EEC- (Eastern Economic Corridor)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร และ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

EEC- (Eastern Economic Corridor)

          EEC หมายถึง โครงการพัฒนาระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard Development Program ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในสมัยรัฐบาล พลเอก เปรม_ติณสูลานนท์ (พ.ศ. 2523-2531) โดยโครงการประกอบด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ แผนการพัฒนาอุตสาหกรรม ส่งเสริมการลงทุน และอื่น ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจและชุมชนในภาคตะวันออกเติบโตอย่างรวดเร็ว ภาคตะวันออกเป็นเสมือนหัวรถจักรในการลากจูงเศรษฐกิจของประเทศ และมีผลต่อการยกระดับรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคดังกล่าวและของประเทศอย่างมาก[1]

          จากอดีต ถึง พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นปีที่รัฐบาล พลเอกประยุทธ์_จันทร์โอชา เข้ารับตำแหน่ง โครงการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกได้ดำเนินการต่อเนื่องมานานกว่า 30 ปี ความน่าสนใจและความท้าทายของพื้นที่เริ่มลดลง จึงได้มีการริเริ่มโครงการใหม่ที่เรียกว่า EEC (Eastern Economic Corridor) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทยครั้งใหม่ ซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตในระยะยาวได้ โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตการพัฒนา เหตุผลในการใช้พื้นที่ 3 จังหวัด เป็นจุดเริ่มต้น เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นกลุ่มเขตอุตสาหกรรมสำคัญอันดับต้น ๆ ของประเทศอยู่แล้ว ซึ่งมีโรงงานจำนวนมากในนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีสนามบิน และมีท่าเรือที่มีตู้สินค้าผ่านมากที่สุดเป็น อันดับที่ 22 ของโลก โครงการ EEC จึงมุ่งพัฒนาต่อยอดจากพื้นที่ที่มีความพร้อมสูงสุดให้เป็นพื้นที่นำร่องเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก

          ในประเด็นที่ว่าโครงการนำร่องของ EEC มีอะไรบ้าง สามารถตอบได้ว่ามีส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาเมือง แหล่งท่องเที่ยว ที่พักอาศัย สถานที่พักผ่อน และแหล่งประกอบธุรกิจพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก มีความทันสมัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้คนในพื้นที่เดิม และผู้ที่ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่จะได้รับบริการต่าง ๆ ภายใต้การลงทุนร่วมภาครัฐและเอกชนด้วยวงเงินประมาณที่สูง 1.5 ล้านล้านบาท

          กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการ EEC เป็นอันดับต้น ๆ ได้แก่ ผู้ผลิตไปจนถึงผู้ค้าขายอย่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และยังรวมไปถึงธุรกิจของคนรุ่นใหม่อย่าง Startup ก็อยู่ในขอบข่ายของ EEC เช่นกัน

          ในด้านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจนักลงทุนมาลงทุนในโครงการ EEC ในฐานะเป็นเขตส่งเสริมการลงทุน ผู้ประกอบการที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้จะได้รับสิทธิพิเศษจาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ดังต่อไปนี้

                    1. เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50

                    2. ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะ 15 ปี (ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย)

                    3. ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากกระทรวงการคลัง ซึ่งได้เพิ่มสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุดถึง ร้อยละ 17 สำหรับผู้บริหาร นักลงทุน และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือการจัดตั้งบริษัทเป็นสำนักงานใหญ่เขตภูมิภาค และการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกในพื้นที่ EEC

          โครงการ EEC ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติ โดยมีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการและหนึ่งในนั้น คือ บริษัท Alibaba ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ E-Commerce ทั้งนี้ผู้บริหารและตัวแทนบริษัทได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องฝ่าย EEC ภายใต้ชื่อโครงการ “Fifth Generation E-commerce Park” เพื่อเข้าร่วมเป็นศูนย์กลางการผลิต การค้า การขนส่ง และการอบรมความรู้ด้าน E-Commerce ในพื้นที่

          โดยสรุป โครงการ EEC เป็นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ หากโครงการประสบความสำเร็จจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย และอาจทำให้ประเทศไทยกลับมาคึกคักใหม่อีกครั้งหนึ่งในฐานะศูนย์กลางธุรกิจสำคัญแห่งเอเชีย[2]

          ส่วนสาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอ่อนแอเพราะมีการลงทุนน้อยมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จึงต้องมีการกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมาย เหตุผลที่ต้องใช้อุตสาหกรรมเป้าหมายเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพราะ

          1. ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การแข่งขันในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้นมาก แต่ประเทศไทยปรับตัวช้าทำให้เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตในลักษณะถดถอย ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียได้มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ดังจะเห็นได้จากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย มีตัวเลขต่ำที่สุดในอาเซียน 2 ปีติดต่อกัน (2556-2557) มูลค่าการส่งออกที่ขยายตัวลดลงจาก ร้อยละ 14 ต่อปี ในช่วงปี 2541-2550 เหลือเพียง ร้อยละ 5 ต่อปี ในช่วงปี 2551-2557 และคาดว่าจะหดตัวประมาณ ร้อยละ 5 ใน ปี 2558

          2. ความถดถอยนี้มีสาเหตุมาจากประเทศไทยขาดความมุ่งมั่นอย่างจริงจังและต่อเนื่องที่จะเร่งลงทุน ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันกลายเป็นปัญหาหลักในโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ก่อนหน้านี้ภาครัฐเคยลงทุนประมาณ ร้อยละ 9-10 ต่อปี มีผลทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว ร้อยละ 5 หรือมากกว่า แต่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐขยายการลงทุนเพียง ร้อยละ 2 ต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจว่าเศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้เพียง ร้อยละ 2 ในช่วงดังกล่าว ส่วนเอกชนไทยขยายการลงทุนเพียง ร้อยละ 3 จากเดิม ร้อยละ 14 ต่อปี[3] 

          ในประเด็นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในการเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New growth engine) ของประเทศไทยที่ได้มีการนำเสนอต่อกระทรวงอุตสาหกรรม และสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากที่เป็นอยู่ให้สูงขึ้นได้ มีจำนวน 10 อุตสาหกรรม และผู้รับผิดชอบโครงการมั่นใจว่า 10 อุตสาหกรรม เป้าหมายเหล่านี้เป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลก ทั้งนี้ผู้รับผิดชอบโครงการตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนจากภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทเอกชนที่มาจากต่างประเทศ

          อุตสาหกรรม 10 ประเภท ที่มีศักยภาพสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

          กลุ่มที่ 1 เป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมที่มีฐานแข็งแรง ประกอบด้วย

                    1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

                    2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

                    3) อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

                    4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ

                    5) อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร

          กลุ่มที่ 2 อุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีผู้สนใจมาลงทุน ประกอบด้วย

                    1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม

                    2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์

                    3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

                    4) อุตสาหกรรมดิจิทัล และ

                    5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร[4]

          ส่วนประเด็นว่าโครงการระเบียบเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้อย่างไรบ้างนั้น กล่าวได้ว่านักศึกษาและผู้บริหารสถาบันการศึกษาต้องเตรียมรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยต้องเข้าไปมีส่วนร่วมวางแผนพัฒนาการศึกษากับหลายสถาบันให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานที่จะเกิดขึ้น จังหวัดชลบุรีเป็นพื้นที่สำคัญในเขตโครงการที่ถูกวางให้เป็นเมืองแห่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมซึ่งปัจจุบัน มี 3 มหาวิทยาลัย และ 6 วิทยาลัยอาชีวศึกษา สามารถรองรับศูนย์กลางด้านการศึกษา ศูนย์ฝึกแรงงาน และศูนย์พัฒนาทักษะนานาชาติเพื่อตอบสนองต่อความต้องการด้านแรงงานของอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

          ข้อควรระวัง คือ โครงการระเบียงเศรษฐกิจนี้ยังคงมีลักษณะของการพัฒนาแบบแยกส่วนตามกรอบความคิดแบบเสาหลัก ยังไม่ได้เชื่อมโยงทุกมิติเข้าด้วยกันให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะยังขาดมิติด้านชีวิตคนในพื้นที่ คุณภาพชีวิตแรงงาน และโครงสร้างดุลอำนาจ (มิติด้านการเมือง) หากไม่จัดสมดุลพลังอำนาจทางเศรษฐกิจในพื้นที่ให้ดี อาจเป็นพื้นที่ “กึ่งอาณานิคมทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนข้ามชาติ” แทนที่จะเป็น “หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจกับกลุ่มทุนข้ามชาติ”[5]

 

อ้างอิง

[1] JICA, Eastern Seaboard of Thailand (https://en/wikipedia/org>wiki>Eas...)

[2] ทำความรู้จัก Eastern Economic Corridor หรือ EEC กันเถอะ (primo.co.th)

[3] EEC – Eastern Economic Corridor.  Sites.google.com

[4] EEC – Eastern Economic Corridor.  Sites.google.com

[5] EEC – Eastern Economic Corridor.  Sites.google.com