ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การลดภารกิจ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Suksan (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
บรรทัดที่ 68: บรรทัดที่ 68:
 
 
การลดภารกิจ จึงสอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและเป็นไปตามแนวทาง[[การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่]]  ที่จะทำให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน
การลดภารกิจ จึงสอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและเป็นไปตามแนวทาง[[การบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่]]  ที่จะทำให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน
==อ้างอิง==
<references/>


==บรรณานุกรม==
==บรรณานุกรม==

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 09:47, 7 ธันวาคม 2557

เรียบเรียงโดย : อาจารย์บุญยเกียรติ การะเวกพันธุ์ และคณะ

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รศ.ดร.ปธาน สุวรรณมงคล


ความหมายของการลดภารกิจ

การลดภารกิจ คือ การปรับบทบาทภารกิจของรัฐ ขจัดภารกิจที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัยออกไป โดยพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการทำงานนั้นให้ สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายของคณะรัฐมนตรี กำลังเงินงบประมาณของประเทศ ความคุ้มค่าของภารกิจและสถานการณ์อื่นประกอบกัน เพื่อให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน

ความสำคัญ

จากแนวคิดที่ปรากฏในพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ที่ว่าการบริหารราชการต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในเชิงภารกิจแห่งรัฐ การลดขั้นตอนการปฏิบัติงาน การลดภารกิจและยุบเลิกหน่วยงานที่ไม่จำเป็น การกระจายภารกิจและทรัพยากรให้แก่ท้องถิ่น การกระจายอำนาจตัดสินใจ การอำนวยความสะดวก และการตอบสนองความต้องการของประชาชน ทั้งนี้ โดยมีผู้รับผิดชอบต่อผลของงานการจัดสรรงบประมาณ และการบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติหน้าที่ต้องคำนึงถึงหลักการ

ในการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการ ต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งให้คำนึงถึงความรับผิดชอบของผู้ปฏิบัติงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูล การติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ทั้งนี้ ตามความเหมาะสมของแต่ละภารกิจ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรานี้ จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการปฏิบัติราชการและการสั่งการให้ส่วนราชการและข้าราชการปฏิบัติก็ได้[1]

การลดภารกิจจึงเป็นแนวทางที่ทำให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน

การลดภารกิจ : แนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน

จากแนวคิดการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ จึงมีการปฏิรูประบบราชการใน พ.ศ. 2545 โดยนำแนวคิดการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาใช้เพื่อให้การบริหารราชการบรรลุเป้าหมาย มีการตราพระราชกฤษฎีกาการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ซึ่งมีหลักการที่สำคัญดังนี้คือ

(1) เกิดประโยชน์สุขของประชาชน

(2) เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ

(3) มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ

(4) ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น

(5) มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์

(6) ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ

(7) มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ

การลดภารกิจเป็นแนวทางหนึ่งที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 โดยให้ส่วนราชการจัดให้มีการทบทวนภารกิจของตนว่าภารกิจใดมีความจำเป็นหรือสมควรที่จะได้ดำเนินการต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายของคณะรัฐมนตรี กำลังเงินงบประมาณของประเทศ ความคุ้มค่าของภารกิจและสถานการณ์อื่นประกอบกัน โดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) จะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาในการทบทวนภารกิจ

เมื่อมีการทบทวนภารกิจแล้ว ถ้าส่วนราชการเห็นว่าควรยกเลิก ปรับปรุง หรือเปลี่ยนแปลงภารกิจ ให้ส่วนราชการดำเนินการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง และอัตรากำลัง ของส่วนราชการให้สอดคล้องกัน และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการต่อไป

นอกจากนี้ ก.พ.ร. มีหน้าที่ในการพิจารณาว่าภารกิจของรัฐที่ส่วนราชการรับผิดชอบดำเนินการอยู่สมควรเปลี่ยนแปลง ยกเลิก หรือเพิ่มเติม ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้ส่วนราชการนั้นดำเนินการปรับปรุงภารกิจ อำนาจหน้าที่ โครงสร้างและอัตรากำลังของส่วนราชการนั้นให้สอดคล้องกัน[2]

แนวทางการปรับบทบาทภารกิจภาครัฐ[3]

1. ขจัดภารกิจที่ไม่จำเป็นหรือล้าสมัยออกไป โดยพิจารณาทบทวนความจำเป็นในการทำงานนั้นให้เหมาะสมกับความต้องการของประชาชน สังคม และประเทศชาติในปัจจุบัน

2. มุ่งการดำเนินการเฉพาะภารกิจหลัก โดยแยกประเภทภารกิจหลัก (Core Business) และภารกิจรอง (Non - Core Business) ออกจากกันเพื่อมอบภารกิจที่ราชการส่วนกลางไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการแล้วให้ท้องถิ่นหรือภาคเอกชนดำเนินการแทน หรือสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมหรือชุมชนรับไปดำเนินการ

3. ไม่ดำเนินงานใด ๆ ที่เอกชนสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดกว่าภาครัฐอยู่แล้ว ยกเว้นในกรณีที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชนส่วนรวม การประกันความเป็นธรรม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค

4. สนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด กำหับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผู้บริโภค ยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ การควบคุมธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็น ทางเศรษฐกิจ

เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ส่วนราชการลดภารกิจไม่ว่าจะเป็นทั้งหมดหรือบางส่วน พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 ได้กำหนดให้ห้ามจัดตั้งส่วนราชการที่มีภารกิจหรืออำนาจหน้าที่ที่มีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับส่วนราชการดังกล่าวขึ้นอีก เว้นแต่จะมีการเปลี่ยนแปลงแผนการบริหารราชการแผ่นดิน และมีเหตุผลจำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ หรือรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน และโดยได้รับความเห็นชอบจาก ก.พ.ร.[4]

แนวทางการจัดโครงสร้างราชการให้สอดคล้องกับการปรับภารกิจ[5]

เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทภารกิจที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องมีการปฏิรูปปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยราชการใหม่ ให้สอดคล้องรับกับบทบาทและภารกิจใหม่ของภาครัฐ โดยมีแนวทางในการจัดดังนี้

1.จัดโครงสร้างโดยคำนึงถึงนโยบายแห่งรัฐที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ นโยบายรัฐบาล และความต้องการของประชาชน ในลักษณะของการบริหารที่ยึดวาระแห่งชาติ (Agenda based) แทนการจัดโครงสร้างที่เน้นหน้าที่ของรัฐ (Functional based)

2. จัดโครงสร้างองค์กรให้มีความหลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจหลักที่จำเป็นต้องดำเนินการโดยภาครัฐ สอดรับกับประเภทของภารกิจและงาน และสอดคล้องกับการดำเนินงานในส่วนที่ต้องเน้นประสิทธิภาพ ความคล่องตัวการดำเนินงานร่วมกับภาคเอกชน องค์กรประชาชนและท้องถิ่น ซึ่งอาจจัดหน่วยงานของรัฐได้ ดังนี้คือ หน่วยราชการที่รับผิดชอบงานราชการโดยแท้ ที่เรียกว่าหน่วยงานราชการ (Government Organization) และหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบงานปฏิบัติการที่ยังเป็นกิจหลักของภาครัฐที่ยังจำเป็นต้องดำเนินการโดยหน่วยงานราชการ อาจจัดตั้งเป็นหน่วยงานที่มีรูปแบบการบริหารงานพิเศษ หน่วยงานของรัฐที่ให้บริการสาธารณะซึ่งเป็นงานของรัฐที่ภาครัฐจำเป็นต้องจัดให้มีหรือส่งเสริมให้มีการให้บริการก็สามารถจัดให้เป็นองค์กรมหาชน (Public Organization) รัฐวิสาหกิจ (State Enterprise) หรือองค์กรที่จัดตั้งในรูปแบบมูลนิธิ (Foundation) และองค์กรพัฒนาภาคเอกชน (Non Government Organization)

3. จัดโครงสร้างองค์กรตามแนวราบ เพื่อให้มีสายการบังคับบัญชาสั้นที่สุด เพื่อให้การทำงานและการตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็ว คล่องตัว และมีประสิทธิภาพโดยยังคงยึดหลักความรับผิดชอบในการบริหารงาน

4. จัดโครงสร้างองค์กรที่มีรูปแบบผสมผสาน ในกรณีที่งานนั้นต้องการองค์ประกอบของความรู้ความสามารถที่หลากหลายและเน้นความเป็นทีมในการปฏิบัติงาน เพื่อผลักดันงานให้บรรลุผลสำเร็จ หรือกรณีที่สามารถใช้เทคโนโลยีการติดต่อที่ทันสมัยก็สามารถจัดองค์กรที่มีลักษณะเป็นเครือข่าย

5. ปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับการปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างส่วนราชการ

การลดภารกิจ จึงสอดคล้องกับหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีและเป็นไปตามแนวทางการบริหารจัดการภาครัฐแนวใหม่ ที่จะทำให้การบริหารราชการเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพ มีความคุ้มค่า เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขประชาชน

อ้างอิง

  1. พระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 3/1
  2. พระราชกฤษฎีกาการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 33
  3. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 4 ปีการพัฒนาระบบราชการไทย : ปรับบทบาทภารกิจและขนาดของหน่วยงานภาครัฐให้มีความเหมาะสม (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 2549) หน้า 3-5
  4. พระราชกฤษฎีกาการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 34
  5. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 4 ปีการพัฒนาระบบราชการไทย : ปรับบทบาทภารกิจและขนาดของหน่วยงานภาครัฐให้มีความเหมาะสม , หน้า 3-6.

บรรณานุกรม

พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534

พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 4 ปีการพัฒนาระบบราชการไทย : ปรับบทบาทภารกิจและขนาดของหน่วยงานภาครัฐให้มีความเหมาะสม (กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ, 2549) หน้า 3-5