2 มีนาคม พ.ศ. 2500
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 เป็นวันที่รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2495 ที่รัฐบาลดำเนินการขั้นนี้ก็เพราะภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 ที่พรรคเสรีมนังคศิลาเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้งนั้น ได้มีการประท้วงของนิสิต นักศึกษา และประชาชน โดยกล่าวหาว่าทางรัฐบาลชนะเพราะเป็นการเลือกตั้งสกปรก มีการทุจริตในการเลือกตั้ง
เมื่อประชาชนไม่พอใจรัฐบาลเพราะเห็นว่าทุจริตในการเลือกตั้ง จึงมีการรวมตัวกันและเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ทางรัฐบาลต้องการจะควบคุมการประท้วงของประชาชนและนิสิต นักศึกาให้ได้ จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ โดยทางรัฐบาลให้เหตุผลในการประกาศภาวะฉุกเฉินเอาไว้ว่า
“เนื่องจากมีคณะบุคคลและหนังสือพิมพ์หลายฉบับดำเนินการยุยงส่งเสริมและปลุกปั่นประชาชนให้กำเริบ ก่อกวนความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง มุ่งหวังที่จะทำลายล้างรัฐบาล ได้กระทำการชักชวนให้ประชาชนเข้าใจผิด และดูหมิ่นเกลียดชังรัฐบาล ตลอดจนเจ้าหน้าที่พนักงานที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ นอกจากนี้นี่ยังนัดให้มีการชุมนุมสาธารณะและเดินขบวนเพื่อปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนก่อการจลาจล หวังใช้กำลังบังคับเพื่อล้มล้างรัฐบาล ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวกทางการเมือง...”
ต่อจากนั้นคณะรัฐมนตรีก็มีมติให้ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้บัญชาการฝ่ายทหารที่สามารถที่จะสั่งใช้กำลังทหารทั้ง 3 เหล่าทัพและตำรวจได้
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินพร้อมกับเอารถถังและทหารออกมาตั้งมั่นในจุดสำคัญ ๆ ของพระนคร ทำให้ประชาชนหยุดชะงักไป แต่นิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไม่หยุดและยังต่อต้านรัฐบาล ทั้งจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ทางรัฐบาลให้อำนาจที่จะดำเนินการปราบปรามได้ก็กลับไม่ยอมใช้กำลังเข้าปราบ แต่กลับกล่าวว่า
“เมื่อประชาชนเห็นว่า การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริบูรณ์ก็ลุกฮือขึ้นเพื่อทวงสิทธิของเขาแล้วจะให้ผมไปปราบปรามประชาชน ผมทำไม่ได้”
รัฐบาลนั้นเมื่อเห็นว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีอำนาจเพื่อช่วยปราบปรามการต่อต้านและการประท้วง แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ไม่จัดการให้ ทั้งยังให้สัมภาษณ์สร้างคะแนนนิยมให้ตัวเอง จึงได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2500 และยกเลิกตำแหน่งผู้บัญชาการฝ่ายทหารในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2500 เสียก่อนด้วย