ผลต่างระหว่างรุ่นของ "การให้ความเห็นชอบ"

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
Panu (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
ไม่มีความย่อการแก้ไข
 
(ไม่แสดง 1 รุ่นระหว่างกลางโดยผู้ใช้คนเดียวกัน)
บรรทัดที่ 87: บรรทัดที่ 87:
*[[ออกเสียงลงคะแนน]]
*[[ออกเสียงลงคะแนน]]


[[category:ความรู้เกี่ยวกับรัฐสภาไทย]]
[[หมวดหมู่: กิจกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการทางนิติบัญญัติ]]

รุ่นแก้ไขปัจจุบันเมื่อ 17:22, 6 กันยายน 2553

ผู้เรียบเรียง เชษฐา ทองยิ่ง

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จเร พันธุ์เปรื่อง


การปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่มีหลักการที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนหลายประการ โดยเฉพาะการให้สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า อำนาจอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ เป็นของประชาชน ดังนั้น การดำเนินการใดๆในการบริหารประเทศที่มีผลต่อประเทศชาติและประชาชนแล้ว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชนก่อน จึงจะสามารถดำเนินการในเรื่องนั้นๆได้ ทั้งนี้ การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย เป็นประชาธิปไตยแบบทางอ้อมหรือแบบ มีผู้แทน การที่จะให้ความเห็นชอบในเรื่องใดๆนั้น จึงเป็นอำนาจของผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไป ทำหน้าที่ต่างๆแทนตนนั่นเอง

ความหมาย

คำว่า “เห็นชอบ” มาจากภาษาอังกฤษคำว่า “approve” ซึ่งแปลว่า เห็นชอบ อนุมัติ พอใจเห็นดีด้วย หรือจะใช้คำว่า “consent” ซึ่งแปลว่า เห็นชอบ ยินยอม หรืออนุญาต[1] ก็ได้

ในความหมายทั่วไป ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แม้จะมิได้ให้ความหมายของคำว่า “เห็นชอบ” ไว้โดยตรง แต่สามารถเทียบเคียงได้กับคำว่า “เห็นดีเห็นงาม” ซึ่งหมายความว่า “คิดหรือรู้สึกคล้อยตาม”[2]

ส่วนความหมายในทางนิติบัญญัติ คำว่า “เห็นชอบ” หมายถึง “การให้ความยินยอมในมาตรการต่างๆ ทางนิติบัญญัติที่เสนอต่อสภา”[3]

กระบวนการและลักษณะของการให้ความเห็นชอบ

โดยทั่วไปแล้ว การให้ความยินยอมในมาตรการต่างๆทางนิติบัญญัติที่เสนอต่อสภานั้น การที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในเรื่องใดนั้น สมาชิกสภาเพียงคนเดียวย่อมตัดสินไม่ได้ การให้ความเห็นชอบต้องเป็นไปตามกระบวนการ กล่าวคือ เมื่อมีการเสนอร่างกฎหมาย ญัตติหรือปัญหาใดต่อสภาเพื่อขอความเห็นชอบ ประธานสภาจะบรรจุเข้าระเบียบวาระพร้อมกับกำหนดนัดประชุมสมาชิกสภาเพื่อขอพิจารณาเรื่องนั้น เมื่อถึงวันนัดประชุมและถึงระเบียบวาระที่ต้องพิจารณา เรื่องนั้น ประธานในที่ประชุมสภาจะเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายกันก่อนว่า ผู้ใดจะเห็นด้วยหรือ ไม่เห็นด้วยอย่างไร และเมื่อมีการปิดอภิปรายแล้ว ประธานฯจึงถามมติจากที่ประชุมว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ผลการลงมติเสียงข้างมากเป็นเช่นไร มติจะต้องเป็นไปตามนั้น[4] ซึ่งในกรณีนี้เสียงข้างมากที่ออกมาอาจจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็ได้

ในบางกรณี การขอความเห็นชอบนี้ อาจจะไม่ต้องใช้การลงมติก็ได้ ถ้าหากเรื่องที่พิจารณานั้นเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญนัก หรือไม่น่าจะมีปัญหาใด ประธานฯในที่ประชุมจะผ่านการพิจารณา เรื่องนั้นไปโดยไม่มีการลงมติ นั่นคือ ประธานจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ไม่มีผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อใดก็ตามที่ประธานฯเห็นว่าไม่มีผู้ใดคัดค้านก็จะใช้วิธีนี้ทันที ตัวอย่างเช่นในการพิจารณารับรองรายงานการประชุมในครั้งที่ผ่านมา เมื่อประธานฯเปิดโอกาสให้ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ประธานฯอาจจะประกาศว่า “ถ้าไม่มีผู้ใดเห็นเป็นอย่างอื่น ผมถือว่า ที่ประชุมนี้ให้การรับรองเป็นเอกฉันท์” ความเห็นชอบในลักษณะที่กล่าวไปนี้ เรียกว่า “ความเห็นชอบโดยตลอด (general consent)” หรือ “ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ (unanimous consent)” หรือ “ความเห็นชอบเงียบ (silent consent)”[5]

กรณีการให้ความเห็นชอบตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ในกระบวนการทางนิติบัญญัติ หากพิจารณาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร และข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันแล้ว พอสรุปให้เห็นว่า มีการนำคำว่า “เห็นชอบ” มาใช้ในหลายกรณีด้วยกัน ที่สำคัญๆ ได้แก่

3.1 การพิจารณาของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพระราชบัญญัติ รวมถึงร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ซึ่งในกรณีนี้จะนำมาใช้มากที่สุดในการพิจารณาในวาระที่สาม ซึ่งเป็นการพิจารณาโดยไม่มีการอภิปราย เพียงแต่ลงมติว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น[6]

3.2 การพิจารณาของรัฐสภา (การประชุมร่วมกันของรัฐสภา) เป็นการพิจารณาในที่ประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องสำคัญๆตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย[7] ได้แก่

1) การพิจารณาให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในกรณี ที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น

2) การพิจารณาให้ความเห็นชอบในการสืบราชสมบัติ ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้

3) การพิจารณาให้ความเห็นชอบในการปิดสมัยประชุมสมัยสามัญก่อนครบกำหนดเวลาหนึ่งร้อยยี่สิบวัน

4) การพิจารณาให้ความเห็นชอบให้นำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีระบุไว้ในนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภาว่าจำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดิน แต่สภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่ให้ความเห็นชอบ และคะแนนเสียงที่ไม่ให้ความเห็นชอบ ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ เพื่อนำร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมาพิจารณาใหม่ตามที่คณะรัฐมนตรีร้องขอ

5) การปรึกษาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือเมื่อพ้นเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา เพื่อรัฐสภาจะได้ปรึกษาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้นใหม่

ถ้าหากรัฐสภามีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้น ขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง หากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายในสามสิบวัน ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว

6) การพิจารณาให้ความเห็นชอบให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากอายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปร้องขอมา เพื่อให้มีการพิจารณาต่อไป

7) การพิจารณาให้ความเห็นชอบในการประกาศสงคราม

8) การพิจารณาให้ความเห็นชอบหนังสือสัญญาที่จะกระทำกับนานาประเทศ

3.3 การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี[8]

3.4 การพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ[9]

จากที่กล่าวมา เป็นการพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบหรือยินยอมในมาตรการต่างๆ ทางนิติบัญญัติ ซึ่งกระทำโดยผู้แทนที่ประชาชนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตน อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบางฉบับ ได้บัญญัติให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอำนาจในการออกเสียงประชามติ (ลงประชามติ) เพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบใน เรื่องต่างๆได้โดยตรง ไม่ต้องกระทำผ่านระบบผู้แทน ได้แก่

1. การออกเสียงประชามติเพื่อให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550[10]

2. การออกเสียงประชามติในกรณีที่คณะรัฐมนตรีเห็นว่ากิจการในเรื่องใดอาจจะกระทบ ถึงประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือประชาชน นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีอาจปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้มีการออกเสียงประชามติเพื่อขอความเห็นจากประชาชนว่าจะให้ความเห็นชอบหรือ ไม่เห็นชอบในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีได้ขอความเห็นมา อย่างเช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540[11] และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับปัจจุบัน)[12]

นอกจากการออกเสียงประชามติในเรื่องที่คณะรัฐมนตรีได้ขอความเห็นจากประชาชนข้างต้นแล้ว ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 (ฉบับปัจจุบัน) ยังให้มีการจัดออกเสียงประชามติเพื่อขอความเห็นจากประชาชนในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติไว้ด้วย[13]

อ้างอิง

  1. สฤษดิคุณ กิติยากร, ปทานุกรมอังกฤษ-ไทย, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539, หน้า 18, 86.
  2. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ.2542, กรุงเทพฯ: บริษัท นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด, 2546, หน้า 1301.
  3. คณิน บุญสุวรรณ , ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ : โอ เอส พริ้นติ้งเฮาส์, 2533 หน้า 308.
  4. เรื่องเดียวกัน, หน้า 308.
  5. คณิน บุญสุวรรณ , ศัพท์รัฐสภา , กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2520 หน้า 105.
  6. คณิน บุญสุวรรณ , ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. อ้างแล้ว, หน้า 308.
  7. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก วันที่ 24 สิงหาคม 2550, มาตรา 136.
  8. เรื่องเดียวกัน, มาตรา 172.
  9. เรื่องเดียวกัน, มาตรา 121.
  10. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก วันที่ 1 ตุลาคม 2549, มาตรา 29.
  11. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 55 ก วันที่ 11 ตุลาคม 2540 , มาตรา 214.
  12. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, อ้างแล้ว, มาตรา165.
  13. เรื่องเดียวกัน, มาตรา 165.

หนังสือแนะนำให้อ่านต่อ

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, สรรสาระรัฐธรรมนูญไทย, กรุงเทพฯ : บริษัท รุ่งศิลป์การพิมพ์ (1977) จำกัด , 2548.

บรรณานุกรม

คณิน บุญสุวรรณ . ภาษาการเมืองในระบอบรัฐสภา. พิมพ์ครั้งที่ 2, กรุงเทพฯ :โอ เอส พริ้นติ้ง เฮาส์, 2533.

คณิน บุญสุวรรณ . ศัพท์รัฐสภา. กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์, 2520.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 114 ตอนที่ 55 ก วันที่ 11 ตุลาคม 2540 .

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 123 ตอนที่ 102 ก วันที่ 1 ตุลาคม 2549.

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550, ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนที่ 47 ก วันที่ 24 สิงหาคม 2550.

ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมฉบับราชบัณทิตยสถาน พ.ศ.2542, กรุงเทพฯ: บริษัท นานมีบุ๊คส์ พับลิเคชั่นส์ จำกัด, 2546.

สฤษดิคุณ กิติยากร, ปทานุกรมอังกฤษ-ไทย, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2539.

ดูเพิ่มเติม