระบบกินเมือง” รวมทั้งมีอำนาจในการปกครองคนได้รับอาญาสิทธิ์สามารถสั่งประหารชีวิตคนได้ เช่น กรณีเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สั่งประหารศรีปราชญ์ เป็นต้น ส่วนเมืองประเทศราชซึ่งเป็นเมืองต่างชาติต่างภาษาที่ยอมอ่อนน้อมหรือเมืองหลวงไปตีมาได้ก็ยังคงมีอำนาจปกครองตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตามกำหนด รวมทั้งต้องนำกองกำลังมาช่วยรบเมื่อเมืองหลวงเกิดศึกสงครามด้วย การปกครองลักษณะดังกล่าวนี้มีมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค เพื่อให้เมืองหลวงมีอำนาจสามารถควบคุมหัวเมืองได้อย่างกระชับใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น เพราะอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก จึงยกเลิกระบบการปกครองแบบเดิมที่เป็น “ระบบกินเมือง” และได้มีการตรากฎหมายเพื่อรวมอำนาจการปกครองส่วนภูมิภาคเข้าสู่ส่วนกลาง 4 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.116 ข้อบังคับลักษณะการปกครองท้องที่ ร.ศ.117 ข้อบังคับลักษณะปกครองมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ ร.ศ.119 และข้อบังคับลักษณะปกครองท้องที่ 7 หัวเมืองอิสลามปักษ์ใต้ ร.ศ.120 โดยกฎหมายเหล่านี้มีผลทำให้การจัดการปกครองหัวเมืองมีหน่วยราชการบังคับบัญชาที่เป็นระเบียบเดียวกันทั่วราชอาณาจักรเรียกว่า “ระบบมณฑลเทศาภิบาล” โดยมีโครงสร้างบริหารตั้งแต่มณฑล เมือง (จังหวัด) อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน โดยมีขุนนางหรือข้าราชการมีอำนาจหน้าที่บริหารลดหลั่นลงไป รวมทั้งการยุบประเทศราช เช่น หัวเมืองล้านนา และบางส่วนของหัวเมืองล้านช้าง คือบริเวณภาคอีสานให้เข้ามาอยู่ภายใต้ระบบมณฑลเทศาภิบาล และส่งข้าหลวงไปปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด มีการสำรวจสำมะโนครัว ราษฎรลาว ผู้ไทย เขมร ส่วยและรวบรวมเข้าเป็นคน “สัญชาติไทยในบังคับสยาม” ในส่วนการประกาศใช้ข้อบังคับลักษณะปกครองท้องที่ 7 หัวเมืองอิสลามปักษ์ใต้ ร.ศ.120 ก็ทำให้เมืองยะลา เมืองปัตตานีและเมืองนราธิวาส ได้เข้ามารวมเป็นมณฑลปัตตานีและรวมอยู่ภายในราชอาณาจักรสยามเช่นกัน ผลการปฏิรูปนี้ได้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านเกิดขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ เรียกว่า “กบฏผู้มีบุญ” ได้แก่ กบฏเงี้ยวเมืองแพร่ กบฏผีบุญภาคอีสาน และกบฏพระยาแขกเจ็ดหัวเมือง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางก็สามารถปราบปรามได้สำเร็จทำให้การปฏิรูปการปกครองในส่วนภูมิภาค ในระบบมณฑลเทศาภิบาลนี้สามารถรวมอำนาจเข้าสู่รัฐบาลกลาง (Centralization of Power) และสร้างความเป็นเอกภาพของชาติสยาม (National Unity) ได้ สามารถสร้างเสถียรภาพให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุดเด็ดขาด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการยกเลิกการปกครองแบบเทศาภิบาลและยกฐานะ “เมือง” เป็นจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บริหารปกครองดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขในฐานะผู้แทน จากกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งดูแลรับผิดชอบในส่วน อำเภอ ตำบลและหมู่บ้าน ในขณะเดียวกันในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีการริเริ่มการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นเป็นครั้งแรกที่เรียกว่าระบบสุขาภิบาล และต่อมาจะพัฒนาเป็นเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

การสิ้นสุดระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เมื่อมีการปฏิวัติยึดอำนาจจากรัชกาลที่ 7 และเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยใน พ.ศ. 2475 แล้ว ในทางนิตินัย พระราชอำนาจที่เคยมีมาอย่างล้นพ้นได้ถูกจำกัดลงให้อยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ[10]

 

อ้างอิง

  1. อมร รักษาสัตย์. พระราชอำนาจตามกฎหมาย. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.mcu.ac.th/BO/Files/Doc/Article/artFile48.doc (เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557).
  2. สมบูรณาญาสิทธิราชย์.[ออนไลน์]. สืบค้นจาก :http://th.wikipedia.org/wiki/สารานุกรมเสรี (เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557)
  3. อมร รักษาสัตย์. พระราชอำนาจตามกฎหมาย. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.mcu.ac.th/BO/Files/Doc/Article/artFile48.doc (เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557).
  4. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. เหตุแห่งการปฏิวัติสยาม 2475. สัมภาษณ์นิตยสารสารคดี “24 มิถุนายน 2475 ฉบับที่ 172 : มิถุนายน 2542. หน้า 110.
  5. ธานินทร์ กรัยวิเชียร. พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย. กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2519. หน้า 1-3.
  6. ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. สถาบันพระมหากษัตริย์. พระนคร : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2508. หน้า 23. และภาษาสันสกฤตว่า กษตริย หมายถึงผู้ป้องกันภัย หรือนักรบ
  7. “พระมหากษัตริย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพ : บริษัทนานมีบุ๊กส์ พับลิเคชั่นส์จำกัด. 2542. หน้า 85.
  8. สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. ธรรมคดี. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย. พ.ศ. 2514. หน้า 298.
  9. ศิริพร สุเมธารัตน์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2553. หน้า 392-394.
  10. สมบูรณาญาสิทธิราชย์. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก :http://th.wikipedia.org/wiki/สารานุกรมเสรี (เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557)

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

สมบูรณาญาสิทธิราชย์เต็มรูปแบบ รวมชาติรวมแผ่นดิน สมัยรัชกาลที่ 5.กรุงเทพ : วันชนะ. กันยายน 2547

เบนจามิน เอ.บัทสัน. อวสานสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสยาม. กรุงเทพ : มูลนิธิโครงการตำรา สังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2543.

บรรณานุกรม

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช. สถาบันพระมหากษัตริย์. พระนคร : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2508.

ธานินทร์ กรัยวิเชียร. พระมหากษัตริย์ไทยในระบอบประชาธิปไตย. กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พิมพ์ครั้งที่ 1 ธันวาคม 2519.

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. เหตุแห่งการปฏิวัติสยาม 2475. สัมภาษณ์นิตยสารสารคดี “24 มิถุนายน 2475 ฉบับที่ 172 : มิถุนายน 2542.

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542. กรุงเทพ : บริษัทนานมีบุ๊กส์ พับลิเคชั่นส์จำกัด. 2542.

ศิริพร สุเมธารัตน์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2553.

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส. ธรรมคดี. พระนคร : โรงพิมพ์มหามกุฎราชวิทยาลัย.พ.ศ. 2514.

สมบูรณาญาสิทธิราชย์. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://th.wikipedia.org/wiki/สารานุกรมเสรี (เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557)

อมร รักษาสัตย์. พระราชอำนาจตามกฎหมาย. [ออนไลน์]. สืบค้นจาก : http://www.mcu.ac.th/BO/Files /Doc/Article/artFile48.doc (เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557)