12 สิงหาคม พ.ศ. 2486
ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2486 เป็นวันที่รัฐบาลญี่ปุ่นผู้ก่อสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้บุกยึดดินแดนต่าง ๆ ในบริเวณเอเชียอาคเนย์ตกลงยินยอมยกดินแดน รัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐไทรบุรี รัฐประริด ที่อยู่ทางตอนใต้ของไทยในมลายูขณะนั้น และเมืองเชียงตุง เมืองพาน ทางตอนเหนือของไทยในพม่าขณะนั้น ให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยรัฐบาลไทย ที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เสนอสนธิสัญญาเกี่ยวกับเรื่องขยายดินแดนเพราะได้ดินแดนเพิ่มเข้ามาต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอความเห็นชอบ และได้รับความเห็นชอบ ดังที่หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวแทนนายกรัฐมนตรีในโอกาสปิดประชุมสภา เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2486 มีความเกี่ยวกับเรื่องนี้ตอนหนึ่งว่า
“อนึ่ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม แห่งสมัยประชุมนี้ควรบันทึกไว้เป็นประวัติการณ์ของความยินดี ที่รัฐบาลญี่ปุ่นยินยอมให้รวมรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐไทรบุรี รัฐประริด และรัฐเชียงตุงกับเมืองพาน เข้าในราชอาณาจักรไทย อันเป็นการเปลี่ยนแปลงราชอาณาจักรไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งสภาฯ นี้ได้ลงมติเห็นชอบในสนธิสัญญาตามที่รัฐบาลเสนอแล้ว และมีความยินดีที่ขอแจ้งให้ทราบด้วยว่าฝ่ายญี่ปุ่นและเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างได้ร่วมมือกันดำเนินการเกี่ยวกับการรับมอบดินแดนอยู่แล้ว...”
แต่ดินแดนที่ได้มาเป็นของไทยเหล่านี้ ภายหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงแล้ว ทางไทยก็ได้คืนกลับไป โดยในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2488 ทางรัฐบาลไทยได้คืนดินแดนเมืองเชียงตุงกับเมืองพาน ให้กับกองทัพของอังกฤษ และถัดมาในวันรุ่งขึ้น วันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2488 ก็ได้คืนดินแดนรัฐ 4 รัฐคือรัฐกลันตัน รัฐตรังกานู รัฐไทรบุรี และรัฐประริด ที่ได้มากลับคืนให้อังกฤษ ทั้งนี้เป็นเวลาหลังจากที่ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เพียงไม่กี่วัน รวมเวลาที่ไทยได้ดินแดนทั้ง 6 แห่งคืนมาเป็นของไทยได้ประมาณ 2 ปี ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศผู้ที่ยกดินแดนให้ไทยเป็นฝ่ายที่แพ้สงครามนั่นเอง