ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การถอดถอนออกจากตำแหน่ง"
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
ไม่มีความย่อการแก้ไข |
||
บรรทัดที่ 142: | บรรทัดที่ 142: | ||
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์. '''“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”.''' สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ. 2551. | สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์. '''“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”.''' สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ. 2551. | ||
---- | |||
[[ | {|cellpadding="2" cellspacing="5" style="vertical-align:top;background-color:#ffffff;color:#000;width:100%" | ||
! style="background-color:#fffff; font-size: 100%; border: 1px solid #afa3bf; text-align: left; padding-left: 7px; -moz-border-radius:7px" |[[หน้าหลัก]] | [[กิจกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทางนิติบัญญัติ ]] [[หมวดหมู่ : สถาบันนิติบัญญัติ]] |
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:12, 8 กรกฎาคม 2553
ผู้เรียบเรียง นิพัทธ์ สระฉันทพงษ์
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกไปให้องค์กรต่างๆ เป็นผู้ใช้ โดยแบ่งองค์กรออกเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายนิติบัญญัติเป็นผู้ใช้อำนาจในการออกกฎหมาย ฝ่ายบริหารเป็นผู้ใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามกฎหมาย และฝ่ายตุลาการเป็นผู้ใช้อำนาจในการวินิจฉัยคดี
รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ ที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยและมีการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยออกไปให้องค์กรต่างๆ เป็นผู้ใช้ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ต่างก็มีบทบัญญัติในการควบคุมมิให้อำนาจหนึ่งอยู่เหนืออีกอำนาจหนึ่ง และมีบทบัญญัติให้แต่ละอำนาจถ่วงดุลซึ่งกันและกัน แต่อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติแล้วหาได้เกิดความสมดุลไม่ เพราะฝ่ายบริหารซึ่งรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินมักจะมีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายอื่น และนอกจากนี้ฝ่ายบริหารยังอยู่ในสถานะที่อาจกระทำนอกเหนือขอบเขตอำนาจที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาคือการทุจริตคอรัปชั่นได้ง่าย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารมากกว่าการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายอื่น
การควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร
การควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร นับได้ว่าเป็นสิ่งที่มีความสำคัญยิ่งต่อการบริหารประเทศ ซึ่งหลายๆ ประเทศต่างก็บัญญัติวิธีการที่คิดว่าเหมาะสมและใช้ได้ผลดีไว้ในรัฐธรรมนูญของตน การถอดถอนออกจากตำแหน่ง (Impeachment) เป็นวิธีการควบคุมฝ่ายบริหารวิธีหนึ่งซึ่งเป็นวิธีการควบคุมตัวบุคคล กล่าวคือหากบุคคลผู้มีตำแหน่งทางการเมืองไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกระทำผิดร้ายแรงก็จะต้องถูกดำเนินการให้พ้นไปจากตำแหน่งนั้น
การถอดถอนจากตำแหน่งเป็นกลไกสำคัญอีกกลไกหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารโดยเปิดโอกาสให้มีการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งกระทำผิดก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงในขณะดำรงตำแหน่งหน้าที่ให้พ้นจากตำแหน่งก่อนเวลาอันสมควร เนื่องจากหากปล่อยให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวต่อไป จะก่อให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายต่อประเทศชาติและประชาชน[1]
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย เมื่อปี พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญของไทยหลายฉบับต่างก็ได้พยายามวางกลไกในการควบคุมการใช้อำนาจของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายบริหาร โดยกำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการใช้อำนาจในการดำเนินงานของฝ่ายบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม การเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ การตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นสอบสวนการกระทำของฝ่ายบริหาร และการถอดถอนจากสมาชิกภาพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรี รวมทั้งกำหนดมาตรการในการตรวจสอบควบคุมสมาชิกรัฐสภาด้วยวิธีการควบคุมกันเองด้วย โดยรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทย คือพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 9 ว่า สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจดูแลควบคุมกิจการของประเทศ และมีอำนาจประชุมกันถอดถอนกรรมการราษฎรหรือพนักงานรัฐบาลผู้หนึ่งผู้ใดก็ได้[2]
รัฐธรรมนูญฉบับต่อมา คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของไทยก็ได้กำหนดมาตรการในการตรวจสอบควบคุมสมาชิกรัฐสภาด้วยวิธีการควบคุมกันเองไว้ในบทบัญญัติมาตรา 21 ว่าสมาชิกภาพแห่งสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงเมื่อสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้ออกจากตำแหน่งโดยเห็นว่ามีความประพฤติในทางจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สภา[3]
สำหรับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2438 ได้มีการกำหนดกระบวนการให้สมาชิกรัฐสภาควบคุมกันเอง โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 98 ว่าในกรณีที่สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใดกระทำการหรือมีพฤติการณ์อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือมีลักษณะเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ หรือเป็นการเสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์ของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วแต่กรณีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประชาชนแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อให้วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยให้สมาชิกผู้นั้นพ้นจากสมาชิกภาพได้[4]
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้พยายามแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตเพื่อปฏิรูปการเมืองไทยให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติให้มีการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฝ่ายการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงให้มีลักษณะของการตรวจสอบโดยองค์กรที่มีกลไกที่น่าเชื่อถือ ไม่หวั่นเกรงต่ออิทธิพลหรืออำนาจของผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง จึงนำแนวคิดและรูปแบบการควบคุมด้วยการถอดถอนออกจากตำแหน่งโดยองค์กรทางการเมืองมาปรับใช้กับระบบการตรวจสอบของไทย[5] โดยบัญญัติไว้ในหมวด 10 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่ง มาตรา 303 ถึงมาตรา 307[6]
เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 โดยมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อได้ดำเนินกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้วางหลักการในการคุ้มครองส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ การลดการผูกขาดอำนาจรัฐ และขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม รวมทั้งการทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็ง และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนใช้สิทธิทางการเมืองได้ง่ายขึ้นสำหรับบทบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในส่วนของการถอดถอนจากตำแหน่งนั้น มีการบัญญัติไว้ในหมวด 12 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่ง มาตรา 270 ถึงมาตรา 274[7]
ผู้ดำรงตำแหน่งที่อาจถูกถอนถอด
ผู้ดำรงตำแหน่งที่อาจถูกร้องขอให้วุฒิสภาถอดถอนจากตำแหน่งได้ คือ
1. นายกรัฐมนตรี
2. รัฐมนตรี
8. อัยการสูงสุด
13. ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต[8]
มูลเหตุที่ถูกถอดถอน
มูลเหตุที่จะถอดถอนมีอยู่ 5 เหตุ ได้แก่
1. มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หมายความว่าการมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มมากผิดปกติหรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่
2. ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ หมายความว่า ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ทั้งนี้เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
3. ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ
4. ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม
5. ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายหรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
กระบวนการถอดถอน
สำหรับผู้มีสิทธิร้องขอให้ถอดถอนจากตำแหน่งไว้มี 2 กรณีด้วยกัน คือ
1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนบุคคลดังกล่าวออกจากตำแหน่งใด คำร้องขอดังกล่าวต้องระบุพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งกระทำความผิดเป็นข้อๆ ให้ชัดเจน
2. สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภามีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติถอดถอนสมาชิกวุฒิสภาออกจากตำแหน่ง
เมื่อได้รับคำร้องแล้วให้ประธานวุฒิสภาส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการไต่สวนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภาโดยในรายงานดังกล่าวต้องระบุให้ชัดเจนว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอมีมูลหรือไม่เพียงใด มีพยานหลักฐานที่ควรเชื่อได้อย่างไร พร้อมทั้งระบุข้อยุติว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรด้วย
ถ้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ว่าข้อกล่าวหาใดมีมูล นับแต่วันดังกล่าวผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติ แต่ถ้าเห็นว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป
เมื่อวุฒิสภาได้รับรายงานจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติแล้ว ให้ประธานวุฒิสภาจัดให้มีการประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าวโดยเร็ว ซึ่งสมาชิกวุฒิสภามีอิสระในการออกเสียงลงคะแนนซึ่งต้องกระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ มติที่ให้ถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง ให้ถือเอาคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่อยู่ของวุฒิสภา
ผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดำรงตำแหน่งใดในทางการเมืองหรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี มติของวุฒิสถาให้เป็นที่สุดและจะมีการร้องขอให้ถอดถอนบุคคลดังกล่าวโดยอาศัยเหตุเดียวกันอีกมิได้ [๑๐]
นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มีผลบังคับใช้แล้วมีเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภาในการไต่สวนถอดถอนและมีมติ จำนวน 31 เรื่อง โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 1 เรื่อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ผู้ริเริ่มฯ ไม่ยอมรับรองลายมือชื่อของประชาชนที่เข้าชื่อจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน จำนวน 1 เรื่อง
- ครบ 180 วัน ผู้ริเริ่มฯ มิได้นำคำร้องขอพร้อมรายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมายื่นต่อประธานวุฒิสภา จำนวน 8 เรื่อง
- ผู้ริเริ่มฯ นำคำร้องขอพร้อมรายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนมายื่นต่อประธานวุฒิสภาแล้ว แต่ไม่ครบห้าหมื่นคน จำนวน 1 เรื่อง
- ผู้ริเริ่มฯ มิได้แสดงหลักฐานใดที่จะสามารถตรวจสอบ หรือยืนยันได้ว่าตนเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 1 เรื่อง
- ผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนพ้นจากตำแหน่งก่อนที่ผู้ริเริ่มฯ จะนำรายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า ห้าหมื่นคนมายื่นต่อประธานวุฒิสภา จำนวน 5 เรื่อง
- คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไปจำนวน 14 เรื่อง
ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ (อยู่ระหว่างดำเนินการ) 1เรื่อง
- อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 1 เรื่อง [๑๑]
ต่อมารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้ถูกยกเลิกไปเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. และวุฒิสภาในการไต่สวนถอดถอนและมีมติ จำนวน 12 เรื่อง โดยดำเนินการแล้วเสร็จ 2 เรื่อง ดังรายละเอียดต่อไปนี้
- ผู้ที่ถูกยื่นถอดถอนพ้นจากตำแหน่งก่อนที่ผู้ริเริ่มฯ จะนำรายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนจำนวน 1 เรื่อง
- คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไปจำนวน 1 เรื่อง
ดำเนินการไม่แล้วเสร็จ (อยู่ระหว่างดำเนินการ) 10 เรื่อง
- อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จำนวน 8 เรื่อง
- อยู่ระหว่างผู้ริเริ่มฯ รวบรวมรายชื่อประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่าสองหมื่นคนมายื่นต่อประธานวุฒิสภา ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้มาแสดงตนต่อประธานวุฒิสภา จำนวน 2 เรื่อง [๑๒]
จากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน วุฒิสภายังไม่เคยมีมติถอดถอนผู้ใดออกจากตำแหน่ง
การถอดถอนจากตำแหน่งเป็นวิธีการควบคุมฝ่ายบริหารวิธีหนึ่งซึ่งควบคุม และตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงว่ามีความเหมาะสมหรือสมควรที่จะได้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งนับเป็นมาตรการที่สำคัญอีกมาตรการหนึ่งที่สนับสนุนระบบการตรวจสอบการทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในประเทศไทย และควบคุมการใช้อำนาจรัฐของผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงให้อยู่ในกรอบของความชอบธรรม [๑๓]
อ้างอิง
- ↑ นันทวัฒน์ บรมานันท์, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) หมวดการตรวจสอบเรื่องที่ 5 การถอดถอนจากตำแหน่ง, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544), หน้า 1-2.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, การถอดถอนจากตำแหน่ง, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2551, หน้า 10-11.
- ↑ นันทวัฒน์ บรมานันท์, สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 25401) หมวดการตรวจสอบเรื่องที่ 5 การถอดถอนจากตำแหน่ง, (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2544), หน้า 3-4.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, การถอดถอนจากตำแหน่ง, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2551, หน้า 13–16.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, การถอดถอนจากตำแหน่ง, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2551, หน้า 13–16.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2540, หน้า 148.
- ↑ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, กรุงเทพฯ : สำนักการพิมพ์, 2550, หน้า 195.
- ↑ ไพโรจน์ โพธิไสย, การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, กรุงเทพฯ : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2546, หน้า 14–15.
บรรณานุกรม
ธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์. “ปัญหาเกี่ยวกับการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต. มหาวิทยาลัยรามคำแหง. 2546.
นันทวัฒน์ บรมานันท์. “สารานุกรมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (2540) หมวดการตรวจสอบ เรื่อง 5 การถอดถอนจากตำแหน่ง”. สถาบันพระปกเกล้า. กรุงเทพฯ. 2544.
นิยม รัฐอมฤต และคณะ. รายงานวิจัย “กระบวนการไต่สวนและการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในระดับสูง : ในอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.”. สถาบันพระปกเกล้า. กรุงเทพฯ. 2549.
ไพโรจน์ โพธิไสย. “การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540”. สำนักการพิมพ์ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ. 2546.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. สำนักกำกับและตรวจสอบ. “สรุปผลการยื่นถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2540”. 25 พฤษภาคม 2552.
สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. สำนักกำกับและตรวจสอบ. “สรุปผลการยื่นถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ 2550”. 25 พฤษภาคม 2552.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์. “การถอดถอนจากตำแหน่ง”. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ. 2551.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540”. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ. 2543.
สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. สำนักประชาสัมพันธ์. “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550”. สำนักการพิมพ์ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. กรุงเทพฯ. 2551.
หน้าหลัก | กิจกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทางนิติบัญญัติ |
---|