ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ประชาคมอาเซียน โจทย์ใหญ่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
บรรทัดที่ 1: บรรทัดที่ 1:
ประชาคมอาเซียน โจทย์ใหญ่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
'''ผู้แต่ง :''' รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
 
ผู้แต่ง : รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย
รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า





รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:44, 2 ธันวาคม 2557

ผู้แต่ง : รองศาสตราจารย์ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า


แม้ว่าจะมีการประกาศเลื่อนเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนออกไปอีก 12 เดือน จากเดิมวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (อาจด้วยเหตุผลในหลายประการ และการที่ไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้ในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการตรวจลงตรา ภาษีอาการสินค้า กฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนระหว่างกัน เป็นต้น) แต่อย่างไรก็ตามปลายปี พ.ศ. 2558 ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ ดังกล่าวแล้วข้างต้นว่าประชาคมอาเซียน ประกอบด้วย 3 เสาหลัก ทั้งนี้ในแต่ละเสาหลักจะมีแผนการจัดตั้งของตนเอง หรือ ที่เรียกกันว่า Blueprint เพื่อให้เกิดการจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่

แผนการจัดตั้งประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคง

แผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

แผนการจัดตั้งประชาคมสังคมวัฒนธรรม

แผนการจัดตั้งประชาคมด้านการเมืองและความมั่นคง มีความมุ่งหวังว่าประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political - Security Community Blueprint : APSC – Blueprint) จะทำให้ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงของอาเซียนมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยเป็นหลักประกันต่อพลเมืองและประเทศสมาชิกอาเซียนให้อยู่อย่างสันติระหว่างกันและกับโลกภายนอกในบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรมและการมีความปรองดองต่อกัน เอพีเอสซีจะส่งเสริมพัฒนาการด้านการเมืองโดยยึดหลักการของประชาธิปไตย นิติธรรม ธรรมาภิบาล ความเคารพ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐานภายใต้กฎบัตรอาเซียน โดยจะเป็นตัวเชื่อมต่อให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมีการติดต่อและมีความร่วมมือระหว่างกันเพื่อสร้างบรรทัดฐานกฎเกณฑ์และกลไกร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายอาเซียนในด้านการเมืองและความมั่นคง ซึ่งจะทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยทุกภาคส่วนของสังคมมีส่วนร่วมและได้ผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคม โดยไม่มีคำนึงถึง เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา หรือพื้นเพทางสังคมและวัฒนธรรม ในการปฏิบัติตามแผนงาน นอกจากนี้ เอพีเอสซีประสงค์จะส่งเสริมความร่วมมือที่แน่นแฟ้นและมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและมิตรประเทศเพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์กลางและบทบาทแข็งขันของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใสและทุกฝ่ายมีส่วนร่วม อีกทั้งมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันก้าวไปข้างหน้า และไม่เลือกปฏิบัติ เอพีเอสซีสนับสนุนแนวทางด้านความมั่นคงที่ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งมีความเกี่ยวโยงต่อพัฒนาการด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมอย่างใกล้ชิด ยึดหลักในการละเว้นการรุกรานหรือการขู่ใช้ใช้กำลัง และการกระทำใดๆที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและการพึ่งพาการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งโดยสันติวิธี ในการนี้เอพีเอสซียึดมั่นตามความตกลงทางการเมืองของอาเซียน อาทิ ปฏิญญาว่าด้วยเขตสันติภาพ อิสรภาพ และการวางตัวเป็นกลาง หรือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น ซึ่งมีบทบาทสำคัญในด้านมาตรการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ การทูตในเชิงป้องกัน และแนวทางแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี อีกทั้งแก้ไขประเด็นความมั่นคงในรูปแบบใหม่

แผนการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community Blueprint : AEC-Blueprint) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน คือ การไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะตั้งบนฐานของการประสานผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกโดยการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในเชิงลึกและกว้างขวางมากขึ้นผ่านความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบันและแผนการดำเนินงานใหม่ภายใต้กรอบระยะเวลาที่ชัดเจน ในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประเทศสมาชิกจะต้องปฏิบัติตามหลักการที่จะส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเปิด มองบริบทภายนอก และส่งเสริมกลไกตลาด ซึ่งสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ในกรอบพหุภาคี และยึดมั่นในระบบกฎเกณฑ์ เพื่อความสอดคล้องของการปฏิบัติตามพันธกรณีในด้านเศรษฐกิจ ประชาคมเศรษฐกิจจะทำให้อาเซียนเป็นตลาดฐานการผลิตเดียวกัน สร้างอาเซียนให้มีพลวัตรและขีดความสามารถมากขึ้น ด้วยกลไกและมาตรการใหม่ๆ ที่จะส่งเสริมความแข็งแกร่งของการปฏิบัติตามแผนงานด้านเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม การเร่งรัดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในสาขาสำคัญ การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายนักธุรกิจ แรงงานฝีมือ และผู้มีความสามารถพิเศษ และเสริมสร้างความแข็งแกร่งในด้านกลไกสถาบันของอาเซียน

แผนการจัดตั้งประชาคมสังคมวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community Blueprint : ASCC-Blueprint) เอเอสซีซี มีเป้าหมายที่จะทำให้เกิดประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเป็นสังคมที่รับผิดชอบเพื่อก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและความเป็นเอกภาพในหมู่พลเมืองอาเซียน โดยเสริมสร้างอัตลักษณ์ร่วมกัน สร้างสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปัน ประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่และสวัสดิการของประชาชนดีขึ้น ประชาคมและวัฒนธรรมอาเซียน ถูกกำหนดลักษณะโดยวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่น ยึดมั่นในหลักการ มีความร่วมมือ มีความรับผิดชอบร่วมกันเพื่อส่งเสริมพัฒนามนุษย์และสังคม เคารพในเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ความเท่าเทียมทางเพศ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและการส่งเสริมความยุติธรรมทางสังคม นอกจากนี้ยังต้องเคารพในความแตกต่างทางวัฒนธรรม ภาษา และศาสนาของพลเมืองอาเซียน เน้นคุณค่าร่วมกันท่ามกลางความเป็นเอกภาพในความหลากหลาย โดยปรับให้เข้ากับสถานการณ์ โอกาส และสิ่งท้าทายในปัจจุบัน เอเอสซีซี ให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมในเรื่องการลดช่องว่างการพัฒนา โดยขจัดความแตกต่างทางการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน

จาก Blueprint หรือ แผนการจัดตั้งไปสู่การปฏิบัติจริงดังกล่าว มีหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการเป็นเจ้าภาพหลัก หรือ เจ้าภาพร่วมในภารกิจต่างๆ ภาคธุรกิจเอกชนในฐานะที่เกี่ยวข้องและมีบทบาทสำคัญในเสาหลักด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในระดับพื้นที่ และทุกพื้นที่และมีอำนาจหน้าที่ในการจัดบริการสาธารณะเพื่อบริการแก่ประชาชน ทั้งนี้องค์กรและความร่วมมือต่างๆ เหล่านี้มีเป้าหมายร่วมกันในประชาคมอาเซียน คือ การนำแผนพิมพ์เขียว หรือ Blueprint ไปดำเนินการเพื่อให้เป้าหมายที่วางไว้ไปสู่การปฏิบัติจริงอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

เรื่องอาเซียน หรือ ประชาคมอาเซียนเกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่?

ประชาคมอาเซียน ถือ เป็น “โจทย์สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพราะ ถือเป็นความรับผิดชอบทางสังคม (Social Responsibility) เพราะผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น และข้าราชการท้องถิ่นล้วนแต่เป็นคนที่มีภูมิลำเนา หรือเป็นคนในท้องถิ่นย่อมถือเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยดูแลและรับผิดชอบต่อท้องถิ่น ส่วนเรื่องความรับผิดชอบทางการเมือง (Political Responsibility) นั้น เนื่องด้วย ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นเป็น “ผู้แทน” ของประชาชน และได้รับการเลือกสรรผ่าน “การเลือกตั้งท้องถิ่น” เพื่อให้เข้ามาทำหน้าที่ในการพัฒนาท้องถิ่น และดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น ส่วนความรับผิดชอบทางกฎหมาย (Legal Responsibility) นั้น เป็นความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ตามกรอบกฎหมายที่ระบุไว้ ตั้งแต่กฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่เน้นย้ำว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรหลักในการจัดบริการสาธารณะ รวมทั้งในพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 ประเภทก็ระบุอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจหรือกฎหมายแผน รวมทั้งพระราชบัญญัติอื่นๆ ที่ได้ให้อำนาจแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในฐานะเป็น “เจ้าพนักงาน” ทั้งนี้ กฎหมายต่างๆ เหล่านี้เองเป็นกรอบในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ฉะนั้น Blueprint เป็นเพียงแผน หรือ สิ่งที่ต้องดำเนินการ แต่สิ่งที่สำคัญและจำเป็นยิ่งกว่านั้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องให้ความสนใจ คือ ความเปลี่ยนแปลง หรือ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ ประชาชน ชุมชน ฉะนั้น สิ่งที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องตั้งเป็น “วาระ” หรือ “โจทย์” คือ จะเตรียมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นอันเป็นผลกระทบจากประชาคมอาเซียนอย่างไร