8 ตุลาคม พ.ศ. 2519

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ท่ามกลางความสับสนทางการเมือง เพราะเพิ่งจะมีการยึดอำนาจโดยคณะทหารในค่ำวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของประเทศ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และก็ไม่ได้มาจากหัวหน้าคณะทหารผู้ยึดอำนาจ หากแต่มาจากผู้พิพากษาจึงนับว่าเป็นนายกรัฐมนตรี “คนกลาง” อีกท่านหนึ่ง

เมื่อมีคนกลางมาเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาลให้คณะทหารแล้ว คณะทหารที่ออกแรงยึดอำนาจก็ยังไม่วางมือ หากแต่ยังมีบทบาทสำคัญในกระทรวงหลัก เช่น กระทรวงกลาโหม ที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองเป็นรัฐมนตรีว่าการ รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร ที่มาจากคณะผู้ยึดอำนาจได้เปรียบเทียบตัวเองว่าเป็นรัฐบาล “เนื้อหอย” ที่มีสภาที่ปรึกษา ซึ่งคือคณะทหารชั้นผู้ใหญ่เป็น “เปลือกหอย” คุ้มกันได้บริหารประเทศโดยมีนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขันเป็นนโยบายนำ

รัฐบาลนี้บริหารประเทศมาได้ประมาณ 6 เดือนก็ถูกท้าทายจากคณะทหารอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งนำโดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก นำกำลังเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาล แต่กระทำการไม่สำเร็จกลายเป็นกบฏ กระนั้นก็ทำให้รัฐบาลกระทบกระเทือน เพราะการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนกลุ่มอื่นที่ไม่พอใจแสดงออกมาแล้วยังมีกลุ่มทหารด้วย

ความขัดแย้งที่สำคัญระหว่างรัฐบาลกับคณะทหารที่สนับสนุนมีมากขึ้นจนเกินจุดที่จะประสานได้ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2520 หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลมาได้เกินหนึ่งปี เพียงไม่กี่วัน รัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้านในสภา ก็พบกับฝ่ายค้านที่เปลี่ยนมาจากฝ่ายสนับสนุน คือ สภาที่ปรึกษาที่ต้องการให้นายกรัฐมนตรีปรับปรุงคณะรัฐมนตรีใหม่ ถึง 9 กระทรวง แต่นายกรัฐมนตรีปฏิเสธ เพราะถือว่าคณะรัฐมนตรีมาด้วยกันทั้งคณะ ถ้าจะปรับบางคนออก ก็น่าจะต้องออกพร้อมกันทั้งคณะ

ดังนั้น ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 เหตุการณ์ที่คนทั่วไปเริ่มคิดกันว่าคงจะได้เกิดขึ้น ก็คือคณะทหารที่นำนายธานินทร์ กรัยวิเชียร มาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ได้นำกำลังเข้าปฏิบัติการเอานายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งโดยการยึดอำนาจซ้ำอีกครั้ง จึงมีผลให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พ้นจากตำแหน่งทันทีในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520