ASEAN Way
บทนำ
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าภูมิภาคอินโดจีน โดยเหตุที่เรียกเช่นนี้ ก็เพราะว่าภูมิภาคนี้ได้รับอิทธิพลที่มาจากทั้งอายรธรรมอินเดีย และอารยธรรมจีนนั่นเอง อิทธิพลและมีความเกี่ยวพัน ทั้งทางด้าน เชื้อชาติ ภาษา ระบอบการปกครอง ศาสนาและวัฒนธรรม จึงเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายมาก[1] แต่ประสบการณ์ร่วมของรัฐสมาชิกอาเซียนนั้นก็คือการที่ประเทศสมาชิกทั้งหลาย ยกเว้นประเทศไทยต่างก็เคยถูกล่าอาณานิคมโดยชาติตะวันตก ทำให้ประเทศต่างๆในกลุ่มอาเซียนต่างก็มีความรู้สึกหวงแหนในอำนาจอธิปไตยของตน ซึ่งจากจุดตรงนี้ทำให้เป็นบ่อเกิดของหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน เพื่อหลีกเลี่ยงข้อพิพาทระหว่างกัน ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของวิถีอาเซียน[2] ในสายตาจากภายนอกอาเซียนจึงถูกมองว่าเป็นการรวมกลุ่มของบรรดารัฐเอกราชที่ยังคงรักษาอำนาจอธิปไตยของตนไว้ภายใต้การดำเนินอย่างไม่เป็นทางการมากกว่าจะมองว่าเป็นข้อตกลงตามขอบข่ายงานที่มีผลผูกพันภายใต้การดำเนินงานอย่างเป็นทางการ [3]
ลักษณะของวิถีอาเซียน (ASEAN Ways)
ด้วยความที่รัฐสมาชิกต่างก็หวงแหนอำนาจอธิปไตยของตนและถืออำนาจอธิปไตยภายในรัฐอยู่สูงสุด การแทรกแซงกิจการภายในรัฐจึงเป็นเรื่องที่ห้ามกระทำกันระหว่างรัฐสมาชิก การรวมกลุ่มอาเซียนจึงเป็นการรวมตัวกันอย่างหลวมๆ เลือกใช้วิธีทางการทูตอันมีลักษณะอะลุ่มอล่วย ซึ่งถือได้ว่าเป็นคุณลักษณะเด่นของภูมิภาคนี้ กล่าวคือ การดำเนินการของอาเซียนนั้นจะไม่เน้นกฎเกณฑ์หรือกฎระเบียบต่างๆที่เคร่งครัดมากเกินไป แต่จะเน้นถึงเรื่องความร่วมแรงร่วมใจกันเป็นหลัก ซึ่งจะมีความแตกต่างกันกับการดำเนินการของชาติตะวันตกที่จะเน้นในเรื่องของกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด [4] จากหลักเกณฑ์ของอาเซียนเหล่านี้ ได้ก่อให้เกิดรูปแบบของการดำเนินการขจัดข้อพิพาทภายในภูมิภาค 5 ประการ ซึ่งประกอบด้วย [5]
1.การทูตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย
2.การสร้างเครือข่าย
3.การลงมติว่าไม่ต้องเห็นตรงกัน ( agree to disagree )
4.การไกล่เกลี่ยโดยอาศัยบุคคลที่สาม
5.การยึดหลักเกณฑ์การปรึกษาหารือ และการใช้หลักฉันทามติ
หลักฉันทามติ (Consensus) นั้น หมายความว่าทุกฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องตรงกัน โดยหลักการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษามิตรภาพระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่สันติภาพและความมั่นคงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ[6] เราจะเห็นได้ว่าภูมิหลังประวัติศาสตร์และที่มาเป็นบ่อเกิดของวิถีอาเซียนซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับการรวมกลุ่มประเทศอื่นๆ หลักฉันทามติที่อาเซียนยึดถือนี้จะแตกต่างจากหลักการลงคะแนนเสียง (voting) ซึ่งใช้อยู่ในเวทีระหว่างประเทศอื่นๆ หลักการลงคะแนนเสียงจะถือเสียงข้างมากหรือคะแนนเสียงในสัดส่วนที่กำหนดไว้เพื่อให้มีมติอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทางตรงกันข้ามหลักฉันทามติเรียกร้องให้สมาชิกทุกฝ่ายต้องเห็นด้วยกับข้อเสนอจึงจะมีมติให้ดำเนินการได้ หลักฉันทามตินี้มีข้อดีเนื่องจากเป็นหลักการที่ไม่หักหาญน้ำใจประเทศสมาชิกที่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ทำในสิ่งที่ตนไม่ต้องการ แต่หลักการนี้ก็มีข้อเสียคือทำให้กระบวนการตัดสินใจของอาเซียนใช้เวลานานและมีต้นทุนการจัดการที่สูงกว่า
ในอนาคตอาเซียนย่อมจะต้องพัฒนาความร่วมมือต่อไป ข้อผูกพันและสนธิสัญญาต่างๆจะมีลักษณะที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น วิธีอาเซียนนั้นแม้จะทำให้บรรดารัฐสมาชิกเข้ากันได้ดี แต่ก็ยังคงขาดความชัดเจน และอาจไม่มีประสิทธิภาพพอในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะการรวมตัวทางเศรษฐกิจที่ต้องการความมั่นคง แน่นอนและคาดหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาระบบบัญชีภาษี มาตรฐานการผลิตสินค้าและบริการ นโยบายร่วมกันระหว่างรัฐ การเงินและการธนาคาร การคมนาคมและการสื่อสารทางไกล ย่อมต้องมีข้อตกลงที่มีความชัดเจนและบังคับใช้โดยง่าย เพราะบรรดาข้อตกลงต่างๆ ย่อมต้องอาศัยการบัญญัติข้อกฎหมายภายในขึ้นมายอมรับข้อตกลงดังกล่าวด้วย ดังนั้นรัฐบาลทั้งหลายในภูมิภาคนี้ย่อมต้องมีหน้าที่ดำเนินการเสริมสร้างความแข็งแรงของระบบกฎหมายของบรรดารัฐสมาชิกให้เป็นไปในทางเดียวกันอีกด้วยคล้ายกับเป็นหลักนิติรัฐที่ใช้ได้ทั้งกลุ่มภูมิภาค [7]
บทสรุป
วิถีอาเซียน ได้ตอบสนองความเป็นอาเซียนได้เป็นอย่างดี อันสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านประวัติศาสตร์ และจารีตประเพณีทั้งหลายที่ผ่านๆมา จนก่อให้เกิดลักษณะเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ผ่านมานั้น นอกจากจะขจัดข้อพิพาทภายในภูมิภาคได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังได้เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสมาชิกให้มีความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยเฉพาะหลักการประนีประนอมระหว่างรัฐสมาชิกได้ก่อให้เกิดผลประโยชน์แก่ทุกฝ่าย[8] แต่อย่างไรก็ดี วิถีอาเซียนนั้นอาจจะต้องมีการปรับปรุงบางประการ เพื่อให้สอดรับกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะ หลังจาก ค.ศ.2015 แล้ว อาเซียนอาจจะต้องมีหลักเกณฑ์หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่มีความชัดเจนหรือแน่นอนมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะข้อกำหนดทางการค้า นอกจากนี้ หลักการประนีประนอมนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก ยกตัวอย่างเช่น การที่อาเซียนใช้หลักเกณฑ์นโยบาย ปฎิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ (constructive engagement) กับรัฐสมาชิก และ ประเทศคู่เจรจาอื่นๆ มาโดยตลอด ทำให้อาเซียนไม่สามารถดำเนินการ การคว่ำบาตร การตำหนิ หรือมาตรการลงโทษอื่นๆ แม้ว่าประเทศเหล่านี้จะได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเกิดขึ้นในประเทศก็ตาม [9] ทั้งนี้หลักนโยบายปฎิสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์นั้น อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ โดยใช้หลักความเกี่ยวพันอย่างยืดหยุ่น (flexible engagement) แทน กล่าวคือ เป็นนโยบายที่ให้ประเทศสมาชิกสามารถปรึกษาหารือกันถึงปัญหาภายในของตนกับประเทศสมาชิกได้ ตราบเท่าที่ไม่กระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตและการค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ เพราะปัญหาภายในประเทศนั้นหลายๆ อย่างนั้นมีธรรมชาติที่สามารถส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านได้ ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย ปัญหาคนเข้าเมือง ปัญหาการสู้รบระหว่างรัฐบาลและชนกลุ่มน้อย ปัญหาผู้อพยพ ปัญหาการค้ามนุษย์และยาเสพติดข้ามชาติ เป็นต้น ซึ่งเมื่อปัญหาเหล่านี้อาจมีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านแล้วจึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรึกษาหารือกันระหว่างรัฐสมาชิกอาเซียน เพื่อจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าว [10]
บรรณานุกรม
ธเนศ สุจารีกุล.เอกสารคำสอนกฎหมายอาเซียน. กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2557
พัชร์ นิยมศิลป.2556.มองปัญหาชายแดนเขาพระวิหารอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบอาเซียน. http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1902#_ftn32 (accessed May 12,2015)
สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012.กะเทาะเปลือกอาเซียน: Constructive Engagement นโยบายเปลี่ยนพม่า? (ตอนที่1) http://www.siamintelligence.com/asean-changes-burma-by-constructive-engagement-policy/ (accessed May 12,2015)
สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012.กะเทาะเปลือกอาเซียน: Constructive Engagement นโยบายเปลี่ยนพม่า? (ตอนจบ) http://www.siamintelligence.com/constructive-engagement-policy-to-change-burma/ (accessed May 12,2015)
Ade m Wirasenjaya and Ratih Herningtyas.2013.”Asean way- at the crossroads.” http://www.thejakartapost.com/news/2013/07/17/asean-way-crossroads.html (accessed April 2 , 2015)
ASEAN Secretariat.2012.”The ASEAN way and the rule of law.” http://www.asean.org/resources/2012-02-10-08-47-56/speeches-statements-of-the-former-secretaries-general-of-asean/item/the-asean-way-and-the-rule-of-law (accessed April 2 , 2015)
Logan Masilamani and Jimmy Peterson.2014.” The ASEAN Way:The structural underpinnings of constructive engagement.” http://www.foreignpolicyjournal.com/2014/10/15/the-asean-way-the-structural-underpinnings-of-constructive-engagement/ (accessed April 4,2015)
อ้างอิง
- ↑ ธเนศ สุจารีกุล.เอกสารคำสอนกฎหมายอาเซียน.(กรุงเทพฯ: คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,2557),หน้า 7
- ↑ Ade m Wirasenjaya and Ratih Herningtyas.2013.”Asean way- at the crossroads.” <http://www.thejakartapost.com/news/2013/07/17/asean-way-crossroads.html>(accessed April 2 , 2015)
- ↑ ASEAN Secretariat.2012.”The Asean way and the rule of law.” http://www.asean.org/resources/2012-02-10-08-47-56/speeches-statements-of-the-former-secretaries-general-of-asean/item/the-asean-way-and-the-rule-of-law(accessed April 2 , 2015)
- ↑ พัชร์ นิยมศิลป.2556.”มองปัญหาชายแดนเขาพระวิหารอย่างสร้างสรรค์ภายใต้กรอบอาเซียน.” http://www.pub-law.net/publaw/view.aspx?id=1902#_ftn32 (accessed May 12,2015)
- ↑ เพิ่งอ้าง.
- ↑ ธเนศ สุจารีกุล.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.อ้างแล้ว,หน้า 22-25.
- ↑ Supra note 3.,
- ↑ Supra note 3.,
- ↑ สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012.กะเทาะเปลือกอาเซียน: Constructive Engagement นโยบายเปลี่ยนพม่า? (ตอนที่1) http://www.siamintelligence.com/asean-changes-burma-by-constructive-engagement-policy/ (accessed May 12,2015)
- ↑ สรินณา อารีธรรมศิริกุล.2012.กะเทาะเปลือกอาเซียน: Constructive Engagement นโยบายเปลี่ยนพม่า? (ตอนจบ) http://www.siamintelligence.com/constructive-engagement-policy-to-change-burma/ (accessed May 12,2015)