ASEM

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิชญ์อาภา พิศุทธ์เศรณี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

          การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) คือ เวทีการประชุมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างกลุ่มประเทศเอเชียและกลุ่มประเทศยุโรป ประกอบด้วยสมาชิก 51 ประเทศ และ 2 องค์กร รวมเป็น 53 สมาชิก มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเอเชียและยุโรปเข้าด้วยกันเพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างเอเชียและยุโรป โดยมีความร่วมมือครอบคลุมใน 3 เสาหลัก (pillar) ได้แก่ เสาการเมือง เสาเศรษฐกิจ และ เสาสังคมวัฒนธรรม และการศึกษา[1]

 

ความเป็นมา

          สิงคโปร์และฝรั่งเศสได้ริเริ่มการประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) ขึ้น โดยไทยมีบทบาทสำคัญในการผลักดันการก่อตั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป ได้สำเร็จ และเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรปครั้งแรก (ASEM 1) เมื่อวันที่ 1-2 มีนาคม ค.ศ. 1996 ที่กรุงเทพฯ วัตถุประสงค์ เพื่อเป็นเวทีสำหรับผู้นำประเทศเอเชียและประเทศยุโรปพบปะหารือเกี่ยวกับ ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสนใจ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ขยายความร่วมมือ และเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ASEM โดยเป็นเวทีสำหรับการหารือ (dialogue) มากกว่าการเจรจา เพื่อให้มีผลบังคับใช้เป็นรูปธรรม

          ในปี ค.ศ. 1996 ASEM มีสมาชิก 25 ประเทศ คือกลุ่มประเทศเอเชีย 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ฝ่ายกลุ่มประเทศยุโรป ได้แก่ ออสเตรเลีย เบลเยี่ยม เดนมาร์ก ฟินแลน์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส สเปน สวีเดน และสหราชอาณาจักร[2]  

          แต่ ในปัจจุบัน ASEM มีสมาชิก 51 ประเทศ และ 2 องค์กร รวมเป็น 53 สมาชิก ได้แก่

          1. ประเทศยุโรป 30 ประเทศ ได้แก่ สมาชิกสหภาพยุโรป 28 ประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์

          2. ประเทศเอเชีย 21 ประเทศ ได้แก่ กลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มองโกเลีย อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รัสเซีย และคาซัคสถาน

          3. องค์กรระดับประเทศ 2 องค์กร ได้แก่ สหภาพยุโรป (EU) และสำนักงานเลขาธิการอาเซียน[3] 

          ทั้งนี้ ASEM จะมีลักษณะเป็นเวทีการหารือ มิได้มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศและไม่มีสำนักเลขาธิการ อีกทั้งความร่วมมือในกรอบ ASEM จะเป็นเพียงการประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพิจารณาความร่วมมือในประเด็นต่าง ๆ ที่อยู่ในความสนใจของประเทศที่เข้าร่วม โดยอาจมีการจัดกิจกรรมร่วมตามแต่ที่จะตกลงกัน[4]

          ASEM ได้ก่อให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคยุโรป ในด้านความร่วมมือด้านการเมือง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน เพื่อส่งเสริมและเกื้อกูลต่อระบบการค้าพหุภาคีระดับภูมิภาพแบบเปิดและส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนของภูมิภาคเอเชียและยุโรป โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม อีกทั้งยังถูกใช้เป็นเวทีในการเสริมสร้างพหุภาคีนิยมเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลกร่วมกัน ทั้งการฟื้นตัวจากโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งของมหาอำนาจ โดยใช้แนวทางการสร้างความสมดุลของสรรพสิ่งในการแก้ปัญหา นอกจากนั้นยังมีการผลักดันความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมระหว่างเอเชีย-ยุโรป เช่น ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่สะอาดเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG Model การแลกเปลี่ยนนักเรียนแบบเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล การสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเอเชีย-ยุโรป การกระจายวัคซีนโควิด-19 อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และการรับรองเอกสารรับรองวัคซีนดิจิทัลร่วมกัน[5]

          ทั้งนี้ BCG Model เป็นตัวแบบทางเศรษฐกิจที่ยุโรปใช้ในปัจจุบัน และได้แนะนำให้ประเทศในเอเชียได้รู้จักในการประชุม ASEM หมายถึง การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม ที่จะพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ระบบเศรษฐกิจชีวภาพ มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด และทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้ อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ในระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน[6]

 

การเมืองภายในประเทศของสมาชิกกับ ASEM

          ปัญหาสำคัญของ ASEM คือ การที่บรรดาประเทศสมาชิกมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งด้านผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และระบอบการเมืองการปกครองซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อมุมมองและวิธีการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ ASEM

          ทั้งนี้ ประเทศสมาชิก ASEM มีทั้งที่เป็นประชาธิปไตยเข้มแข็ง ประชาธิปไตยอ่อนแอ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ รวมทั้ง คอมมิวนิสต์

          สำหรับ ฝ่ายสมาชิกที่มาจากสหภาพยุโรป (European Union) ซึ่งล้วนปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยที่มีความเป็นประชาธิปไตยเข้มแข็งมาก มีการหารือนโยบายต่อ ASEM ร่วมกันในรัฐสภาแห่งยุโรปรัฐสภายุโรป (European Parliament: EP) ซึ่งไม่ใช่รัฐสภาภายในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่เป็นสภาร่วมกันของสมาชิกสหภาพยุโรป เป็นฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรปทำหน้าที่วางนโยบายร่วมกันและปรับแก้รวมทั้งอนุมัติกฎหมายต่าง ๆ จากคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) และตัดสินใจเรื่องงบประมาณร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (Council of the EU)[7] รัฐสภายุโรปมีที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมด 705 ที่นั่ง จากกลุ่มการเมือง 7 กลุ่ม โดยแต่ละประเทศสมาชิกจะมี จำนวน ส.ส. ตามสัดส่วนจำนวนประชากรของประเทศนั้น ๆ ต่อประชากรสหภาพยุโรป[8]

          กลุ่มการเมืองที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภายุโรป คือ กลุ่ม European People’s Party (EPP) และกลุ่มพรรค Progressive Alliance of Socialists and Democrats (S&D) ซึ่งเป็นพันธมิตรที่สามารถครองเสียงข้างมากมาได้โดยตลอดตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกในปี 1979 แต่ในการเลือกตั้งแต่ปี 2019 ทั้งสองกลุ่มการเมืองรวมที่นั่งกันน้อยกว่า 350 ที่นั่ง ทำให้ต้องการเสียงจากกลุ่มพรรค Renew Europe ที่มีแนวคิดเสรีนิยม และ/หรือ กลุ่มพรรคกรีน (Greens) ที่เน้นนโยบายสิ่งแวดล้อมนิยม เพื่อครองเสียงข้างมากในรัฐสภา ซึ่งทั้งสองกลุ่มพรรคนี้มีแนวคิดสนับสนุน EU (Pro-EU) เช่นเดียวกัน[9]

          การที่มีกลุ่มที่ครองเสียงข้างมากในรัฐสภายุโรป ทำให้นโยบายของสหภาพยุโรปต่อ ASEM ออกมาในลักษณะที่นอกจากความร่วมมือทางการค้าการลงทุนแล้ว ยังได้พยายามผลักดันเรื่องอื่น ๆ ที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ ได้แก่ การต่อต้านการก่อการร้าย ประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อม การย้ายถิ่น สวัสดิการสตรีและเด็ก รวมทั้ง สิทธิมนุษยชน[10]

          อย่างไรก็ดี ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นประเด็นเปราะบางหรือเป็นจุดอ่อนที่หลายๆประเทศในเอเชียไม่ต้องการให้มีการพูดถึงหรือนำมากดดันในที่ประชุม ASEM

          ตัวอย่างสำคัญของความขัดแย้ง ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหภาพยุโรปกับจีน ในการประชุม China-EU meeting ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ASEM ในปี 2019 จีนแสดงความไม่พอใจอย่างมากเมื่อฝ่ายสหภาพยุโรปหยิบยกประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซิเจียงและฮ่องกงมาถกเถียงกับจีนโดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในความร่วมมือในเสาการเมืองของ ASEM ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสมาชิกต้องส่งเสริมสิทธิมนุษยชน จีนได้ย้ำจุดยืนของจีนว่าจีนต้องการให้สหภาพยุโรปถือว่าทั้งประเด็นในซินเจียงและฮ่องกงเป็นกิจการภายในประเทศของจีนซึ่งจีนมีอำนาจอธิปไตยไม่ต้องการให้ประเทศอื่นแทรกแซง[11]

          ถึงกระนั้น จีนก็พยายามลดความตึงเครียดที่เกิดขึ้นกับสหภาพยุโรป ด้วยการเขียนและประกาศแผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชน 2021-2025 (Human Rights Action Plan of China 2021-2025) เพื่อแสดงให้เห็นว่าจีนก็ส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เพียงแต่ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จีนส่งเสริมอาจไม่ตรงกับสิ่งที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ ทั้งนี้ ประเด็นสิทธิมนุษยชนที่จีนส่งเสริม ได้แก่ สิทธิในการมีมาตรฐานการครองชีพที่ดี สิทธิในการได้รับความมั่นคงทางสังคม สิทธิในการศึกษา สิทธิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข สิทธิทางวัฒนธรรม สิทธิด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิสตรี เป็นต้น[12] และจีนไม่ต้องการให้พูดถึงการใช้อำนาจปราบปรามของจีนในซินเจียงและฮ่องกงว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

          ตัวอย่างต่อมา คือ ความขัดแย้งระหว่างสหภาพยุโรปกับเมียนมา ซึ่งเกิดขึ้นหลังในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 เมื่อทหารเมียนมาใช้กำลังรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือน

          ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้ออกแถลงการณ์ประณามว่าการรัฐประหารถือเป็นการการละเมิดเจตจำนงของประชาชนชาวเมียนมาที่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนผ่านการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 และการกระทำนี้ทำให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยของเมียนมาต้องชะงักลง และยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในด้านมนุษยธรรม สังคม ความมั่นคง เศรษฐกิจ และสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่วิกฤตนี้เริ่มต้นขึ้น สหภาพยุโรปได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามุ่งมั่นสนับสนุนการนำประเทศเมียนมากลับเข้าสู่เส้นทางของประชาธิปไตย สหภาพยุโรปออกแถลงการณ์ว่ามีความกังวลเป็นอย่างยิ่งต่อความรุนแรงที่ยกระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาการที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งยืดเยื้อ อันจะส่งผลต่อภูมิภาค ตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร สถานการณ์ในเมียนมามีพัฒนาการถดถอยลงอย่างมากตลอดมา ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่ง โดยต้องเผชิญกับภัยความยากจน การขาดแคลนอาหาร การถูกบังคับพลัดถิ่น และความรุนแรง มีผู้คนมากกว่า 1,500 คน ถูกสังหาร กว่า 8,600 คนถูกควบคุมตัว และมี 80 คน ถูกตัดสินประหารชีวิต นับตั้งแต่กองทัพเข้ายึดอำนาจการปกครอง มีผู้คนมากกว่า 400,000 คน ถูกบังคับพลัดถิ่น ในจำนวนนี้ ยังไม่รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาอีกกว่าล้านคนที่ต้องลี้ภัยไปยังประเทศข้างเคียง และสหภาพยุโรปขอประณามอย่างถึงที่สุดต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงการทรมาน การใช้ความรุนแรงทางเพศและเพศสภาพ รวมทั้งการดำเนินคดีต่อภาคประชาสังคม ผู้สื่อข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการที่กองทัพเมียนมาโจมตีกลุ่มพลเรือนอย่างกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ด้วยเหตุนี้ สหภาพยุโรปจึงขอเรียกร้องให้ผู้ก่อการรัฐประหารและผู้กระทำความรุนแรงแสดงความรับผิดชอบ เราขอย้ำข้อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมโดยพลการ เนื่องมาจากการต่อต้านรัฐประหารในทันทีโดยปราศจากเงื่อนไข และขอให้มีการคืนอำนาจแก่รัฐบาลที่ได้รับเลือกตั้งผ่านกระบวนการทางประชาธิปไตย[13]

          นอกจากนี้ สหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตรผู้บัญชาการทหารเมียนมาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลอบทำลายระบอบประชาธิปไตยและกฎหมายของประเทศ รวมถึงการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารทั้งหมด 10 นาย ที่ทำการรัฐประหาร จะโดนอายัดสินทรัพย์ที่อยู่ในสหภาพยุโรป และถูกระงับวีซ่า และได้ออกมาตรการคว่ำบาตร 2 บริษัทยักษ์ใหญ่ของกองทัพเมียนมาที่สร้างรายได้มหาศาลให้ผู้นำกองทัพ ได้แก่ บริษัท Myanmar Economic Holdings Public Company Limited (MEHL) และบริษัท Myanmar Economic Corporation (MEC) มาตรการคว่ำบาตรนี้ ไม่อนุญาตให้นักลงทุนหรือธนาคารสามารถทำธุรกิจกับทั้ง 2 บริษัท[14]

          ความแตกต่างของระบอบการเมืองการปกครอง ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งเสมอ ทำให้ ASEM มักถูกมองว่าเป็นเพียงเวทีพูดคุย หรือ “Talk Shop” และพัฒนาความร่วมมือได้ช้า  

 

อ้างอิง

[1] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง. “การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM).” สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565, https://www.fpo.go.th/main/getattachment/Relationship-with-foreign/International-cooperation/ASEM-FINANCE/ASEM-FINANCE-FACTSHEET/9944/1-page-%E0%B8%AA%E0%B8%A8%E0%B8%A3-ASEM-as-of-2-Oct-2018.pdf.aspx

[2] กองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมศุลกากร. “การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชีย-ยุโรป (อาเซม).” สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565, http://plan-inter.customs.go.th/cont_strc_simple.php?lang=th&left_menu=menu_left_002_03&current_id=14223132414d505f4d

[3] สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง. “การประชุมเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM).” สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565, https://www.fpo.go.th/main/getattachment/Relationship-with-foreign/International-cooperation/ASEM-FINANCE/ASEM-FINANCE-FACTSHEET/9944/1-page-%E0%B8%AA%E0%B8%A8%E0%B8%A3-ASEM-as-of-2-Oct-2018.pdf.aspx

[4] กองการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรม. (2556). ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือกับสหภาพยุโรป. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565, จาก https://www.m-culture.go.th/international/ewt_news.php?nid=98&filename=index

[5] กระทรงการต่างประเทศ. (2564).นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ ๑๓. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565, จาก  https://www.mfa.go.th/th/content/pm-asem-13?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b

[6] สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). “BCG Model.” สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565, https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/bcg-by-nstda/

[7] European Parliament. “About Parliament.” Retrieved 5 May 2022.  https://www.europarl.europa.eu/about-parliament/en

[8]European Parliament. “Members, bodies and activities.” Retrieved 5 May 2022.   https://www.europarl.europa.eu/portal/en

[9] European Union. “2019 European election results.” Retrieved 5 May 2022.  https://www.europarl.europa.eu/election-results-2019/en

[10] European Union. “EU Foreign Policy: ASEM Fact Sheet.” Retrieved 5 May 2022.  https://www.eeas.europa.eu/sites/default/files/asem_factsheet.pdf

[11] South China Morning Post. “Human rights in Hong Kong, Xinjiang raised in China-EU meeting.” Retrieved 5 May 2022. https://www.scmp.com/news/china/diplomacy/article/3042377/human-rights-hong-kong-xinjiang-raised-china-eu-meeting   

[12]PRC Ministry of Foreign Affairs. “Human Rights Action Plan of China (2021-2025).” Retrieved 5 May 2022. https://www.mfa.gov.cn/ce/cegn/eng/zxhd_1/t1905964.htm

[13] คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย. “แถลงการณ์โดยผู้แทนระดับสูง นายโจเซพ บอเรลล์ เกี่ยวกับเหตุการณ์ครบรอบ 1 ปีรัฐประหารในประเทศเมียนมา.” สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2565, https://www.eeas.europa.eu/delegations/thailand/แถลงการณ์โดยผู้แทนระดับสูง-นายโจเซพ-บอเรลล์-เกี่ยวกับเหตุการณ์ครบรอบ-1_th?s=181

[14] European Union. “Myanmar/Burma: EU imposes sanctions on 10 individuals and two military-controlled companies over the February military coup and subsequent repression.” Retrieved 5 May 2022. https://www.consilium.europa.eu/en/press/press-releases/2021/04/19/myanmar-burma-eu-imposes-sanctions-on-10-individuals-and-two-military-controlled-companies-over-the-february-military-coup-and-subsequent-repression/