ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประยูร ภมรมนตรี"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ทรงคุ..."
 
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
 
(ไม่แตกต่าง)

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:41, 6 พฤษภาคม 2563

ผู้เรียบเรียง : ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ :  ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร


ประยูร ภมรมนตรี 

          พลโทประยูร ภมรมนตรี เป็น 1 ใน 7 ผู้ก่อการของคณะราษฎรที่ประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2467 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการราษฎร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และเป็นเจ้ากรมยุวชนทหารคนแรก

 

ประวัติ

          พลโทประยูร ภมรมนตรี เป็นบุตรพันตรี แย้ม ภมรมนตรีกับแพทย์หญิงแอนเนสี ไฟร์เอ ชาวเยอรมันธิดาของศาสตราจารย์ ดร.โฟร์เอ อธิการบดีตลอดชีพมหาวิทยาลัยฮาโนเวอร์ เกิดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2440 ณ กรุงเบอร์ลินขณะที่บิดารับราชการเป็นทูตทหาร ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมันโดยคลอดออกมาเป็นลูกฝาแฝด จอมพลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ_เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิตขณะทรงเป็นนักเรียนนายร้อยในโรงเรียนนายร้อยเยอรมันโปรดประทานชื่อให้ว่าประยงค์-ประยูร[1]

          ในวัยเยาว์ท่านอาศัยอยู่กับบิดาในบ้านพลเอกเจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) การศึกษาเบื้องต้นได้เรียนที่บ้านโดยมีร้อยโทกิม(หลวงแผ้ว)กับครูเชื้อ (หลวงพิศาล) ครูโรงเรียนนายร้อยเป็นผู้สอน ต่อมาได้เข้าเรียนโรงเรียนราชวิทยาลัย[2]

          บิดาได้พาลูกฝาแฝดเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร ต่อมามารดาได้กราบทูลขอให้บุตรทั้งสองเข้าศึกษาในโรงเรียนนายร้อยทหารบก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชทรงปรารภว่า “ลูกแหม่มหมออยู่กับฉันก็ดีแล้วจะให้ไปเข้าโรงเรียนนายร้อยทำไม มารดาได้กราบทูลว่า อยากให้บุตรทั้งสองเข้าโรงเรียนทหารเพราะแค้นใจที่ฝรั่งเศสมาปล้น เอาบ้านเมืองไปหลายครั้งหลายคราว ขอให้ลูกได้เป็นทหารสืบท่านบิดา เพื่อสู้รบป้องกันบ้านเมืองต่อไป ขอถวายให้เป็นชาติพลี อย่าให้ฝรั่งเศสมาย่ำยี พระองค์ทรงซาบซึ้งในเจตนาของมารดา จึงโปรดเกล้าฯเป็นผู้นำไปสมัครด้วยพระองค์เอง”[3] โดยร่วมชั้นกับนักเรียนนายร้อยแปลก_ขีตตะสังคะ และนักเรียนนายร้อยถม_เกษโกมล ซึ่งต่อมาได้ร่วมมือกันในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475  พลโทประยูรสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ.2459 

          ในทางครอบครัวพลโทประยูร สมรสกับ คุณหญิงราษี ภมรมนตรี (สกุลเดิม พิรัชโยธิน) มีบุตร 3 คน คือ นายโยธิน ภมรมนตรี นางยุพาพรรณ ภมรมนตรีและนายไพชยนต์ ภมรมนตรี ต่อมาพลโทประยูรได้สมรสใหม่กับนางเรณู ภมรมนตรี (สกุลเดิม พิบูลภานุวัฒน์) รองนางสาวไทย ประจำปี พ.ศ.2491 มีบุตรชายอีก 2 คนคือ นายยอดมนู ภมรมนตรี และนายยุรนันท์ ภมรมนตรี

          พลโทประยูร ภมรมนตรี ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2525 รวมอายุ 85 ปี

 

เหตุการณ์สำคัญ

          หลังสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก พลโทประยูรได้เข้ารับราชการประจำกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารคนสนิทจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

          หลังจากจอมพลสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทิวงคต ในพ.ศ.2463 พลโทประยูรได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงในกองทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์แล้วเกิดความผิดหวังจึงตัดสินใจลาออกจากราชการโดยกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขอลาไปศึกษาต่อต่างประเทศในพ.ศ.2465 โดยตั้งใจจะเดินทางไปศึกษาวิชาเศรษฐศาสตร์ในประเทศเยอรมัน แต่เมื่อไปถึงกลับพบว่าประเทศเยอรมันเป็นประเทศที่พ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 1 ทั้งประเทศตกอยู่ในสภาวะความยากลำบาก พลโทประยูรจึงเดินทางไปศึกษาวิชารัฐศาสตร์ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำให้พลโทประยูรได้พบกับนายควง อภัยวงศ์และนายควงได้เขียนจดหมายแนะนำตัวให้มาพบกับนายปรีดี พนมยงค์ นอกจากนั้นยังได้พบกับร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยทหารบกและร้อยตรีทัศนัย_มิตรภักดี ซึ่งเป็นญาติ

          ในต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2467 พลโทประยูรได้มีโอกาสสนทนาวิจารณ์เรื่องการเมืองกับนายปรีดีที่ร้านอาหาร Des Ecoleav Henry-Martin[4]  โดยมีความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในเวลาต่อมาจึงได้ชักชวนร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ, ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี นายปรีดีได้ชักชวนหลวงศิริราชมาตรี (จรูญ สิงหเสนี) พลโทประยูรได้ชวน ดร.ตั้ว ลพนานุกรม และ นายแนบ พหลโยธิน รวม 7 คน ประชุมคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2467 ที่บ้านของพลโทประยูร เลขที่ 5 Rue de Sommerad ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของพลโทประยูร ในการประชุมที่ประชุมได้เสนอให้ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ ผู้อาวุโสและเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการเป็นประธานการประชุม[5] โดยกำหนดหลักการไว้ 3 ประการคือ

          ประการแรก ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้มีรากฐานประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

          ประการที่สอง กำหนดการยึดอำนาจด้วยการปฏิวัติ (Coup d’ Etat) ไม่ใช่การก่อการจลาจล

          ประการที่สาม ร่วมกันบริหารประเทศด้วยความสุจริตใจ งดเว้นการแสวงหาและสร้างสรรค์ความมั่นคงเป็นประโยชน์ส่วนตัว[6]

          หลังกลับจากการศึกษาในต่างประเทศ พลโทประยูรเข้ารับราชการเป็นผู้ช่วยหัวหน้าแผนกธนาณัติต่างประเทศ กรมไปรษณีย์โทรเลข และเข้าร่วมการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475

          หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พลโทประยูรได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการราษฎร เลขาธิการคณะกรรมการราษฎรและเลขานุการประจำตัวนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งนี้พลโทประยูรเป็นผู้เสนอคำว่า รัฐมนตรี แทนคำว่า กรรมการราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติ 28 ต่อ 7 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง[7]

          ความขัดแย้งระหว่างแกนนำคณะราษฎร ทำให้เกิดการรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ.2476 ภายหลังรัฐประหารพลโทประยูรได้ถูกปลดออกจากตำแหน่งแล้วถูกส่งกลับกรมไปรษณีย์โทรเลข ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2476 (นับปีตามการขึ้นปีใหม่แบบเก่า คือวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่) พลโทประยูรได้ถูกคณะรัฐประหารจับกุม และได้มีการพบปะระหว่างพลโทประยูรกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยให้ส่งพลโทประยูรไปเป็นกงสุล ณ เมืองไซ่ง่อน

          ในภายหลังพลโทประยูรกลับเข้ารับราชการทหารได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรี ตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามที่จอมพล ป.พิบูลสงครามรับปากไว้ ได้รับการเลื่อนยศเป็นพันโท ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2476  โดยได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุวชนทหารบก อันเป็นหน่วยงานที่จอมพล ป.พิบูลสงครามก่อตั้งขึ้นใหม่ โดยรับนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4ขึ้นไปเป็นยุวชนทหาร ยุวชนนายสิบและยุวชนนายทหารเป็นลำดับ และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ในการสร้างยุวชนทหารประสบผลสำเร็จ พลโทประยูรได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการในวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ.2481 นอกจากนี้ยังรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมสามัญศึกษาและรองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[8]

          24 มีนาคม พ.ศ. 2495 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2497ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อันเป็นตำแหน่งทางการเมืองตำแหน่งสุดท้าย

 

หนังสือแนะนำ

พลโท ประยูร ภมรมนตรี,(2518), ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า', กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ.

 

บรรณานุกรม

พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518)

 

อ้างอิง


[1] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518), หน้า 9-10.

[2] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518),หน้า 13.

[3] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518),หน้า 21-22.

[4] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518),หน้า 99.

[5] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518),หน้า 101.

[6] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518),หน้า 105.

[7] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518),หน้า 226.

[8] พลโท ประยูร ภมรมนตรี,'ชีวิต '5 แผ่นดินของข้าพเจ้า, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บรรณกิจ, 2518),หน้า 384-385.