6 เมษายน พ.ศ. 2491

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นวันที่รัฐบาลซึ่งมีนายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ถูกคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจล้มรัฐบาลหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์และมาขอให้นายควง อภัยวงศ์ จัดตั้งรัฐบาลนั่นเองแจ้งให้ออกจากตำแหน่ง ส่วนคณะนายทหารที่มาแจ้งให้ นายควง อภัยวงศ์ ออกจากตำแหน่ง ถือเป็นการ “จี้” นายกรัฐมนตรีให้ลาออกนั่นเอง ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นที่จะต้องย้อนเรื่องไปดูกันตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะนายทหารทั้งนอกและในราชการ ที่นำโดย พลโทผิน ชุณหะวัณ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในตอนนั้น และก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อให้มีฐานรองรับ พร้อมกับได้เชิญ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ในตอนนั้นที่ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลของหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล และนายควง อภัยวงศ์ ก็รับตำแหน่ง

เหตุผลที่คณะรัฐประหารเชิญ นายควง อภัยวงศ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นก็เพื่อให้มาจัดการเลือกตั้งใหม่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเมื่อมีรัฐบาลใหม่ที่จะอ้างได้ว่ามาจากผลการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญแล้ว ในการจัดการเลือกตั้งใหม่ก็ไม่มีอะไรน่าวิตกนัก เพราะพรรคของรัฐบาลเก่าตกที่นั่งลำบาก เดือดร้อน นักการเมืองสำคัญถูกเล่นงาน ผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐบาลอาจถอนตัวบ้าง

พอเลือกตั้งเสร็จ ผลการเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร นายควง อภัยวงศ์ ก็จัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มีนายกรัฐมนตรีคนเก่าคือ นายควง อภัยวงศ์ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มีคนหน้าเก่าอยู่จำนวนมาก

การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2491 ผ่านไป ต่อมีการจัดตั้งรัฐบาลและ นายควง อภัยวงศ์ ก็นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อสภาในวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2491 สภาได้พิจารณานโยบายกันมาจนถึงวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2491 สภาจึงได้ลงมติให้ความไว้วางใจรัฐบาลด้วยคะแนน 122 ต่อ 23 เสียง ให้รัฐบาลเข้าบริหารประเทศได้

แต่รัฐบาลบริหารประเทศได้เพียง 1 เดือนกับ 1 วัน ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 มีคณะนายทหาร 4 คนคือ พันโทก้าน จำนงภูมิเวท พันเอกศิลปศิลปศรชัย รัตนวราหะ พลตรีสวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ และ พันโทลม้าย อุทยานานนท์ ได้ไปพบนายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ ที่บ้านและแจ้งในนามของ คณะรัฐประหาร ให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใน 24 ชั่วโมง โดยอ้างเหตุผลว่าเพราะรัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาของแพงได้

ส่วนเหตุผลอื่นนั้นต้องอ่านที่ ดร.คุณหญิงกัลยา โสภณพานิช เขียน “เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อคณะรัฐประหารได้ทำการรัฐประหารสำเร็จใหม่ ๆ ได้ขออำนาจจากคณะรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ให้ทหารมีอำนาจเช่นเดียวกับตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือการค้นและจับกุมผู้ที่สงสัยว่าเป็นอาชญากร ซึ่งมีข่าวอยู่เนื่อง ๆ ว่าอดีตรัฐบาลที่เสียอำนาจไปกำลังจะต่อต้านคณะรัฐประหาร ซึ่งรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เห็นว่าในยามหัวเลี้ยวหัวต่อเช่นนั้นควรมอบอำนาจให้ทหารปฏิบัติการโดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่เมื่อคณะรัฐประหารปฏิบัติการเข้าจริง กลับกระทำการโดยพลการ ถืออำนาจของการที่ได้รัฐประหารเป็นใหญ่ เช่น สงสัยใครก็จับกุมเอามาสอบสวน เมื่อไม่ได้ความก็ปล่อยตัวไป สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นอย่างมาก”

ถึงขั้นนี้เขาว่ากันว่ารัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ก็ถอนอำนาจที่ให้แก่คณะรัฐประหาร คืนมา และทำให้คณะรัฐประหารไม่พอใจ

ทางด้านนายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ นั้นเมื่อถูกทหารมาจี้ให้ออกเช่นนั้นก็สอบถามไปทางผู้นำของคณะทหารที่ทำรัฐประหารว่าส่งนายทหารมาจริงหรือไม่ เมื่อทราบคำตอบว่าเป็นความต้องการจริงของคณะรัฐประหาร นายควง อภัยวงศ์ ก็ได้นำเรื่องมาหารือกับพรรคพวกและท่านยินยอมลาออก แม้จะมีเพื่อนนักการเมืองบอกให้รัฐบาลสู้ก็ตาม

นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่ชนะเลือกตั้งได้เสียงข้างมากถึง 53 เสียงจาก 100 ถูกนายทหาร 4 คนมาจี้ให้ลาออกก็ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2491 ทิ้งตำนานเรื่องรัฐบาลถูก “จี้” ให้เล่ากันมาจนทุกวันนี้ว่า วันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2491 เป็นวันที่นายกรัฐมนตรีถูก “จี้” ให้ลาออก