World Bank กับการเมืองไทย
ผู้เรียบเรียง อดิศร หมวกพิมาย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
ธนาคารโลก World Bank กับการเมืองไทย
ธนาคารโลกก่อตั้งขึ้นมาจากการประชุมที่เบร็ตตันวูดส์ รัฐนิวแฮมเซียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2487 การประชุมครั้งนี้ได้ร่างกฎบัตรขึ้นมาสองฉบับสำหรับธนาคารโลก ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งว่าธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development-IBRD) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) ตอนที่มีการก่อตั้งสถาบันการเงินทั้งสองขึ้นมาที่เบร็ตตันวูดส์นั้น ทั้งสองสถาบันมีการแบ่งความรับผิดชอบกันอย่างชัดเจน กองทุนจะให้การสนับสนุนทางการเงินระยะสั้น เพื่อช่วยประเทศต่าง ๆ แก้ปัญหาดุลการชำระเงินในขณะที่ธนาคารโลกจะให้ทุนสนับสนุนการพัฒนาระยะกลางและระยะยาวในรูปแบบเงินกู้ยืม โครงการพัฒนาที่เน้นเฉพาะเป็นโครงการไป โดยเข้าไปช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในยุโรปที่ประสบภัยพิบัติจากสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมาให้เงินกู้แก่ประเทศต่างๆ ในโลกที่สามเป็นสำคัญ โครงการพัฒนาส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินให้กู้จากธนาคารโลก เป็นโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Infrastructure Investment) ดังเช่นถนนและทางหลวง ระบบสาธารณูปโภค ระบบชลประทาน เป็นต้น
สถาบันการเงินในธนาคารโลก ประกอบด้วยสถาบันต่างๆ รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย
1. ธนาคารเพื่อการบูรณะและพัฒนาระหว่างประเทศ (IBRD-ก่อตั้งค.ศ.1945)
2. บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (IFC-ค.ศ.1956)
3. สมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (IDA-ค.ศ.1960)
4. องค์การประกันการลงทุนหลายฝ่าย (MIGA-ค.ศ.1988)
ทั้ง 4 องค์กรรวมกันเรียกว่า กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) เป้าหมายที่ได้มีการระบุไว้ของกลุ่มธนาคารโลกคือ การให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน, คำปรึกษาแนะนำ, และด้านเทคนิค แก่ประเทศสมาชิก เพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชน (โดยเฉพาะในประเทศด้อยพัฒนา) ด้วยการถ่ายโอนทรัพยากรจากประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนกิจกรรมหลักของกลุ่มธนาคารโลกมีอยู่ 3 ประการคือ
1.ให้เงินกู้ยืม
2.ให้คำปรึกษาในด้านการพัฒนาประเทศ
3.กระตุ้นและส่งเสริมการลงทุนระหว่างประเทศ
ส่วนโครงสร้างการบริหารของธนาคารโลก ประกอบด้วยส่วนหลัก 2 ส่วน คือ สภาผู้ว่าการ (Board of Governor) และ คณะกรรมการบริหาร (Board of Executive Directotors) ภายใต้ธรรมนูญของธนาคารโลก อำนาจการตัดสินใจสูงสุดจะอยู่ที่สภาผู้ว่าการ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนของประเทศสมาชิก ประเทศละ 1 คน อยู่ในตำแหน่งวาระ 5 ปี และมีการประชุมปีละหนึ่งครั้ง (มีการจัดการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนตุลาคม 2534)
บทบาทด้านหลักของสภาผู้ว่าการ คือ การกำหนดสมาชิกภาพ การเพิ่มหรือลดทุนของธนาคาร การกำหนดนโยบายการดำเนินงาน ฯลฯ สิ่งที่น่าสังเกตเกี่ยวกับสภาผู้ว่าการธนาคารโลก คือ การที่สมาชิกของแต่ละประเทศจะมีเสียงโหวตที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนหุ้นของธนาคารโลกที่ประเทศนั้น ๆ ถืออยู่
คณะกรรมการบริหารของธนาคารโลก มีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานทั้งหมดของธนาคารโลก สมาชิกของคณะกรรมการบริหารมีจำนวน 22 คน (และแต่ละคนจะมีกรรมการสำรองในตำแหน่งตนอีก 22 คน) โดยมีตำแหน่งคราวละ 2 ปี สมาชิกกรรมการบริหารทั้งที่มาจากการเลือกและการแต่งตั้ง
คณะกรรมการบริหารมีทั้งที่มาจากการเลือกตั้งและการแต่งตั้ง กล่าวคือ ตัวแทนจากประเทศแกน 5 ประเทศ ซึ่งได้แก่ สหรัฐอเมริกา , ญี่ปุ่น เยอรมันตะวันตก อังกฤษ , และฝรั่งเศส จะได้รับการแต่งตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งได้โดยอัตโนมัติ สำหรับคณะกรรมการบริหารที่เหลือ ได้มาจากการเลือกตั้งภายในกลุ่มประเทศโดยลักษณะการจัดกลุ่มนี้ เป็นการจัดแบ่งโดยธนาคารโลกเอง กลุ่มที่ประเทศไทยอยู่นั้นจะประกอบด้วยสมาชิกจากประเทศฟิจิ อินโดนีเซีย ลาว พม่า มาเลเซีย เนปาล สิงคโปร์ ไทย ตองกา และเวียดนาม ส่วนเสียงโหวตของกลุ่มนี้รวมกันมีสัดส่วนเพียง 2.79% ของเสียงทั้งหมดใน IBRD และ 2.93% ของเสียงใน IDA) ข้อน่าสังเกตคือ ตัวแทนของประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะประเทศอิตาลี แคนาดา และเบลเยี่ยม มักจะได้รับการเลือกตั้งให้เข้าดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารติดต่อกันตลอดมา
คณะกรรมการบริหารจะต้องอยู่ประจำที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารโลก และรับผิดชอบในการควบคุมดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำอื่น ๆ โครงสร้างการทำงานมีการแบ่งส่วนแยกย่อยเป็นฝ่าย ๆ เช่น เลขานุการ ฝ่ายสำนักงาน การเงิน ฝ่ายปฏิบัติการ ฝ่ายนโยบาย วิจัย และกิจกรรมภายนอก ฝ่ายประเมินผลการปฏิบัติ ฝ่าย แผนงานและงบประมาณ ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายบุคคลและบริหาร โดยฝ่ายปฏิบัติการมีสำนักงานสาขาในภูมิภาคต่าง ๆ 4 ภูมิภาค คือ อาฟริกา เอเชีย ยุโรป ตะวันออก-อาฟริกาเหนือ และลาตินอเมริกา โดยปกติเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานใหญ่ของธนาคารโลกมีประมาณหลายพันคน
เงินกู้สี่ก้อนแรกของธนาคารโลกมอบให้ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค และลักแซมเบิร์ก เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ต่อมาธนาคารโลกได้ปล่อยกู้ให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาในปี 2491 นั้น ชิลีเป็นประเทศนอกยุโรปประเทศแรกที่ได้รับเงินกู้จากธนาคารโลก
ในช่วงทศวรรษ 2510 ธนาคารโลกเติบโตขยายตัวขึ้นมาอย่างมากมาย ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่และปริมาณเงินกู้ที่ปล่อยออกไป การเติบโตของธนาคารส่วนใหญ่อยู่ในภาคเศรษฐกิจ เช่น เกษตรกรรมและการพัฒนาชนบท อุตสาหกรรม การขนส่งและพลังงาน โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมของประโยชน์จากโครงการเหล่านั้น มีการปรึกษาองค์กรเอกชนในท้องถิ่นที่เป็นตัวแทนของประชาชนน้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นการเสาะหาโครงการ การวางแผน และการดำเนินโครงการที่ธนาคารให้ความสนับสนุน
ในช่วงนี้เองที่ธนาคารโลกให้เงินกู้ผ่านองค์กรหรือสถาบันในสังกัดรัฐบาลเพื่อส่งเสริมการทำประเทศให้ทันสมัยและเศรษฐกิจแบบเปิด หรือเศรษฐกิจแบบเสรีที่รัฐเข้ามาควบคุมน้อยที่สุด การให้ทุนสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ เช่น การสร้างเขื่อน การทำเหมืองแร่ และการเคลื่อนย้ายประชาชนไปตั้งถิ่นฐานใหม่ (Transmigration) ก่อให้เกิดสภาพที่ชุมชนถูกถอนรากอย่างสิ้นเชิง และเกิดความพินาศย่อยยับของสภาพแวดล้อม ป่าเมืองร้อนคิดเป็นพื้นที่ใหญ่โตมโหฬารจมหายไปใต้อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน หรือถูกตัดทำลาย ในขณะที่ชาวบ้านคนท้องถิ่นพื้นเมืองถูกโยกย้ายจากผืนแผ่นดินที่พวกเขาเคยอยู่อาศัยมาชั่วชีวิตเพื่อเปิดทางให้ “การพัฒนา” ตามแบบตะวันตก
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวข้างต้นของธนาคารโลกเป็นผลมาจากการปฏิรูปองค์กรครั้งใหญ่ในระหว่างที่นายโรเบิร์ต แม็กนามารา (Robert McNamara) ดำรงตำแหน่งประธาน (2511-2524) มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการให้ความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนามาเน้นการแก้ปัญหาความยากจน ความอดอยากหิวโหย และความทุกข์ของประชาชนผู้ยากไร้ แนวทางหลักก็คือ การจัดสรรสิ่งสนองตอบความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Needs) แม้ว่าแนวความคิดว่าด้วย Basic Human Needs ก่อเกิดในองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) แต่ธนาคารโลกมีบทบาทสำคัญในการสานต่อแนวความคิดดังกล่าว และนำความคิดไปสู่การปฏิบัติ
ในทศวรรษ 2520 แม็กนามารา เห็นว่าความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ไม่เพียงพอที่จะช่วยโลกที่สามหลุดพ้นจากความด้อยพัฒนา ในเมื่อประเทศเหล่านี้ต้องเผชิญวิกฤติการณ์เศรษฐกิจระลอกแล้วระลอกเล่า นับตั้งแต่วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งแรกปี 2516-2517 วิกฤติการณ์น้ำมันครั้งที่สอง ปี 2522 วิกฤติการณ์หนี้ต่างประเทศของโลกที่สามปี 2523 และภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสังคมเศรษฐกิจโลกระหว่างปี 2523-2529 แม็กนามาราเห็นว่าประเทศโลกที่สามจะสามารถฝ่าฟันคลื่นมรสุมทางเศรษฐกิจได้ ก็ต่อเมื่อมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่มั่นคงแข็งแรง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง แต่การปล่อยให้ประเทศเหล่านี้เลือกเส้นทางการพัฒนาของตนเองมิได้มีหลักประกันว่า จะมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ จำเป็นที่ธนาคารโลกต้องเข้าไปแทรกแซงและกำกับการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนา
ปี 2522 ธนาคารโลกริเริ่มให้มีเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้าง (Structural Adjustment Loans=SALs) และอาศัยการกำหนดเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย (Policy Conditionalities) ผูกติดไปกับเงินให้กู้เป็นกลไกในการบังคับให้ประเทศลูกหนี้ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ในขณะที่เงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ผูกติดมากับเงินกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เน้นการปรับโครงสร้างอุปสงค์มวลรวม (Structure of Aggregate Demand) ธนาคารโลกเน้นการปรับโครงสร้างการผลิต (Structure of Production)
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ นักเศรษฐศาตร์คนสำคัญที่ศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคด้านการเงินและการคลัง กล่าวว่า ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศมีบทบาทสำคัญในการสร้าง "ฉันทามติแห่งวอชิงตัน" (Washington Consensus) อันได้แก่ Stabilization, Liberalization, Deregulation และ Privatizationในขณะที่เงื่อนไขการดำเนินนโยบายของกองทุนการเงินระหว่างประเทศดูแลเรื่อง Stabilization ธนาคารโลกดูแลเรื่อง Liberlization, Deregulation, Privatization
การปฏิรูปเศรษฐกิจตามพื้นฐานความคิดของฉันทามติแห่งวอชิงตัน ก็คือ การปลดปล่อยให้กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อรัฐต้องลดการแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ลดการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Deregulation) และถ่ายโอนการผลิตจากภาครัฐบาลไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) เพื่อลดขนาดของภาครัฐบาล (Downsizing the Government)
ธนาคารโลกยึดแนวทาง การปลดปล่อยให้กลไกราคาสามารถทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ควบคู่กับการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า (Import Substitution Industrialization) ไปสู่การผลิตเพื่อการส่งออก (Export-oriented Industrialization) เป็นแนวทางการปฏิรูปเศรษฐกิจ อันเป็นเงื่อนไขการดำเนินนโยบาย ที่ผูกติดกับเงินให้กู้ SALs
ภายหลังจากที่การปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะแรกดำเนินมานานนับทศวรรษ ก่อให้เกิดปัญหากับประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ หลายประเทศต้องปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่ผูกติดกับเงินให้กู้ ทั้งของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ จึงค่อยๆ ก่อเกิดและสรุปเป็นการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะที่สอง
หัวใจของการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะที่สอง คือ ปัจจัยสถาบันมีความสำคัญต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการปฏิรูปเศรษฐกิจ การละเลย และการไม่ให้ความสำคัญแก่ปัจจัยสถาบันนำมาซึ่งความล้มเหลว ในการปฏิรูปเศรษฐกิจ ความข้อนี้นับเป็นบทเรียนสำคัญยิ่งจากการปฏิรูปเศรษฐกิจรุ่นที่หนึ่ง กองทุนการเงินระหว่างประเทศร่วมกับธนาคารโลก จัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการ Conference on Second Generation Reforms ในเดือนกันยายน 2542
การปฏิรูปสถาบันกลายเป็นเงื่อนไขการดำเนินนโยบายที่สำคัญ ที่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศพยายามผูกมัดให้ภาคีสมาชิกดำเนินการ โดยที่สถาบันมิได้มีความหมายจำกัดเฉพาะองค์กรและการจัดองค์กร หากหมายรวมถึงกติกาการเล่นเกม (Rules of the Game) ในสังคมเศรษฐกิจด้วย
ภายหลังการรัฐประหารปี 2500 โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐบาลไทยเริ่มนโยบายส่งเสริมการผลิตของภาคเอกชนตามข้อเสนอแนะของธนาคารโลกในปี 2503 ด้วยการปรับลดจำนวนรัฐวิสาหกิจไทยจาก141 แห่งเหลือ 69 แห่งในปี 2519 รวมไปกระทั่งถึงคำแนะนำให้มีการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ เจ้าหน้าที่จากธนาคารโลกคือ นาย แอนโทนิน บาสซ์(Antonin Basch) ได้ยกร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมอุตสาหกรรม ฉบับ พ.ศ. 2497 และเสนอให้ไทยใช้นโยบายการคลังแบบรัดเข็มขัด และการวางแผนลงทุนระยะยาว ระหว่างปี 2497-2498 บทบาทของธนาคารโลกต่อนโยบายเศรษฐกิจไทยจึงดำรงฐานะเป็นบทบาทางอ้อมต่อการกำหนดนโยบาย
หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเดือนตุลาคม 2516 รัฐบาลให้ความสนใจต่อปัญหาความยากจนและการกระจายรายได้ในประเทศไทยมากขึ้น รายงานธนาคารโลกเรื่อง Thailand: Toward a Strategy of Full Participation ฉบับปี 2521 มีอิทธิพลต่อการกำหนดแนวทางการพัฒนาในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5(2525-2529) และฉบับที่ 5 และ 6 ในเวลาต่อมา ในเรื่องความจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์
การขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลกในช่วงปี 2524 –2529 และ ปี 2540-2542 ในช่วงแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจไทย ทำให้ทั้ง 2 องค์กร มีส่วนในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการในฐานะที่เป็นเงื่อนไขแห่งเงินกู้ ในกรณีของธนาคารโลก รัฐบาลไทยขอกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ (SALsI และ SALsII) ในปี 2525 และปี 2526 ซึ่งมีเงื่อนไขที่ต้องผูกมัดด้วย 10 ข้อในปี 2525 และ 13 ข้อในปี 2526 ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวรัฐบาลไทยดำเนินการตามเงื่อนไขไม่ได้ทั้งหมดเพราะมีปัญหาการเมืองในคณะรัฐบาล แต่ธนาคารโลกก็ไม่ได้ใช้อ้างเป็นสาเหตุในการยกเลิกการให้กู้แต่อย่างใด
ประกาศข่าวกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 66/2542 วันที่ 12 พฤษภาคม 2542 เรื่อง รายงานผลการประชุมประเมินผลการดำเนินการของโครงการเงินกู้จาก ธนาคารโลก (Country Portfolio Performance Review) เขียนไว้ว่า
- นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ โฆษกกระทรวงการคลัง ขอแถลงผลการประชุมประเมินผล การดำเนินการของโครงการเงินกู้จากธนาคารโลกโดยรวม (Country Portfolio Performance Review- CPPR) ระหว่างกระทรวงการคลัง ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เป็นผู้ดำเนินโครงการ (กรมทางหลวง กรมที่ดิน ทบวงมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การไฟฟ้า ฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย) และธนาคารโลก ซึ่งการประชุม CPPR เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2542 เป็นการจัดครั้งแรกของประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบผลการดำเนิน งานของโครงการเงินกู้โดยรวม และพิจารณามาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและปรับปรุงการดำเนินการ ของโครงการต่าง ๆของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่ได้รับเงินกู้จากธนาคารโลก
- โครงการต่างๆ ที่กู้เงินจากธนาคารโลกและยังดำเนินการมีอยู่ทั้งสิ้น จำนวน 15 โครงการ และมีวงเงินกู้ผูกพัน (Aggregate Commitment) ทั้งสิ้นประมาณ 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ มีโครงการในสาขาพลังงานคิดเป็นร้อยละ 44 ของจำนวนโครงการทั้งหมด คิดเป็นวงเงินกู้ผูกพัน ร้อยละ 36 ของเงินกู้จากธนาคารโลก อันดับสองคือภาคการศึกษาซึ่งมีโครงการทั้งสิ้นร้อยละ 19 ของ โครงการทั้งหมด คิดเป็นวงเงินขอกู้ร้อยละ 13 ของเงินกู้ นอกจากนั้น เงินกู้ในช่วงที่ผ่านมาเป็น ลักษณะเพื่อแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจเป็นสำคัญเพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิรูปภาคการเงินและการบริหาร เศรษฐกิจในระดับมหภาคและโครงการลงทุนเพื่อสังคม
- แผนการปรับปรุงผลการดำเนินการโครงการโดยรวม
- กระทรวงการคลังและธนาคารโลกได้ให้ความสำคัญที่จะมีแผนการปรับปรุง ผลการดำเนินการโครงการโดยรวม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งดำเนินการโครงการให้บรรลุตามเป้าหมาย และระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อให้ผลประโยชน์ที่จะได้จากโครงการเหล่านั้นถึงมือประชาชนโดยเร็ว ที่ประชุมดังกล่าวได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในการปรับปรุงด้านการบริหารโครงการ การปรับโครงสร้างการ ติดตามประเมินผล การกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพทั้งในส่วนของธนาคารโลก และรัฐบาลไทย รวมทั้งระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่อาจแตกต่างกับการเตรียมโครงการล่วงหน้าเพื่อให้เบิก จ่ายให้เบิกจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนในการติดตามประเมินผลเงินกู้จากต่างประเทศ
- นอกจากนั้นที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการจัดตั้งหน่วยติดตามและสนับสนุน โครงการ (Oversight Support Unit - OSU) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของ รัฐบาลในการควบคุมดูแลความก้าวหน้าในการดำเนินงานโครงการเงินกู้ทั้งหมด ตลอดจนให้ข้อเสนอ แนะและคำแนะนำแก่โครงการที่มีปัญหา เพื่อสามารถหาแนวทางในการ แก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
- ในการนี้ OSU จะจัดตั้งขึ้นในสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในชั้นแรกนั้น ธนาคารโลกจะให้การสนับสนุนผ่าน ASEM Trust Fund ในรูปความช่วยเหลือทางวิชาการ ซึ่งกระทรวงการคลังคาดว่าการจัดตั้ง OSU เพื่อให้ดำเนินการของโครงการโดยรวมเป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถติดต่อและรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในบางโครงการรวดเร็วขึ้น เพื่อจะให้การสนับสนุนแก้ไขได้ทันท่วงที ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์จากโครงการเหล่านี้มากขึ้น [1]
เมื่อไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกอันเนื่องมาจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ของสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายปี 2551 ส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกลดลง และการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศหดตัวอย่างรุนแรง รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากธนาคารโลก 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากได้เคยอนุมัติในหลักการให้กู้เงินจาก ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) วงเงิน 2,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 72,000 ล้านบาท และนำร่างสัญญาเงินกู้เสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา โดยเงินดังกล่าวมีระยะเวลา 20 ปี ปลอดหนี้ 8 ปี ปรับดอกเบี้ยทุก 6 เดือน อ้างอิงจากดอกเบี้ยลอยตัวสกุลเงินสหรัฐ เฉลี่ย 15 ปี ที่ 3.55%
ก่อนหน้านี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังได้รายงานเหตุผลและความจำเป็นในการกู้เงินต่างประเทศว่า เกิดจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤติการทางการเงินของสหรัฐอเมริกา การขยายตัวของ จีดีพี ภายในสหรัฐลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2551 ติดลบ 3.8 % ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลก ปี 2551 จีดีพีของไทยขยายตัวเพียง 2.3 % ไตรมาสที่ 4 หดตัว 4.3 % ปริมาณการส่งออกและบริการครึ่งปีหลังของปี 2551 ติดลบ 26 % อัตราการว่างงานจาก 5 แสนเป็น 1 ล้านคน และในปี 2552 ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก คาดการณ์เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.5-0.9 % เศรษฐกิจไทยเสี่ยงที่จะหดตัวในครึ่งปีแรกของปี 2552
สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ รายงานด้วยว่า ความจำเป็นสำคัญคือ งบกลางปี เพิ่มเติมปี 52 มีจำกัดไม่เพียงพอสำหรับโครงการลงทุนภาครัฐ การจัดทำงบประมาณขาดดุลปี 2552 อยู่ที่ 347,060.52 ล้านบาท การกู้เงินในประเทศมีข้อจำกัดจากเพดานการกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ตามพระราชบัญญัติหนี้สาธารณะ ไม่เกิน 20 % ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบเพิ่มเติม 80 % ของงบประมาณรายจ่าย ชำระคืนเงินต้น จึงไม่สามารถการกู้เงินภาย ในประเทศได้เกินกรอบวงเงิน 441,280.88 ล้านบาท ขณะเดียวกันการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลไม่เป็นไปตามเป้า สภาพตลาดเงินมีความผันผวน รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของรัฐมีแนวโน้มจะการกู้เงินในประเทศเพิ่มขึ้นเพื่อบริหารสภาพคล่อง รัฐบาลมีสถานะทางเครดิตและช่องทางการกู้เงินต่างประเทศในเงื่อนไขและต้นทุนที่ดีกว่า โดยเฉพาะการการกู้เงินการกู้เงินจากสถาบันการเงินและองค์กรระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ยังได้รายงานว่า หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนธ.ค. 51 คงค้าง 3,471.34 พันล้านบาท คิดเป็น 38.13 % ต่อ จีดีพี เป็นหนี้ระยะสั้น 174.09 พันล้านบาท หนี้ระยะยาว 3,297.25 พันล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ภายในประเทศ 3,055.81 พันล้านบาท หนี้ต่างประเทศ 415.53 พันล้านบาท โดยเป็นเงินสกุล เยน มากที่สุด 64 % เหรียญสหรัฐ 20 % และ ยูโร 16 % ทั้งนี้ ไทยการกู้เงินจากธนาคารโลกจนถึงปัจจุบัน จำนวน 8,553 ล้านเหรียญสหรัฐ เงินการกู้เงินจาก เอดีบี 5,316 ล้านเหรียญสหรัฐ และเงินการกู้เงินจาก เจบิค ประมาณ 2,010,537 ล้านเยน
ที่มา
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์. กระบวนการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทย : บทวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเมือง พ.ศ. 2475-2530. กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2531.
ผาสุก พงษ์ไพจิตร และคริส เบเกอร์. เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ: Silkworm Books, 2542.
อ้างอิง
- ↑ http://www.mof.go.th/news99/news66.htm ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2542