12 มีนาคม พ.ศ. 2484

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร


ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2484 เป็นวันที่ประเทศไทยได้มีการลงนามตกลงสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต นับว่าเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้มีความสัมพันธ์กับประเทศคอมมิวนิสต์

ที่จริงประเทศไทยก็ได้ลงนามสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศใหญ่ ๆ ในโลกมาหลายประเทศ และประเทศสหภาพโซเวียตก็ไม่ถึงกับเป็นประเทศที่สำคัญที่สุดของไทยด้วย ทำไมจึงยกมาคุย

แต่ที่ยกเอามาคุยกันในครั้งนี้ก็เพราะการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตของสองประเทศนี้ ดูว่าจะมีคนรู้กันน้อย และยิ่งไปกว่านั้นยังมีการเข้าใจกันว่า ทั้งสองประเทศนี้เพิ่งจะมาสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ เมื่อ พ.ศ. 2489 สมัยหลังรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ตอนที่ประเทศไทยจะเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติและจำเป็นต้องคบกันสหภาพโซเวียตที่เป็นประเทศคอมมิวนิสต์เพื่อไม่ให้สหภาพโซเวียตคัดค้าน เพราะสหภาพโซเวียตเป็นประเทศสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคง

ในความเป็นจริง จากเอกสารและรูปถ่ายรูปหนึ่ง ทำให้มีความเชื่อว่าทั้งสองประเทศได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกันในปี พ.ศ. 2484 หลังจากความสัมพันธ์อันดีที่มีมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ยุติลงภายหลังที่คณะบอลเชวิคของเลนินทำการปฏิวัติล้มรัฐบาลรัสเซีย และนำเอาคอมมิวนิสต์เข้ามามีอำนาจ

เหตุที่ทำให้เชื่อเช่นนี้ก็เพราะมีเอกสารสักสองสามชิ้นที่จะยกมาพิจารณาประกอบการสันนิษฐานเช่นว่า ได้แก่

1. หนังสือชื่อ 90 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตรัสเซีย-ไทย เขียนเป็นภาษาไทยโดย อเลกซานเดอร์ อ.คาร์ตซาวา ระบุว่า

“...การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพโซเวียตกับประเทศไทย มีเหตุผลหลายอย่างหลายประการที่ทำให้ขัดขวางอยู่เป็นเวลาหลายปี โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางการทูตได้สถาปนาระหว่างกันขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2484 แต่ครั้นเกิดสงครามโลก ครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 22 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484 ทำให้การแลกเปลี่ยนตัวเอกอัครราชทูตต้องระงับไปชั่วระยะหนึ่ง...”

2. ทางรัสเซียมีภาพถ่ายที่ท่านอัครราชทูตไทยประจำเยอรมนี พ.อ.พระประศาสน์พิทยายุทธ ยืนอยู่คู่กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียสมัยนั้นคือ นายโมโลตอฟ เป็นภาพที่ทางรัสเซียยืนยันว่าถ่ายในวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2484 ที่กระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย

มีข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่าทางรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้คิดจะคบหากับสหภาพโซเวียตที่เป็นคอมมิวนิสต์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2482 และได้มีความพยายามให้มีการติดต่ออย่างลับ ๆ โดยทูตไทยประจำเยอรมนีในตอนนั้น ซึ่งก็คือคุณพระประศาสน์พิทยายุทธ ผู้ที่ปรากฏตัวในภาพพร้อมกับเลขานุการไทย

3. มีบันทึกของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 จากเลขาธิการคณะรัฐมนตรีถึงนายกรัฐมนตรี มีความว่า

ด้วยกระทรวงการต่างประเทศแจ้งว่า อัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน รายงานมาว่ารัฐบาลโซเวียตรัสเซียประสงค์จะแต่งตั้งมองสิเออร์เดมกานอฟ นิโกลาซ ยากอฟเลวิตว์ เป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย...จึงใคร่ทราบว่ารัฐบาลของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเห็นชอบด้วยหรือไม่...”

ดังนั้นถ้าไม่กลับมาสถาปนาความสัมพันธ์กันแล้วก่อนหน้านั้นจะมาขอความเห็นชอบตั้งทูตกันได้อย่างไร

แต่ถ้ามีคำถามว่าถ้าสถาปนาความสัมพันธ์กันแล้ว ขอความเห็นชอบกันแล้วทำไมจึงตั้งทูตมาแลกเปลี่ยนกันไม่ได้สักที

พอจะมีคำตอบว่า พอถึงวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ที่นายคาร์ตซาวาอ้างว่าเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นก็คือรัสเซียถูกกองทัพเยอรมันบุกจนต้องเข้าสู่ภาวะสงคราม

ส่วนทางไทยนั้นวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 ก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับสงครามอย่างใกล้ชิดแล้ว เพราะญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกเข้าไทย

ภาวะสงครามด้วยกันทั้งคู่อย่างนี้การแลกทูตก็เป็นอันเงียบไปอย่างแน่นอน นี่ก็คือที่มาของการที่เชื่อว่าวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2484 น่าจะเป็นวันที่สองประเทศได้กลับมาสถานปาความสัมพันธ์ทางการทูตจริง