หัวเมืองชั้นนอก
เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล
ความหมาย
หัวเมืองชั้นนอก หมายถึง เมืองใหญ่ที่อยู่ไกลจากราชธานี พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งเจ้าเมืองจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรณ หรือบางเมืองจะแต่งตั้งเจ้าเมืองจากผู้สืบเชื้อสายของเจ้าเมืองเดิม หัวเมืองเหล่านี้อยู่ในพระราชอาณาเขต รูปแบบการปกครองเป็นแบบเดียวกับราชธานี มีความสำคัญทั้งในฐานะในการควบคุมไพร่พล กำลังทางเศรษฐกิจและในการสงคราม
การแบ่งการปกครองหัวเมือง
การจัดการปกครองในสมัยสุโขทัย อยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการแบ่งหัวเมืองออกเป็นชั้นๆ ตามลำดับความสำคัญของเมือง โดยการแบ่งหัวเมืองเช่นนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจัดระบอบการปกครอง จัดความสัมพันธ์ระหว่างหัวเมืองกับเมืองหลวง เพราะรัฐไม่มีกำลังทหารเพียงพอที่จะไปปกครองโดยตรง จึงต้องใช้ระบบปกครองคล้าย Feudal ในยุโรป[1]
ในสมัยสุโขทัยและอยุธยาตอนต้นจะมีการแบ่งการปกครองหัวเมืองออกเป็น 3 ชั้นคือ หัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองประเทศราช
1.การปกครองหัวเมืองชั้นใน โดยมีเมืองชั้นในรายรอบเป็นปริมณฑล เรียกว่าเมืองลูกหลวง ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านล้อมราชธานีไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยระยะทางจากเมืองลูกหลวงกับราชธานี จะใช้เวลาเดินทางภายในระยะเวลา 2 วัน
2.การปกครองหัวเมืองชั้นนอก คือเมืองใหญ่ที่อยู่ไกลจากราชธานี บางเมืองเจ้าเมืองเจ้าหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองเดิม บางเมืองเจ้าเมืองตั้งไปจากราชธานีเป็นผู้ปกครองต่างพระเนตรพระกรรณ
3.เมืองประเทศราช คือเมืองที่อยู่นอกราชอาณาจักร ผู้ปกครองเมืองมีอำนาจสิทธิ์ขาดเป็นเจ้าแผ่นดินในเมืองของตนเอง ปกครองตนเองโดยอิสระ แต่ต้องถวายต้นไม้เงินต้นไม้ทองและเครื่องราชบรรณาการตามระยะเวลาและในเวลาเกิดสงครามจะต้องเกณฑ์ไพร่พลและเสบียงอาหารเพื่อช่วยเหลือราชธานี[2]
หัวเมืองชั้นนอกที่สำคัญในอดีต
ในสมัยสุโขทัย หัวเมืองชั้นนอกด้านทิศใต้มีเมืองแพรก(สวรรค์บุรี) เมืองสุพรรณบุรี(อู่ทอง) เมืองราชบุรี เมืองเพชรบูรณ์ เมืองตะนาวศรี ด้านทิศเหนือมีเมืองแพร่ ด้านทิศตะวันออกมีเมืองหล่ม เมืองเพชรบูรณ์และเมืองศรีเทพ เป็นต้น[3]
ในสมัยอยุธยา หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช นครราชสีมา ตะนาวศรีและทวาย[4]
เมืองเหล่านี้ปกครองโดยเจ้าเมืองที่ถูกแต่งตั้งออกไปจากราชธานีแต่มักจะเป็นเชื้อสายของเจ้าเมืองเดิม จึงมักเรียกหัวเมืองเหล่านี้ว่า “เมืองพระยามหานคร” มีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน และในเวลาเกิดสงครามจะต้องเกณฑ์ไพ่พลไปช่วยราชธานีในการทำการรบ
การยกเลิกหัวเมืองชั้นนอก
ต่อมาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พระราชอาณาเขตขยายออกไปมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการควบอาณาจักรสุโขทัยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาใน พ.ศ.1981 ภายหลังพระมหาธรรมราชาที่ 4 แห่งสุโขทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงขึ้นไปเรียกร้องสิทธิในราชบัลลังก์โดยอ้างถึงการสืบพระราชวงศ์ทางสายมารดา[5] การปกครองอาณาจักรที่ใหญ่ยิ่งขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างอำนาจให้ปึกแผ่นมั่นคง จึงต้องมีการปฏิรูปการปกครอง เพื่อยึดโยงความสัมพันธ์ระหว่างราชธานีกับหัวเมืองต่างๆ การควบคุมกำลังคนและการสร้างอำนาจในทางเศรษฐกิจ[6] และการปฏิรูปการปกครองทำให้ยกเลิกการปกครองที่แบ่งเป็นหัวเมืองชั้นใน หัวเมืองชั้นนอกและหัวเมืองประเทศราชโดยเปลี่ยนเป็นการปกครองที่แบ่งหัวเมืองออกเป็นลำดับชั้นตามสำคัญ คือหัวเมืองชั้นเอก หัวเมืองชั้นโท และหัวเมืองชั้นตรี
อ้างอิง
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549), หน้า 32.
- ↑ ธานี สุขเกษม, การเมืองการปกครองไทย, (เพชรบูรณ์ : คณะมนุษยศาสตร์แลสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, 2556),หน้า 88.
- ↑ เพิ่งอ้าง,หน้า 88.
- ↑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี,บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, หน้า 29.
- ↑ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุง, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,2548) ,หน้า 176.
- ↑ ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 แก้ไขเพิ่มเติม,กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548), หน้า 29.
บรรณานุกรม
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, อยุธยา ประวัติศาสตร์และการเมือง, พิมพ์ครั้งที่ 4 ปรับปรุง, กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์,2548.
ธานี สุขเกษม, การเมืองการปกครองไทย, เพชรบูรณ์ : คณะมนุษยศาสตร์แลสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, 2556.
ลิขิต ธีรเวคิน, วิวัฒนาการเมืองการปกครองไทย, ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 9 แก้ไขเพิ่มเติม, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.
เอกสารอ่านเพิ่มเติม
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี, บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์, กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2549.