4 มิถุนายน พ.ศ. 2489
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นวันที่มีการแต่งตั้งประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 6 คือ นายเกษม บุญศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครสวรรค์ และนับเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรคนแรกที่เป็นสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะก่อนหน้านี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีมาก่อนทั้ง 5 ท่านล้วนแต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่มาจากการแต่งตั้ง
ครั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 3 ของประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ที่กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วยพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็มีสมาชิกประเภทเดียวที่มาจากการเลือกตั้งและหลังใช้รัฐธรรมนูญสภาผู้แทนราษฎรก็ได้มีการประชุมสภา และที่ประชุมได้มีมติเลือก นายเกษม บุญศรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรและเลือกนายมงคล รัตนวิจิตร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นรองประธานสภา
นายเกษม บุญศรี ที่มีบางท่านเรียกท่านว่า “มหา” นั้นก็เพราะท่านเป็นผู้ที่เคยบวชเรียนเป็น “มหา” มาก่อนจนลาสิกขาบท ท่านได้รับเลือกเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครสวรรค์ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 4 ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2489 เป็นการเลือกตั้งที่กลับมามีขึ้นใหม่หลังจากว่างเว้นไปนานถึง 8 ปี เพราะการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 3 มีขึ้นเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 และที่ทิ้งระยะห่างไปนานเช่นนี้ก็เพราะในช่วงที่สถานการณ์บ้านเมืองเข้าใกล้ภาวะสงครามได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สามารถขยายระยะเวลาการดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้นานกว่า 4 ปีได้
นายเกษม บุญศรี ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรได้เพียง 5 วัน ก็มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคตด้วยพระแสงปืนในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 จึงต้องมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นพิเศษในคืนนั้นเอง และนายกรัฐมนตรี นายปรีดี พนมยงค์ ที่เพิ่งจะกลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งยังไม่ทันตั้งรัฐบาลก็ขอลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคืนนั้นด้วย แต่เมื่อมีการประชุมของสมาชิกทั้ง 2 สภาหารือกันแล้วก็ได้เสนอชื่อ นายปรีดี พนมยงค์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ซึ่งก็ได้มีการแต่งตั้ง นายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และนายกรัฐมนตรีได้นำคณะรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายขอความไว้วางใจจากรัฐสภาในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ที่ประชุมได้มีมติไว้วางใจในวันเดียวกันกับที่แถลงนโยบายโดยเสียง 90 ต่อ 26 จากสมาชิกที่มาประชุม 141 คน แสดงว่ามีผู้งดออกเสียงพอสมควร หลังจากนั้นก็ปิดสมัยประชุมในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2489
ช่วงเวลาที่ปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญใหม่ ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ใน 47 จังหวัดโดยแบ่งเป็นเขตได้ 82 เขต มีผู้แทนราษฎรได้เขตละคนรวม 82 คน แต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพิ่มเติมก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด
ภาวะการเมืองในช่วงปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรดูจะร้อนแรง จนในวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2489 นายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีได้ขอลาออกจากตำแหน่งโดยอ้างว่า “รู้สึกอนามัยเสื่อมโทรมลงไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของรัฐได้” และพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา แต่การเมืองก็ยังสับสนอยู่
นายเกษม บุญศรี ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ต่อมาจนถึงการเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2490 และถัดมาอีก 2 วัน มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมก็ได้เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรคนใหม่ คือ นายพึ่ง ศรีจันทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุตรดิตถ์ นายเกษม บุญศรี จึงเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่เป็นเวลาเกือบ 1 ปี และต่อมานายเกษม บุญศรี ยังได้กลับมาเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรอีกในปี พ.ศ. 2491