3 มีนาคม พ.ศ. 2523

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นวันที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศ และเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมือง เพราะท่านไม่ได้ลงเลือกตั้ง ทั้งยังเป็นข้าราชการประจำเป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่ แต่บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเปิดทางให้เป็นได้

การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 16 ของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นั้น ก็มาจากการที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 15 ของประเทศ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ถูกแรงกดดันทางการเมืองมาก ทั้งจากพรรคการเมืองและคณะนายทหารที่สนับสนุนอยู่เดิมที่เปลี่ยนไปสนับสนุนพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่มีคนชื่นชอบมากในขณะนั้น และพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกลางสภา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ต่อมาจึงได้มีการหยั่งเสียงในสภา เพื่อหาตัวผู้ที่ได้รับการสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากถึง 399 เสียง ในขณะที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้ากลุ่มกิจสังคมหรือพรรคกิจสังคมในภายหลังได้เสียงสนับสนุนเป็นลำดับสองได้คะแนนเพียง 39 คะแนน จึงกล่าวได้ว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นในสภา

จากวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เป็นายกรัฐมนตรีอยู่ยืนยาวมานานเป็นเวลาประมาณ 8 ปี โดยไม่ได้ตั้งพรรคการเมืองของตัวเอง และไม่ได้ลงเลือกตั้งหากแต่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองและกองทัพมามากบ้างน้อยบ้าง จนถึงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ พ.ศ. 2531 หลังการเลือกตั้งแล้ว แม้จะมีผู้ไปขอให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเช่นกันแต่ท่านก็ปฏิเสธ

ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีที่ทำการยุบสภาถึง 3 ครั้ง และต้องเจอกับความพยายามที่จะยึดอำนาจล้มรัฐบาลที่เรียกว่ากบฏสำคัญๆ ถึง 2 กรณี แต่ก็ไม่สำเร็จ และท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ทำให้รัฐบาลบริหารประเทศโดยพึ่งพา “เทคโนแครท” และข้าราชการประจำช่วยพัฒนาประเทศที่เป็นผลดีทางเศรษฐกิจแก่ประเทศชาติจนกระทั่งได้นายกรัฐมนตรีคนที่ 17 คือ พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ ในวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2531