The Finns Party
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
The Finns Party
Finns Party เรียกย่อ ๆ ว่า PS (มาจาก Perussuomalaiset ในภาษาฟินนิช) เป็นพรรคการเมืองของฟินแลนด์ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1995 โดย Finns Party เป็นพรรคที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ ในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาฟินแลนด์เมื่อปี ค.ศ. 2019 Finns Party สามารถได้คะแนนเสียงจากผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งถึง 17.5% และได้ที่นั่งในสภาถึง 39 ที่นั่ง[1] นับเป็นพรรคการเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สองของรัฐสภาฟินแลนด์
ที่มาและการก่อตั้ง
พรรค Finland Rural Party หรือ SMP เป็นพรรคการเมืองในแนวทางประชานิยมที่ถูกก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1958 และได้รับการจับตามองว่ากำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นพรรคการเมืองที่เป็นปากเป็นเสียงให้แก่กลุ่มประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมฟินแลนด์ที่ถูกลืม[2] โดยแยกออกมาจากกลุ่มสันนิบาตเพื่อการเกษตรซึ่งในเวลาต่อมากลายเป็นพรรคการเมืองชื่อว่า Centre Party โดย SMP นั้นได้รับการสนับสนุนอย่างดีในช่วงทศวรรษที่ 1980 และเคยได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลในปี ค.ศ. 1983 ทว่า SMP ประสบกับปัญหาเรื่องความแตกแยกภายใน และต่อมาในทศวรรษที่ 1990 SMP ก็เสื่อมความนิยม รวมไปถึงมีปัญหาด้านการเงิน จนสุดท้าย SMP ก็ต้องยุติบทบาททางการเมืองไป[3]
Finns Party หรือที่ในขณะนั้นยังใช้ชื่อว่า True Finn Party ก็ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่ SMP ได้ยุติบทบาททางการเมือง โดยผู้ก่อตั้งเป็นอดีตสมาชิกพรรค SMP เก่า และทำให้ Finns Party จัดเป็นพรรคทายาทของพรรค SMP ด้วยนั่นเอง หากแต่ในระยะแรก Finns Party ไม่ได้รับความนิยมเท่าใดนัก โดยก่อนปี ค.ศ. 2009 Finns Party เป็นพรรคการเมืองชายขอบที่ในการเลือกตั้งโดยส่วนใหญ่มักจะได้รับเสียงจากประชาชนต่ำกว่า 5%[4] โดยการเลือกตั้งทั่วไปในปี ค.ศ. 2003 Finns Party ได้เสียงเพียง 1.6% ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2007 ได้เสียง 4.1% ทว่าในการเลือกตั้งยุโรปปี 2009 Finns Party กลับได้เสียงเพิ่มขึ้นมาเป็น 9.8% และเริ่มที่จะพัฒนาตัวเองในฐานะพรรคการเมืองกระแสหลักพรรคหนึ่งของฟินแลนด์
สู่พรรคกระแสหลัก
ความสำเร็จของ Finns Party ในระยะแรกเริ่มขึ้นในปี ค.ศ. 2003 เมื่อ Tony Halme อดีตนักมวยปล้ำและนักแสดงภาพยนตร์ ได้เป็นผู้แทนในสภาผู้แทนราษฎร โดย Tony Halme นั้นทำให้พรรคได้คะแนนเสียงเฉพาะในส่วนของ Tony Halme คนเดียวถึง 38% ซึ่ง Tony Halme ได้ดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ให้กลายเป็นฐานเสียงของพรรค ผ่านการแสดงความคิดเห็นที่สุดโต่งอย่างเช่นแนวคิดที่จะส่งพ่อค้ายา พวกใคร่เด็ก และพวกอาชญากรคดีข่มขืนไปที่รัสเซีย
ขณะเดียวกัน Timo Soini ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรค Finns Party ก็สามารถดึงความสนใจจากสื่อมวลชนและได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนในผลโพลสำรวจความนิยมสำหรับผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2007 Timo Soini ก็ได้รับความนิยมเป็นอันดับสาม[5] พร้อมกันนั้นในช่วงปี ค.ศ. 2008 บล็อคเกอร์ต่อต้านกลุ่มผู้อพยพชื่อ Jussi Halla-Aho ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และช่วยให้พรรค Finns Party ได้มีโอกาสขยายความนิยมผ่านทางกลุ่มต่อต้านผู้อพยพขึ้นไปอีก[6]
ความสำเร็จของ Finns Party ในการเข้าสู่สถานะพรรคการเมืองกระแสหลักนั้นเริ่มเห็นได้ชัดที่สุดในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2011 เมื่อ Finns Party ได้คะแนนเสียงถึง 19.1% และที่นั่งในสภาถึง 39 ที่นั่ง[7] นับเป็นพรรคการเมืองใหญ่อันดับสามในสภา เป็นรองจากพรรค Social Democratic Party of Finland ที่ได้ที่นั่งในสภา 42 ที่นั่ง และพรรค National Coalition Party ที่ได้ 44 ที่นั่ง หากแต่พรรค Finns ไม่ได้เป็นพรรคร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลเนื่องจากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับ EU
ต่อมาในการเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ. 2015 Finns Party ได้คะแนนเสียงถึง 17.65% และได้ที่นั่งถึง 38 ที่นั่ง ส่งผลให้ Finns Party กลายเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งมากเป็นอันดับสองของสภา รองจากพรรค Centre ที่ได้ที่นั่งทั้งสิ้น 49 ที่นั่ง ความสำเร็จในการเลือกตั้งปี 2015 ทำให้ Finns Party ได้กลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาล[8]
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งต่อมาในปี ค.ศ. 2019 Finns Party ก็ได้รับเสียงจากผู้เลือกตั้งถึง 17.5% และได้ที่นั่งในสภาถึง 39 ที่นั่ง นับเป็นพรรคใหญ่อันดับสองของสภา รองจากพรรค The Finnish Social Democratic Party ที่ได้ที่นั่ง 40 ที่นั่ง และได้คะแนนเสียงทั้งหมด 17.7%[9]
ผลการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาฟินแลนด์ ค.ศ. 2019
พรรค |
สัดส่วนคะแนนเสียง |
ที่นั่ง |
Social Democratic Party |
17.73 |
40 |
Finns Party |
17.48 |
39 |
National Coalition Party |
17.00 |
38 |
Centre Party |
13.76 |
31 |
Green League |
11.49 |
20 |
Left Alliance |
8.17 |
16 |
Swedish People's Party |
4.53 |
9 |
Christian Democrats |
3.90 |
5 |
Movement Now |
2.25 |
1 |
For Åland (C–L–M–S–ÅF) |
0.38 |
1 |
รวม |
100.00 |
200 |
อุดมการณ์
Finns Party เป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่มีนโยบายต่อต้านผู้อพยพ โดยในการเลือกตั้งรัฐสภาเมื่อปี ค.ศ. 2015 Finns Party ได้มีการสื่อสารว่าการอพยพของประชากรที่ไม่ได้มาจากชาติ EU ควรจะเป็นไปได้หากได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย ขณะเดียวกัน Finns Party ก็กล่าวว่าสวัสดิการที่ฟินแลนด์จัดให้นั้นควรจะเป็นสวัสดิการเพื่อชาวฟินแลนด์ไม่ใช่เพื่อผู้อพยพกลุ่มอื่น[10]
ขณะเดียวกัน Finns Party ยังมักจะถูกจัดเป็นพรรคที่มีลักษณะของความเป็นประชานิยม โดยมีการใช้โวหารที่ต่อต้านสถานะปัจจุบัน อย่างเช่น การต่อต้านชนชั้นนำ และ Finns Party ยังมีลักษณะของความเป็นชาตินิยม โดยมองว่าฟินแลนด์จะเข้มแข็งขึ้นหากมีเชื้อสายของผู้อยู่อาศัยมีลักษณะเป็นหนึ่งเดียวกัน และมองว่าชาวฟินแลนด์ควรจะได้สิทธิในบริการจากรัฐก่อนคนกลุ่มอื่น โดยในแถลงการณ์ปี ค.ศ. 2009 Finns Party ได้ทำการอธิบายว่า “ความเป็นฟินแลนด์คือจุดแข็ง ความเป็นฟินแลนด์คือพลัง”
ในทางเศรษฐกิจ Finns Party ให้การสนับสนุนนโยบายรัฐสวัสดิการ ทั้งยังเห็นด้วยกับการเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า หากแต่นโยบายรัฐสวัสดิการของ Finns Party นั้นต้องเน้นที่พลเมืองฟินแลนด์ก่อน[11]
อ้างอิง
[1] Ministry of Justice - Information and Result Service, 2020. “Parliamentary Elections 2019 / Results / Whole country”. Retrieved from https://tulospalvelu.vaalit.fi/EKV-2019/en/tulos_kokomaa.html
[2] David Arter, 2010. The Breakthrough of Another West European Populist Radical Right Party? The Case of the True Finns. Government and Opposition, 45(4), 484–504. http://www.jstor.org/stable/44483245 p.486
[3] Pontus Odmalm and Eve Hepburn. (Eds.), (2017). The European Mainstream and the Populist Radical Right. Routledge. P.73-74
[4] Ibid. p.74
[5] David Arter, 2010. The Breakthrough of Another West European Populist Radical Right Party? The Case of the True Finns. Government and Opposition, 45(4), 484–504. http://www.jstor.org/stable/44483245 p.488
[6] Pontus Odmalm and Eve Hepburn. (Eds.), (2017). The European Mainstream and the Populist Radical Right. Routledge. P.74
[7] Ministry of Justice - Information and Result Service, 2021. “Parliamentary Elections 2011 / Results / Whole country”. Retrieved from https://tulospalvelu.vaalit.fi/EKV-2011/en/tulos_kokomaa.html
[8] Pontus Odmalm and Eve Hepburn. (Eds.), (2017). The European Mainstream and the Populist Radical Right. Routledge. P.76 - 77
[9] Ministry of Justice - Information and Result Service, 2020. “Parliamentary Elections 2019 / Results / Whole country”. Retrieved from https://tulospalvelu.vaalit.fi/EKV-2019/en/tulos_kokomaa.html
[10] BBC, 2015. “Who are the nationalist Finns Party?”. Retrieved from https://www.bbc.com/news/world-europe-32627013
[11] David Arter, 2010. The Breakthrough of Another West European Populist Radical Right Party? The Case of the True Finns. Government and Opposition, 45(4), 484–504. http://www.jstor.org/stable/44483245 p.488-501