22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 เป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธมณฑล พ.ศ. 2487 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศพระราชกำหนดฉบับนี้ไปตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2487 รัฐบาลสมัยนั้นมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีท่านนี้เป็นหัวหน้ารัฐบาลมาตั้งแต่ พ.ศ. 2481 แล้ว การไม่รับร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดที่รัฐบาลได้ออกประกาศใช้ไปฉบับนี้ไม่ใช่ฉบับแรกของรัฐบาลแต่เป็นฉบับที่ 2 ที่สภาผู้แทนราษฎรกล้ามีมติในเวลาที่ห่างกันเพียง 2 วันเท่านั้นเอง

เรื่องนี้มีที่มาว่ารัฐบาลได้ออกพระราชกำหนดราชการบริหารนครบาลเพชรบูรณ์ พ.ศ. 2487 มาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกันนี้ และต่อมาในวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2487 ได้ออกพระราชกำหนดอีกฉบับหนึ่งก็คือพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พ.ศ. 2497 พระราชกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้มีผู้เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องที่จะไปจัดสร้างอยู่ที่เดียวกันที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ในความเป็นจริงพุทธบุรีมณฑลนั้น กำหนดเป็นที่อาณาบริเวณพระพุทธบาทสระบุรี ดังที่มี “ประกาศสถาปนาพุทธบุรีมณฑล” ที่ความตอนหนึ่งว่า

“...เพราะฉะนั้นจึงขอประกาศสถาปนาพุทธบุรีมณฑลขึ้นในเนื้อที่อันเป็นอาณาบริเวณแห่งพระพุทธบาทจังหวัดสระบุรี มีปริมาณพื้นที่ 40,909 ตารางกิโลเมตร โดยกำหนดเอาพระพุทธบาทสถานเป็นหลักเมืองของพุทธบุรีมณฑลเพื่อสัมฤทธิ์ผล ดังจะกล่าวต่อไปนี้

1. เป็นแหล่งกลางที่ชุมนุมแห่งการศึกษาและด้านพระพุทธศาสนาและการปฏิบัติศาสนธรรมของชนทุกชาติทุกภาษาทุกเพศทุกวัย

2. เป็นพระนครแห่งพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ เป็นที่รวมประดิษฐ์แห่งศาสนวัตถุโบราณทั่วราชอาณาจักร เป็นที่ตั้งแห่งการบริหารพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์

3. เป็นนครศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา เป็นนิวาสมณฑลของพุทธมามกะชนโดยเฉพาะ”

แต่ก็ทำได้ไม่สำเร็จ เพราะเมื่อรัฐบาลนำเสนอร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดจัดสร้างพุทธมณฑล เข้าสภาฯ เพื่อขอมติ ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2487 หลังการเปิดประชุมสภา แต่ในการลงคะแนนลับ สภาก็มีมติไม่อนุมัติพระราชกำหนด

การเมืองตอนนั้นภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝ่ายพันธมิตรเป็นฝ่ายที่เริ่มเห็นชัยชนะในการรบ ดังนั้นรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบาก แม้จะเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่ดูจะมีอำนาจทางทหารมาก การแพ้เสียงในสภา 2 ครั้งติดต่อกันย่อมแสดงว่าการสนับสนุนทางการเมืองถึงขีดต่ำ ดังนั้น จอมพล ป.พิบูลสงครามจึงลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2487