1 สิงหาคม พ.ศ. 2488
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2487 เป็นวันที่ นายควง อภัยวงศ์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกของตัวท่านเอง นับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ของประเทศ ก่อนหน้าท่านก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากรัฐบาลแพ้เสียงในสภา โดยสภาไม่ย่อมผ่านพระราชบัญญัติอนุมัติพระราชกำหนดถึง 2 ฉบับในเวลาที่ห่างกันเพียง 2 วัน นายกรัฐมนตรีจึงลาออก
สภาผู้แทนราษฎรจึงได้เลือกนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นรองประธานสภา และเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เป็นเพื่อนกันมากับอดีตนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นพลเรือนที่เป็นนายกรัฐมนตรียามที่บ้านเมืองเผชิญสงคราม ดังที่นายกรัฐมนตรีพลเรือนท่านนี้บอกกับสภาผู้แทนราษฎรในวันแถลงนโยบายว่า
“ในระหว่างสงครามเช่นนี้ การที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินย่อมมีภาระหนักอยู่มาก ยิ่งประเทศอยู่ในสถานการณ์ที่คับขันที่สุดอย่างเวลานี้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความยากลำบากให้แก่รัฐบาลเป็นอเนกประการ”
จากนั้นท่านก็กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลสั้น ๆ คนได้กล่าวกันว่านายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่กรุงเทพฯ แต่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้มีอำนาจทางทหารเต็มตัว ไปปักหลักอยู่ที่ลพบุรีเมืองทหารเสียอย่างนั้น ดังที่คุณควงยังมาปาฐกถาเล่าให้ประชาชนฟัง เมื่อเวลาล่วงเลยมาแล้วประมาณ 15 ปีว่า
“แต่การเป็นนายกรัฐมนตรีของผมมันสะดวกอย่างคนอื่นเขาเมื่อไหร่ รถยนต์สักคันก็ไม่มีใช้ เขาเอาไปลพบุรีหมดครับ นายกรัฐมนตรีอะไรไม่มีรถ มีแต่รถส่วนตัวบุโรทั่งของผมคันเดียว จะหานายทหารชั้นผู้ใหญ่ทำยาในกรุงเทพฯ ก็ไม่มี ผมไปเข้าพบหลวงสินาดโยธารักษ์จะขอให้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ท่านก็ไม่ยอม ต้องเคี่ยวเข็ญเอาหลวงสินธุ์สงครามชัยเป็นรัฐมนตรีกลาโหม”
ถึงคุณหลวงสินาดโยธารักษ์ซึ่งเป็นนายพลทหารจะไม่ยอมรับเป็นรัฐมนตรีกลาโหม แต่ก็ยังรับมาเป็นรัฐบาลลอยในรัฐบาล ตัวหลวงสินธุ์สงครามชัยที่เป็นนายทหารเรือนั้นก็เป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันจึงเคี่ยวเข็ญกันมาได้ และที่สำคัญท่านนายกฯ ควง อภัยวงศ์ ยังไปขอพลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา นายเก่าของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม มาเป็นรัฐมนตรีลอยด้วย ทั้ง ๆ ที่มีข่าวว่าท่านสุขภาพไม่ค่อยดีแล้ว
ตั้งรัฐบาลได้ไม่นานก็มีข่าวลือหรือข่าวปล่อยว่ารัฐบาลจะถูกยึดอำนาจโดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้นายกฯ พลเรือนอย่างนายควง อภัยวงศ์ ใช้วิธีใจดีสู้เสือ เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปพบจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ลพบุรี โดยมีผู้ร่วมเดินทางคือ พ.ต.อ.ชลอ ศรีศรากร หรือ“ขุนศรีศรากร” นายตำรวจคนสำคัญ เจรจา“ปรองดอง” กันได้ถึงขั้นจอมพล ป.พิบูลสงคราม ยืนยันว่าจะไม่ทำปฏิวัติด้วย เท่านั้นยังไม่พอยังยอมเขียนจดหมายให้คุณควง อภัยวงศ์ เอามาเผยแพร่ มีความสำคัญว่า
“ฉันขอแจ้งให้พี่น้องชาวไทยที่รักทราบว่า ตามที่มีผู้พูดว่าฉันจะยกกองทัพเข้าบริหารราชการแผ่นดินเพื่อแย่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากพันตรีควง อภัยวงศ์ นั้น ฉันขอแจ้งว่าไม่มีมูลความจริงเลย เพราะฉะนั้นฉันได้ลาออกมาแล้วตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ เหตุใดเล่าฉันจะเข้าไปแย่งตำแหน่งจาก พันตรี ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเท่ากับเป็นน้องชายที่รักของฉัน เมื่อพันตรีควง อภัยวงศ์ ได้มาพบฉัน ก็ได้สนทนากันอย่างญาติและมิตรที่สนิท ฉันตั้งจิตอธิษฐานขอให้รัฐบาลใหม่นี้บริหารราชการให้สำเร็จ สมความปรารถนาต่อไป”
เมื่อได้รับคำมั่นจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม เช่นนั้นแล้ว นายควง อภัยวงศ์ ก็ดำเนินการขั้นต่อไปเพื่อให้ทหารถูกรัฐบาลกำกับดูแลได้มากขึ้น และให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากฐานกำลังทางทหารโดยขั้นแรกยุบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งอยู่ และให้จอมพล ป.พิบูลสงคราม พ้นจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก แต่ก็ตั้งให้เป็นที่ปรึกษารัฐบาล พร้อมกับตั้งให้พลเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้บัญชาการทหารบก และอาศัยพลเอกพระยาพหลฯ ออกคำสั่งในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ห้ามมีการเคลื่อนย้ายกำลัง
แต่ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไม่นำทหารยึดอำนาจล้มรัฐบาลนั้น มีคนเชื่อกันว่าในตอนนั้นทหารญี่ปุ่นมีอยู่ในประเทศไทย ทำอะไรนอกรัฐธรรมนูญหรือล้มรัฐธรรมนูญเข้า อาจทำให้ถูกญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงได้
นายกฯ ควง อภัยวงศ์ ได้บริหารประเทศโดยมีทหารญี่ปุ่นอยู่ในไทย และมีเสรีไทยดำเนินการใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น จนกระทั่งญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2488
อีก 2 วันต่อมารัฐบาลนายควง อภัยวงศ์ ก็ประกาศสันติภาพในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2488
เสร็จจากการประกาศสันติภาพ นายควง อภัยวงศ์ เห็นว่าหน้าที่ของตนที่เป็นนายกรัฐมนตรียามสงครามสิ้นสุดลง จึงได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2488 เพื่อเปิดทางให้มีรัฐบาลใหม่นำพาประเทศในช่วงเวลาหลังสงคราม จึงเป็นอันว่าหมดสมัยรัฐบาล “ควง 1”