29 มกราคม พ.ศ. 2481

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481 เป็นวันที่มีการจับกุมผู้ที่ถูกกล่าวหาที่คิดการจะล้มรัฐบาลคือเป็นกบฏ บางคนเรียกว่า “กบฏพระยาทรงฯ” ขณะนั้นหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาลต่อมาจากพระยาพหลพลพยุหเสนา

ผู้ที่ถูกจับกุมมีอยู่กว่าห้าสิบคน มีทั้งขุนนางเก่าและเชื้อพระวงศ์ อีกทั้งข้าราชการ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภทที่มาจากการเลือกตั้งและจากการแต่งตั้ง ในจำนวนนี้มีผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ชั้นสำคัญ คือ พ.อ.พยะยาทรงสุรเดช คงจะเป็นด้วยเหตุนี้จึงเรียกกันว่า “กบฏพระยาทรงฯ” และในบรรดาผู้ที่ถูกจับกุมก็มีลูกน้องและลูกศิษย์ที่สนิทกับพระยาทรงฯ อยู่หลายคน หลังจากพระยาทรงฯ ถูกจับ ท่านถูกบีบบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ คือไปยังเขมร และต่อมาก็ไปที่เวียดนาม ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นท่านเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่ และท่านก็ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้แทนราษฎร

หลังการจับกุมผู้ต้องหาแล้ว สภาผู้แทนราษฎรก็ได้ผ่านกฎหมายพระราชบัญญัติตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาคดีกบฏออกมาเป็นการเฉพาะ ตอนปลายปีนั้น จึงได้ตัดสินคดีออกมา ดังที่ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์ บันทึกเล่าเอาไว้

“ศาลพิเศษได้พิจารณาพิพากษาคดีกบฏครั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481 โดยตัดสินลงโทษผู้ถูกฟ้อง มีโทษประหารชีวิตหลายคนโดยเฉพาะพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร นายพลโทพระยาเทพหัสดิน นายพันเอกหลวงชำนาญยุทธศิลป์ ซึ่งต้องคำพิพากษาคดีให้ประหารชีวิตนั้น ศาลพิจารณาเห็นว่าเป็นผู้ที่ได้ทำคุณความดีให้แก่ประเทศชาติมาก่อน จึงลดโทษลงเป็นจำคุกตลอดชีวิต”